Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(เพื่อความต่อเนื่อง อ่านบทความตอนแรกได้ที่ Limited Government : แผนการ(บางข้อ)ของสุเทพที่จะจัดการระบอบทักษิณได้ชะงัด1 )

๐๐๐๐
 

3. รัฐบาลกลางที่มีอำนาจจำกัด (Limited government) คือทางรอด

ผู้เขียนขอเสนอโมเดลการแก้ปัญหา การเมืองไทย ด้วย Limited Government หรือรัฐบาลกลางที่มีอำนาจจำกัด หรือ มีขนาดเล็ก (Small government) จริงๆแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนเสนอ มันก็เป็นสิ่งเดียวกับการกระจายอำนาจที่หลายฝ่ายเสนอ รวมถึงเป็นหนึ่งในข้อเสนอของกปปส.ด้วย (แต่อาจจะถูกพูดถึงน้อยเกินไปจากทางม้อบ) ซึ่งข้อเสนอ การกระจายอำนาจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม การผลักดันการกระจายอำนาจจากภาคประชาชนมีมาตั้งแต่ก่อนช่วงปี 30 จนมาสำเร็จครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญ 2540

สรุปง่ายๆ ข้อดีของการกระจายอำนาจ ที่เขียนตามตำราเล่มต่างๆ จะมีอยู่ สองข้อหลัก

ข้อแรก การกระจายอำนาจทำให้ การบริหารราชการแผ่นดิน ฟังเสียงของคนในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากประชาชนในพื่นที่เป็นคนเลือกรัฐบาลนั้นเอง รัฐบาลจึงต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากกว่า หน่วยราชการที่มาจากรัฐบาลกลาง

ข้อที่สอง รัฐบาลที่มาจากรัฐบาลการกระจายอำนาจท้องถิ่น มักจะทำงานได้รวดเร็วกว่า (Higher Efficiency) เนื่องจากระบบสายบังคับบัญชาที่สั้นกว่า ขนาดที่เล็กกว่า ส่วนรัฐบาลที่มาจากการแบ่งอำนาจนั้น ต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลาง อำนาจของหน่วยข้าราชการ ถูกจำกัด ด้วยอำนาจที่แบ่งมาจากส่วนกลาง การทำงานจะช้าและอุ้ยอ้ายกว่า

ซึ่ง ณ สถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรามี ไม่ว่า จะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล ก็สามารถดำเนินการได้ดี แต่ยังมีอำนาจอีกหลายประเภทที่รัฐบาลกลางไม่ยอมให้ขึ้นตรงต่อท้องถิ่น อย่างเช่น สายบังคับบัญชาของตำรวจ การออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจ หรือ โรงงานอุตสาหกรรม และงบประมาณส่วนกลางที่เป็นผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล

มุมมองที่สำคัญที่เราควรพิจารณาคือ มิติเชิงอำนาจซึ่งก็อย่างที่เราเห็นๆกันว่า กปปส.เสนอข้อเสนอเหล่านี้ด้วยตัวเอง มีทั้ง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และ การให้ตำรวจขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่า การที่กปปส.มีข้อเสนอจำพวกนี้ ก็เพราะอยากให้ฝ่ายประชาธิปัตย์ได้ครอบครองอำนาจบ้างไม่ว่าจะเป็นอำนาจและงบ ประมาณในการคุมส่วนราชการในจังหวัด หรือ อำนาจทางตรงที่ตนเองจะขอแบ่งมาบ้างอย่างอำนาจตำรวจ

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นมุมมองเชิงวิชาการ ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากพรรคการเมืองไม่ตอบรับ (ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแล้ว อยากจะปล่อยผลประโยชน์ของตัวเอง ปล่อยอำนาจของตนไปให้รัฐบาลท้องถิ่น)

4. ทางออกของประชาธิปไตยการเมืองไทย

คราวนี้เรามาดูกันว่า ทำไมการจำกัดอำนาจรัฐบาลกลางให้รัฐบาลมีขนาดที่เล็กลง ถ้าพูดกันตรงๆก็คือ กระจายอำนาจให้ประชาธิปัตย์(และพรรคท้องถิ่นอื่นๆ) ถึงเป็นทางออกของประชาธิปไตยการเมืองไทย

1. การจำกัดและลดอำนาจรัฐบาลกลางสามารถลดเดิมพัน(Stake) ของการเมืองระดับชาติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตการเมืองในปัจจุบันคือ การแย่งชิงผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งในส่วนของงบประมาณ อำนาจทางการเมืองที่มีผลต่อธุรกิจของตนจำพวกใบอนุญาต หรือ อำนาจทางตรงอย่างเช่น อำนาจในการคุมตำรวจ ซึ่งล้วนแต่เป็นเดิมพันที่สำคัญของการชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งผลพลอยได้ที่สำคัญมากของการจำกัดอำนาจรัฐบาลกลาง และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นก็คิือ เราจะสามารถทำให้การกระจายเวทีการชิงอำนาจกันระหว่างสองกลุ่มการเมืองใหญ่ ไปชิงอำนาจกันในท้องถิ่น โอกาสของการเกิดวิกฤตการเมืองระดับชาติก็จะลดลง

2. อำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐบาลเดียวเป็นสิ่งที่อันตราย ถ้ารัฐบาลจะใช้อำนาจเด็ดขาดไปในทางที่ผิด ความเสียหายจากการกระทำผิดๆของรัฐบาลเดียว อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชย์ขั้นรุนแรงได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ นโยบายอย่างสงครามยาเสพย์ติด ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า สองพันคน เป็น หรือ เหตุการณ์ที่ตากใบที่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 85 ศพ ก็เป็นผลจากการที่เรามีรัฐบาลกลางที่อำนาจที่เข้มแข็งและลุแก่อำนาจเช่นกัน

3. พรรคเสียงข้างน้อย (ที่แทบจะไม่มีโอกาสจะชนะการเลือกตั้งเลย) จะได้มีโอกาสแสดงมีฝีมือให้กับประชาชนเห็นเนื่องจาก ตนเองที่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ สามารถที่จะบริหารพื้นที่ของตนเองให้เจริญรุ่งเรืองได้ ซึ่งข้อนี้เห็นได้ชัดว่า ตอนทักษิณเป็นนายกเกือบ 7 ปี คนของพรรคประชาธิปัตย์นี้ไม่มีโอกาสแสดงผลงานเลย ซึ่งหากดูแลพื้นที่ของตนเองได้ดี ประชาชนนอกพื้นที่อาจจะเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคเล็กได้ง่ายขึ้น

4. พรรคเสียงข้างน้อยมีโอกาสได้เก็บสะสมทุนหรือกระสุน (ไม่ว่าจะถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมาย) เพื่อให้มีโอกาสชนะเลือกตั้งในสนามเลือกตั้งใหญ่บ้าง เราต้องยอมรับว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการผลประโยชน์ เราจำเป็นต้องให้คนกลุ่มได้จัดการผลประโยชน์ทางการเมืองของฐานเสียงของ ตน(เช่น ประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลในส่วนของภาคใต้)

5. เป็นการหางานให้ฝั่งที่ไม่ชนะเลือกตั้งใหญ่ ได้ทำงานบ้าง ได้ฝึกฝนฝีมือบ้าง อาจมีสนามในการลองใช้นโยบายบางอย่างของพรรคในพื้นที่ แล้ว ถ้าใช้การได้ดี จะได้นำไปทำในระดับประเทศต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นการลดความเสี่ยง ในนโยบายระดับประเทศที่อาจะใช้งานไม่ได้บางอย่าง เช่น จำนำข้าว หรือ ชั่งไข่เป็นกิโล ก็ควรจะลองทำในพื้นที่ของตนก่อน

6. ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าเราจัดการผลประโยชน์ทางการเมืองลงตัว ความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นในสังคม ณ ตอนนี้ ต้องยอมรับว่า มีคนหลายกลุ่มไม่มีความสุข ความพอใจกับระบอบการเมืองของไทย และเมื่อไรที่ความไม่พอใจทางการเมืองนั้นรุนแรงมากขึ้น การจับอาวุธขึ้นต่อสู้ก็มักจะตัวเลือกที่ไม่สามารถหลีักเลี่่ยงได้ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นก็เกิดขึ้นมาตลอด7-8ปี ที่ผ่านมา ไม่ว่า จะเป็นการก่อจราจลทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง รวมไปถึง เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วย

7. การลดอำนาจรัฐบาลกลางนั้นจะเป็นการลดแรงจูงใจในการล้มล้างประชาธิปไตยด้วย วิธีนอกกฎหมาย หลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์เรามีรัฐประหารเกิดขึ้น เพราะการแก่งแย่งอำนาจกันในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในต่างจังหวัด ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ แต่กลับมาถูกผลกระทบไปด้วย

8. การจำกัดอำนาจรัฐบาลกลางและกระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นจะทำให้ความเจริญไม่ กระจุกตัวแต่เพียงในกรุงเทพมหานคร การที่รัฐบาลกลางที่อยู่ที่กรุงเทพมหานครมีขนาดใหญ่และมีอำนาจมากจะทำให้งบ ประมาณต่างๆกระจุกตัวอยู่ภายในพื้นที่ที่คนคุมนโยบายเห็นเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น มันยากมากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมที่เป็นคนดูแล ขสมก. จะเริ่มจัดการเดินรถประจำทางในทุกจังหวัดในประเทศไทยพร้อมๆกัน การกระจายอำนาจกระทรวงคมนาคมเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ขนส่งมวลชนเกิดขึ้น จริงๆทั่วทั้งประเทศ (ตอนนี้จังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีรถเมล์คือ กรุงเทพมหานคร)

5. สรุป

ท้ายที่สุด การอ้างว่าระบอบการปกครองในปัจจุบันของประเทศไทย เป็นระบอบประชาธิปไตยที่นานาอารยะประเทศ ใช้กันเป็นมายาคติที่มีการอ้างกันไปตามที่พูดกันปากต่อปาก ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ มักมีรัฐบาลท้องถิ่นที่เข้มแข็ง

ความเห็นผู้เขียนเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ถ้าไม่มีการจำกัดอำนาจของรัฐบาลกลาง (Limited government) การจำกัดอำนาจรัฐบาลเป็นหลักการที่พื้นฐานที่สุด คือ หลักแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนกับว่าประเทศไทยรับหลักการนี้มา คือ มีการใช้อำนาจอธิปไตย ผ่าน รัฐบาล รัฐสภา และศาล แต่อย่างไรก็ดี การคานอำนาจและจำกัดอำนาจในเชิงแนวตั้งยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน คนไทยส่วนใหญ่หวังและฝันให้รัฐบาลในระดับชาติเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะระบบอำนาจแบบรวมศูนย์และรัฐบาลขนาดใหญ่ เป็นระบบที่อยู่กับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาล ที่ 5

การแก้ปัญหาของประเทศนี้คงไม่ได้อยู่ที่การเอาคนตระกูลใด ตระกูลหนึ่ง หรือ กลุ่มใด กลุ่มหนึ่งออกจากประเทศนี้ แต่เราต้องวางระบบการเมืองที่มีแรงจูงใจ(Incentive)ที่ถูกต้อง มีการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ให้ทุกฝ่ายพอใจ

ผู้เขียนเชื่อว่า ในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังมีโอกาสที่จะทำให้เรื่องการกระจายอำนาจนั้นเป็นจริงขึ้นมาในสังคม ซึ่งที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองเห็นถึงหัวใจของปัญหานี้ แต่ไม่มีใครสนใจที่แก้ไข เนื่องจากไม่มีเหตุผลทางการเมืองที่เพียงพอ แต่จากวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา 8 ปีนั้น คงจะทำให้ข้อเสนอพวกนี้มีเหตุผลรองรับทางการเมืองอยู่บ้าง ผู้เขียนเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลทักษินน่าจะรับข้อเสนอปฎิรูปทั้งสองข้อนี้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนต่อประเทศมากที่สุด พรรคเพื่อไทยคงจะได้เป็นรัฐบาลต่อ แต่อาจต้องเสียอำนาจในการบริหารในภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และภาคใต้บ้างก็คงจะไม่เสียหายทางการเมืองมากนัก

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net