Skip to main content
sharethis

 

ตอนนี้จะเป็นการให้ภาพการเริ่มต้นรวมตัวกันอย่างเป็นระบบของชาวไทยพุทธในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เหลือน้อยลงทุกวันๆ เป็นตอนสืบเนื่องจากตอนแรกซึ่งการสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนใช้ชีวิตได้ปลอดภัยขึ้น เสี่ยงกับการออกนอกพื้นที่น้อยลง และยังสามารถเชื่อมโยงกับชุมชนมุสลิมที่อยู่โดนรอบได้อย่างดี  

จากบ้านทุ่งถึงสามจังหวัด: การรวมตัวที่ยังเพิ่งเริ่ม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวไทยพุทธที่ตกเป็นเป้าหลายรายเป็นผู้ที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจโดดเด่นในชุมชนนั้นๆ เช่นในกรณีของระเบิดใหญ่บนถนนสายกลางเมืองของสายบุรี เป้าหมายของระเบิดก็คือบ้านคฤหัสถ์ชาวจีนที่เป็นที่นับหน้าถือตามากที่สุดในละแวกนั้น ซึ่งอยู่ท่ามกลางอาคารเก่าแก่สองแถวที่อยู่คู่กับสายบุรีมานานและเป็นย่านธุรกิจสำคัญของพื้นที่ หลังการระเบิดเกิดการทดแทนพื้นที่กันระหว่างคนสองเชื้อสายอย่างชัดเจน เมื่อคนกลุ่มหนึ่งย้ายออก ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งย้ายเข้า บางรายที่ย้ายเข้าคือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงในพื้นที่ห่างออกไปจากตัวชุมชนสายบุรี นับเป็นการแทนที่กันภายในเวลาอันรวดเร็วอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นในอีกหลายแห่งโดยที่ยังไม่มีใครวิเคราะห์หรือเก็บข้อมูลอย่างชัดเจน แต่เป็นที่รับรู้เป็นการทั่วไปของคนในชุมชนนั้นๆ ในขณะที่การถูกสังหารของคนพุทธในที่ต่างๆบวกกับการอพยพออกทำให้จำนวนคนพุทธโดยรวมในพื้นที่มีน้อยลง สถานภาพโดยรวมของชุมชนพุทธดูจะอ่อนแอ ผู้มีบทบาทในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือภาคประชาสังคมหลายคนเชื่อว่าความอ่อนแอของชุมชนไทยพุทธส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจในเรื่องพื้นฐานของความขัดแย้ง และไม่เข้าใจรวมไปถึงนัยของมาตรการการแก้ปัญหาของรัฐตลอดจนปัญหาการเมืองเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่ของฝ่ายต่างๆในความขัดแย้งอันนี้

นอกจากความคับแค้นและโกรธเกรี้ยวจากการที่ได้ตกเป็นเหยื่อ  คนไทยพุทธหลายคนบอกอย่างชัดเจนว่าไม่เข้าใจปรากฏการณ์ของความขัดแย้ง ป้าพวงจากบ้านทุ่งส่ายหัวเมื่อเราถามป้าว่าเข้าใจไหมว่าทำไมถึงตกเป็นเป้าหมายความรุนแรง “ไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ” ป้าบอก  ส่วนเข็มพร ดีรักษา ชาวอีสานผู้กลายมาเป็นชาวบ้านทุ่งเต็มตัวเป็นเวลาร่วม 30 ปีบอกว่า เขาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน คำอธิบายของเขาก็คือ มันคงเป็นเรื่องของการแย่งชิงที่ดินทำกินกัน “เหมือนไดโนเสาร์แย่งถิ่นกันมั้ง”

ไม่ว่าคำอธิบายนี้จะฟังดูน่าขบขันสักปานใด แต่อย่างน้อยก็อาจจะมีความจริงอยู่บ้าง “การแย่งที่” นับเป็นแกนสำคัญของความขัดแย้งอันนี้เพียงแต่ว่าที่มาของการแย่งที่ต่างหากที่มีคำอธิบายที่ต่างกันออกไป หลายคนบอกว่า  มันคือเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของการเป็นผู้รุกรานและถูกรุกราน แต่คนไทยพุทธบางคนในพื้นที่บ่นว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินเรื่องราวเช่นนี้มาก่อน  ข้อเท็จจริงอันนี้เพียงประการเดียวก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนด้อยอย่างรุนแรงในทางความรับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่ของคนไทยพุทธ โดยเฉพาะในเชิงประวัติศาสตร์

“คนไทยพุทธเรามีความรู้ในเรื่องรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งน้อยมาก” ประสิทธิ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ หนึ่งใน “คนเก่าคนแก่” ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาเนิ่นนานและเป็นคนหนึ่งที่ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่า มีองค์ความรู้ในเรื่องปัญหาในพื้นที่ค่อนข้างดีบอก

“คนไทยพุทธมีแต่ความน้อยใจ น้อยใจว่ารัฐไม่ดูแล” เขากล่าว

ความไม่เข้าใจที่ว่า ได้ทำให้คนไทยพุทธในพื้นที่มีปฏิกิริยากับบางมาตรการของรัฐไปในทางลบ พวกเขาไม่พอใจอย่างยิ่งกับสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติของรัฐ เช่นมาตรการดูแลประชากรมุสลิมซึ่งมีมากขึ้นหลายเท่าในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมาตรการเยียวยา ที่มีมาตรการใหม่ที่นำมาใช้ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย นั่นคือการชดเชยหรือเยียวยาให้กับผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำอันเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากเดิมทีที่ทางการเยียวยาเฉพาะครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่สูญเสียจากความรุนแรงที่เกิดจากน้ำมือของผู้สร้างสถานการณ์หรือฝ่ายตรงข้ามรัฐเท่านั้น แต่หลังจากที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดงที่สูญเสียจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ได้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันอันนั้นกับผู้สูญเสียที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  มาตรการนี้ออกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 14 สค.2555 ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับการเยียวยามีสี่กลุ่มใหญ่คือกลุ่มที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547  กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์กราดยิงที่มัสยิดบ้านไอร์ปาแย กลุ่มผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย และถูกซ้อมทรมาน และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นกรณีกราดยิงชาวบ้านปุโลปุโยเสียชีวิตสี่ราย หรือกรณีที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนออกมาชัดเจนว่าตายในขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและถูกซ้อมทรมาน เช่นกรณีนายอัสฮารี สะมาแอที่ครอบครัวใช้เวลาร่วมห้าปีต่อสู้ ทางการก็ตัดสินใจว่าครอบครัวของอัสฮารีควรจะได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทนั้นเช่นกัน มาตรการนี้ทางเจ้าหน้าที่อธิบายว่ามิใช่เป็นการเอาเงินปิดปากหรือซื้อใจ แต่เพื่อชดเชยให้กับการถูกกระทำและเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความพยายามที่จะเอื้อมมือเข้าหาพวกเขาในฐานะกลุ่มคนที่อยู่ในสถานะอ่อนไหวเพราะการเป็นผู้ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนของอำนาจรัฐ เป็นมาตรการที่ควบคู่ไปกับการดูแลในอีกหลายด้าน เช่นการสนับสนุนในเรื่องอาชีพ การสนับสนุนให้ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างแดน และอื่นๆ รวมทั้งการริเริ่มในเรื่องกระบวนการสันติภาพอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ นับเป็นความพยายามที่จะใช้มาตรการทางการเมืองเข้าช่วยคลี่คลายปมความขัดแย้ง

ในขณะที่ในหมู่มุสลิมส่วนหนึ่งรู้สึกว่าตนเองถูกกระทำมาเนิ่นนาน ยังเห็นว่ามาตรการนี้ไม่ใช่การตอบโจทย์ที่ถูกวิธีพร้อมทั้งเรียกร้องให้แก้ปัญหาที่ระบบ เช่นในเรื่องของความเป็นธรรม แม้จะมีความพยายามเยียวยาหรือชดเชย แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการมากกว่าก็คือการดำเนินคดีอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม หาตัวคนทำผิดมาลงโทษ  ทว่า สำหรับคนไทยพุทธ พวกเขากลับรู้สึกว่ามาตรการเยียวยาหลายอย่างกลับสร้างความแตกต่างให้เห็นเด่นชัดระหว่างการปฏิบัติที่รัฐให้กับพุทธและมุสลิม  มาตรการหลายอย่างแสดงให้เห็นการโอบอุ้มมุสลิมอย่างปราศจากเงื่อนไข

“มันมีหลายกรณีที่ให้ความสำคัญหรือให้โอกาสกับคนมุสลิมมาก เช่นกรณีพยาบาล 3,000 อัตรา กรณีการเยียวยาจำนวน 7.5 ล้าน โอเคแหละ กับการสูญเสียของคน เงินเยียวยา  7.5 ล้านบาทเทียบค่าไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสีย แต่ทำไมไม่พิจารณาให้ชัดเจนว่าทำไมต้องจ่ายขนาดนั้นและบางรายจำเป็นต้องจ่ายหรือ ถ้าเขาเป็นคนก่อการ เขาทำความผิด ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรจะจ่าย ควรจะพิจารณาเป็นจุดๆ ไป เช่นกรณีตากใบ ไทยพุทธหลายคนก็รู้สึกว่าเป็นความชอบธรรมที่รัฐจะต้องดูแล แต่บางกรณีเช่น 28เมษา (กรณีกรือเซะ) นั้น มีบางจุดเหมือนกันที่มีการปะทะ เป็นเรื่องของการปฏิปักษ์กับรัฐ ก่อกบฏหรือจลาจล แม้แต่เสื้อแดงเขาก็มองว่ามากเกินไปในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รวมทั้งเรื่องการศึกษา เขาก็มองว่าทำไมไม่ให้ทุนการศึกษาต่างประเทศกับคนไทยพุทธบ้าง ที่ไปเรียนต่างประเทศเป็นลูกมุสลิมทั้งนั้นเลย” ลม้าย มานะการ หนึ่งในแกนนำที่พยายามผลักดันให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่อธิบายถึงต้นตอที่มาของความ “น้อยใจ” ของคนไทยพุทธในประเด็นเรื่องมาตรการเยียวยา

“คนพุทธและมุสลิมในหมู่บ้าน คนเล็กๆ คนธรรมดาไม่ได้เข้าใจว่า ทำไมรัฐแสดงออกแบบนี้” ลม้ายกล่าว  ในขณะที่มุสลิมไม่เข้าใจเป้าหมายของมาตรการนี้ แต่ความไม่เข้าใจของคนพุทธแฝงด้วยความรู้สึกน้อยใจ

“สำหรับเรา เราคิดว่ามีเหตุผลที่อธิบายได้อยู่  อย่างการให้โอกาสกับมุสลิมในพื้นที่มากในช่วง 5-6 ปีให้หลัง มันเหมือนรัฐบาลกำลังชดเชยบางอย่างที่ไม่ได้ให้เขา เราทำงานที่นี่มา 20 ปีเรารู้เลยว่า ราชการ รัฐ ดูแลคนที่นี่น้อยมาก เขาไม่มีที่พึ่ง ตอนนั้นเราเป็นเอ็นจีโอ เขาไม่รู้จักเอ็นจีโอเลย แต่เขาก็ต้องมาพึ่งเรา.. เราคิดว่าต้องทำความเข้าใจกับสังคมที่นี่ กับคนพุทธ มุสลิมด้วยว่า มันมีรากเหง้าอะไรของปัญหาเหล่านี้ แล้วรากเหง้าเหล่านี้ทั้งนั้นแหละที่รัฐเป็นคนทำ ถ้าจะพูดภาษาเอ็นจีโอว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นเพราะว่า ต้นไม้ที่รัฐปลูกไว้สมัยนั้นแหละไม่ได้รดน้ำพรวนดินให้เขา มันก็เลยแกร็น แล้วเขาขาดโอกาสหลายอย่างในขณะนั้น ตอนนั้นคนพุทธจะเข้าถึงราชการมากกว่า เพราะว่าข้าราชการเป็นพุทธเป็นส่วนใหญ่ แล้วยังมีเรื่องภาษา อะไรแบบนี้ด้วย คิดว่าถ้าเราวิ่งเราเป็นแชมป์ กับคนที่ไม่ได้เป็นแชมป์เราก็ต้องต่อให้เขา จึงคิดว่ารัฐบาลก็ต่อให้กับคนมุสลิม คือให้มากกว่าเพราะไม่เคยให้มา ไม่เคยดูแล อันนี้อาศัยเวลาที่คนพุทธจะต้องเข้าใจ” ลม้ายกล่าว

ขึ้นรถไฟขบวนสันติภาพ

ในขณะที่มีการศึกษาและการระดมความช่วยเหลือมุสลิมในพื้นที่จากหลายฝ่ายที่ต้องการทุ่มเททรัพยากรเข้าคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ต้นตอ การเกิดขึ้นของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอที่ประกอบด้วยนักกิจกรรมมลายูมุสลิมในพื้นที่ในช่วงนับสิบปีที่ผ่านมาเกือบ 20 กลุ่ม แม้จะยังถือว่าน้อยและยังเพิ่งเริ่มต้นเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น แต่เมื่อเทียบกับในอดีต ก็เห็นได้ว่า บัดนี้ชุมชนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตื่นขึ้นมาแล้วและพวกเขาได้ขานรับการถกเถียงและปรึกษาหารือ เพื่อร่วมผ่าทางตันในหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องของกระบวนการสันติภาพ แม้ว่าโดยภาพรวมหลายคนเชื่อว่ายังจะต้องลงมือผลักดันกันอีกมากเพื่อเปิดพื้นที่เพิ่มเติม

ทว่าการขับเคลื่อนไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างสันติดูจะยังขาดตัวเล่นส่วนหนึ่งไปอย่างสำคัญ  คนกลุ่มนั้นก็คือคนพุทธที่อยู่ในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม พวกเขาดูจะเงียบเสียงยิ่งกว่าใครๆ และกลายเป็นว่าเพิ่งจะปรากฏความพยายามที่จะรวบรวมตัวเองให้เป็นกลุ่มก้อนกันหลังจากที่ความขัดแย้งผ่านไปร่วมสิบปี นับเป็นการขยับตัวที่เชื่องช้าอย่างยิ่ง จนกระทั่งหลายคนเริ่มรู้สึกเกรงว่ากลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่อาจจะ “ตกรถไฟ” ขบวนสันติภาพก็เป็นได้

ดังนั้นในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาจึงมีแกนนำของกลุ่มคนไทยพุทธจำนวนหนึ่งเริ่มนัดหมายพูดคุย โดยการรวมตัวครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท สิงหนคร สงขลา โดยเรียกตัวเองว่า “เครือข่ายชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้”

การพูดคุยในหนแรกผู้คนดูจะเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เห็นได้จากลักษณะของการนัดที่ไม่อนุญาตให้มี “คนนอก” หรือคนที่ไม่ใช่คนพุทธเข้าไปแม้แต่คนเดียวและสถานที่ที่จัดห่างไกลออกไปถึงสงขลา นอกจากนั้นยังห้ามถ่ายภาพโดยเด็ดขาด ทั้งหมดบ่งชี้ถึงสภาพความรู้สึกที่อ่อนไหวของพวกเขาได้เป็นอย่างดี

ในการพูดคุยกันของกลุ่มคนไทยพุทธที่เป็น “คนเดิม” ในพื้นที่จำนวนไม่ต่ำกว่า 50 คนพบว่า แทบทุกรายสะท้อนปัญหาเดียวกันในเรื่องของความหวาดกลัว การตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ความไม่พอใจต่อมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ยิ่งถ่างช่องว่างระหว่างพุทธ-มุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ดีก็คือพวกเขาต่างรู้สึกว่า ได้กำลังใจจากการพบปะพูดคุยเจอเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันมากขึ้น

ที่น่าสนใจคือ มีเสียงสะท้อนบางเสียงที่แสดงให้เห็นภาพของการเป็น “เหยื่อ” ของคนไทยพุทธในพื้นที่ว่ามีมากกว่าการเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากกลุ่มผู้ก่อเหตุหลายคนรู้สึกว่าตนเองไม่มีทางเลือกเพราะถูกบีบอยู่ระหว่างสองด้าน ด้านหนึ่งคือกลุ่มขบวนการ อีกด้านคือจากผู้มีอิทธิพล และจากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง

เรื่องราวประการหนึ่งที่บอกเล่ากันค่อนข้างมาก คืออาการ “ตกหล่น” ของการเดินทางของเงินเยียวยาที่พวกเขาได้จากราชการหลังจากที่ต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของความรุนแรงโดยฝ่ายต่อต้านรัฐและ/หรือรวมไปทั้งฝ่ายแค้น ซึ่งอันที่จริงแล้วเงินชดเชยที่คนไทยพุทธได้นั้นไม่มาก นอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่มีการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบก็คือความช่วยเหลือที่มาในรูปของการให้ทุนทำกิจกรรมหรือเข้าร่วมทำโครงการหรือกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพ เพื่อช่วยเหลือพวกเขาในด้านเศรษฐกิจ และปัญหาหนึ่งที่พูดถึงกันก็คือหลายครั้งเงินเหล่านี้เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางแบบไม่ครบตามจำนวน และผู้ได้รับเงินช่วยเหลือเองไม่อาจจะไปมีปากเสียงกับใครได้

ที่สำคัญยิ่งกว่า คือความสัมพันธ์ระหว่างไทยพุทธดั้งเดิมเหล่านี้กับข้าราชการจากส่วนกลางจำนวนหนึ่งที่ผลัดกันลงมาทำงานในระยะเวลาอันสั้นทว่าหวังผลงานโดดเด่นในการทำงานจึงจำเป็นต้องอาศัยฐานมวลชนสนับสนุน ซึ่งก็หนีไม่พ้นการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่นั่นเอง  แต่การที่คนไทยพุทธต้องพึ่งพิงอำนาจรัฐในการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยก็กลายเป็นบ่อเกิดของความอ่อนแอซ้ำสองสำหรับพวกเขาเพราะถูกมองเป็นพวกเดียวกันและสุ่มเสี่ยงกับการตกเป็นเป้าหมายเช่นในกรณีของครูบางคนที่ตกเป็นเหยื่อ แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ด้วยความเต็มใจเพราะความรู้สึกร่วมหรือเห็นด้วยอันเนื่องมาจากมองโจทย์ความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันก็ตาม

การนัดหมายพบปะกันของกลุ่มคนไทยพุทธในรอบถัดมาจัดขึ้นที่บ้านทุ่ง ปะนาเระ ในเขตจังหวัดปัตตานี นับเป็นการนัดหมายที่เรียกว่าประสบความสำเร็จพอสมควรและทำให้บรรดาแกนนำและผู้ประสานงานต่างเริ่มมีความหวัง เพราะมีชาวบ้านในชุมชนดังกล่าวเข้าร่วมจำนวนไม่น้อย การหารือกันก็มีน้ำเสียงที่สร้างสรรค์ แกนนำของกลุ่มคนไทยพุทธดังเช่นลม้าย สมปอง และนุสนธิ์ต่างย้ำถึงความจำเป็นในอันที่คนพุทธจะต้องปรับองค์ความรู้และความเข้าใจต่อสถานการณ์ให้ดีขึ้น รวมทั้งให้ช่วยกันเอื้อมมือออกไปหาชุมชนมุสลิมเพื่อสานสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจระหว่างชุมชน พวกเขาวางแผนจัดงานด้านวัฒนธรรมอย่างระมัดระวังเพื่อให้มุสลิมสามารถเข้าร่วมได้

การหารือรอบนั้นกลายไปเป็นการเชิญชวนผู้คนจากชุมชนมุสลิมใกล้เคียงเข้าร่วมงานแข่งเรือในพื้นที่ในเวลาต่อมาซึ่งนับว่าได้ผลอยู่บ้าง เพราะสมาชิกจากกลุ่มคนไทยพุทธด้วยกันเองเข้าร่วมคึกคัก และยังมีมุสลิมเข้าร่วมด้วยแม้จะประปราย

แต่การจัดงานพบปะกันของคนพุทธหนถัดมาในจังหวัดยะลากลับไม่ประสบผลเท่า ผู้เข้าร่วมการพบปะพูดคุยบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า “แทบไม่ได้รับความสนใจ” จากกลุ่มคนไทยในยะลาที่ส่วนใหญ่เป็นคนทำธุรกิจ จะมีก็แต่แกนนำเท่านั้นที่ไปร่วมประชุม แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กลุ่มแกนนำคนไทยพุทธในพื้นที่ยังมีโจทย์ที่ยากพอสมควรในอันที่จะผลักดันการรวมตัวคนไทยพุทธให้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่เพื่อให้กลุ่มตนมีบทบาทและมีความหมายในเวลาอันสั้นนี้

การจัดพบปะรอบสุดท้ายเมื่อวันที่ 13-15 ธ.ค. 2557 ที่โรงแรมปาร์ควิว ปัตตานี แม้ว่าคนร่วมงานจะไม่มาก หรือประมาณ 50 คน แต่ผู้เข้าร่วมพบว่าสามารถพูดคุยได้อย่างต่อเนื่องและด้วยเนื้อหาอันเข้มข้น ในท้ายที่สุดแม้หลายคนในกลุ่มจะยังมองปัญหาไม่ตรงกันในทุกรายละเอียด แต่ในที่สุดกลุ่มแกนนำและคนพุทธกลุ่มนี้ก็ได้ตัดสินใจเปิดตัวออกแถลงการณ์ในนามของเครือข่ายชาวไทยพุทธสนับสนุนให้คู่ความขัดแย้งคือรัฐบาลและขบวนการฯเดินหน้าในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้แม้ว่าจะพบอุปสรรคก็ตาม พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดความรุนแรงที่กระทำต่อประชาชนทั่วไปลง

นับว่าเป็นแถลงการณ์ที่หลายฝ่ายต้อนรับด้วยความยินดี เนื่องจากถือได้ว่าเนื้อหาค่อนข้างก้าวหน้า และที่สำคัญยังเท่ากับว่า กลุ่มคนไทยพุทธในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตื่นขึ้นมาแล้วจากการหลับใหลตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา และท่ามกลางความหวังของทุกฝ่ายที่อยากเห็นพวกเขาก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อย่างจริงจัง

ปัญหาก็คือ จากความพยายามรวมตัวกันนั้น สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างมากและอย่างรวดเร็ว กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลและฝ่ายขบวนการหยุดชะงักเนื่องจากปัญหาหลักคือไทยขาดรัฐบาลที่ทำงานในฐานะตัวแทนอันชอบธรรมที่จะตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ในขณะที่อีกด้านความรุนแรงในพื้นที่ก็ปะทุขึ้นมาและขยายตัวต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง มีการสังหารแม้แต่เหยื่อที่เป็นเป้าหมายอ่อนแออย่างเด็กเล็ก สิ่งเหล่านี้ทำให้อารมณ์ของผู้คนในสังคมเปลี่ยนไป เมื่อบวกกับการเคลื่อนไหวของการเมืองในส่วนกลางที่มีคนในพื้นที่เข้าร่วมด้วยอย่างแข็งขัน นั่นคือการที่คนไทยพุทธในพื้นที่จำนวนมากเข้าร่วมกับกลุ่มกปปส.ที่ต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทุกรูปแบบรวมไปถึงการจัดพูดคุยเพื่อสันติภาพที่เชื่อกันมากว่าจะเป็นการปูทางกลับบ้านให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประเด็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลสร้างความซับซ้อนมากขึ้นให้กับการขับเคลื่อนของคนไทยพุทธในพื้นที่ที่ต้องการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเพื่อจะขับเคลื่อนและต่อรองกับกลุ่มอื่นๆในความพยายามวางรูปแบบความสัมพันธุ์ใหม่ของคนกลุ่มต่างๆในพื้นที่ 

แค่โจทย์ใหญ่อันเดียวตอนนี้ก็แทบจะหาคำตอบได้ยากยิ่ง นั่นคือทำอย่างไรความพยายามนี้จึงจะเดินหน้าต่อไปและไม่ล่มไปเสียก่อน

การเริ่มต้นมักจะยากลำบากเสมอ

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net