Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


แตกต่าง ใช่แตกแยก

การถกเถียงกันในวงการประชุมของขบวนการภาคประชาชนหลายครั้งที่ผ่านมา มีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า มีความแตกต่างกันในการวิเคราะห์สภาพสังคมไทย อันเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การกำหนดแนวการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การขับเคลื่อนยังไม่มีความเป็นเอกภาพ

หลายครั้งการประชุมต้องสรุปการประชุมที่ไม่มีข้อสรุป เพื่อเป็นการประคับประคองขบวนการภาคประชาชน แต่สิ่งที่เห็นตรงกันคือ มีความจำเป็นที่จะต้องให้มีการระดมความเห็นเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวคิด การวิเคราะห์ สภาพสังคมไทย  ที่จะเป็นพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันของทุกเครือข่าย อันจะนำไปสู่การสังเคราะห์บทบาท แนวทาง ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในอนาคต

ทุกคนเห็นร่วมกันว่า แม้จุดยืนทางการเมืองจะมีความสำคัญต่ออัตลักษณ์ของขบวนการภาคประชาชน  แต่การร่วมกันเป็นองค์กรที่มีพลังในการต่อรองกับอำนาจรัฐ  ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญพอๆกัน  การแสดงจุดยืนทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อความขัดแย้ง แตกแยก ของขบวนการภาคประชาชนโดยรวม ย่อมหมายถึงความล้มเหลวในการต่อสู้ของขบวนภาคประชาชน สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาของการปรับรูปขบวนการภาคประชาชนครั้งใหญ่  ก่อนที่จะเติบโตเป็นองค์กรนำของภาคประชาชนรากหญ้าในอนาคต

กระแสการเรียกร้องการปฏิรูปจากทุกภาคส่วน  เป็นกระแสสูงที่ย่อมเป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหว และเป้าหมายของขบวนการภาคประชาชนในอนาคต  หากสังคมไทยสามารถดำรงอยู่ได้ภายหลังความขัดแย้งอย่างรุนแรง  และหากเราปรับรูปขบวนฯ ได้ทันพอดี  แรงส่งของการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ของสังคมไทย  อาจจะเห็นผลได้ในชั่วชีวิตของพวกเรา

ปัญหาของวัฒนธรรมอำนาจนิยม

ชนชั้นกลางในกรุงเทพและในภาคใต้ ปฏิเสธการเลือกตั้ง หากไม่มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง พวกเขาไม่มั่นใจระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน  เพราะเห็นว่า ระบอบดังกล่าวเหมาะกับสังคมที่มีวุฒิภาวะในการแยกแยะความผิดถูกชั่วดี  การเลือกตั้งทุกครั้งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สังคมได้ผู้ปกครองที่เป็นทรราช เป็นผู้ที่ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และใช้ผลประโยชน์ในการหว่านล้อมประชาชนที่ขาดความเข้าใจ  ประเด็นของการปฏิรูปจึงต้องการกีดกันคนไร้ศีลธรรมออกจากระบบการเมือง  และกระจายอำนาจออกไปสู่ประชาชนวงกว้าง  การสร้างพื้นฐานใหม่จะเป็นหลักประกันต่อความอยู่รอดของสังคม

มีคำถามมากมายที่คำอธิบายดังกล่าวจะต้องหาคำตอบ  เช่น  จะตัดปัจจัยการขยายตัวของชนชั้นกลางใหม่ในชนบท ที่เป็นพลังของคนกลุ่มใหม่ ที่ต้องการพื้นที่ทางการเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆได้อย่างไร   จะอธิบายได้อย่างไรว่า  ความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน กลายเป็นกระแสหลักของประเทศต่างๆทั่วโลก ที่ยอมรับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  โดยไม่แบ่งชนชั้น ผิวสี เพศ การศึกษา ฯลฯ    ใครจะเป็นผู้นิยามศีลธรรมของการเป็นผู้ปกครองที่ดี  หากได้เป็นผู้ปกครองโดยไม่ผ่านกระบวนการเห็นชอบของคนส่วนใหญ่  จะนับเป็นผู้ปกครองที่มีศีลธรรมอันดีได้หรือไม่  ใครคือครูใหญ่ ที่จะเป็นผู้ตรวจข้อสอบ ว่า คนส่วนใหญ่มีความรู้ไม่มากพอที่จะตัดสินอนาคตของสังคม    กระบวนการที่ไม่ชอบธรรม แม้จะบรรลุเป้าหมาย  เป็นวิถีทางที่คนในสังคม ควรจะยอมรับใช่หรือไม่    ฯลฯ

การใช้เหตุผลแบบไม่ซับซ้อน เพื่ออธิบายสภาพของสังคมที่มีปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวพันกันอย่างยุ่งเหยิง  มีที่มาจากฐานะการครอบงำของวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม (เสกสรร ประเสริฐกุล:ปาฐกถา 14 ตุลาฯ 56)  ที่ครอบงำสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน   ประชาธิปไตยของสังคมไทย เติบโตผลิดอกอยู่บนพื้นที่ของวัฒนธรรมอำนาจนิยม  การรัฐประหารเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของการครอบครองพื้นที่เดิมของชนชั้นนำเก่าอย่างเหนียวแน่น ความคิดแบบชาตินิยม  อนุรักษ์นิยม สถาบันนิยม และการมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบอภิสิทธิชน  ได้หล่อหลอมกลายเป็นอุดมคติที่ต่อต้านแนวคิดที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค  เพราะพวกเขาทนไม่ได้ที่โลกของพวกตนจะถูกรุกรานจากผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ไม่อาจกลายเป็นพลเมืองภายใต้ผู้นำที่เป็นตัวแทนของผู้ที่ไม่มีความพร้อม  วัฒนธรรมอำนาจนิยม  จึงต้องเป็นผู้คัดเลือกและตัดสินเรื่องราว และคุณค่าต่างๆ ด้วย คำนิยาม และการอธิบายแบบใหม่  ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า เป็นสิ่งที่สมบูรณ์กว่าคำอธิบายของประชาธิปไตยแบบดาษ ๆ 

การหลอมรวมอุดมคติของวัฒนธรรมอำนาจนิยม  ดำเนินมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่โบราณจวบจนปัจจุบัน  จนแม้กระทั่ง พลเมืองที่ถูกวาทกรรมดังกล่าวที่ผลิตซ้ำมาชั่วชีวิตครอบงำโดยไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยม  พูดง่ายๆ พวกเขาไม่ได้มีเจตนาจะดูถูกความเสมอภาค แต่มันจำเป็นต้องมีข้อยกเว้น

ดังนั้น  เราจะเห็นการถกเถียงที่ไม่อาจจะเอาชนะกันด้วยเหตุผล  เพราะคำอธิบายของทั้งสองฝ่าย อยู่บนฐานคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  แต่ละฝ่ายต่างนิยามคุณค่า และความหมายของเรื่องราวแตกต่างกันไป  และต่างก็ยกเอาเหตุผลตามฐานคิดของตนในการอธิบาย  พรรคเพื่อไทยอธิบายว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย  ศาลฯตอบว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอยู่เหนือลายลักษณ์อักษร   respect my vote ขอให้ กกต.เดินหน้าจัดการเลือกตั้งตามหน้าที่  กกต.ตอบว่า   ถ้าสังคมอยู่ในเงื่อนไขที่จะเกิดความรุนแรง  การจัดการเลือกตั้งจะไม่เป็นทางออกของสังคม  กกต.เป็นองค์กรที่ต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาที่มากกว่าการเลือกตั้ง    คนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับ นายกฯคนกลาง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง   กปปส. นักธุรกิจ และ เอ็นจีโอบางส่วน  เห็นว่า ในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ทุกฝ่ายต้องเสียสละ

ประชาธิปไตยสองกระแส

ในทัศนะของ อ.เสกสรรค์  ความขัดแย้งที่เราเผชิญอยู่ นับตั้งแต่ปี 49  เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากการสะสมของพลังการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน  และมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องสามประการ คือ  การต่อสู้ระหว่าชนชั้นนำเก่า ที่ครอบครองอำนาจมาเป็นเวลานาน กับชนชั้นนำใหม่ที่เติบใหญ่จากระบบทุนโลกาภิวัตน์    ฐานะการครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ไม่สอดคล้องกับอุดมคติประชาธิปไตย  และ ความไม่ต่อเนื่องของพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่ลุ่มๆดอนๆ

ชนชั้นนำใหม่  เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยการขยายบทบาทและอิทธิพลของอุดมคติประชาธิปไตยในรูปแบบประชาธิไตยแบบตัวแทน  พวกเขาประสบความสำเร็จในการหยั่งรากความคิดนี้ให้กับมวลชนจำนวนมหาศาลที่กลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ในการเร่งรัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงแรกของการเข้ายึดครองอำนาจ  นโยบายแบบรัฐสวัสดิการเป็นเหมือนเครื่องจักรกลที่ดูดกลืนมวลชนให้เข้าร่วมกับอุดมคติดังกล่าว  สอดคล้องกับหลักการความเสมอภาคที่มาพร้อมกับลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ที่ปลดปล่อยพันธนาการทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขาอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์   การเข้าถึงแหล่งทุน ความรู้ และโอกาสในการแสวงหาความก้าวหน้า  เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่พวกเขาเชื่อว่า สามารถกำหนดได้ร่วมกับพรรคการเมืองของพวกเขา  งานวิชาการหลายชิ้น ชี้ให้เห็นถึงผลของนโยบายที่มีต่อการตัดสินใจของคนชนบทในการเมืองระดับประเทศ มากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า   ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น  ที่มักคำนึงถึงความสัมพันธ์มากกว่านโยบาย

การไม่ยอมรับข้อเท็จจริงข้างต้นของชนชั้นกลางในเมือง โดยกล่าวหาว่า  ระบอบทักษิณได้รับชัยชนะทุกครั้งเพราะการติดสินบนโดยนโยบายประชานิยม   เป็นผลมาจากทัศนะของวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่คับแคบและครอบงำพวกเขา  กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขาเป็นเหยื่อของชนชั้นนำเก่าโดยไม่รู้ตัว

ในขณะที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน  รุ่งเรืองและเฟื่องฟูจนถึงจุดสูงสุดในปี 2549 ประชาธิปไตยกระแสที่สองซึ่งได้รับการยกระดับ ขยายผล โดยเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคนชายขอบ  ผู้ที่ถูกรังแกจากโครงการพัฒนาของรัฐ  ผู้ไร้ที่ทำกินที่ถูกกล่าวหาว่ารุกป่า และถูกขับไล่ อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน  ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้ง ชนชั้นกลางจำนวนน้อย และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม   พวกเขานิยามวิถีทางประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่  ซึ่งมีชี่อเรียกหลายแบบ เช่น ประชาธิปไตยที่กินได้  ประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม  สิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคต ตลอดจน คำใหม่ๆที่มักได้ยินในช่วงปัจจุบัน คือประชาธิปไตยทางตรง

พวกเขาไม่ไว้ใจประชาธิปไตยแบบตัวแทน เช่นเดียวชนชั้นกลางในเมือง  ทั้งอุดมคติของพวกเขาก็แตกต่างจากมวลชนในแบบประชาธิปไตยตัวแทน   พวกเขาต้องการความเรียบง่าย  พึ่งตนเองได้ อยู่กับธรรมชาติ และสร้างชุมชนที่กำหนดชะตากรรมร่วมกัน  ในขณะที่มวลชนของประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อไต่เต้าตามความฝันที่จะเป็นชนชั้นกลางในระดับถัดๆไป  พวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่ในโลกทุนนิยม บริโภคนิยม และมีค่านิยมเฉกเช่นเดียวกับพลเมืองในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม  พวกเขาไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม  ไม่เข้าใจเรื่องการประหยัดพลังงาน  เมื่อชนชั้นกลางในเมืองทำอะไรได้  พวกเขาก็ควรมีสิทธิเช่นเดียวกัน  ความเสมอภาค เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้  ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งสิทธิที่ชอบธรรมนี้ได้อีกต่อไป

เมื่อทำความเข้าใจกับสภาพที่สลับซับซ้อนดังกล่าว  ประเด็นที่จะต้องเลือกว่า จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป จึงไม่มีความหมาย เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า ไก่เกิดก่อนไข่ หรือไข่เกิดก่อนไก่   วิทยาศาสตร์อธิบายว่าเป็นคำถามที่ผิด เพราะทั้งไก่และไข่เกิดมาพร้อมกัน  เดิมทีไม่ได้เป็นทั้งไก่และไข่  แต่กฎของวิวัฒนาการได้ปรับแต่งเปลี่ยนแปลงให้มีทั้งความเป็นไก่และความเป็นไข่ไปพร้อมๆกัน  ทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์เซลล์เดียวที่กำเนิดขึ้นในมหาสมุทร

ดังนั้น หากไม่ปฏิรูปไปพร้อมกับการเลือกตั้ง  หรือไม่เลือกตั้งไปพร้อมการปฏิรูป  ก็ไม่มีทางที่เราจะหาทางออกจากความขัดแย้งนี้ไปตลอดกาล   พลังการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความคิดทั้งสองฟาก จะคอยถ่วงดุลและคานอำนาจจนถึงวันที่ทั้งสองฝ่ายจะหล่อหลอมพลังเข้าด้วยกัน  เหมือนเช่นที่ทั้งไก่และไข่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net