“วิสัยทัศน์ที่ขัดแย้ง” งานศิลปะการเมืองในห้วงขั้วเหลือง-แดง

10 เม.ย. 2557 สำหรับนิทรรศการที่ชื่อ “Conflicted Visions” ใน WTF แกเลอรี่ งานศิลปะภาพถ่ายหญิงสาวเสียดสียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกฯ ผู้หญิงที่หมกมุ่นในภาพลักษณ์ตนเองและล้มเหลวในการบริหารโครงการต่างๆ ของประเทศ จัดแสดงอยู่ใกล้เคียงกับภาพถ่ายเซ็ต “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อบ” ที่ศิลปินต้องการให้ผู้ชมกระตุกคิดถึงความรุนแรงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 และใกล้ๆ กันยังมี แบบเรียน “มานีมีแชร์” ที่คนรู้จักกันมากในโลกออนไลน์ ก็ติดตั้งอยู่บนฝาผนังทำหน้าที่เสียดสี “ความเป็นไทย” ได้อย่างแหลมคม 
 
สมรัก ศิลา ภัณฑารักษ์นิทรรศการ Conflicted Vision ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “ทัศนวิสัยที่ขัดแย้ง” กล่าวถึงที่มาของงานว่า ต้องการจะให้นิทรรศการนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ศิลปะจากต่างฝ่ายขั้วการเมือง มาสร้างบทสนทนาท่ามกลางความขัดแย้งที่ทำให้ต่างฝ่ายดูจะคุยกันได้ยากขึ้นทุกที
 

"มานีมีแชร์" โดยศิลปินนิรนาม
 
เธอเล่าว่า กว่าจะใช้เวลาคุยตกลงกับศิลปินขั้วต่างๆ ใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจและไว้ใจให้แสดงผลงานของตนเองในงานนี้ได้ เพราะย่อมเหมือนกับสังคมไทยในภาพใหญ่ ในวงการศิลปินเองก็มีความระแวงระหว่างผู้ที่มีจุดยืนต่างกันทางการเมือง
 
“ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดช่วงสองสามปีที่ผ่านมาก็ทำให้คุยกันยาก คนที่ทำศิลปะก็ไม่คุยกัน เราตั้งใจเลือกศิลปินที่มีจุดยืนที่ชัดที่สุด แล้วต่างกันสองขั้วด้วย เพื่อที่จะพิสูจน์ประเด็นที่ว่ามันทำได้นะ เรามีความหวังในสังคมไทยที่มันแตกแยกมากขนาดนี้ทั้งเรื่องการเมือง มันทำได้ ทำเหอะ ยอม ไว้ใจเรา เรามีเจตนารมณ์ที่ไม่ได้มีวาระซ้อนเร้นอะไร” สมรักกล่าว 
 
เธอและคริสโตเฟอร์ ไวส์ ภัณฑารักษ์ร่วม ตัดสินใจเลือกศิลปินแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในแต่ละฝ่าย โดยมีข้อแม้ว่างานนั้นต้องไม่ไปยั่วยุขั้วตรงข้าม และให้ศิลปินละทิ้งอคติส่วนตัวเพื่อเอาศิลปะมาคุยกัน
 
แม้งานนี้ผู้ที่มาร่วมชมจะได้มาพบและแลกเปลี่ยนระหว่างแนวคิดที่หลากหลาย หากแต่บทสนทนาระหว่างศิลปินจริงๆ กลับไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนัก
 

มานิต ศรีวานิชภูมิ กับผลงาน "Obscene Mantra"
 
มานิต ศรีวานิชภูมิ เจ้าของงาน “พิงค์แมน” และหนึ่งในผู้ร่วมจัดแสดงงานครั้งนี้ อธิบายถึงคอนเซปต์งานของเขาที่ชื่อ “นู้ดการเมือง” งานชุดนี้จัดแสดงครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว หลังจากที่ยิ่งลักษณ์ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2555 ไม่กี่เดือน เขากล่าวว่าเนื่องจากไทยได้มีนายกฯ เป็นผู้หญิง จึงต้องการทำนู้ดการเมืองที่สะท้อนภาพของการเมืองไทย 
 
“การเมืองบ้านเรา เดิมเราอาจจะมีอคติคิดว่าจะมีความละอาย หรือความหน้าบางกว่านักการเมืองผู้ชายที่จะทำอะไรไม่ดี ในทางการเมืองเราคิดว่าถ้าหากจะเปลี่ยนมาเป็นนักการเมืองผู้หญิงแล้ว ก็อาจจะไม่ทำอะไรแบบนี้” มานิตกล่าว ”แต่สิ่งที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่าการเมืองไทยไม่มีเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน นักการเมืองเป็นงี้หมดทั้งเมือง พวกเขาจะตอกย้ำอยู่เสมอว่าพูดแล้วไม่ทำ”
 
เมื่อถามว่าในฐานะที่งานนี้มีศิลปินที่หลากหลายมาจัดงานร่วมกัน มีการโต้เถียงหรือปะทะกันทางความคิดบ้างหรือไม่ เขาตอบว่ามันเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะไม่มีการคุยหรือสนทนากันระหว่างศิลปินเลย โดยมานิตมองว่างานนี้ก็เป็นเหมือนภาพย่อยของสังคมไทยที่ต่างฝ่ายไม่สามารถคุยกันได้ง่ายนัก 
 
“อย่างน้อยที่สุดนิทรรศการนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่ล่มไป เพราะตอนแรกมีทีท่าว่าจะล่มด้วยซ้ำ พอรู้ว่าอีกฝ่ายแรง อีกฝ่ายมีปัญหา มีประวัติที่ไม่ค่อยดีในเรื่องเซนซิทิฟ ก็เลยเริ่มแบบว่าจะเดินหน้ากันต่อหรือไม่ต่อ แต่งานเปิดวันนี้ก็แสดงให้เห็นว่ามันก็โอเค ในแง่หนึ่งว่ามันก็ยังเดินต่อไปได้” มานิตกล่าว
 
“สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นก้าวสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าคุณไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันหรอก แต่ขอให้เราอยู่ร่วมกันได้ อย่างน้อยเราก็อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทำร้ายหรือชกต่อยกัน”
 
 
สำหรับประกิต กอบกิจวัฒนา เจ้าของงานที่รู้จักกันดีอย่าง “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อบ” กล่าวถึงแรงบันดาลใจของงานนี้ว่ามีที่มาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 53 โดยตั้งคำถามต่อความเฉยชาของคนกรุงเทพฯ ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
“การลุกขึ้นมาตั้งคำถามของผม มันก็นำไปสู่การเขียนรูปนี่แหละ พอมันเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบ จุดที่มันกระทบมากๆ คือไอบิ๊กคลีนนิ่งนี้  พอล้อมปราบเสร็จจะมาบิ๊กคลีนนิ่ง เสร็จแล้วจะช็อปปิ้งกันต่ออีกแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่า จะรีบบริโภคกันไปไหนวะ แล้วไอเรื่องการที่มีคนตายก็ดี อะไรก็ดี ใครจะผิดจะถูกก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่การที่มีคนตายขนาดนี้ มันเป็นเรื่องที่เราลืมไม่ได้ง่ายๆ ใช้ขาก้าวข้ามให้มันหายไปมันทำไม่ได้” ประกิตกล่าว 
 
เขาอธิบายคอนเซปต์เบื้องหลังงาน “ป๊อบ” แต่ละชิ้น ที่ประกอบไปด้วยงานแขวนฝาผนังอย่างโลโก้ผลิตภัฑ์แอปเปิ้ลที่มีสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์ประทับอยู่ กระป๋องซุปแคมป์เบลล์ที่ได้แรงบันดาลใจจากแอนดี้ วอร์ฮอลล์ รวมถึงงานชิ้นรูปมือปืนลายถุงป๊อบคอร์น ว่ามาจากการสังเกตความเป็น “ประเทศกรุงเทพฯ” ของคนเมือง ที่มีความย้อนแย้งในตัวเองตลอดเวลาในเรื่องสังคม การเมือง และวัฒนธรรม
 

งานศิลปะบางส่วนโดยประกิต กอบกิจวัฒนา
 
“อย่างชิ้นประชาธิปไตยสำเร็จรูปนี้ คนไทยคือเวลามีปัญหา เราอยากได้นายกฯ คนกลาง อยากได้รัฐประหาร เราอยากได้อะไรที่มันแดกด่วน เร็วๆ ตลอดเวลา เราไม่เคยใช้ความอดทนกับการเดินทาง ประชาธิปไตยมันอาจจะต้องมีส่วนผสมที่ดีเพื่อที่จะเดินไปข้างหน้า แต่นี่กะแดกประชาธิปไตยสำเร็จรูปแล้ว พรุ่งนี้กูเป็นประชาธิปไตยทันทีเลย ซึ่งมันไม่จริง ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เจริญ ไอสังคมที่มีการถกเถียงอย่างเอ็กซ์ตรีมมันก็เดินทางมาเป็นพันๆ ปีกว่าจะมาจนถึงจุดนี้” เขากล่าว 
 
สมรัก กล่าวว่า แม้บทสนทนาระหว่างศิลปินจะไม่เกิดมากนัก แต่เพียงแค่งานนี้สามารถรวมศิลปินที่มีแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลายมารวมกันได้ก็ถือว่าดีแล้ว
 
“ไม่ได้คาดหวังให้ศิลปินสร้างไดอาล็อคว่ามาคุยกัน ต้องมาดีกันนะ ให้เกลียดกันต่อไปก็ไม่เป็นไร ไม่คุยกันก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อย ถ้าไม่เริ่มแล้วใครจะเริ่ม พื้นที่หนึ่งที่ทำได้เลยคือเอาศิลปะมาเป็นตัวเชื่อม ถ้าคนเห็นแล้วคิดว่ามันทำได้ คนวงการอื่นก็อาจจะเอาไปทำต่อได้ แค่นั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จ” เธอกล่าว
 
“เขาอาจจะมาเซ็ตงานแล้วไม่ได้เจอกันไม่เป็นไร แต่แค่มีชื่ออยู่ด้วยกันแค่นี้ก็อัศจรรย์ใจมากอยู่แล้ว” 
 


 

 
 
นิทรรศการ Conflicted Vision จะจัดแสดงถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ที่ WTF Cafe & Gallery สุขุมวิท ซอย 51
 
ภาพถ่ายทั้งหมดโดย Sora Wong

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท