Skip to main content
sharethis

29 เม.ย.2557 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี องค์กรภาคีจังหวัดยโสธร และโครงการขับเคลื่อนจังหวัดยโสธรสู่จังหวัดน่าอยู่ที่สุด จัดงาน ‘มหกรรมข้าวพื้นบ้าน : ความหลากหลายทางชีวภาพกับความมั่นคงทางอาหาร’ ในวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมาที่โรงแรมเจ.พี. เอ็มเมอรัลด์ จ.ยโสธร และวันที่ 29 เม.ย.ที่ศูนย์ประสานงานโครงการนิคมการเกษตร เกษตรอินทรีย์ บ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร

รศ.รัชนี คงคาฉุยฉาย หัวหน้าทีมวิจัยการตรวจโภชนาการข้าว สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประเด็นพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคนทางอาหารว่า ความมั่นคงทางอาหาร หมายถึง การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อมีสุขภาวะที่ดี

โดยประเด็นสำคัญที่หัวหน้าทีมวิจัยการตรวจโภชนาการข้าวจาก ม.มหิดล เน้นคือ ประเด็นเรื่องข้าวปลอดภัย เนื่องจากประชากรโลกกินข้าวเป็นอาหารหลักมากกว่า 50% แต่ในปัจจุบันข้าวมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างน้อย ผู้บริโภคส่วนมากเจ็บป่วยจากการบริโภคที่ไม่ปลอดภัย สิ่งที่ท้าทายผู้ผลิตข้าวคือ ทำอย่างไรให้การกินข้าวคือการกินยาป้องกันโรค และจะพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพอย่างไรให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคได้มากที่สุด

ดาวเรือง พืชผล เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวพื้นบ้าน กล่าวว่า นิยามความมั่นคงทางอาหาร คือ สามารถในการผลิต แลกเปลี่ยน และเข้าถึงทรัพยากรเองได้ มีความอิสระที่จะผลิตและรักษาพันธุ์ได้เอง โดยเฉพาะพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน โดยเหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านเนื่องจากข้าวพื้นบ้านมีลักษณะเด่น 4 ประการ คือ

1. ข้าวพื้นบ้านมีความหลากหลายในเรื่องช่วงอายุ คือ มีระยะเวลาเจริญเติบโตที่ต่างกันเจริญเติบโตได้ในลักษณะหรือนิเวศน์ที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ลุ่ม พื้นที่โคก พื้นที่ทามน้ำท่วม ก็จะเหมาะกับการปลูกข้าวในสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป
2. ข้าวพื้นบ้านมีคุณสมบัติด้านคุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคตามความชอบของตนเองได้ตามแต่ความชอบ ส่วนผู้ปลูกหรือเกษตรกรสามารถเลือกปลูกเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคที่หลากหลายได้
3. ในปัจจุบันความแปรปรวนของสภาวะอากาศที่เกิดขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรที่ปลูกข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์ จะลดความเสี่ยงต่อความเสียหายของผลผลิตได้เป็นอย่างดี
4. การรักษาฐานทางพันธุกรรมเพื่อคัดเลือก ปรับปรุง และผสมพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อที่จะรับมือกับสภาวะอากาศที่อาจเปลี่ยนแปลงซึ่งเกษตรกรไม่สามารถคาดเดาได้

ทางด้านสุบิน ฤทธิ์เย็น จากเครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม กล่าวว่า เมล็ดพันธุ์ คือสิทธิเบื้องต้นของเกษตรกรที่จะเข้าถึง ครอบครอง และปรับปรุงพันธุ์ แต่ถ้าถูกจำกัดหรือลิดรอนสิทธิในเรื่องดังกล่าวนี้แล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือ การผูกขาดทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ เกษตรกรจะเก็บรักษาและขยายพันธุ์ได้น้อยลงเรื่อยๆ ราคาพันธุ์พืชและสัตว์จะสูงขึ้น ผู้บริโภคจะถูกกำหนดทิศทางการบริโภคตามที่บริษัทขนาดใหญ่ชักจูง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net