Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนภายหลังการลงประชามติแบ่งแยกเขตการปกครองตนเองไครเมีย ดูราวกับไม่มีท่าทีจะยุติความขัดแย้งลงภายในระบบได้ง่ายๆ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนในรอบล่าสุดที่เริ่มต้นขึ้นจากปลายปี พ.ศ. 2556 บทบาทของยูเครนมักเป็นฝ่ายตั้งรับต่อการรุกของรัสเซีย จนกระทั้งมีคำประกาศจากรักษาการนายกรัฐมนตรียูเครนที่อนุมัติให้เริ่มมีการใช้ปฏิบัติการทางการทหาร เพื่อตอบโต้ความพยายามแบ่งแยกดินแดนในหลายเมืองฝั่งตะวันออกของยูเครน ซึ่งดูราวกับจะเป็นปฏิบัติการรุกกลับครั้งแรกของยูเครนในวิกฤติการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามปฏิบัติการทางการทหารของรัฐบาลรักษาการยูเครน ที่ส่งกองทัพเข้าไปยึดคืนพื้นที่ในเมืองฝั่งตะวันออกที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนนั้น อาจไม่ใช่ปฏิบัติการลุกขึ้นสู้ หรือเป็นความพยายามรุกกลับครั้งแรกของยูเครน ด้วยเหตุว่ามีปรากฏการณ์เล็กๆ ที่ไม่ถูกกล่าวถึงและให้ความสำคัญมากนัก แต่เป็นปฏิบัติการชุดแรกๆ ของยูเครนในการลุกขึ้นสู้กับรัสเซียในวิกฤติความขัดแย้งรอบนี้ นั้นก็คือ ความพยายามปลดแอกทางพลังงานจากรัสเซีย และสร้างอิสระทางพลังงานให้เกิดขึ้นของยูเครน  

พลังงานถูกหยิบใช้มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองและต่อสู้ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในทุกรอบที่มีความขัดแย้ง รวมถึงความขัดแย้งในรอบปัจจุบันรัสเซียก็ได้นำประเด็นพลังงานเข้ามาใช้ในเกมส์ความขัดแย้งเช่นเคยกล่าวคือ รัสเซียได้ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อตอบโต้การโค่นล้มระบอบปกครองซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนรัสเซีย การขึ้นราคาดังกล่าวทำให้ยูเครนเผชิญวิกฤตที่จะต้องซื้อก๊าซปริมาตร 1,000 ลูกบาศก์เมตร ในราคาถึง 485.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15,700 บาท) จากเดิมที่ 268.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8,700 บาท) โดยรัสเซียประกาศขึ้นราคาถึงสองรอบในช่วงเวลาเพียง 3 วัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรักษาการของยูเครนได้ดำเนินการแก้ไขกรณีปัญหาดังกล่าวด้วยการทบทวนสมดุลพลังงาน และเชื้อเพลิงสำหรับปี 2014 โดยพิจารณาถึงการหันมาใช้ถ่านหินแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย 

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีการใช้ประเด็นพลังงานเข้ามาต่อรองและต่อสู้กันในพื้นที่ความขัดแย้ง สะท้อนให้เห็นนัยที่สำคัญทางการเมืองเรื่องพลังงานอย่างน้อยใน 2 ประเด็นหลัก กล่าวคือ พลังงานกับภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และพลังงานกับความเป็นอิสระ (Independence) 

ประเด็นที่หนึ่ง พลังงานกับภูมิรัฐศาสตร์ หากจะทำความเข้าใจอย่างย่นย่อแล้วภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจถึงความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ หรือความได้เปรียบในเชิงกายภาพของพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อ หรือเอื้อประโยชน์ต่อความสามารถในการสร้างอำนาจทางการเมืองให้มีเหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จะพบว่ารัสเซียสามารถสร้างอำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่ายูเครนผ่านภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงาน ด้วยการวางท่อส่งก๊าซผ่านเข้าไปในพื้นที่ทั่วประเทศยูเครน และส่งต่อเข้าไปยังประเทศในยุโรป ดังจะเห็นได้จากแผนที่โครงข่ายท่อก๊าซด้านล่าง 


ที่มาภาพ: สำนักข่าว i24News (เข้าถึงผ่าน http://www.i24news.tv/en/news/international/europe/140405-ukraine-eyes-coal-after-russian-gas-price-hike)

โครงข่ายท่อก๊าซที่มีจุดเริ่มต้นอยู่ในประเทศรัสเซีย เป็นการใช้ภูมิรัฐศาสตร์ทางพลังงานของรัสเซียเพื่อสร้างอำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่ายูเครน จากประเด็นดังกล่าวอาจมีจุดที่น่าสนใจอยู่ 2 ประการสำคัญกล่าวคือ ประการที่หนึ่ง ที่ผ่านมาการพิจารณาถึงภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อตัดสินว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพ ที่จะนำไปใช้ในการสร้างอำนาจทางการเมืองได้เหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ มักพิจารณาจากสภาพของภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ หรือถึงแม้ว่าจะมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์นั้น แต่ก็เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องบนพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นหลัก เช่น มีพื้นที่ติดทะเล หรือเป็นพื้นที่ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยแผ่นดิน (Landlocked) พื้นที่ตั้งอยู่ในที่สูง หรือตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม รูปร่างของพื้นที่ขนาดใหญ่หรือกะทัดรัด พื้นที่อยู่ศูนย์กลาง (Heartland) หรือชายขอบ (Rim land) รวมถึงเขตแดน หรือพรมแดน ฯลฯ แต่ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงานที่รัสเซียมีเหนือยูเครนนี้เกิดจากภูมิศาสตร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง โดยมีปัจจัยตามธรรมชาติมากำกับอยู่น้อย ศักยภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในการสร้างอำนาจทางการเมืองให้มีเหนือกว่ายูเครนจึงมีผลสัมฤทธิ์สูงมาก

ประการที่สอง ความน่าสนใจอยู่ที่พลวัตรหรือการเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวพลังงาน กล่าวคือ ในช่วงหนึ่งพลังงานทำให้เกิดสงครามเพื่อการแย่งชิงแหล่งพลังงาน อาทิ สงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือสงครามอิรักกับคูเวต ฯลฯ หรือในอีกช่วงหนึ่งพลังงานเป็นประเด็นสำคัญมากในระบบของการป้องกันประเทศ และกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพของบรรดาประเทศมหาอำนาจ ทั้งกองทัพของสหรัฐอเมริกา กองทัพของรัสเซีย กองทัพของจีน รวมถึงกองทัพของตะวันออกกลาง ที่การขับเคลื่อนกองทัพจำเป็นต้องใช้พลังงานเป็นทรัพยากรสำคัญ ในขณะที่ปัจจุบันบทบาทของพลังงานได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ด้วยการไปกำหนดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พลังงานไม่ได้แต่เพียงกำหนดสงคราม และความเป็นไปของกองทัพเท่านั้น หากแต่ได้กลายตัวมาเป็นปัจจัยในการกำหนดความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความสามารถในการสร้างอำนาจทางการเหมืองที่เหนือกว่า
 
ประเด็นที่สอง พลังงานกับความเป็นอิสระ (Independence) แนวคิดความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) เป็นแนวคิดที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการถกเถียงเพื่อหาแนวทางในการจัดหาแหล่งผลิตพลังงาน เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง อาทิ เมื่อเปิดไฟ ไฟต้องติด และมีใช้เสมอเมื่อต้องการ แต่ในกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับยูเครน ความมั่นคงทางพลังงานอาจไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาสำคัญ หากแต่แก่นแกนของปัญหาอาจอยู่ที่ความเป็นอิสระทางพลังงาน กล่าวคือ ความเป็นอิสระทางพลังงานนอกจากจะสร้างความมั่งคั่งและรับรองความมั่นคงทางพลังงานได้แล้ว ความเป็นอิสระทางพลังงานยังต้องทำให้เกิดการสร้างสันติภาพและการสร้างเสถียรภาพได้อีกด้วย ในกรณีของยูเครนแม้จะมีความพยายามสร้างความเป็นอิสระทางพลังงานด้วยการนำถ่านหินเข้ามาใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากรัสเซีย แต่การกระทำดังกล่าวอาจไม่ได้รับรองความเป็นอิสระทางพลังงานให้กับยูเครนได้ ด้วยเหตุว่าแม้ยูเครนจะมีการทำอุตสาหกรรมถ่านหินอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองฝั่งตะวันออก และอาจคาดการณ์ได้ว่ามีถ่านหินเพียงพอที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ่านหินจะนำไปสู่สันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ในขณะนี้

การคาดการณ์ต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในรอบนี้ ถูกมองจากนักวิเคราะห์จำนวนมากว่าเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและไม่ง่ายนักที่จะยุติลง รวมไปถึงมีการคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะถูกแบ่งแยกประเทศ การคาดการณ์ในทางกลับที่สำคัญประการหนึ่ง และไม่ค่อยปรากฏนักคือ แล้วยูเครนเริ่มกระบวนการแบ่งแยกตนเองออกจากรัสเซียแล้วหรือยัง ความพยายามหันไปหายุโรปและอเมริกาของยูเครน โดยเนื้อแท้แล้วอาจเป็นเพียงกระบวนการที่ยูเครนพยายามปรับสมดุลทางอำนาจใหม่กับรัสเซีย แต่ความพยายามปลดแอกพันธะทางพลังงานที่รัสเซียมีเหนือยูเครนนั้น อาจเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการโต้กลับและในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การแบ่งแยกยูเครนออกจากรัสเซีย

 

 

หมายเหตุ: ขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่กรุณาให้ความเห็นในการเขียนบทความชิ้นนี้

อ้างอิง:
- Gijs Graafland, Energy Politics, Amsterdam: Planck Foundation, 2010.
- Bert Chapman. Geopolitics Guide to the Issues: Contemporary Military, Strategic, and Security Issues. California: Praeger, 2011. 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net