Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวบีบีซีเล่าถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์ฉบับย่อตั้งแต่รากฐานของเหตุการณ์จนถึงรวันดาในปัจจุบัน ด้านอัลจาซีรานำเสนอภาพผู้คนในโลกออนไลน์พากันรำลึกถึงเหตุการณ์

7 เม.ย. 2557 สำนักข่าวบีบีซีรายงานเกร็ดประวัติเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาเมื่อปี 2537 ในฐานะครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์

บีบีซีระบุว่าภายในช่วงเวลา 100 วัน มีชาวรวันดาถูกสังหารไปราว 800,000 คนโดยกลุ่มหัวรุนแรงของชาวเชื้อสายฮูตู ซึ่งมีเป้าหมายโจมตีชนกลุ่มน้อยเชื้อสายทุตซี่ รวมถึงศัตรูทางการเมืองโดยไม่สนใจว่าเป็นคนเชื้อสายใด

บีบีซีระบุว่ารากฐานของเหตุการณ์รุนแรงนี้มาจากความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและการเมือง ซึ่งในประเทศรวันดามีชาวเชื้อสายฮูตูอยู่ร้อยละ 85 แต่ชาวเชื้อสายทุตซี่เป็นผู้ปกครองประเทศมายาวนาน จนกระทั่งในปี 2502 ชาวฮูตูก็ล้มล้างระบอบการปกครองของทุตซี่ ทำให้ชาวทุตซี่หลายหมื่นคนหลบหนีไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศยูกันดา กลุ่มผู้อพยพชาวทุตซี่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดาหรืออาร์ดีเอฟ (RPF) ที่รุกรานประเทศรวันดาในปี 2533 การปะทะกันดำเนินต่อเนื่องไปจนกระทั่งมีข้อตกลงหยุดยิงในปี 2536

แต่ในคืนวันที่ 6 เม.ย. 2537 เครื่องบินของประธานาธิบดีจูเวนาล ฮับยาริมานา และไซเปรียน นตาร์ยามิรา แห่งบุรุนดี ซึ่งเป็นชาวฮูตูทั้งสองคนถูกยิงตก ทำให้ทั้งหมดเสียชีวิต กลุ่มชาวฮูตูหัวรุนแรงกล่าวหาว่ากลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดาเป็นผู้กระทำการ จากนั้นจึงเริ่มจัดตั้งขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ด้านกลุ่มแนวร่วมผู้รักชาติรวันดาบอกว่าเครื่องบินถูกฝ่ายชาวฮูตูยิงตกเพื่อเป็นข้ออ้างในการสังหารหมู่

บีบีซีระบุว่ากลุ่มชาวฮูตูหัวรุนแรงมีการจัดตั้งอย่างดี โดยพวกกลุ่มติดอาวุธได้รับรายชื่อศัตรูของรัฐบาลก่อนที่จะมีการสังหารคนเหล่านั้นรวมถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย

"เพื่อนบ้านฆ่ากันเอง มีสามีบางคนสังหารภรรยาชาวทุตซี่ บอกว่าพวกเขาจะถูกฆ่าถ้าพวกเขาปฏิเสธจะทำตาม" รายงานของบีบีซีระบุ

นอกจากนี้ยังมีการตั้งด่านตรวจบัตรประชาชนซึ่งในยุคนั้นมีการระบุเชื้อชาติไว้ด้วย ทำให้ชาวทุตซี่มักจะถูกสังหารหมู่ด้วยมีดขนาดใหญ่ซึ่งชาวรวันดามีอยู่ทุกบ้าน นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงชาวทุตซี่หลายพันคนถูกนำตัวไปเป็นทาสบำเรอกาม

แม้ว่าสหประชาชาติและเบลเยี่ยมจะมีกองกำลังอยู่ในรวันดา แต่ก็ไม่มีคำสั่งใดๆ จากยูเอ็นในการยับยั้งการสังหารหมู่นี้ ด้านสหรัฐฯ ซึ่งเคยส่งกองทัพเข้าไปในโซมาเลียปีก่อนหน้านั้นก็ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในทวีปแอฟริกา ทางเบลเยี่ยมและกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นก็ถอนทัพออกหลังจากที่ทหารเบลเยี่ยมถูกสังหารไป 10 คน

ทางด้านฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลชาวฮูตูได้ส่งกองกำลังเข้าไปเพื่อตั้ง 'เขตปลอดภัย' แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้กระทำการเพียงพอในการยับยั้งการสังหารหมู่ รัฐบาลปัจจุบันของรวันดาก็กล่าวหาว่าฝรั่งเศส "มีบทบาทโดยตรง" ในการเตรียมการสังหารหมู่ ซึ่งทางการฝรั่งเศสปฏิเสธในเรื่องนี้

มีคำถามว่าเหตุใดสถานการณ์ในรวันดาเมื่อ 20 ปีที่แล้วถึงโหดเหี้ยมมาก บีบีซีระบุว่ารวันดามีสังคมที่ควบคุมเข้มงวดมาก มีการจัดตั้งกันตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับของรัฐบาลกลาง ในพรรครัฐบาลยุคนั้นคือพรรคเอ็มเอ็นอาร์ดี มีกลุ่มยุวชนที่เรียกว่าอินเตราฮัมเว ซึ่งต่อมากลายเป็นกลุ่มติดอาวุธนำการสังหาร มีการส่งอาวุธและรายชื่อเป้าหมายในระดับชุมชนทำให้ทราบได้ว่าเป้าหมายอยู่ที่ใด

ชาวฮูตูหัวรุนแรงยังได้ตั้งสถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อในเชิงปลุกปั่นความเกลียดชัง มีการประกาศรายชื่อเป้าหมายสังหารทางวิทยุ แม้กระทั่งนักบวชก็มีความผิดฐานสังหารคนอื่นซึ่งรวมถึงคนที่ขออาศัยหลบภัยในโบสถ์ด้วย

เหตุการณ์นี้จบลงด้วยการที่กลุ่มอาร์เอสเอฟซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพของประเทศยูกันดาบุกเข้ายึดครองพื้นที่ในประเทศรวันดามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 4 ก.ค. 2537 กองทัพก็เคลื่อนขบวนเข้าสู่เมืองหลวงคิกาลี  ทำให้ชาวฮูตูราว 2 ล้านคนทั้งพลเรือนและคนที่มีส่วนในการสังหารหมู่หนีข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งในตอนนั้นยังชื่อประเทศ "ซาอีร์" เนื่องจากเกรงกลัวการถูกล้างแค้น

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่ากลุ่มอาร์พีเอฟสังหารชาวฮูตูหลายพันคนหลังจากที่ยึดอำนาจได้ และยังได้สังหารมากกว่านี้ตอนที่บุกสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเพื่อไล่ล่ากลุ่มอินเตราฮัมเว ทางอาร์พีเอฟปฏิเสธในเรื่องนี้ บอกว่ามีคนจำนวนมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเสียชีวิตจากโรคอหิวาต์ โดยยังมีการประณามกลุ่มให้ความช่วยเหลือว่าได้ช่วยกลุ่มติดอาวุธฮูตูมากเกินไป

เหตุสังหารหมู่ในรวันดาทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกจนเกิดความวุ่นวายยาวนาน 2 ทศวรรษ ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 5 ล้านคน รัฐบาลปัจจุบันของรวันดาซึ่งเป็นพรรคอาร์พีเอฟได้รุกรานสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกสองครั้งโดยกล่าวหาว่าอนุญาตให้กลุ่มติดอาวุธชาวฮูตูปฏิบัติการในพื้นที่ รวันดายังได้ติดอาวุธให้กับคนเชื้อสายทุตซี่ในคองโก ทำให้คนในท้องถิ่นบางกลุ่มจัดตั้งกลุ่มป้องกันตนเองขึ้นมา จนทำให้เกิดความสูญเสียแก่ประชาชนชาวคองโกในภาคตะวันออก

พอล คากาเม หัวหน้าพรรคอาร์พีเอฟและประธานาธิบดีคนปัจจุบันของรวันดา ถูกยกย่องในเรื่องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เขายังพยายามทำให้รวันดากลายเป็นศูนย์รวมด้านเทคโนโลยี แต่ก็มีคนวิจารณ์ว่าเขาไม่มีความอดกลั้นต่อการต่อต้านและศัตรูของเขาหลายคนก็เสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุ

มีคนราว 2 ล้านคนถูกสอบสวนในชั้นศาลเรื่องเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น ส่วนระดับผู้นำจะถูกสอบสวนในศาลยุติธรรมของยูเอ็นในประเทศแทนซาเนีย

ในปัจจุบันมีกฎหมายห้ามการพูดถึงเรื่องเชื้อชาติในรวันดา ทางรัฐบาลอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดขึ้นอีก แต่บางคนก็บอกว่าการห้ามพูดทำให้ไม่เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการพยายามปิดหูปิดตาเรื่องความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะถึงจุดเดือดอีกครั้งในอนาคต

 

โลกออนไลน์รำลึก 20 ปี สังหารหมู่

ในวันที่ 7 เม.ย. ผู้คนจำนวนมากยังได้แสดงการรำลึกถึงเหตุรุนแรงผ่านทางทวิตเตอร์โดยใช้แฮชแท็ก #Rwanda20yrs และ #Kwibuka20 ซึ่งคำว่า 'Kwibuka' หมายถึง "จดจำ" ในภาษาคินยาวันดา

มีผู้คนแชร์รูปภาพพิธีรำลึกเหตุการณ์ในเมืองหลวงคิกาลี รวมถึงงานศิลปะและภาพถ่ายของผู้สูญเสียและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่นในอนุสรณ์สถานกิโซซีที่มีการแขวนภาพถ่ายของผู้ถูกสังหาร มีภาพการเดินขบวนจากรัฐสภาไปถึงสนามกีฬาอโมโฮโรเพื่อไปร่วมพิธีโดยมีคนหนุ่มสาวเข้าร่วมจำนวนมาก

 

 

เรียบเรียงจาก

Rwanda genocide: 100 days of slaughter, BBC, 07-04-2014

Remembering #Rwanda20yrs, Aljazeera, 07-04-2014


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net