Skip to main content
sharethis
พร้อมรายงานผลการปฏิบัติการต่อศาลทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งให้ กรมควบคุมมลพิษ ออกประกาศกำหนดให้รถโดยสาร ขสมก.- รถร่วมบริการของเอกชนต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย
 
3 เม.ย. 2557 ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เจ้าของสำนวน และองค์คณะ มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ผู้ถูกฟ้องที่ 2 กำหนดแผนปฏิบัติการกำกับดูแล ติดตาม ควบคุมเพื่อไม่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (ขสมก.) ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ปล่อยรถยนต์โดยสารและรถร่วมบริการของเอกชนออกวิ่งโดยปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน และรายงานผลการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวต่อศาลทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
 
และให้กรมควบคุมมลพิษ พิจารณาตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกาศ กำหนดให้รถยนต์โดยสารของ ขสมก.และรถร่วมบริการของเอกชนต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 68
 
คดีนี้มูลนิธิป้องกันควันพิษและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม, นายป๊อก แซ่เจีย, นายทวี ทองโต และ นางลัดดา ทีสานนท์ ประชาชนผู้ที่อาศัยในพื้นที่ กทม.และเขตปริมณฑล ยื่นฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2  เรื่องละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
 
กรณีที่ผู้ฟ้องทั้งสี่ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายที่ ขสมก.ไม่ได้ดำเนินการสั่งควบคุม กำกับดูแล และวางแผนเดินรถในสังกัด และไม่จัดระบบการเดินรถของเอกชนร่วมบริการ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยไร้มลพิษและควันดำ หรือไม่ให้เกินมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด 
 
อธิบดีและรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ปี 2545 ว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เกิดจากรถโดยสารประจำทางทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลสั่ง ขสมก. ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเพียงพอในการจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการต่างๆ ไม่ให้รถสังกัด ขสมก. และ รถเอกชนร่วมบริการทุกบริษัทเกิดควันดำเกินมาตรฐาน และให้ คพ. ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเข้มงวด 
 
คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่าให้ ขสมก. ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ให้รถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และรถร่วมบริการ ก่อให้เกิดมลพิษจากท่อไอเสียเกินมาตรฐานอีก และให้รายงานผลตรวจวัดไอเสียของรถประจำทาง ขสมก.และรถร่วมบริการต่อศาลทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ส่วน คพ. ให้ยกฟ้อง ต่อมาผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องยื่นอุทธรณ์
 
ศาลปกครองสูงสุด จึงพิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ คพ.  กำหนดแผนปฏิบัติการกำกับดูแล ติดตาม ควบคุมเพื่อไม่ให้ ขสมก.ปล่อยรถยนต์โดยสาร และรถร่วมบริการของเอกชนออกวิ่งโดยปล่อยควันดำเกินมาตรฐาน และรายงานผลการปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวต่อศาลทุก 3 เดือน เป็นเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้กรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 พิจารณาดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประกาศ กำหนดให้รถยนต์โดยสารของ ขสมก. และรถร่วมบริการของเอกชนต้องถูกควบคุมการปล่อยอากาศเสีย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 68 นอกเหนือจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net