ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (13): กฏหมายลิขสิทธิ์ฉบับที่สองของโลกโดยเหล่าศัตรูการปฏิวัติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
แน่นอนว่าไม่ว่าในสายตาของนักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาหรือประวัติศาสตร์หนังสือ การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นเป็นผลผลิตของการแพร่กระจายหนังสือเถื่อนในระบอบเก่าแน่ๆ เพราะหนังสือเหล่านี้เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ทั้งความคิดด้านความเท่าเทียม สิทธิพลเมือง ไปจนบ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ พูดง่ายๆ คือการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นหนี้หนังสือเถื่อน ภายใต้กรอบแบบนี้ก่อนการปฏิวัติ ก็ไม่น่าจะมีนักคิดก้าวหน้าคนใดในฝรั่งเศสที่จะไม่สนับสนุนให้หนังสือเถื่อนในระบอบเก่าทั้งหมดกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายภายหลังปฏิวัติ
 
หลังการปฏิวัติสิ่งพิมพ์ที่ผิดกฎหมายการพิมพ์ในระบอบเก่าก็ได้กลายมาเป็นถูกกฎหมายทั้งหมด อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่หนังสือชูอุดมการณ์ปฏิวัติจะเต็มบ้านเต็มเมืองเท่านั้น แต่พวกงานไร้สาระไปจนถึงจุลสารที่เน้นการใส่ความเอามันไปจนถึงการปลุกปั่นทางการเมืองก็ออกมาท่วมท้นล้นตลาดด้วย ภาวะการพิมพ์อะไรก็ได้ดูจะไม่ได้นำไปสู่สังคมอุดมปัญญาแบบที่เหล่านักคิดในยุคแห่งการรู้แจ้งวาดหวังไว้ นักคิดเหล่านี้เคยคิดว่าถ้ามี “เสรีภาพของแท่นพิมพ์” ความรู้ต่างๆ จะแพร่กระจายไปได้อย่างอิสระ แต่ความเป็นจริง ผู้คนส่วนใหญ่ในปารีสช่วงปฏิวัติก็ไม่ได้แตกต่างไปจากมวลชนส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกที่สนใจเรื่องซุบซิบนินทาบ้าๆ บอๆ ไปจนถึงข้อเขียนปลุกปั่นเอามันอันไม่มีเนื้อหาสาระมากกว่าที่จะสนใจงานทางความคิดที่จะไปเพิ่มพูนสติปัญญาของพวกเขา
 
น่าสนใจว่าตัวการสำคัญในการตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ปลุกปั่นบั่นทอนปัญญาก็คือเหล่าบรรดาพ่อค้าหนังสือที่เคยมีอภิสิทธิ์ผูกขาดการพิมพ์ในระบอบเก่านั่นเอง พ่อค้าหนังสือเหล่านี้อ้างว่าพวกเขาไม่มีความสามารถจะแข่งขันกับเหล่าพ่อค้าหนังสือหน้าใหม่ที่พิมพ์หนังสือ “ดีๆ” ที่พวกเขาเคยถืออภิสิทธิ์ผูกขาดพิมพ์ได้ ดังนั้นทางรอดในทางเศรษฐกิจของพวกเขาก็คือการตีพิมพ์งานอันไม่ประเทืองปัญญาไปจนถึงงานที่มีลักษณะเอามันและปลุกปั่นมาขาย [1]  ซึ่งในแง่นี้พวกเขาก็ยอมรับโดยนัยด้วยว่างานไร้สาระเหล่านี้เป็นงานขายดี
 
เมื่อการปฏิวัติยิ่งผ่านไป สิ่งที่ยิ่งปรากฎชัดก็คืองานอันประเทืองปัญญาดังเช่นในช่วงปลายระบอบเก่าก็ยิ่งหายไปจากสารบบการค้าหนังสือหลังภาวะเห่อ “หนังสือเคยต้องห้าม” จบสิ้นลงในเวลาไม่นาน เหล่าพ่อค้าหนังสือในระบอบเก่าก็โวยวายกับทางรัฐบาลหลังปฏิวัติว่าการไร้ซึ่ง “กฎหมายลิขสิทธิ์” หรือสิทธิในการผูกขาดการพิมพ์ใดๆ นั้นเป็นต้นเหตุของภาวะถดถอยของสิ่งพิมพ์ประเทืองปัญญานี้ อย่างไรก็ดี คำอธิบายที่น่าจะเหมาะสมกว่าก็คือฝรั่งเศสนั้นได้สูญเสียตลาดงานประเทืองปัญญาที่ผู้บริโภคหลักคืออภิชนในระบอบเก่าไปอย่างมหาศาลหลังการปฏิวัติ เพราะคนพวกนี้จำนวนก็ลี้ภัยการเมืองออกไปนอกฝรั่งเศส ทำให้ตลาดหนังสืออ่านยากๆ หดตัวไปมาก และทำให้ตลาดสิ่งพิมพ์อันไม่ประเทืองปัญญาและอ่านง่ายอันมีฐานผู้อ่านเป็น “ชนชั้นกลาง” ทั้งหลายเติบโตแทน นอกจากนี้ไม่นับว่าหลังปฏิวัติฝรั่งเศสเข้าสู่ภาวะสงครามทั้งในและนอกประเทศด้วย ความวุ่นวายทั้งหลายทั้งมวลอันเป็นผลพวงของการปฏิวัติดูจะเป็นคำอธิบายสาเหตุความซบเซาของตลาดหนังสือฝรั่งเศสโดยรวมๆ ได้ดีกว่าคำอธิบายว่าเป็นเพียงเพราะฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์[2] 
 
แม้ว่าการร้องเรียนของพวกพ่อค้าหนังสือจะดูไม่สมเหตุสมผลนัก แต่ในปี 1790 รัฐบาลสาธารณรัฐก็ได้เริ่มทำการพิจารณากฎหมายควบคุมสิ่งพิมพ์บางแบบขึ้นท่ามกลางความวุ่นวายในทุกระดับของการปฏิวัติ ซึ่งอันที่จริงมูลเหตุของกฎหมายนี้ก็ดูจะมีรากฐานมาจากการที่รัฐบาลเห็นว่าเสรีภาพของการพิมพ์นั้นดูจะนำไปสู่เสรีภาพของสิ่งพิมพ์นิรนามเพื่อปลุกปั่นทางการเมืองด้วย (โดยเฉพาะจากฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ) ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพของสาธารณรัฐ 
 
ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเสรีภาพทางการพิมพ์ของฝรั่งเศสหลังปฏิวัตินั้นเป็นเสรีภาพที่สมบูรณ์แบบไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น ที่ต่างจากอังกฤษที่เสรีภาพทางการพิมพ์นั้นก็ยังอยู่ใต้กฎหมายจารีตประเพณีอีกที พูดง่ายๆ คือภายใต้เสรีภาพทางการพิมพ์อังกฤษ การพิมพ์อะไรที่มีลักษณะหมิ่นประมาทหรือปลุกปั่นทางการเมืองก็ยังมีโทษอยู่ตามกฎหมายจารีตประเพณี แต่การพิมพ์ของฝรั่งเศสหลังปฏิวัตินั้นไม่ว่าจะพิมพ์อะไรแบบใดก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายควบคุมการพิมพ์ทั้งหมดล้วนผูกกับระบอบกษัตริย์ ซึ่งในทางหลักการมันก็ย่อมถูกยกเลิกไปทั้งหมดพร้อมๆ กับการยกเลิกระบอบกษัตริย์และการสถาปนาสาธารณรัฐ[3]
 
ในปี 1790 Abbe Sieyes พระคาธอลิคนักปฏิวัติผู้โด่งดังก็ได้เสนอร่างกฎหมายลิขสิทธิ์[4] ขึ้นโดยมีหลักใหญ่ใจความว่าให้ถือว่างานเขียนเป็นทรัพย์สินอันจำกัดของผู้เขียน และผู้เขียนก็มีอภิสิทธิ์จะผูกขาดการตีพิมพ์ (ไปจนถึงขายอภิสิทธิ์นี้) ไปตลอดชีวิตและสิทธิ์นี้ก็ยังจะคงอยู่ไปอีก 10 ปีหลังผู้เขียนตาย (ซึ่งสิทธิ์ที่ว่าจะตกอยู่กับทายาทหรือสำนักพิมพ์ก็สุดแท้แต่) ระยะเวลา 10 ปีนี้ก็ตั้งไว้เพื่อให้ต้นฉบับของผู้เขียนที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์มาก่อนตอนยังมีชีวิตได้รับการชำระและตีพิมพ์ หลังจากเวลา 10 ปีดังกล่าวงานเขียนก็จะตกเป็นของสาธารณชนฝรั่งเศสแห่งสาธารณรัฐไปซึ่งใครจะเอาไปตีพิมพ์ก็ได้ ซึ่งนี่มีความต่างอย่างชัดเจนกับ “อภิสิทธิ์” ภายใต้ระบอบเก่าที่ไม่มีวันหมดอายุและยืดไปเรื่อยๆ ได้ตามที่กษัตริย์และบรรดาสำนักพิมพ์ต้องการ กล่าวโดยสรุปคือร่างกฎหมายนี้บอกว่างานเขียนมีลักษณะเป็น “ทรัพย์สินแบบจำกัด” (limited property) ที่สิทธิผูกขาดมีได้ในระยะหนึ่งโดยผู้ที่สร้างมันขึ้นมา ก่อนที่มันจะกลายมาเป็นของสาธารณะ
 
ร่างกฎหมายนี้โดนยำและรุมทึ้งจนเละเทะจากแทบทุกฝ่าย ทันที่ที่ร่างกฎหมายออกมาฝ่ายถึงรากถึงโคนก็มองเห็นว่าร่างกฎหมายดูจะมีเจตนาสร้างเงื่อนไขความรับผิดชอบแก่ตัวผู้เขียนในนามของการยอมรับว่างานเขียนเป็นทรัพย์สินของผู้เขียน กล่าวคือมันถูกร่างขึ้นมาเพื่อสร้างเงื่อนไขในการเอาผิดในทางกฎหมาย ซึ่งขัดแย้งกับ “เสรีภาพของแท่นพิมพ์” ที่ต้องหมายถึงการพิมพ์อะไรก็ได้โดยไม่ต้องติดคุกหรือโดนดำเนินคดีใดๆ อีกฝ่ายหนึ่งก็วิจารณ์ว่าการทำให้ “งานเขียน” เป็น “ทรัพย์สิน” นี้ไม่ใช่อะไรนอกจากการร่างกฎหมายให้พวกสำนักพิมพ์เอาความรู้ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะไปหาประโยชน์[5]  ส่วนทางฝั่งกลุ่มพ่อค้าหนังสือก็มองว่าการคุ้มครองแบบครึ่งๆ กลางๆ เป็น “ทรัพย์สินแบบจำกัด” แบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะงานเขียนนั้นควรจะเป็นทรัพย์สินดังเช่นทรัพย์สินอื่นๆ ที่เจ้าของถือครองไปได้ชัวกาลปาวสาน นอกจากนี้คำวิจารณ์ในส่วนของระยะเวลาการคุ้มครองการผูกขาดนี้ก็มีผู้วิจารณ์ไปอีกด้านเช่นกันว่าการคุ้มครองไปตลาดชีวิตผู้เขียนนั้นยาวนานเกินไป และก็ควรย่นระยะเวลาคุ้มครองมาให้เป็นแบบกฎหมายลิขสิทธิ์อังกฤษคือคุ้มครอง 14 ปีหลังการตีพิมพ์ครั้งแรก และถ้าผู้เขียนยังไม่ตายก็ต่ออายุได้อีก 14 ปี ก่อนงานจะเป็นของสาธารณะต่อไป กล่าวโดยสรุปแล้ว ร่างกฎหมายนี้แทบไม่ถูกใจฝ่ายใดเลย และโดนถล่มเละก่อนที่ถูกนำไปพิจารณาอะไรทั้งนั้น
 
หลังจากร่างนี้ตกไปไม่นานก็มีความพยายามที่สำคัญ ซึ่งในที่สุดนำมาสู่กฎหมายลิขสิทธิ์ของฝรั่งเศส แต่มันกลับมาจากปีกของเหล่านักเขียนบทละคร พวกนักเขียนบทละครมีความพยายามอย่างแข็งขันที่จะให้รัฐยกเลิกอภิสิทธิ์ในการผูกขาดการแสดงละครของโรงละคร Comedie Francais อันเป็นซากเดนของระบอบเก่า และให้รัฐยืนยันว่าพวกตนนั้นเป็นเจ้าของบทละครที่ตนเขียนมากับมือ เพราะในระบอบเก่านั้นไม่เคยมีการรองรับสิทธิใดๆ เหนืองานของนักแต่งบทละคร แต่กลับรองรับ “อภิสิทธิ์” ของผู้กำกับละครในการนำบทละครไปแสดงจนถึงพิมพ์บทละครขายได้ (ซึ่งแน่นอนว่าการได้มาซึ่งอภิสิทธิ์ดังกล่าวต้องผ่านการอนุมัติจากกษัตริย์อีกที) 
 
การประท้วงการล่ารายชื่อนักเขียนบทละคร 21 คนเพื่อร้องเรียนต่อสภา และคนที่นำเรื่องไปเสนอในสภาก็คือ Jean-François de La Harpe นักเขียนบทละครที่เป็นสมาชิกสภา และในที่สุดกฎหมายรองรับสิทธิเหนือบทละครก็ออกมา โดยเนื้อหาก็แทบจะเหมือนร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ของ Sieyes เพียงแต่เปลี่ยนเนื้อหาจากหนังสือเป็นบทละครเท่านั้น และเปลี่ยนระยะเวลาคุ้มครองจาก 10 ปีหลังนักเขียนตาย โดยลดลงมาเป็น 5 ปีหลังนักเขียนบทละครตาย นักกฎหมายผู้นำเสนอกฎหมายฉบับนี้ในสภาอย่าง Isaac-Rene-Guy Le Chapelier ก็กล่าวชัดเจนว่าการสิ้นสุดของลิขสิทธิ์คือสิ่งจำเป็น เพราะสาธารณชนคือเจ้าของที่แท้ของลิขสิทธิ์ ดังที่เขากล่าวว่า “สาธารณชนควรจะเป็นเจ้าของงานอันยิ่งใหญ่ ...แต่ระบอบทรราชนิยมก็ได้รุกรานทรัพย์สินร่วมชุมชนดังกล่าวและคว้านมันออกมาเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะของเอกชน”[6]  
 
กฎหมายนี้ผ่านมาในปี 1791 และทำให้ในตอนต้นปี 1792 เหล่านักเขียนและนักแต่งเพลงรวม 30 คนก็รวมตัวกันเรียกร้องให้พวกตนให้มีสิทธิเหนืองานเขียนตัวเองเหมือนที่พวกนักแต่งบทละครมีบ้าง ซึ่งราว 1 ปีต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1793 ทางการสาธารณรัฐขณะนั้นก็ตอบรับข้อเรียกร้อง ในที่สุดได้มอบหมายให้นักเขียนบทละครอย่าง Joseph Chenier ไปจัดการร่างกฎหมายลิขสิทธิ์มา ผลสุดท้ายคือ Chenier ก็ได้ร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาเหมือนร่างของ Sieyes ที่ตกไปในปี 1790 อีก และทางสภาขณะนั้นก็ผ่านมันไปอย่างรวดเร็ว
 
ที่ตลกคือทั้ง Chenier และบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งหมดซึ่งจำนวนมากก็คือเหล่านักเขียนที่เป็นสมาชิกสภาคือปีกขั้วการเมืองในสภาล้วนไม่ได้อยู่ในสภาทั้งสิ้นในตอนที่กฎหมายผ่าน[7]  เพราะในช่วงที่กฎหมายผ่านได้ไม่นานเหล่า ผู้ที่ร่างมันก็กำลังหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อไม่ให้โดน “กิโยติน” ในช่วงเวลาการกำจัดเหล่าศัตรูของการปฏิวัติอย่างนองเลือดที่สุดของปฏิวัติฝรั่งเศสที่ขนานนามกันว่า “ยุคแห่งความกลัว” (The Terror) พูดง่ายๆ คือบรรดาผู้ร่างกฎหมายและผลักดันลิขสิทธิ์ฝรั่งเศสนั้น สุดท้ายก็แทบจะถูกล้างบางไปหมดด้วยข้อหา “ศัตรูของการปฏิวัติ” แทบทั้งสิ้น ตั้งแต่ Condorcet ผู้สั่งการให้มีการร่างกฎหมายที่ตายในคุก ยัน Chenier ผู้ร่างกฎหมายที่รอดกิโยตินมาอย่างหวุดหวิด (แต่ Andre Chenier พี่ชายของเขาที่เป็นกวีก็ไม่รอด)
 
ที่น่าสนใจที่สุดคือ ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ของฝรั่งเศสที่ผ่านออกมา เหมือนร่างของ Sieyes ทุกอย่างยกเว้นที่มันระบุชัดเจนว่ามันไม่มีผลย้อนหลังและมันไม่รับรองอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้นที่มีมาในระบอบกษัตริย์[8]  พูดง่ายๆ คือทุกสิ่งที่ถูกเขียนมาก่อนปฏิวัติทั้งหมดนั้นถือว่าเป็นของสาธารณะทั้งหมด ดังนั้นนี่จึงเป็นหลักประกันว่างานเขียนของเหล่านักเขียนยุคแห่งความรู้แจ้งนั้นเป็นของสาธารณะทั้งหมดรวมไปถึงบรรดางานคลาสสิคสารพัด
 
ไม่มีบันทึกจากสภาว่าร่างกฎหมายของ “ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ” นี้ผ่านมาได้อย่างไรในภาวะแรกเริ่มของยุคแห่งความกลัว อย่างไรก็ดีถ้าจะนับว่านี่เป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ กฎหมายนี้ก็ดูจะผ่านมาในรัฐบาลที่ให้ความสำคัญแก่สาธารณชนมากๆ ได้ก็เพราะ มันให้น้ำหนักแก่ผลประโยชน์สาธารณะอย่างล้นหลามในการประกาศว่างานก่อนปฏิวัติทั้งหมดถือว่าไม่มีลิขสิทธิ์นั่นเอง นี่ดูจะทำให้ความฝันของเหล่านักคิดยุคแห่งการรู้แจ้งเป็นจริงในระดับหลักการ แต่สุดท้ายสิ่งที่กำหนดว่าหนังสือประเทืองปัญญาจะอยู่ในตลาดได้หรือไม่ก็ดูจะไม่ใช่กฎหมาย เพราะสุดท้ายกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ไม่เคยเป็นหลักประกันว่าสังคมจะอุดมปัญญาดังที่ผู้สนับสนุนมันชอบอ้างได้เลยแม้แต่ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์
 
 
 
อ้างอิง
 
 
1.  Carla Hesse, Enlightenment Epistemology and the Laws of Authorship in Revolutionary France, 1777-1793, Representations, No. 30, Special Issue: Law and the Order of Culture (Spring, 1990), p. 118
2.  Carla Hesse, Publishing and Cultural Politics in Revolutionary Paris, 1789-1810, (Berkeley: University of California Press, 1991), pp. 128-129
3.  Carla Hesse, Enlightenment Epistemology and the Laws of Authorship in Revolutionary France, 1777-1793, Representations, No. 30, Special Issue: Law and the Order of Culture (Spring, 1990), p. 120
4.  ซึ่งร่างนี่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นร่างกฎหมายที่จริงๆ แล้วมาจากฝีมือของนักคณิตศาสตร์อภิชนอย่าง Marquis de Condorcet  เพราะเนื้อหาในร่างกฎหมายลิขสิทธิ์นี้ก็ไปพ้องกับจุลสาร Fragment on the Freedom of the Press ที่ Condorcet เขียนมาในปี 1776 เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปกฎหมายสิ่งพิมพ์ในระบอบเก่า เนื้อหาและโครงสร้างโดยรวมของร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ของ Sieyes และจุลสารของ Condorcet มีความคล้ายคลึงกันมาก ความต่างที่สำคัญมีเพียงส่วนเกี่ยวกับ “อภิสิทธิ์” ที่ Condorcet ในปี 1776 มองว่าความคิดนั้นเป็นผลผลิตของสังคม ไม่ใช่ของปัจเจก ดังนั้นจึงไม่มีควรจะมีอภิสิทธิ์อะไรทั้งนั้น เพื่อให้ความรู้นั้นแพร่กระจายไปได้อย่างไม่มีข้อจำกัดที่สุด แต่พอมาในปี 1790 เมื่อ Condorcet ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์กลับมองว่าการให้ “อภิสิทธิ์” แก่ผู้เขียนในบางระดับนั้นจำเป็นต่อการเผยแพร่ความรู้ แต่ “อภิสิทธิ์” ที่ว่านี้ก็ต้องไม่มากจนเป็นภัยทางภูมิปัญญาต่อสาธารณชน ดู Carla Hesse, Enlightenment Epistemology and the Laws of Authorship in Revolutionary France, 1777-1793, Representations, No. 30, Special Issue: Law and the Order of Culture (Spring, 1990), p. 119
5. ความย้อนแย้งที่น่าขันคือ นี่คือสิ่งที่เจ้าของร่างกฎหมายลิขสิทธิ์อย่าง Condorcet เสนอมาเองในปี 1776 ว่า “ความรู้” ทั้งหลายไม่ควรจะเป็นทรัพย์สินของเอกชน ซึ่งอันที่จริงข้อโต้แย้งร่างกฎหมายนี้ในปี 1790 ก็ถูกยกมาโดย Auguste de Keralio ที่เคยทำงานเป็นเลขาให้ Condorcet ในช่วง 1770-1780 นั่นเอง พูดง่ายๆ คือสำหรับ de Keralio แล้ว Condorcet เจ้านายเก่าของเขานั้นทรยศต่อจุดยืนตัวเองก่อนการปฏิวัติ ดู Footnote 4
6. อ้างใน Carla Hesse, Enlightenment Epistemology and the Laws of Authorship in Revolutionary France, 1777-1793, Representations, No. 30, Special Issue: Law and the Order of Culture (Spring, 1990), p. 126
7.  พวกนี้เรียกรวมๆ ว่าพวกจิรงแด็ง (Girondins) คำๆ นี้ไม่ใช่คำสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เป็นคำที่เกิดภายหลังในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสพวกนี้ถูกเรียกเรียกว่า บริสโซแต็ง (Brissotins) ตามชื่อผู้นำคือ Jacques Pierre Brissot ทั้งนี้พวกนี้เป็นพวกที่มีความเห็นต่างจากพวก “มองตังญาร์ด” (Montagnard) ที่นำโดย Maximillien Robespierre ผู้โด่งดังโดยพวก บริสโซแต็ง คือพวกที่ยิ่งปฏิวัติผ่านไปก็ยิ่งไม่นิยมมาตรการขั้นเด็ดขาดในการปฏิวัติ ซึ่งฐานสนับสนุนเป็นพวกกลุ่มผู้ทำอาชีพระดับสูง คนรวยและอภิชนเก่าที่ยังเหลืออยู่ ในขณะที่พวก มองตังญาร์ดที่เน้นนโยบายขั้นเด็ดขาดและรุนแรงในตอนปฏิวัติอย่างสม่ำเสมอมีฐานสนับสนุนหลักเป็นกลุ่มผู้ทำอาชีพระดับล่างทั้งหลายในปารีส ทั้งนี้แกนนำของทั้งจิรงแด็งและมองตังญาร์ดก็เป็นสมาชิกของสมาคมจาโคแบงทั้งสิ้น และฝ่ายแรกก็เคยเรืองอำนาจมาก่อนที่ Robespierre จะเรืองอำนาจในสมาคม
8.  ประเด็นนี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะกลไกอภิสิทธิ์ทั้งหลายตั้งแต่กระบวนการผ่านอภิสิทธิ์ กองเซ็นเซอร์ และระบบตำรวจวรรณกรรมนั้นพังไปก่อนหน้านี้ก็จริง แต่กลไกของรัฐจำนวนไม่น้อยอย่างศาลก็ยังปฏิบัติราวกับว่าอภิสิทธิ์นั้นยังดำรงอยู่เมื่อมีการดำเนินคดีละเมิดอภิสิทธิ์ในช่วงปฏิวัติ ดังนั้นรัฐบาลสาธารณรัฐก็จึงมีความจำเป็นตัดรากถอนโคนระบอบอภิสิทธิ์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท