Skip to main content
sharethis

จากประเด็นร้อน "องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน" ที่ถูกก่อตั้งโดย พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกฎวัฒนะ โดยมีวัตถุประสงคฺเป็น"องค์กรปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้กระทำการหมิ่นสถาบันฯ"

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนจาก ม.สยาม ได้ให้ทัศนะต่อปรากฎการณ์ข้างต้นแบบเต็มๆในฐานะนักนิติศาสตร์

๐๐๐๐

Q.มุมมองของนักกฎหมายต่อ โปรเจคท์ องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน

A. กิจกรรมในลักษณะนี้ มีลักษณะบั่นทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่อสถาบันกษัตริย์แตกต่างไปจากคณะตน คือต้องเข้าใจว่า ความคิดเห็นเกี่ยวกับกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์นั้น คือความคิดเห็นทางการเมือง เพราะกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งในบรรดาสถาบันทางการเมืองทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น การที่ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ นิยามบุคคลที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากคณะตนให้มีสถานะเป็น ‘ขยะแผ่นดิน’ ที่จะต้องถูกกำจัดทิ้ง หรือถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมาย มาตรา 112 โดยให้พลเมืองแปลงสภาพเป็น ‘ตำรวจความคิด’ คอยสอดส่องพฤติกรรมและความนึกคิดของพลเมืองคนอื่น ๆ ในสังคม ขจัดพื้นที่ในการสื่อสารเกี่ยวกับองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจสาธารณะและมุ่งดำเนินคดีต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับองค์กรของรัฐเช่นนี้ตลอดเวลา  การกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์อย่างยิ่งในรัฐที่ประกาศตนเป็นประชาธิปไตย ตลอดจนการลดทอน ‘มนุษย์’ ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันให้กลายเป็น ‘ขยะ’ หรือวัตถุที่สามารถทำลายได้นั้นเป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพผู้อื่นและมีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของผู้อื่น

Q.การอ้างเอาใช้ ม.8 และโครงสร้างองค์กรดังกล่าว ตามที่ พล.ต.เหรียญทอง เสนอ ชอบธรรม หรือ ยุติธรรม ตามตัวบทกฎหมายหรือไม่

A. ประเด็นที่ 1. บทบัญญัติมาตรา 8 รัฐธรรมนูญฯ มีสองวรรค ทั้งสองวรรค มีความหมายว่า กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ (วรรคหนึ่ง) ฉะนั้นผู้ใดจะฟ้องร้องดำเนินคดีไม่ได้ (วรรคสอง) ในทางคำอธิบายตามหลักวิชาเป็นแบบนี้ แต่เดิมมีวรรคแรกวรรคเดียว แต่ภายหลังเหตุการณ์คดีสวรรคตรัชกาลที่ 8 ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2492 ได้เพิ่มข้อความในวรรคสองขึ้นมา ก็เพื่ออธิบายความในวรรคแรก ครับ ในประเด็นนี้บิดาของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็คือ พันโท พโยม จุลานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ได้อภิปรายในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (2492) ไว้อย่างแหลมคมว่า

“ได้มีการอภิปรายกันมากแล้วในเรื่องว่าผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ อันนี้ข้าพเจ้าใคร่จะชี้ให้เห็นว่ามันขัดกับหมวด 3 มาตรา 27 ที่บอกว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ข้าพเจ้าข้องใจว่าก็เมื่อเช่นนี้แล้วทำไมพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ชาวไทยอย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นก็เอาแบบญี่ปุ่นซิ พระมหากษัตริย์สืบสันตติวงศ์มาจากดวงอาทิตย์ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็ยอมว่าไม่ใช่คนธรรมดา และความจริงมาตรา 5 ก็บัญญัติอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ก็ไม่ได้เคยบัญญัติ ฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ข้าพเจ้าใคร่จะขอตั้งข้อสังเกตอีกอันหนึ่งว่า การสืบราชสันตติวงศ์นั้นย่อมสืบลงมาเป็นลำดับแต่หากว่าในราชตระกูลนั้น บังเอิญท่านผู้นั้นได้กระทำผิดกฎหมายอาญาขึ้นก่อนแต่คดียังไม่มีการฟ้องร้อง แต่บังเอิญได้ถูกสถาปนาขึ้นครองราชย์บัลลังก์ขึ้นมาแล้ว การฟ้องร้องการกระทำความผิดกก่อนเสวยราชย์ก็ฟ้องร้องไม่ได้เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ามันขัดกัน ข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างนี้ เราได้รับเราพูดไปอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าตำหนิว่าการที่เราวางหลักเพื่อปลอบใจประชาชนไว้ให้สิทธิว่าบุคคลย่อมเสมอภาคกันในทางกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นประชาชนเชื่อว่าต่อไปนี้เราเท่ากันหมด แต่ความจริงในหมวด 2 ยกให้พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่จุติมาจากสวรรค์ อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าบางทีเราพูดกับทำไม่ตรงกัน” (ดู รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 15 วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2492. ใน เลขาธิการรัฐสภา, สำนักงาน. 'รายงานการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2492 เล่ม 1 และ รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พ.ศ.2492 – 2494'. พระนคร : สำนักงาน. หน้า 144.)

ฉะนั้น เวลาเราไปศาลใดก็ตาม หากเราระบุชื่อจำเลย คือ กษัตริย์ เช่นนี้ ศาลก็จะไม่รับคำฟ้องครับ สถานะของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 เป็นแบบนี้ในระบบกฎหมาย แต่สำหรับนัยทางการเมืองนั้น มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีลักษณะเป็นกลไกครอบงำอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่เราเห็นผลลัพธ์ในปัจจุบันนี้ด้วย ธรรมดากฎหมายนั้นจะบังคับเฉพาะพฤติกรรมที่แสดงออกของมนุษย์เท่านั้น ธรรมดากฎหมายจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปในจิตใจของบุคคล และมีสภาพบังคับโดยมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา การที่  พล.ต.เหรียญทอง นำรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 8 มาบังคับใช้ควบคู่กับมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นผลผลิตโดยตรงที่บ่มเพาะมาจากการครอบงำอุดมการณ์ทางการเมือง สร้างสถานะศักดิ์สิทธิ์ให้แก่กษัตริย์ ด้วยการปฏิเสธพื้นที่การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันก็ยอพระเกียรติถ่ายเดียวเช่นนี้ ใครที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากกระแสก็จะถูกจับด้วยมาตรา 112 บ่มเพาะเช่นนี้กว่า 70 ปี การครอบงำอุดมการณ์ทางการเมืองแบบกษัตริย์นิยมจึงมีลักษณะเข้มแข็งมากจนกลืนไปอยู่ใน ‘จิตไร้สำนึก’ (Unconscious mind) พลเมืองถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่รู้สึกว่าตนกำลังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ และพร้อมเป็น ‘นักล่า’ บรรดาผู้ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยอุดมการณ์ชุดเดียวกับตน อย่างที่เราเห็น ‘องค์กรกำจัดขยะ’ กำลังจะทำกัน ก็เป็นผลมาจากเหตุนี้ทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 2. หากถามว่า การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีความยุติธรรมตามกฎหมายหรือไม่? ในเรื่องนี้ผมขอเรียนอธิบายอย่างนี้ก่อนครับว่า เป็นความเข้าใจผิดนะครับที่นิยมกล่าวกันว่า ‘กฎหมายที่อยุติธรรมอย่างรุนแรง’ ถ้ายังไม่ถูกยกเลิก ก็ต้องบังคับใช้ จึงจะได้เป็นนิติรัฐ

‘นิติรัฐ’ นั้นจะดำรงอยู่ควบคู่กับกฎหมายที่ยุติธรรมครับ หากกฎหมายใดขัดต่อนิติรัฐอย่างรุนแรง (ตลอดจนวัฒนธรรมในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวของกระบวนการยุติธรรมในรัฐนั้น) การบังคับใช้กฎหมายนั้น ในกระแสนิติศาสตร์หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่า การบังคับใช้กฎหมายที่อยุติธรรมอย่างรุนแรง มีค่าเป็น ‘การก่ออาชญากรรม’ ครับ ไม่ใช่ ‘นิติรัฐ’

คนไทยจำนวนไม่น้อยยังติดกับ ‘นิติรัฐ’ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ไม่สนใจในคุณค่าหรือเนื้อหาของบทบัญญัติกฎหมาย (ในทำนองว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมาย) โดยไม่ต้องใช้สมองตรึกตรองความรุนแรงโดยสภาพของการบังคับใช้กฎหมายนั้น เช่น มาตรา 112 ในกระแสนิติศาสตร์ยุคใหม่ย่อมถือว่า มาตรา 112 คือ เครื่องมือในการก่ออาชญากรรมครับ ใครบังคับใช้มาตรานี้ ก็คือ อาชญากร และใครสนับสนุนมาตรานี้ก็คือ ผู้สนับสนุนให้เกิดอาชญากรรม ในประเด็นนี้มีบทความหนึ่ง “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law”  ของ Gustav Radbruch นักนิติศาสตร์เยอรมันที่มีบทบาทสำคัญที่สุดท่านหนึ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ดู Gustav Radbruch, “Statutory Lawlessness and Supra-Statutory Law” Oxford Journal of Legal Studies, vol.26, No.1 (2006), pp. 1-11. http://goo.gl/fHCchJ ) หากท่านอ่านบทความดังกล่าว จะพบตัวอย่างคดีหนึ่งครับ ขออนุญาตเล่าโดยย่อ เรื่องมีอยู่ว่า ในรัฐนาซีเยอรมัน มีกฎหมายห้ามหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ทีนี้ นาย ก. ก็ไปแจ้งความจับ นาย ข. ว่าหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ศาลพิพากษาประหารชีวิตนาย ข. ต่อมาหลังสงครามโลก ทายาทนาย ข. ฟ้องนาย ก. และผู้พิพากษาในองค์คณะที่ตัดสินประหารชีวิตนาย ข. ว่าร่วมกันฆ่านาย ข. ด้วยอิทธิพลของกระแสนิติศาสตร์ยุคใหม่ ศาลสูงพิพากษาว่ากฎหมายห้ามหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ขัดต่อความยุติธรรมถึงระดับที่ไม่อาจทนรับได้อีกต่อไป (intolerable level) จนถือได้ว่าเป็น ‘กฎหมายปลอม’ หรือ ‘กฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมาย’ (Unrichtiges Recht) ตลอดจนความคาดหมายได้อยู่แล้วของนาย ก.ว่า การดำเนินคดีต่อ นาย ข. ภายใต้วัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายของศาลนาซีที่ไม่อาจนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ และเล็งเห็นผลได้ว่าถึงอย่างไร นาย ข.ก็ต้องถูกพิพากษาลงโทษสูงสุด ศาลสูงพิพากษาว่า ผู้พิพากษาองค์คณะดังกล่าวและนาย ก.ที่ไปแจ้งความนั้น มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ครับ

จะเห็นได้ว่า เช่นกันกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ มีค่าเท่ากับ ‘การทรมานจำเลย’ (ในคุก แม้ศาลจะยังไม่พิพากษาก็ตาม – ศาลจะปฏิเสธการประกันตัวทุกกรณี) และวัฒนธรรมการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ของศาลยุติธรรม ก็ปฏิเสธหลักยกเว้นความผิด หลักยกเว้นโทษ ที่โดยธรรมดาของกฎหมายหมิ่นประมาทจะนำมาบังคับใช้ ซึ่งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ ล้วนมีรากฐานมาจากการยินยอมให้จำเลยพิสูจน์ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และการยอมรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งหลักสุจริตเป็นพื้นฐานของระบบกฎหมาย แต่เมื่อหลักสุจริตเผชิญหน้ากับมาตรา 112 รากฐานหรือคุณค่าพื้นฐานของระบบกฎหมายก็จำต้องศิโรราปลง นี่คือ ความไร้ศีลธรรมขั้นมูลฐานทางกฎหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ครับ เราไม่อาจเรียกเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมว่า ‘ความยุติธรรม’ ได้หรอกครับ

Q.ภายหลังข้อเสนอดังกล่าว อันอาจนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง หรือ ทำลายความสงบสุขของสังคม สามารถเอาผิดตามกฎหมายได้หรือไม่

A. ดังที่ผมได้เรียนอธิบายไปในสักครู่นี้ว่า การรณรงค์ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมโดยรัฐ และผู้บังคับใช้มาตรา 112 ในสายตาของความยุติธรรมถือเป็น ‘อาชญากร’ เช่นนี้ แต่ในราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กฎหมายที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างรุนแรงเป็นกฎหมายบ้านเมือง และใช้ ‘เครื่องมือก่ออาชญากรรม’ ปกครองบ้านเมืองแล้ว ทำลายความสงบสุขตลอดเวลานับแต่เราคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกจนกระทั่งเติบโตขึ้น เพียงแต่เราถูกทำให้เคยชินกับสภาพบรรยากาศปิดกั้นสิทธิเสรีภาพนี้เท่านั้นเอง ภายใต้ระบบกฎหมายของราชอาณาจักรไทยย่อมไม่สามารถเอาผิดอะไรพวกเขาได้ครับ แต่เมื่อใดที่ระบบกฎหมายภายใต้โครงสร้างอุดมการณ์นี้พังทลายลง การดำเนินคดีเอาผิดดังเช่นคดีที่ Gustav Radbruch ยกตัวอย่างนั้น ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่คงไม่ใช่ในเร็ววันนี้

แต่ในแง่การถูกละเมิดสิทธิก็อาจเป็นเหตุให้ดำเนินคดีแพ่ง ฐานละเมิดได้ เพราะศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนให้กลายเป็นวัตถุนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญ และสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ผูกพันการใช้และการตีความกฎหมายทั้งปวงขององค์กรรัฐ ฉะนั้น การตีความมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำว่า “สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด” นั้น ศาลยุติธรรมก็ต้องผูกพันตนตีความให้ครอบคลุมถึง สิทธิทางรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกัน แต่นั่นก็หมายถึงคุณกำลังถูกคุกคามด้วยภยันตรายที่รุนแรงกว่า และภยันตรายนั้นก็คือกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ด้วยมาตรา 112 นั่นเอง.

 

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์บางส่วนเผยแพร่ใน มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net