Skip to main content
sharethis

สิ้นนักเขียนจากละตินอเมริกา กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ผู้บุกเบิกวรรณกรรม “สัจนิยมมหัศจรรย์" ย้อนพินิจเส้นทางวรรณกรรม จากผู้สื่อข่าวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลจนต้องลี้ภัย ก่อนใช้เวลา 18 เดือน-แถมค้างจ่ายค่าเช่าบ้าน เพื่อเขียนนิยายสำคัญ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ยอดขายทะลุ 30 ล้านเล่ม - โดยจะมีพิธีไว้อาลัยสำหรับสาธารณชน ที่เม็กซิโก ซิตี้วันจันทร์นี้

กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ในปี 2527 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

ปกหนังสือ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” (One Hundred Years of Solitude) ผลงานสร้างชื่อเสียงในปี 2510 ของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ต่อมา มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2511 และมีการแปลเป็นภาษาไทยในปี 2529 โดยปณิธาน – ร.จันเสน ล่าสุดสำนักพิมพ์สามัญชนได้นำมาพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

หมายเหตุฆาตกรรม(Chronicle of a Death Foretold) ผลงานในปี 2524 ของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ภาพปกดังกล่าวเป็นฉบับแปลภาษาไทยโดย พัชรินทร์” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ตะเกียงลานในปี 2529 (ที่มา: khunmaebook)

รักเมื่อคราวห่าลง(Love in the Time of Cholera) ผลงานในปี 2528 ของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ภาพปกดังกล่าวเป็นฉบับแปลภาษาไทยโดย รัชยา เรืองศรี โดยสำนักพิมพ์บทจรในปี 2556 (ที่มา: เว็บไซต์สำนักพิมพ์บทจร)

 

อาลัยกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ผู้บุกเบิกสัจนิยมมหัศจรรย์

19 เม.ย. 2557 - นักเขียนชาวโคลัมเบีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบล กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ (Gabriel Garcia Marquez) หรือที่คนในภูมิภาคละตินอเมริกาเรียกเขาว่า “กาโบ” (Gabo) เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่บ้านของเขาในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก รวมอายุ 87 ปี ทั้งนี้จากการเปิดเผยของเฟอร์นานดา ฟามิลลาร์ โฆษกประจำครอบครัวทางทวิตเตอร์ โดยฟามิลลาร์กล่าวด้วยว่าภรรยาและลูกของเขาเป็นผู้อนุญาตให้เธอเผยแพร่ข่าวการเสียชีวิตดังกล่าว นับเป็นความเสียใจอย่างสุดซึ่ง

การ์เซีย มาเกซ เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magic realism) ซึ่งเป็นการผสมผสานความแปลกประหลาดกับเรื่องทางโลกเข้าด้วยกันจนทำให้เหตุผิดธรรมดากลายเป็นปกติชีวิต และด้วยหนังสือของเขาได้นำเสน่ห์ของภูมิภาคละตินอเมริกาและข้อขัดแย้งในชีวิตมาอยู่ในหัวจิตหัวใจของผู้คนนับล้าน

ทั้งนี้สาเหตุการเสียชีวิตของเขานั้นยังไม่ทราบแน่ชัด โดยก่อนหน้านี้เขามีอาการป่วยอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ในระยะหลัง เขาพบปะกับสาธารณชนได้ไม่บ่อยครั้งนัก ขณะที่ไม่นานก่อนเสียชีวิตเขาเพิ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เนื่องมาจากติดเชื้อในปอดและทางเดินปัสสาวะ และเมื่อสัปดาห์ก่อนเขาถูกส่งกลับมารักษาตัวที่บ้าน และสุขภาพของเขานั้น “เปราะบางอย่างมาก” เนื่องมาจากอายุของเขา

 

 

ข้อความทวีตไว้อาลัยการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ของประธานาธิบดีฆวน มานูเอล ซานโตส แห่งโคลัมเบีย

 

โดยภายหลังการเสียชีวิต ในบีบีซีรายงานว่า ประธานธิบดีฆวน มานูเอล ซานโตส (Juan Manuel Santos) ของโคลัมเบียทวีตข้อความไว้อาลัยมรณกรรมของการ์เซีย มาเกซ ว่า "หนึ่งพันปีของความโดดเดียวและความเสียใจต่อมรณกรรมชาวโคลัมเบียผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ขอแสดงความสมานฉันท์และไว้อาลัยแด่ภรรยาของเขาและครอบครัว"

ขณะที่นักเขียนและผู้เขียนบทภาพยนตร์ ชาวอังกฤษ เอียน แมคอีวาน (Ian McEwan) กล่าวว่า “เขาเป็นหนึ่งในหล้าอย่างแท้จริง”

ด้านประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบารัก โอบามา (Barack Obama) กล่าวว่าโลกได้สูญเสียหนึ่งในนักเขียนผู้มีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่งในนักเขียนผู้เป็นที่โปรดปรานในวัยเด็กของเขา

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บิล คลินตัน กล่าวว่า “ผมรู้สึกทึ่งเสมอกับของขวัญอันมีลักษณะเฉพาะของเขาที่มีทั้งจินตนาการ ความคิดที่ชัดแจ้ง และอารมณ์ความรู้สึกที่จริงใจ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเพื่อนกับเขา ได้รู้จักหัวใจอันยิ่งใหญ่และจิตใจที่งดงามของเขามาเป็นเวลากว่า 20 ปี”

ผู้สื่อข่าวบีบีซี วิล แกรนท์ ประจำกรุงเม็กซิโก ซิตี้ กล่าวด้วยว่า การจากไปของเขานอกจากเป็นที่รับรู้ในหมู่ชาวโคลัมเบียแล้ว ยังเป็นที่รับรู้ในหมู่ชาวเม็กซิโก ซึ่งเป็นสถานที่ลงหลักปักฐานของเขามาเป็นเวลากว่า 30 ปีด้วย

ทั้งนี้ประธานาธิบดีเม็กซิโก เอ็นริ เปญา นีเอโต (Enrique Pena Nieto) ได้ทวีตข้อความว่า “ในนามของเม็กซิโก ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยของพวกเรา”

ขณะที่นักเขียนชาวเปรู ผู้ได้รับรางวัลโนเบล มาริโอ วาร์กาส โลซา (Mario Vargas Llosa) กล่าวว่า เขาเป็น “นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่” “งานของเขาทำให้วรรณกรรมทรงอิทธิพลและมีเกียรติอย่างยิ่ง นวนิยายของเขาจะอยู่ต่อไป และจะเกิดผู้อ่านหน้าใหม่ทุกหนแห่ง” เขากล่าวตอนหนึ่งกับสื่อมวลชนในเปรู

ส่วนกวีชาวชิลี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ปาบโล เนรูดา (Pablo Neruda) กล่าวถึงการ์เซีย มาเกซว่า “เปรียบดังบทพระวิวรณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาษาสเปนนับจาก “ดอน กิโฆเต้” (Don Quixote)” ผลงานในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ของมีเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes)

 

ชีวิตวัยเยาว์ และผู้สื่อข่าวที่ผันตัวมาเขียนนิยา

กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเขียนผู้ใช้ภาษาสเปน ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งและเป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เขาเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปี 2471 ที่อาราคาตาคา ตอนเหนือของประเทศโคลัมเบีย ได้รับการเลี้ยงดูมาโดยตากับยาย โดยตาของเขาผู้เป็นอดีตนายทหารฝ่ายเสรีนิยม สมัยสงครามกลางเมืองของโคลัมเบีย แต่เดิมเคยกีดกันไม่ให้บิดาและมารดาของการ์เซีย มาเกซแต่งงานกัน โดยก่อนที่จะได้แต่งงานกัน ฝ่ายบิดาพยายามเอาชนะใจมารดาด้วยไวโอลิน เพลงยาว กลอนรัก จดหมายนับไม่ถ้วน หรือแม้แต่โทรเลข กระทั่งฝ่ายครอบครัวของมารดายอมตกลงให้ทั้งคู่แต่งงานกัน โดยชีวิตของบิดาและมารดาช่วงนี้นั้น การ์เซีย มาเกซ ได้นำมาเขียนไว้ใน "รักเมื่อคราวห่าลง" (Love in the Time of Cholera) ด้วย

ทั้งนี้ตาของการ์เซีย มาเกซ มีอิทธิพลทางความคิดต่อเขาเป็นอย่างมาก เช่น แทนที่จะเล่านิทานเขากลับเล่าเหตุการณ์ช่วงสงครามกลางเมืองของโคลัมเบียให้หลานฟังเป็นต้น ส่วนยายของการ์เซีย มาเกซ มักจะเป็นแหล่งข้อมูลเรื่องเวทย์มนต์คาถา สิ่งเหนือธรรมชาติ

ด้านชีวิตการศึกษาของการ์เซีย มาเกซนั้น ในระหว่างที่เขาศึกษานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโคลัมเบีย ในปี 2491-2492 เขาเริ่มเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ "El Universal" ต่อมาในปี 2493 - 2495 เขาใช้นามปากกาเขียนเรื่องแปลกประหลาดให้กับหนังสือพิมพ์ "El Heraldo" ต่อมาเขายังทำงานให้กับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ นอกจากนี้เขายังอยู่ในกลุ่มนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ในชื่อ " Barranquilla Group" ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับงานวรรณกรรมของเขาเป็นอย่างมาก รวมไปถึงมุมมองอันเป็นพิเศษต่อวัฒนธรรมแถบแคริบเบียน นอกจากนี้ในปี 2497-2498 ซึ่งเขาอยู่ที่กรุงโบโกตา เขายังเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ให้กับหนังสือพิมพ์ "El Espectador"

ในปี 2500 เขาย้ายมาอยู่ที่กรุงคารากัส เมืองหลวงของเวเนซุเอลา และทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ "El Momento" เขามีส่วนร่วมในการรัฐประหารโค่นประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในปี 2501 ด้วย และเขาได้เขียนบทความ "The participation of the clergy in the struggle" อธิบายการมีส่วนร่วมของคริสจักรในเวเนเซุเอลาในการโค่นประธานาธิบดีมาร์กอส เปเรส จิมเมเนซ (Marcos Pérez Jiménez)

หลังกลับมาอยู่ที่โคลัมเบียสั้นๆ ในปี 2501 เขาแต่งงานกับเมอเซเดส บาชา (Mercedes Barcha) อย่างไรก็ตามมีเรื่องทำให้เขาต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากผลงานข่าวของเขาซึ่งตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ "El Espectator" ซึ่งเขาได้สัมภาษณ์ลูกเรือพิฆาตของโคลัมเบีย ซึ่งเป็นผู้เดียวที่รอดชีวิตจากเหตุเรือพิฆาตอัปปาง และได้เปิดโปงว่าสาเหตุที่เรืออัปปางไม่ได้เป็นเพราะคลื่นลมในทะเล แต่เกิดจากเรือลำดังกล่าวขนของหนีภาษีจนเต็มลำเรือ โดยหลังตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวทำให้หนังสือพิมพ์ส่งเขาไปอยู่ที่ยุโรป และต่อมาไม่นานหนังสือพิมพ์เล่มนี้ก็ถูกรัฐบาลทหารในสมัยนั้นของโคลัมเบียสั่งปิด

ทั้งนี้ช่วงหนึ่งที่เขาพาครอบครัวมาอยู่ที่เมืองอะคาพูลโก (Acapulco) ในเม็กซิโก เขาเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่อง "หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" (ภาษาสเปน Cien años de soledad/ภาษาอังกฤษ One Hundred Years of Solitude) อย่างจริงจังโดยอิงพื้นเพจากบ้านของคุณตาคุณยายในวัยเยาว์ของเขา ในช่วงที่กำลังเขียนนิยายเขาขายรถยนต์และทรัพย์สินจำนวนมากเพื่อให้ครอบครัวมีเงินใช้ อย่างไรก็ตามเขาพบว่าต้องใช้เวลาในการเขียนมากกว่าที่คาดไว้ เขาลงมือเขียนนวนิยายทุกวันเป็นเวลากว่า 18 เดือน ขณะที่ภรรยาของเขาจำเป็นต้องขอลงบัญชีกับร้านขายเนื้อและขนมปังในระหว่างที่เขาเขียนนิยายไม่เสร็จ รวมไปถึงขอติดค่าเช่าบ้านถึง 9 เดือน อย่างไรก็ตามโชคดีที่เขาเขียนนวนิยายเสร็จและได้ตีพิมพ์ในปี 2510 กลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเขาในเวลาต่อมา โดยปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์ถึง 30 ล้านฉบับและถูกแปลออกไปกว่า 30 ภาษา ผลงานเล่มนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2525 นอกจากนี้ในปี 2529 “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ยังได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ปณิธาน-ร.จันเสน

สำหรับผลงานอื่นๆ ของการ์เซีย มาเกซ ที่ได้รับความนิยม เช่น “รักเมื่อคราวห่าลง” (ภาษาสเปน El amor en los tiempos del cólera/ ภาษาอังกฤษ Love in the Time of Cholera) นวนิยายดังกล่าว ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาสเปนเมื่อปี 2528 ต่อมา อีดิท กรอสแมน (Edith Grossman) แปลเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2531 และมีการทำเป็นภาพยนตร์ในปี 2550 นอกจากนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี 2556 โดย รัชยา เรืองศรี สำนักพิมพ์ บทจร

ขณะที่ “หมายเหตุฆาตกรรม” (ภาษาสเปน Crónica de una muerte anunciada/ภาษาอังกฤษChronicle of a Death Foretold) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2524 เป็นเรื่องราวของ “บายาร์โด ซาน โรมัน” ชายชาวโคลัมเบียผู้มั่งคั่ง แต่งงานกับหญิงท้องถิ่นผู้งดงาม แต่ก็ส่งตัวเธอกลับคืนให้ครอบครัวเธอไปอย่างเสียเกียรติหลังจากพบว่าเธอไม่บริสุทธิ์แล้ว ครอบครัวฝ่ายหญิงรู้สึกโกรธที่ลูกสาวถูกปฏิเสธ จึงบังคับให้เธอเอ่ยชื่อชายที่ชิงความบริสุทธิ์ของเธอไป แต่ฝ่ายหญิงกลับเอ่ยชื่อชายอีกคนหนึ่ง ทำให้ต่อมาพี่ชายของฝ่ายหญิงตามไปสังหารชายอีกคนแทน

โดยนิยายเรื่องนี้เขาผูกขึ้นระหว่างจินตนาการของเขากับเค้าโครงเรื่องจริงในปี 2494 ทำให้ในปี 2537 เขาถูก “มิเกล เรเยส พาเลนเซีย” ฟ้องร้องว่านำเรื่องราวชีวิตจริงของเขามาสร้างเป็นตัวละคร “บายาร์โด ซาน โรมัน” โดยเขาเรียกร้องเงินค่าลิขสิทธิ์จากหนังสือคิดเป็นร้อยละ 50 และขอเป็นผู้เขียนร่วม อย่างไรก็ตามในเดือนพฤศจิกายนปี 2554 ศาลตัดสินยกฟ้องโดยระบุว่า “มีงานวรรณกรรม งานศิลปะและงานภาพยนตร์จำนวนมากที่นำโครงเรื่องหลักมาจากชีวิตจริง โดยดัดแปลงให้เป็นการเล่าผ่านมุมมองของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งไม่มีผู้ใดอ้างสิทธิเหนือผลงานในทางมูลค่าอันจะเป็นการขัดต่อสิทธิของผู้สร้างได้” และยังยกฟ้องกรณีที่พาเลนเซียต้องการมีชื่อเป็นผู้เขียนร่วม โดยศาลให้เหตุผลว่าเพราะเขาไม่สามารถเล่าเรื่องอย่างที่กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ทำได้ และไม่สามารถใช้ภาษาทางวรรณกรรมในการเล่าเรื่องนี้ งานชิ้นนี้จึงมีสถานะความเป็นต้นแบบของมันเอง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สำหรับวรรณกรรมดังกล่าวมีการแปลเป็นภาษาไทยในปี 2529 โดย “พัชรินทร์” พิมพ์กับสำนักพิมพ์ตะเกียงลาน

นอกจากผลงานวรรณกรรมแล้ว เขายังได้รวมผลงานข่าวของเขาในชื่อ “ข่าวการลักพาตัว” (News of a Kidnapping) สารคดีเล่าเรื่องราวของเครือธุรกิจยาเสพติดในเมืองเมเดลิน (Medellin) ที่มีปาบโล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) นักค้ายาเสพติดชาวโคลัมเบียชื่อดัง ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2536

การ์เซีย มาเกซ ยังเป็นบุคคลทางการเมืองอีกด้วย นอกจากเป็นเพื่อนกับบิล คลินตันแล้ว การผูกมิตรของเขากับอดีตประธานาธิบดีคิวบา ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ยังทำให้เกิดข้อโต้เถียงขึ้นในแวดวงด้านวรรณกรรมและการเมืองในภูมิภาคละตินอเมริกาด้วย อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่ามิตรภาพของเขานั้นอยู่บนพื้นฐานของหนังสือ “ฟิเดลเป็นคนมีวัฒนธรรม” เขากล่าวในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง “เมื่อเราอยู่ด้วยกันเราพูดคุยกันในเรื่องวรรณกรรม”

สำหรับพิธีไว้อาลัยกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ นั้น จากรายงานของ ฮัฟฟิงตัน โพสต์ มาเรีย คริสตินา การ์เซีย เคเปดา ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะแห่งชาติของเม็กซิโก ซึ่งแถลงข่าวในนามของครอบครัวการ์เซีย มาเกซ เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ระบุว่าจะมีการทำพิธีฌาปนกิจเป็นการภายในครอบครัว ขณะที่สาธารณชนจะสามารถร่วมพิธีไว้อาลัยในวันจันทร์ที่ 21 เม.ย. นี้ ที่ the Palacio de Bellas Artes กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Author Gabriel Garcia Marquez dies, BBC, 17 April 2014 Last updated at 23:30
http://www.bbc.com/news/world-latin-america-27073911

Gabriel García Márquez, Wikipedia
http://en.wikipedia.org/wiki/Gabriel_Garc%C3%ADa_M%C3%A1rquez

One Hundred Years of Solitude, Wikipedia
http://en.wikipedia.org/wiki/One_Hundred_Years_of_Solitude

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net