รัฐศาสตร์ 101 : (อ่าน)ลิขิต ธีรเวคิน กับประเด็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’

ราชบัณฑิตด้านรัฐศาสตร์ ระบุสังคมไทยเผชิญทางตัน ความแน่นิ่งทางการเมืองไม่มีทางออก ภาวะอนาธิปไตย ชี้เป็นผลมาจากการวางแผนทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง-เลวร้าย ไม่มีธรรมแห่งอำนาจเพราะไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

หลังจากกระแสที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เสนอเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ รายการคมชัดลึก ได้เชิญ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และราชบัณฑิต มาพูดคุยในประเด็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมี จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งประชาไทเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจจึงถอดเทปมาเพื่อเผยแพร่ต่อ 

คลิ๊กดูคลิปรายการ คม ชัด ลึก ตอนดังกล่าว

0000

ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน : คำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินเกี่ยวกับการปกครองบริหาร อันนี้เป็นตัวบุคคลหรือคณะบุคคล ส่วน “อำนาจอธิปไตย” ที่ว่ามาจากประชาชน ที่เรียกว่า “popular sovereignty” นั่นคือฐานแห่งความชอบธรรม ซึ่งต้องอิงประชาชน เช่นประชาชนเป็นคนเลือกตั้ง เลือกเข้ามา อย่างประธานาธิบดีอเมริกา ตัวประธานาธิบดีพอได้รับเลือกนั่นคือองค์รัฏฐาธิปัตย์ แต่อำนาจของประชาชนยังอยู่ที่อเมริกัน คนอเมริกันทั่วไปมีส่วนลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นบางทีต้องแยกระหว่าง 2 อันนี้

คนที่พูดถึงรัฏฐาธิปัตย์มาจากมาตรา 3 นั้น พูดโดยไม่มีความรู้จริงๆ และคนที่อ้างตามก็เข้ารกเข้าพงหมด  สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือมันจะเขวทั้งประเทศ

ส่วนการพูดถึงการจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่เป็นกลุ่ม และเมื่ออยู่เป็นกลุ่มนั้นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นคือความขัดแย้ง เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด เมื่อขัดแย้งไม่มีกฏเกณฑ์ก็ใช้กำลังสู้กันผลสุดท้ายมันจะสูญพันธุ์ ผู้ที่ฉลาดก็มองเห็นว่าปล่อยอย่างนี้ไม่ได้ เพราะหากสูญพันธุ์ตัวเองก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร จึงใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่ เช่น การเป็นหัวหน้าในการล่าสัตว์ จัดระเบียบสังคมและมีผู้ช่วยเหลือ การล่าสัตว์แบ่งงานกันทำ ฐานะของคนในสังคม ทันทีที่เกิดแบบนี้ขึ้นมา เรียกว่า “มีการจัดระเบียบทางการเมือง” ขึ้นมา แล้วเขาจะเป็นคนออกกฏเกณฑ์ จัดสรรทรัพยากรทุกอย่าง และเป็นคนที่ทุกคนยอมรับและทำตาม เพราะหากไม่ทำตามจะถูกตีกบาล สิ่งนี้เรียกว่าการเกิด ”รัฐ” มีสังคมก่อนแล้วจึงเกิดรัฐ

รัฐเป็นนามธรรม และคนดังกล่าวพร้อมพรรคพวกเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ จึงเรียกว่า “รัฐบาล” เขามีอำนาจสูงสุดเช่นนั้น เขาคือ “รัฏฐาธิปัตย์” โดยประชาชนยอมให้เขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพราะความกลัว เพราะฉะนั้นฐานแห่งการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของเขามาจากการบังคับและความกลัว ต่อมาหากใช้สิ่งนี้ตลอดก็จะอยู่ไมได้จึงต้องสร้างให้เป็น “ประเพณี” เพื่อให้คนยอมรับ โดยการอ้างอาณัติจากสวรรค์บ้าง อย่างเช่นทางฝรั่งก็อ้างพระผู้เป็นเจ้า ของอินเดียก็อ้างเทวราช จนกระทั่งหลายชั่วคนคนก็ยอมรับ เมื่อยอมรับก็ไม่ต้องใช้กำลังแล้ว มันมีความชอบธรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการสืบสันติวงศ์ก็คือการสืบรัฏฐาธิปัตย์ กษัตริย์สมัยโบราณนั้นคือรัฏฐาธิปัตย์

หลุย 14 แห่งฝรั่งเศส พูดไว้ว่า "I am the state" (l'etat c'est moi) “ข้าพเจ้าคือรัฐ” รัฐคือข้าพเจ้า ฝรั่งเศสทั้งประเทศคือคนเดียว นั่นคือรัฏฐาธิปัตย์ที่เห็นชัดที่สุด แต่ต่อมาเมื่อสังคมมันเปลี่ยน มันมีการต่อสู้ มีการแบ่งอำนาจ ตั้งแต่แมกนาคาร์ตาจนกระทั่งเป็น “ประชาธิปไตย” จึงต้องมี “การเลือกตั้ง” และผู้รับการเลือกตั้งก็จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จึงไม่อยู่ถาวรตลอด แต่ประชาชนทรงไว้ซึ่งอำนาจความชอบธรรมทางการเมือง หรือ popular sovereignty เพราะฉะนั้นมันแยกกันระหว่างความชอบธรรมทางการเมืองกับรัฏฐาธิปัตย์

จากประเพณีมาสู่การมีเหตุผลและกฏหมาย และหาก 2 อย่างมีปัญหาก็ต้องใช้ผู้นำบุญญาธิการ เมื่อระบบมันพังหมดก็ต้องใช้ผู้นำที่คนนับถือว่ามีอำนาจพิเศษสามารถแก้ปัญหาได้ เรียก “Charismatic leader” หรือ “Charismatic authority” กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ได้มาจากการใช้อำนาจ แต่มาจากการที่คนเชื่อถือในความที่มีคุณสมบัติพิเศษส่วนตัว

เพราะฉะนั้นขณะนี้แบ่งเป็น 4 อย่างด้วยกัน รัฏฐาธิปัตย์มาจากกำลัง  รัฏฐาธิปัตย์มาจากประเพณี รัฏฐาธิปัตย์มาจากกฏหมายและความมีเหตุมีผล และรัฏฐาธิปัตย์มาจากคุณสมบัติพิเศษคือมีบุญญาธิการ

มาตรา 3 เป็นแบบสมัยใหม่ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ในขณะเดียวกัน พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจดังกล่าวผ่าน รัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ แปลว่าสังคมไทยนี้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ไม่ได้ใช้เอง พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้ผ่าน 3 อย่างข้างต้น แต่รัฐสภานั้นจะต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เมื่อเลือกตั้งเสร็จได้นายกรัฐมนตรีต้องโปรดเกล้า เป็นการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างประชาชนกับองค์พระประมุข และที่ต้องเป็นแบบนี้เนื่องจากมาตรา 2 ระบุไว้ชัดว่า ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะฉะนั้นอ้างมาตรา 3 อย่างเดียวไม่ได้ อ้างมาตรา 3 มาตั้งรัฐบาลโดยไม่พูดถึงมาตรา 2 เพราะบอกว่าต้องเป็นประชาธิปไตย และอ้างมาตรา 3 โดยไม่อ้างองค์พระประมุขเป็นผู้ใช้อำนาจผ่าน รัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ระวังหากอ้างแต่ประชาชนอย่างเดียวไม่ได้

อำนาจของปวงชนชาวไทยนั้น มันมีกระบวนการที่มีไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่าจะต้องมีการเลือกตั้ง มีสภา มีการโหวตนายกในสภา ไม่ใช่อยู่ๆขึ้นมาอ้างอำนาจเสร็จแล้วก็ทำตามสบาย ถ้าจะทำอย่างนั้นต้องเลิกรัฐธรรมนูญเสียก่อน ด้วยการปฏิวัติ

รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ วันที่ 19 ก.ย.49 แล้วร่างขึ้นมา เมื่อร่างเสร็จเพื่อให้เกิดความชอบธรรม เพราะมาจากการใช้อำนาจ ก็ไม่เกิดความมั่นใจว่าจะใช้ได้ นักกฏหมายก็เสนอให้ลงประชามติ เอาเสียงประชาชนมาให้ความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญปี 2550 หากมีการรัฐประหารครั้งใหม่ล้มรัฐธรรมนูญปี 2550 เท่ากับเป็นการปล้นประชาชนที่พวกท่านเองไปให้เขาลงประชามติ เท่ากับเป็นการต่อสู้กับประชาชน 60% ที่ลงประชามติ เท่ากับดูถูกประชาชน ปฏิวัติไม่ได้หากจะพูดถึงหลักการ

 

จอมขวัญ(ผู้ดำเนินรายการ) : ผู้ที่พูดเรื่องนี้เป็นคุณสุเทพเป็นหลัก ก็บอกว่าถึงอย่างไรก็มีคำอธิบายของเขาทางฝั่ง กปปส. ด้วยการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 3

เมื่ออ้างมาตรา 3 แล้ว มาตรา 2 อยู่ไหน

 

แต่ที่คุณสุเทพพูดนั้นไม่ได้ละเว้นว่ามีองค์ประกอบของพระประมุข ก็คือพระมหากษัตริย์ เพราะคุณสุเทพก็ก็บอกว่าตัวเองจะเป็นคนแต่งตั้งนายกฯและครม. ให้พระองค์ทรงโปรดเกล้าอยู่แล้ว

แล้วตัวเองมีอำนาจมาจากไหน มันไม่ขัดมาตรา 3 ใช่ไหม แล้วขัดมาตรา 68 ด้วย คือการล้มล้างประชาธิปไตย ขัดมาตรา 70 ขัดมาตรา 71 และการกันไม่ให้มีการเลือกตั้งขัดมาตรา 3 ซึ่งเป็นสิทธิประชาชน ขัดมาตรา 72 ซึ่งต้องทำหน้าที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเมื่อเลือกมา 20 ล้านเสียงเสร็จแล้วกลับมาบอกว่าการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการละเมิดคน 20 ล้านคน

ถ้ารัฏฐาธิปัตย์อ้างประชาชนจากมาตรา 3 แล้วประชาชนเท่าไหร่ การจะรู้ว่าประชาชนเท่าไหร่จะต้องมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศจึงรู้ได้ว่าเสียงข้างมากหรือข้างน้อย หรือมิฉะนั้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาจากการลงประชามติ และมาตรา 3 เป็นอำนาจของประชาชน จะต้องลงประชามติว่าจะให้ตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาโดยเอาประชาชนเป็นหลัก อยู่ๆขึ้นมาอ้างว่ามวลมหาประชาชน แล้วถ้าอีกข้างอ้างประชาชนมหาศาล มันกลายเป็น 2 รัฏฐาธิปัตย์ จำนวนเท่าไหร่ล่ะที่อ้าง อ้างได้เท่าไหร

 

แต่คำอธิบายของเขาก็อธิบายว่าไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆก็จะใช้ แต่ว่าไล่เรียงกันมาในกรณี worst case คือแย่สุดหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าเหตุการร้ายสุดก็จะไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ มันจะเกิดช่องว่างหรือสุญญกาศ นี่คือที่มาว่าในเมื่อไม่มีใครทำอะไร นายกฯต้องไป ครม.ต้องไป ต้องมีคนทำหน้าที่ระหว่างนี้ คุณสุเทพจึงพูดเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งแปลว่าน้ำหนักของคุณสุเทพเกิดขึ้นเพราะคาดว่าน่าจะเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นก่อน

ถ้าอย่างนั้นทำไมต้องเป็นคุณสุเทพ อีกฝั่งก็สามารถพูดได้เหมือนกัน เกิดช่องว่าแล้ว พวกเราตั้งคนขึ้นมาแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์เหมือนกัน มีสิทธิไหม เอาจำนวนอะไรวัด อยู่ๆขึ้นมาแล้วบอกว่าข้าพเจ้ามีอำนาจนั้น เอาอำนาจมาจากไหน เพราะอีกฝ่ายก็อ้างอำนาจเหมือนกัน มันกลายเป็น 2 รัฏฐาธิปัตย์

 

คนที่จะประกาศว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ในธรรมเนียมปฏิบัติหรือในประวัติศาสตร์ มันเป็นมาอย่างไร

อย่างที่บอกก่อนหน้าแล้วว่า 1. ใช้กำลัง ตั้งตัวเองเป็นใหญ่ขึ้นมา ปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อปฏิวัติเสร็จก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ตอนนั้นคณะ คมช. นั้น คุณสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เหมือนกับทุกอย่างอยู่ในมือเขาหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องประกาศแรกๆ เลยว่ามีการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คืนอำนาจให้ในหลวง อันที่ 2. คือ มีการสืบสันติวงศ์ ถ้าสมัยโบราณเรียกราชาภิเษก นั่นคือรัฏฐาธิปัตย์ แต่ถ้าใช้อำนาจคือปราบดาภิเษก และอันที่ 3. คือการเลือกตั้ง ได้คะแนนสูงสุดได้เป็นนายก หรือเลือกตั้งประธานาธิบดีได้เสียงสูงสุด และอันที่ 4. หากไม่มีอะไรเลยก็ใช้คุณสมบัติส่วนตัว ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นรัฏฐาธิปัตย์จะมาก็โดย 4 ทางนี้

อยู่ๆขึ้นมาประกาศรัฏฐาธิปัตย์อ้างอะไร อ้างมาตรา 3 นั้น อ้างคนเดียว อ้างจำนวนหนึ่ง แล้วจำนวนเท่าไหร่ แล้วฝั่งโน้นเข้าก็อ้างได้ เอาความชอบธรรมจากไหนมาอ้างว่าเหนือกว่า บอกจำนวนคนเยอะนั้นเยอะเท่าไหร่ วัดอย่างไร

 

ถ้าเทียบกับสิ่งที่ใกล้เคียงตอนนี้ที่สุดที่เรานึกออก คือที่ผ่านมามีการรัฐประหาร อันนั้นถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ตอนรัฐประหาร แต่ถ้าสมติว่าคราวนี้ที่คุณสุเทพประกาศ แม้ไม่มีอาวุธอะไร แต่ฝ่ายความมั่นคงก็นิ่งๆ คอยระวังไม่ให้ปะทะกัน อย่างนี้ถือเป็นการยอมรับให้การทำหน้าที่หรือการกระทำของคุณสุเทพเกิดขึ้นได้หรือไม่

เอาอำนาจมาจากไหน รัฐธรรมนูญยังอยู่ใช่ไหม ถ้าทำเช่นนี้ก็ขัมาตรา 113 เป็นกบฏในราชอาณาจักร ละเมิดตั้งหลายมาตรา มาตรา 2 ก็ละเมิด มาตรา 3 ก็ยังละเมิด มาตรา 70 ก็ละเมิด มาตรา 71 ก็ละเมิด ไม่ให้เลือกตั้งก็ละเมิดมาตรา 72 อีก ละเมิดทั้งรัฐธรรมนูญและกฏหมายอาญา อยู่ๆมาบอกว่านี่คือความถูกต้อง ถูกต้องได้อย่างไรเนื่องจากละเมิดหมด

ถ้าเป็นความถูกต้อง ทำไมพรรคการเมืองบางพรรคถอยหนีหมดเลย ปฏิเสธทันทีว่าไม่เกี่ยวข้อง ทำไมไม่ร่วมด้วย แม้กระทั่งฝ่ายทหารก็ถอย

 

แต่คำอธิบายของทาง กปปส. ก็มีนักวิชาการออกมาอธิบายนอกเหนือจากที่คุณสุเทพพูดบนเวทีว่ามันไม่ได้เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ แต่ทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นนั้นมันเกิดช่องว่าง มันไม่สามารถจะไปทางไหนได้แล้ว แล้วสิ่งที่เขาเสนอว่าอาจจะไปถึงวันนั้นแล้วทำตามที่คุณสุเทพพูดเรื่องรัฏฐาธิปัตย์นั้น ซึ่งเขาก็ยังคงยืนยันว่ายังอยู่ในเงื่อนไข อยูในมาตรา 3 อยู่ดี

ใครให้คุณทำ ในเมื่ออีกฝ่ายก็ทำได้

 

สมติว่าคุณสุเทพประกาศจะทำ ประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ทางนี้เขาก็ประกาศบ้าง 2 รัฏฐาธิปัตย์แล้ว

 

ขออนุญาตเอามวลชนอีกฝั่งออกก่อน คำถามคือว่าคนที่จะบอกว่าได้หรือไม่ เป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ คือฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ นอกเหนือจากมวลชนอีกฝั่งไหม คือจะต้องเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงไหมที่จะบอกว่าคุณได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่

มีอำนาจมาจากไหนหน่วยงานความมั่นคง นอกจากอำนาจที่ใช้กำลัง ก็คือรัฐประหารเสียเลย แต่ถ้าพูดเฉยๆนั้นมันต้องมีเหตุผล ไม่ใช่อยู่ๆบอกว่าคุณทำได้ คุณเป็นใคร ใครเป็นคนตั้งให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้นในหน่วยความมั่นคง ใครให้อำนาจให้คุณพูดเช่นนั้น รัฐธรรมนูญมีอยู่มาพูดว่าถูกต้องได้อย่างไร เป็นการพูดฝืนรัฐธรรมนูญหรือ ดังนั้นจะมีรัฐธรรมนูญทำไม ล้มรัฐธรรมนูญสิ ล้มสิเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่การใช้สามัญสำนึก จะพูดว่าถูกต้องแล้วรัฐธรรมนูญอยู่ไหน ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญไม่เช่นนั้นพูดไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญยังมีอยู่ ยังมีวุฒิสภาอยู่ แล้วรักษาการก็ยังมีอยู่ ซึ่งยังไม่รุ้ว่านายกหลุดทั้งพวกหรือเปล่า และเมื่อหลุดทั้งพวกก็ยังเป็นประเด็นอีก

หรือแม้กระทั่งการโยกย้ายข้านราชการ ต่อไปไม่ต้องมีการบริหารประเทศแล้ว บริหารอะไรไม่ได้เลย บริหารโยกย้ายแล้วมีความผิด วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทำหน้าที่ไม่ได้เลยนะ ผ่านกฏหมายมาอาจจะถูกปลดออกหมดเพราะทำผิดกฏหมาย นี่ใครปกครองประเทศ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ มันแยกกัน 3 อย่าง อยู่ๆ ตุลาการมีอำนาจตัดสินทุกอย่าง กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ยิ่งกว่ารัฏฐาธิปัตย์อีก

ถ้าสงสัยขึ้นเวทีกับผมทุกคนเลย ไม่ว่าองค์กรไหน เอาประเด็นมาพูดกัน

 

ถ้าสมติสถานการณ์มันไปถึงวันนั้น มันอาจจะเป็นการเขียนนิยามใหม่ของรัฏฐาธิปัตย์ หรือประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ได้หรอ

ได้ทั้งสิ้นล่ะประเทศไทย เห็นแมวบอกเป็นหมา เห็นหมาบอกเป็นไก่ ได้ทั้งนั้น ออกกฏหมายย้อนหลังก็ได้ ทำได้ทั้งหมด ตีความกฏหมายได้ 2 มาตรฐาน ไม่มีมาตรฐานก็ได้ อาจจะออกกฏหมายให้คนไทยเอาเท้าขึ้นข้างบนแล้วเอาหัวเดินต่างเท้าก็ได้ สังคมไทยตอนนี้ได้หมดทุกอย่างจนกระทั่งมันไม่มีที่ยึดแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้อันตรายอย่างมหาศาล 3 เรื่องด้วยกัน

หนึ่ง ทางตันทางการเมืองไม่มีทางออก เนื่องจากความขัดแย้งที่ไม่มีเหตุมีผล

สอง ความแน่นิ่งทางการเมือง กลไกทั้งหมดบริหารไม่ได้ รัฐบาลก็บริหารไม่ได้ ข้าราชการทำงานไม่ได้ ถูกคำสั่ง แต่เป็นคำสั่งที่ไม่มีความชอบธรรม คำสั่งมาจากการใช้กำลังซึ่งผิดกฏหมาย ผิดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

สาม อนาธิปไตย ขณะนี้วิญญาณสังคมไทยเคว้งคว้าง คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเป็นเครื่องยึด กฏเกณฑ์กฏหมายไม่มีเลย

ทั้ง 3 อย่างนี้ ใครก็ตามที่คิดจะเอาชนะกันเพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและอำนาจ ผลสุดท้ายต้องรู้ไว้ด้วยว่าเป็นการทำลายกลไกโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดทางการเมืองสังคมของเรา ที่สำคัญที่สุดคือศรัทธาของการเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์มายาวพอสมควรนี้ พังทลายราบ ขณะนี้ความภูมิใจไม่ค่อยเหลือนะ ไปต่างประเทศอายเขานะ ไม่รู้เอาอะไรถูกอะไรผิด มันมั่วไปหมด ออกกฏหมายย้อนหลัง ตัดสินไม่เหมือนกัน การแยกอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ก็พังยุ่งหมดเลย ไม่มีระบบที่ไหนเป็นอย่างนี้ นี่เป็นสิ่งทีน่าเป็นห่วงยิ่ง

 

ที่อาจารย์บอกว่าทางตัน อาจารย์บอกว่าแน่นิ่ง อาจารย์บอกว่าอนาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดนี้ที่หลายคนทวงถามว่าแล้วจะไปอย่างไร ก็เพราะที่มันเป็นแบบนี้นี่ล่ะที่มันเกิดสุญญากาศมีช่องว่าง มันเลยต้องมาถึงวิธีที่คุณสุเทพเสนอ ถ้าไม่ไปในทางที่ กปปส.เสนอแล้วอาจารย์เสนออย่างไร

ช่องว่างแปลว่าอะไร ช่องว่างแปลว่ามันไม่มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีบัญญัติเอาไว้ ต้องใช้ประเพณีการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นมาตราที่ 20 ของธรรมนูญการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมาตรา 22 – 23 สมัยจอมพลถนอม และมาตรา 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้หลักลายลักษณ์อักษร เจตนารมณ์ ประเพณีแห่งท้องถิ่นหรือหลักกฏหมายทั่วไป คือต้องหาทางออกให้ได้

ผมเคยบอกแล้วว่าวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ปี 40 หมดวาระ มาจากการเลือกตั้งไม่ครบ 200 คน จึงเป็นวุฒิไม่ได้ เมื่อเป็นไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าไม่ครบก็ไม่ครบ ไม่มีวุฒิอีก ถ้าหมดวาระก็หมดไป อย่างนี้ผิด เพราะมันต้องมี 2 สภา อยู่ๆกลายเป็นเหลือเพียงสภาเดียว ก็ใช้มาตรา 7 โดยที่หมดวาระก็ให้หมดไป ไม่ครบก็คือไม่ครบ แต่ใช้ประเพณีรักษาการไว้ก่อนจนกระทั่งจะครบ นี่คือการใช้มาตรา 7 ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดโดยธรรมชาติ

แต่มาตรา 7 เป็นทางตันนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากมาตรา 7 แล้วไม่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่มันเป็นการสร้างวางแผนให้มันเกิดมาตรา 7 คือให้มันเกิดเป็นทางตัน โดย 3 ทางด้วยกัน หนึ่ง การวางแผนสมรู้ร่วมคิด ที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น โดยมีนักกฏหมายที่เชี่ยวชาญพยายามวางแผนเพื่อให้มันเกิดเรื่องนี้ให้ได้ เมื่อวางแผนตามนี้จึงมีการทำงานเป็นกระบวนการ รับลูกกัน แล้วผลสุดท้ายก็ไปสู่ทางตัน จึงเป็น “ทางตันที่เกิดขึ้นโดยเจตนา” บนพื้นฐานของความไม่สุจริต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น “POLITICAL MACHINATIONS” หรือการวางแผนทางการเมืองที่มีลักษณะไม่ถูกต้องและเลวร้าย เพื่อจะนำไปสู่จุดประสงค์ที่ต้องการ เช่น การใส่ความ การยุแหย่ให้ 2 พวกตีกันแล้วขึ้นภูดูเขาตีกัน

จากสิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่ช่องว่าง ซึ่งถือเป็นช่องว่างที่ไม่ได้เกิดโดยบริสุทธิใจ การเมืองใดที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องความสุจริตใจ เป็นการเมืองที่ใช้ไม่ได้ ไม่มีความชอบธรรม การเมือง อำนาจในการที่จะปกครองมี 3 อย่าง หนึ่ง ต้องถูกต้องตามกฏหมาย สอง ต้องมีความชอบธรรมเป็นที่ยอมรับ ทั้ง 2 สิ่งมีแล้ว จึงมี “moral authority” ธรรมแห่งอำนาจ สิ่งที่เกิดขึ้นที่ออกมาลักษณะนั้นถึงแม้จะถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งก็ยังคลุมเครือ แต่ไม่มีความชอบธรรม แม้ถูกต้องต้องตามกฏหมาย แต่ไม่มีความชอบธรรม ก็ไม่มีธรรมแห่งอำนาจ ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย แต่ถ้ามีความชอบธรรม ซึ่งกฏหมายไม่ได้ผิดมาก ยังพอมีธรรมแห่งอำนาจบ้าง

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีธรรมแห่งอำนาจ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจะอ้างอะไรไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดเมื่ออ้างว่าเกิดทางตัน เกิดช่องว่าง จึงประกาศออกมา ประเด็นก็คือว่าใครให้อำนาจประกาศ อีกฝ่ายหนึ่งก็ประกาศได้เหมือนกันใช่ไหม นี่พูดอย่างตรงไปตรงมา ทำไมท่านถึงประกาศได้คนเดียวล่ะ แล้วบอกว่ามีจำนวนมากนั้นจำนวนมากวัดจากอะไร

ร.7 ที่ยินดีมอบอำนาจให้ประชาราษฏรทั่วไป แต่ไม่ยอมให้คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของมวลประชาราษฏร ซึ่งเสียงอันแท้จริงของประชาราษฏรนั้น ราษฏรทั่วไปรู้จากไหน รู้จาก 2 อย่างเท่านั้น หนึ่งจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ ว่าจำนวนเสียงเชียร์พรรคไหน กลุ่มไหน หรือถ้ามีปัญหาก็ลงประชามติ ประชามติเป็นตัวที่รู้ที่สุด ไม่ใช่อ้างมวลมหาประชาชน ลงประชามติเลยว่าจะเอาอย่างไร

ความชอบธรรมเป็นนามธรรมอยู่แล้ว ถ้าอ้างว่าที่ท่านทำนั้นชอบธรรมกว่าก็พูดกันไม่รู้เรื่อง ท่านทำได้ คนอื่นก็ทำได้ ไม่ใช่ท่านพูดอย่างนั้นแล้วคนอื่นต้องทำตาม ท่านเป็นใคร คนอื่นไม่ใช่เจ้าของประเทศหรือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย one man one vote หนึ่งคนหนึ่งเสียง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลางเป็นคนไทยเหมือนกันหมด คุณถือดีอะไรถึงบอกว่าตัวเองยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น คนต่างจังหวัดคุณภาพต่ำกว่าคน กทม.  เอาอะไรมาวัด พูดอย่างนี้ไม่ถูก คณไม่มีสิทธิ์พูดอย่างนี้ คนทุกคนมีความเป็นคนท่ากัน

5 อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมยุคใหม่ คือ1) rights and freedom สิทธิเสรีภาพ 2) equality ความเสมอภาค 3) justice ระบบต้องยุติธรรม สองมาตรฐานอยู่ด้วยกันไม่ได้ 4) human rights สิทธิมนุษยชน รับรองโดยสหประชาชาติ 5) dignity ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่นี่คุณกำลังพูดคล้ายว่ามองคนอีกกลุ่มไม่มีความหมาย กลุ่มตัวเองมีความหมายมากที่สุด แผ่นดินนี้ของคุณคนเดียวหรือ

แล้วอ้างตัวเองได้อย่างไรว่าคุณเป็นรัฐฏาธิปัตย์ ใครแต่งตั้งคุณ เขาตั้งของเขาขึ้นมาเอง  อย่างนี้ผมก็ตั้งเองบ้าง กลายเป็น 2  รัฐฏาธิปัตย์ ในสังคมญี่ปุ่น ผมจำไม่ได้ก่อนธรรมปุระหรือเปล่า ก่อนเมจิ แผ่นดินจะมีดวงอาทิตย์สองดวงไม่ได้ ถ้ามีสองดวงต้องแยกกันอยู่ เหมาเจ๋อตุงก็ต้องอยู่ทางหนึ่ง เจียงไคเช็คก็อยู่ทางหนึ่ง สมัยกบฏไต้เผ็งมีการตั้งจักรพรรดิที่นานกิง ปักกิ่งก็ต้องปราบนานกิง ฉะนั้นจะอ้างขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้ ต้องถามประชาชน จะรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไร เท่าไร ก็ต้องประชามติ หรือการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่อย่างนั้นใครๆ ก็พูดได้

 

การประชามติ การเลือกตั้ง อาจถูกมองได้ว่ากระบวนการกลไกต่างๆ กฎเกณฑ์ที่ใช้ยังใช้ไม่ได้

แล้วใครเป็นคนตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมา ใครเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ50 ใครเป็นคนแก้กฎหมายเลือกตั้งจากเขตละสามคนเป็นหนึ่งคน ท่านเป็นคนจัดการทั้งหมด ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญ40 ร่างรัฐธรรมนูญ50 เอาเสียงประชาชนมาข่มการใช้อำนาจผิดๆ ในการทำรัฐประหาร แล้วอยู่ๆ บอกว่าใช้ไม่ได้ คุณเป็นคนสร้างบ้านเอง อยู่เอง บ้านพังลงมาโทษคนอื่น มองให้มันยุติธรรม ลืมกันหมดแล้วเหรอ

15 เดือนที่เป็นรัฐบาลทำไมไม่ปฏิรูป รัฐธรรมนูญร่างมาอย่างนี้ทำไม คุณไม่มีสิทธิมาอ้างเพราะทำมาเองทั้งสิ้น ผมไม่ได้อยู่ฝ่ายไหนและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองอีกต่อไป แต่ขอพูดด้วยความจริงใจ อย่างเป็นธรรม เพราะเป็นนักวิชาการที่ต้องการสัจธรรม ผมเบื่อความไม่มีสัจธรรมในสังคมนี้ ใครเป็นคนทำทั้งหมดนี้ ปปช. กกต.ใครตั้ง ไม่มีการโปรดเกล้าฯ ด้วย ตุลาการรัฐธรรมนูญออกกฎหมายย้อนหลังมายุบพรรคการเมืองใครตั้ง เอาอำนาจจากไหน อำนาจเผด็จการทั้งนั้น ออกกฎหมายย้อนหลังผิดหลักสากล ผิด UN ผิด International Covenant on Civil and Political Rights ผิดทั้งหมด การขัดขวางการเลือกตั้ง ขัดมาตรา 3, 72,2 1ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ขัดมาตรา 25 ของ International Covenant on Civil and Political Rights ขัดทั้งในและนอกประเทศ ขัดมาตรา 209,310 หน่วงเหนี่ยวกักขัง

 

ที่อาจารย์พูดมาทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญชี้ไปหมดแล้ว ไม่ได้บอกว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง แต่ที่ผ่านมาเขาก็มีเหตุผลว่าทำไมขัดรัฐธรรมนูญ

ฟัง พูดให้มันเคลียร์ การเลือกตั้งที่ไม่เป็นวันเดียวกันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกคนรู้หมด แต่ไม่ชอบเพราะอะไร เพราะมีการขวาง การขวางเขตเดียวก็ทำให้ไม่ชอบแล้ว และเมื่อขวาง มันก็ใช้กำลัง ผิดกฎหมายใช่ไหม แต่ทำไมบอกว่าสงบ ปราศจากอาวุธ สงบแปลว่าอะไร ขวางเลือกตั้งนี่สงบหรือ ศาลจึงไม่ได้บอกไงว่าเป็นโมฆะ ทั้งที่อันที่จริงต้องวินิจฉัยเป็นโมฆะไม่ใช่บอกว่าไม่ชอบ มันต้อง yes or no ไม่ใช่บอกว่า น่าจะลงประชามติ บอกมาเลยว่าโมฆะ กล้าพูดไหม อย่างนั้นคนที่ทำให้โมฆะคือใคร แล้วจะบอกว่าเขาทำถูกแล้วหรือ เท่ากับไปส่งเสริมเขาทำโมฆะใช่ไหม ศาลถึงไม่พูดคำว่าโมฆะ ถ้าจะวินิจฉัยให้ผูกพันต้องวินิจฉัยฟันธงไปเลย อย่าวินิจฉัยแบบนี้ ใครๆ ก็รู้ว่ามันไม่ชอบเพราะมันไม่เป็นวันเดียวกัน แต่คำถามคือ ทำไมมันจึงไม่เป็นวันเดียวกัน มันเกิดจากการขัดขวางใช่ไหม แล้วขัดขวางนี้ก็ไม่ถูกต้อง แต่บอกว่าโดยสงบปราศจากอาวุธก็เลยแปลว่าถูกต้องใช่ไหม ตรรกะคืออะไร มันเกิดจากอะไรก็เห็นๆ

 

ถามเผื่ออนาคต ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้กรณียิ่งลักษณ์ และวินิจฉัยชี้แบบนั้นย่อมเกิดปัญหาแน่ๆ ...(ถามไม่ทันจบ)

ปัญหาคือ ใครเป็นคนตั้งมาตรา 7 ตั้งเองอ้างเองไม่ได้ เพราะคนอื่นก็มีสิทธิอ้างเหมือนกัน ใครให้สิทธิคุณทำคนเดียว เรื่องนี้เห็นๆ กันอยู่ไม่ต้องใช้สมองที่ชาญฉลาดอะไรเลย ทำไมอยู่ๆ ท่านถึงมีสิทธิคนเดียว ทั้งๆ ที่มันเกิดโดยการวางแผนให้เกิด แล้วอ้างว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ถามว่าคุณมีคนเท่าไร บอกว่ามาก อย่างนั้นลงประชามติก่อนว่ามากแค่ไหน จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูปก็ลงประชามติ

แต่สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ผมไม่อยากให้เกิด แต่พูดไว้ก่อนเลยว่ามันไม่ใช่เรื่องว่าอันไหนควรมาก่อนกันแล้ว มันกลายเป็นว่าจะให้เสียหายอย่างหนักก่อนแล้วจึงมาจัดการกันใหม่ หรือจะแก้ปัญหาจัดการอย่างดีไม่ให้เสียหาย พูดง่ายๆ ว่าจะให้เสียหายก่อนแล้วแก้ หรือแก้ก่อนเสียหาย ไม่ใช่เรื่องปฏิรูป-เลือกตั้งแล้ว คนละเรื่องแล้ว

 

ถ้าจะไม่ให้ไปถึงสิ่งที่ กปปส.จะทำ ถ้าศาลชี้ให้ครม.ไปด้วย ถ้าไม่ให้เขาเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างที่คุณสุเทพประกาศ แล้วใครจะเป็นคนทำ

รัฏฐาธิปัตย์ดูจากอำนาจอะไร ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ประกาศได้ สมมติประกาศมาแล้วเขาไม่เห็นด้วยจะทำยังไง ไม่รับรอง จะทำยังไง รัฐฏาธิปัตย์จะต้องเป็นที่ยอมรับ การยอมรับมีหลายแบบ อันแรก ยอมรับเพราะความกลัว  อย่างรัฐประหารเอารถถังมา, ยอมรับเพราะประเพณีสืบต่อกันมา, ยอมรับเพราะประชาชนเลือกตั้ง มีความชอบธรรมทางกฎหมายและความมีเหตุมีผล, ยอมรับเพราะคนนี้มีบุญญาธิการ มีคุณสมบัติพิเศษคนเลยยกให้เป็นคนมาแก้ปัญหา ถามว่าเขามีอะไรบ้างใน 4 อันนี้ มีกำลังไหม มีประเพณีไหมทุกคนยอมรับหมดไหม เลือกตั้งคะแนนเสียงท่วมท้นไหม เลือกตั้งยังไม่กล้าจะลงเลย มีบารมีคนยอมรับนับถือหรือ เขาไม่มีอะไรเลย คำถามต้องถามว่าเอาอะไรมามั่นใจว่าคนเขาจะยอมรับ

 

แล้วใครจะหานายกฯ

ก็สร้างปัญหาขึ้นมาก็ตอบเอาเองสิ คุณต้องตอบเองเพราะคุณสร้างปัญหาขึ้นมา หรือยากทำก็ทำไป แต่เขายอมรับหรือเปล่า และเมื่อเขาไม่ยอมรับจะทำอย่างไร คุณ shut down Bangkok แต่เขาอาจ shut down ที่อื่น ผมไม่ทราบ แล้วคุณจะแก้ปัญหาอย่างไร เรื่องจบไหม วิธีคิดตั้งแต่ต้นก็ผิดแล้ว ติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดหมด คิดอะไรง่ายๆ simple minded ความกลัว กลัวสูญเสียทรัพย์ศฤงคาร อำนาจ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม เลยทำทุกอย่างเพื่อรักษามันไว้โดยมองอะไรสั้นๆ เขาเรียก สายตาสั้นทางการเมือง มองไม่เห็นอนาคตของประเทศ ไม่ว่าใครทั้งสิ้น แก่เพราะอยู่นาน กินข้าวเยอะ

 

สิ่งที่จะทำให้ปชช.รู้สึกว่าได้ปลดปล่อย นอกเหนือจากประชามติและการเลือกตั้งแล้วมีรูปแบบอื่นไหม

ถ้าได้เลือกตั้งคราวที่แล้วเรื่องจะผ่านไปเยอะ จะมาอ้างว่าคนเขาไม่ศรัทธาการเลือกตั้ง ถามว่าแล้วใครออกกฎหมายเลือกตั้ง ใครร่างรัฐธรรมนูญ คุณทำเองแล้วคุณไม่ศรัทธาเอง โทษคนอื่นหมดเลยหรือ ทางตันเกิดโดยธรรมชาติหรือมีคนสร้างขึ้นมา แล้วใครให้อำนาจคุณเป็นรัฏฐาธิปัตย์ รัฏฐาธิปัตย์คืออะไรยังไม่รู้กันเลย คนอธิบายเป็นอาจารย์ทาง local finance   อธิบายไปส่งเดช

 

สำหรับประชาชนที่เชื่อในปชต. แต่เห็นว่ากฎระเบียบต่างๆ ยังต้องแก้ไข ทนไม่ไหวแล้วกับครม.ยิ่งลักษณ์ จะให้ทำอย่างไร
เขายุบสภาไปแล้วตอนเลือกตั้งก็อย่าลงคะแนนเสียงให้ก็จบ ก็สู้กันในการเลือกตั้ง มวลมหาประชาชนที่คุณอ้างว่าเยอะ ถ้าเยอะก็ต้องชนะอยู่แล้วทำไมไม่สู้ในกระบวนการ ตรรกะต้องพูดให้ตรง ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล รัฐบาลก็ออกไปแล้ว ผมก็เห็นด้วยว่าโครงการข้าวก็เละเทะ กระบวนการออกกฎหมายพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น ผมก็ไม่เห็นด้วย ผมก็เห็นว่าไม่มีความชอบธรรม ทางออกก็คือกลับไปสู่การเลือกตั้งแล้วถ้าเสียงมวลมหาประชาชนอ้างว่ามันเยอะจนขนาดจะตั้งรัฏฐาธิปัตย์ก็ต้องชนะการเลือกตั้งแน่นอน

 

คนกลัวว่าการซื้อเสียงทำให้อีกฝ่ายชนะ

ถ้าเสียงมวลมหาประชาชนเยอะ ซื้อยังไงก็ไม่ชนะ หรือจะดูถูกประชาชนตัวเองเหรอ ก็มวลมหาประชาชนเยอะกว่ายังไงก็ต้องชนะ มวลมหาประชาชนถูกซื้อเสียงได้เหรอ ทั้งวิธีคิดและตรรกะมีปัญหาหมด ไม่เถียงด้วยเหตุด้วยผล เถียงไปเถียงมาก็เข้าตัวเองหมดแล้วก็ไม่สามารถจะตอบได้เพราะมันเริ่มด้วยเหตุผลที่ไม่มีพื้นฐาน มันสั่นคลอน โดยตรรกะเสียงมวลมหาประชาชนต้องเกินครึ่ง ถ้าไม่เกินครึ่งไม่มีสิทธิอ้าง ดังนั้นเลือกตั้งเขาต้องชนะแน่ เป็นรัฐบาล ไม่อย่างนั้นจะอ้างทำไม แสดงว่ามวลมหาประชาชนน้อยใช่ไหม เสียงไม่พอใช่ไหม

 

คำถามสุดท้าย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องไปทั้งหมด ใครจะมีสิทธิเป็นนายกฯ ในช่วงนั้น

เอาอย่างนี้แล้วกัน มาตรา7 คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ผมกลับจากบังคลาเทศ ผมไปขอรัฐธรรมนูญจากบังคลาเทศ 600 กว่ามาตรา แล้วบอก อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโน ว่า ของเรา 300 กว่ามาตราในรัฐธรรมนูญ40 มันไม่พอ ใส่มาตรานี้ไว้แบบของจอมพลสฤษดิ์ มาตรา 20 ถ้าไม่มีบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ มันใช้สำหรับกรณีซึ่งมีช่องว่างเกิดขึ้น ไม่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ มันมีประเพณีแบบราชการก็ได้ ไม่ใช่ในหลวงต้องมาตั้งนายกฯ แบบนั้นเป็นการอ้างให้ระคายเคืองเบื้องพระบุคลบาทด้วย เพราะท่านทรงดำรัสแล้วว่าท่านไม่มีอำนาจ เราสามารถใช้ประเพณีกรณีถ้าไม่มีจริงๆ ประเทศจะมีช่องว่างไม่ได้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าประเพณีมีอย่างไรบ้าง อธิบดีไม่อยู่ รองอธิบดีต้องรักษาการ เผอิญครั้งนี้ ครม.หมดทั้งชุด ที่สำคัญ ส.ส.ก็ไม่มีอีก ก็ต้องเอาใกล้เคียงกับส.ส. คือ ส.ว. ยิ่งถ้าชุดใหม่ออกมา ในวุฒิสภานี้ก็ต้องสามารถที่จะเป็นผู้ทำหน้าที่หาคนมาเป็นนายกฯ รักษาการชั่วคราว เพราะมันจะว่างหรือเป็นทางตันไม่ได้ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญยังอยู่ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติเอาไว้ ก็ใช้มาตรา 7 มาตรา7 ใช้อย่างไรกรณีที่ไม่มีสภา ไม่มีผู้บริหารเลย อันที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงคงต้องทำหน้าที่ ส่วนตัวนายกฯ ก็คงต้องให้วุฒิสภาคัดเลือก ภายหลังจากที่มีการเปิดประชุมวุฒิสภาแล้ว ไม่ใช่เอา 30-40 คนที่เหลืออยู่ เพราะที่เหลืออยู่ก็ไม่มีเครดิตอยู่แล้ว

 

ให้วุฒิสรรหานายกฯ ชั่วคราว

ผมไม่บอกว่าวุฒิต้องหา ถ้ามันว่างขึ้นมาแล้วต้องหาให้ได้ กลไกที่จะตั้งนายกฯ ได้ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่มีก็ต้องมองซ้ายมองขวาก็ต้องใช้เทียบเคียงคือวุฒิสภา วุฒิสภาจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็มันไม่เขียนเอาไว้ ก็ต้องใช้ประเพณี ปลัดกระทรวงก็ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวง แต่ต้องมีหัวหน้าบริหาร หัวหน้านี้ต้องมาจากการสรรหาโดยสภา สภาไม่มีก็ต้องมองเทียบเคียง ที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนก็คือ วุฒิสภา เพื่อหานายกฯ ชั่วคราว สามเดือนแล้วให้เลือกตั้ง กลับสู่สภาพเดิม รัฐธรรมนูญ50 ยังอยู่เหมือนเดิม แต่ไม่ใช่อ้างว่าข้าพเจ้าจะเป็นคนตั้งเอง ถามว่าใครให้อำนาจคุณ เอาอำนาจจากไหน หรือว่ามีแบ็คอัพ แล้วบอกว่าแบ็คอัพให้อำนาจ แบ็คอัพก็ไม่มีอำนาจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความเป็นนักวิชาการ ด้วยความเป็นคนไทยในประเทศนี้ ผมต้องการให้สิ่งนี้มันถูกต้อง ไม่สามารถทนได้กับความไม่ถูกต้องไม่ว่าจะในองค์กรไหน มันทำให้มีปัญหากับบรรยากาศทางวิชาการ ความถูกต้องและสัจธรรม สังคมใดที่ไม่เคารพความถูกต้องและสัจธรรม สังคมนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศักดิ์ศรี เป็นสังคมที่ไร้คุณค่า 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท