โต้ คริส โปตระนันท์ ว่าด้วยเรื่อง Limited government และความเข้าใจคลาดเคลื่อนของการปกครองส่วนท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตามที่คริส โปตระนันท์ ได้เขียนบทความเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ข่าวประชาไท เรื่อง Limited Government : แผนการ (บางข้อ) ของสุเทพที่จะจัดการระบอบทักษิณได้ชะงัด (จบ)[1] นั้นผู้เขียนเห็นว่าคริส ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องของปรัชญาการเมืองและความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน บทความของคริส แบ่งออกเป็นทั้งสิ้น 2 ตอน ตอนแรกว่าด้วยระบอบบทักษิณ(สรุปโดยผู้เขียน)[2] และตอนสองว่าด้วยการกระจายอำนาจและการจำกัดอำนาจของรัฐบาล โดยที่ในส่วนเนื้อหาของตอนแรกนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักของการเขียนบทความโต้ในครั้งนี้

ในบทความตอน2 ของคริสนั้น ได้เริ่มต้นมาจาก รัฐบาลกลาง[3]  ที่มีอำนาจจำกัด คริส เสนอว่ารัฐบาลขนาดเล็กและมีอำนาจจำกัดนั้น เป็นสิ่งเดียวกับการกระจายอำนาจ (decentralization) ที่หลายฝ่ายเสนอ คริสยังย้ำให้เห็นอีกในย่อหน้าถัดมาถึงความจำเป็นในการกระจายอำนาจอีกว่าเป็นเพราะต้องการความรวดเร็วและยังสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างถูกต้อง โดยคริสใช้คำว่า รัฐบาลที่มาจากรัฐบาลกระจายอำนาจ

สิ่งที่คริสเข้าใจผิดคือ ภายใต้รูปแบบของรัฐเดี่ยวของไทยที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น รัฐไทยสามารถมีรัฐบาลได้เพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลในระดับท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ความสับสนประการต่อมาของคริสคือ การเหมารวมเอาว่ารัฐบาลที่มีขนาดเล็กและมีอำนาจจำกัดเป็นสิ่งเดียวกันกับการกระจายอำนาจ ซึ่งการอธิบายในลักษณะนี้ถือเป็นการอธิบายที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการกระจายอำนาจนั้นคือการที่รัฐบาลไม่สามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่หรือมีความล่าช้าในเรื่องของการบริหารราชการ โดยที่การกระจายอำนาจในยุคแรกคือ การกระจายการรวมศูนย์อำนาจ (déconcentration) ที่รัฐบาลแต่งตั้งตัวแทนของตนไปประจำการในท้องที่อื่นที่อยู่นอกส่วนกลางหรือเรียกกันในทางกฎหมายว่าการปกครองส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้านเป็นต้น ภายหลังการปฎิรูประบบการเมืองและระบบราชการ การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นจึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้แนวคิดเรื่องการให้อำนาจประชาชนตัดสินใจกันเองและแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยท้องถิ่น(démocratie locale) ดังนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น โดยที่วัตถุประสงค์อีกประการของการกระจายอำนาจคือ การกระจายกิจการ(missions) ที่แต่เดิมเคยจัดทำแต่โดยรัฐบาลหรือส่วนภูมิภาคเท่านั้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เข้ามาจัดการแทน

ประการต่อมา การกระจายอำนาจไม่ใช่การจำกัดอำนาจของรัฐบาล เพราะการกระจายอำนาจเป็นเพียงการเปลี่ยนมือของผู้จัดทำบริการสาธารณะจากรัฐบาลไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เท่านั้นไม่ได้มีผลให้รัฐบาลถูกจำกัดอำนาจแต่ประการใด นอกจากนี้การที่อธิบายว่ารัฐบาลมีขนาดเล็กก็ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจแต่ประการใดทั้งสิ้น

นอกจากนี้คริส ยังย้ำในประเด็นของเรื่องการออกใบอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมในระดับของ อปท. ว่า อปท. ไม่มีอำนาจใดๆเลย ซึ่งผิด เพราะในปัจจุบัน อปท. มีบทบาทอย่างมากในการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่นเพราะเจ้าของโรงงานต่างต้องทำใบไต่สวนเขตเพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเอกสารนี้ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[4] นอกจากนี้ คริสยังสับสนถึงวิธีการจัดการงบประมานของท้องถิ่นและส่วนกลางอีกว่า การออกใบอนุญาตนั้นเป็นผลประโยชน์มหาศาลของส่วนกลาง หากคริสได้ลองเปิด พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแล้วจะเห็นว่าระบบการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมของ อปท. นั้นได้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนั้นแล้วอย่างชัดเตนรวมถึงค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตต่างๆที่คริสว่ามาแล้วข้างต้นด้วย

ข้อเสนอประการต่อมาคือเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการและการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ในเรื่องของตำรวจผู้เขียนเคยนำเสนอความคิดไว้บ้างแล้วตามที่ปรากฎในบทความเรื่อง “ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปองค์กรตำรวจภายใต้รัฐเดี่ยวมองผ่านองค์กรตำรวจฝรั่งเศส” [5]

ในข้อ 4 ของคริสได้เสนอทางออกของประชาธิปไตยไทยไว้ ว่า ต้องให้รัฐบาลมีขนาดเล็กลง ซึ่งประเด็นนี้ผู้เขียนชี้ให้เห้นในตอนต้นแล้วว่าไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันกับการกระจายอำนาจ ประเด็นที่สองคือ อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลเดี่ยว ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า คริสน่าจะมีความสับสนในเรื่องของรูปแบบของรัฐและการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะภายใจ้รัฐเดี่ยวสามารถมีได้เพียงรัฐบาลเดียวเท่านั้น ในประเด็นนี้คริสยกตัวอย่างของสงครามปราบปรามยาเสพติดและกรณีตากใบขึ้นมาอธิบาย ก่อนอื่น คริสต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโมเดลของรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นมีลักษณะให้รัฐบาลนั้นมีเสถียรภาพ คำว่าเสถียรภาพในที่นี้ไม่ใช่มีอำนาจล้นฟ้าโดยปราศจากขอบเขตแต่เป็นเรื่องของการให้รัฐบาลมีความมั่นคง โดยที่ตัวรัฐธรรมนูญเองได้ออกแบบกลไกในการจำกัดอำนาจรัฐไว้แล้วไม่ว่าจะเป็นศาลปกครองหรือองค์กรอิสระในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่คริสต้องวิเคราะห์ในประเด็นนี้คือกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในขณะนั้นมีประสิทธิ์ภาพหรือไม่ ไม่ใช่การที่กล่าวว่าเมื่อมีเหตุการณ์ในลักษณะนั้นเท่ากับรัฐบาลมีอำนาจโดยไม่จำกัด

นอกจากนี้คริสอาจจะมีความเข้าใจในทางทฤษฎีพื้นฐานที่คลาดเคลื่อนไปอย่างมาก คริสคงลืมไปว่ารัฐบาลในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น อยู่ภายใต้หลักสัญญาประชาคมของ John Locke ซึ่งได้แต่งตำราเรื่อง the two treaties of civil gouvernment ขึ้น เพื่อชี้ให้เห็นถึงการก่อตั้งอำนาจของรัฐบาลว่ามีที่มาอย่างไรและในตำราดังกล่าวได้กล่าวถึงการจำกัดอำนาจของรัฐไว้ภายใต้รูปแบบของสัญญาที่เรียกว่า Pactum Unionis ที่สิทธิของประชาชนจะได้รับการรับประกันว่าจะไม่ถูกรัฐล่วงละเมิด ดังนั้นขนาดของรัฐบาลไม่ใช่สารัตถะที่สำคัญในการจำกัดอำนาจ

ในบทสรุปเอง คริส ยกหลักเรื่องการแบ่งแยกอำนาจมาใช้ซึ่งคริสอธิบายว่า “การจำกัดอำนาจรัฐบาลเป็นหลักการที่พื้นฐานที่สุด คือ หลักแบ่งแยกอำนาจ”  ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่า คริส ไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างรัฐบาล (gouvernment) และ รัฐ (State) ได้ เพราะหลักการแบ่งแยกอำนาจนี้ใช้กับการแบ่งแยกอำนาจสูงสุดในรัฐว่าองค์กรใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจอะไร และเป็นหลักที่ใช้ในการแบ่งแยกอำนาจรัฐไม่ใช่อำนาจรัฐบาล  ภายใต้หลักนิติรัฐ คริส น่าจะลืมคำสอนพื้นฐานที่ว่า หัวใจของกฎหมายมหาชนคือ ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่สามารถกระทำได้ เท่านี้ก็เพียงพอที่จะอธิบายหลักการจำกัดอำนาจรัฐ (ไม่ใช่รัฐบาล) ได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องอ้างถึงการกระจายอำนาจ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจำกัดอำนาจของรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะการกระจายอำนาจเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
 
 



[3]  ตัวหนาเน้นโดยผู้เขียน

[4]  ดูเพิ่มกรณีเหมืองโปแตส อุดรธานี http://prachatai.com/journal/2013/05/46677

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท