‘ประยุทธ์’ สั่งทัพภาค 4 คุยกลุ่มขัดแย้งชายแดนใต้ นักเคลื่อนไหวชี้ควรยอมรับการสู้เพื่อเอกราช

ผบทบ.สั่ง กอ.รมน.และทัพภาค 4 คุยกลุ่มขัดแย้งให้มอบตัวสู้ดคีและสั่งควบคุมอาวุธ ผอ.ปาตานีรายาชี้ต้องพูดความจริงเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ส่วนกระแสรณรงค์เฟซบุคมาแรงปกป้องเด็กจากเหตุไม่สงบ

22 เม.ย.2557 โฆษก กอ.รมน.เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้เร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ให้มอบตัวสู้คดี และกำหนดมาตรการควบคุมอาวุธปืนทุกประเภท ด้าน ผอ.ปาตานีรายาขอให้ยอมรับความจริงการเรื่องต่อสู้เพื่อเอกราชของบีอาร์เอ็น

พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะ รอง ผอ.รมน. กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ลอบยิงสองพ่อลูก และเหตุยิงครอบครัว อส.อับดุลฮากิม ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ว่า เครือข่ายแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจชูประเด็นนี้เพื่อปลุกกระแสจนนำไปสู่การก่อเหตุแก้แค้นต่อเป้าหมายอ่อนแอ และเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ระหว่างคนทั้งสองศาสนา

โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้ มทภ.4/ผอ.รมน.ภาค 4 เชิญทุกกลุ่มที่มีความขัดแย้งภายในท้องถิ่นเข้ามาทำความเข้าใจกันอีกครั้ง เพื่อให้มอบตัวต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมอาวุธปืนทุกประเภทอย่างเป็นรูปธรรม โดยรวมเข้ากับระบบฐานข้อมูลอาวุธปืนของ ศชต. และให้หน่วยงานนำยุทโธปกรณ์พิเศษที่ได้รับมอบมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเสริมมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งเชิงรับและเชิงรุก ให้สามารถแจ้งเตือนแนวโน้มการเกิดเหตุ และติดตามความเคลื่อนไหวของคนร้ายเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ ผบ.ทบ.ชี้แจงไว้ว่า ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้. ยังอยู่ในระดับการต่อสู้ของกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐ และเป็นเรื่องภายในประเทศ ไม่ใช่สถานการณ์สงคราม ตราบใดที่มีการละเมิดกฎหมาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการของกฎหมายปกติ โดยอาศัยการรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาล

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กล่าวถึงการชี้แจงของ ผบ.ทบ. ผ่านโฆษก กอ.รมน. ในกรณีดังกล่าวว่า หากไม่ใช่ปัญหาระหว่างประเทศแล้วองค์กรเอกชนระหว่างประเทศ เช่น คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) หรือองค์กร Peace Architecture and Conflict Transformation Alliance (PACTA) รวมถึงรัฐมาเลเซียเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และหากไม่ใช่ภาวะสงคราม การที่กองทัพไทยประกาศใช้กฎอัยการศึก และกลุ่มบีอาร์เอ็นประกาศสู้เพื่อเอกราชปาตานี หมายความว่าอย่างไร

ผ.อ.ปาตานีรายา กล่าวด้วยว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าคนปาตานีไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้เพื่อเอกราชของบีอาร์เอ็น การเคลื่อนไหวของกองกำลังจรยุทธ์ในเมืองและชุมชน คงไม่สามารถก่อเหตุได้มากครั้งและถี่ที่สุด เมื่อเทียบกับการก่อเหตุของขบวนการต่อต้านรัฐทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา เรื่องนี้ต้องพูดความจริงเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป

ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเฟสบุค มีการโพสต์และแชร์ข้อความรณรงค์ปกป้องการละเมิดสิทธิเด็กจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น

“The world must act now to SAVE PATANI and Patanian's CHILDREN..”
“STOP! VIOLENCE to CHILDREN #Save PATANI”
“Save Children หยุดทำร้ายเรา ให้โอกาสสันติภาพได้ผลิบาน”
“#Save_Patanian_Children #SavePatani“

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท