Skip to main content
sharethis
 
วิงสแปน บริษัทลูกการบินไทยนัดหยุดงานประท้วง 1 เม.ย. จี้ปรับโครงสร้างค่าจ้างตอบบแทนเหมือนพนักงานการบินไทย
 
นายสามารถ ปั้นแตง ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ และพนักงานบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องขอให้การบินไทยกำหนดโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน และขอเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างจากพนักงานรายวันเป็นพนักงานรายเดือน โดย นัดหมายที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยกันที่กระทรวงแรงงานใน วันที่ 27 มี.ค. หากไม่สามารถตกลงได้ ภายในวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะเรียกประชุมสมาชิกเพื่อขอมติในการนัดหยุดงานซึ่งจะมีผลทันทีภายใน 24 ชั่วโมง 
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวม 4,038 คน รับผิดชอบงานด้านครัวการบินไทยและการบริการภาคพื้นภายในสนามบิน โดยพนักงานงานส่วนใหญ่กว่า 3,000 คน เป็นพนักงานรายวัน ได้ค่าแรงวันละ 315 บาท ไม่พอเลี้ยงชีพและดูแลครอบครัว ขณะที่พนักงานเหล่านี้มีการทำสัญญาทำงานระยะยาวจนครบ 60 ปี แต่การจ่ายค่าตอบแทนคิดเป็นรายวัน และไม่มีการจัดสวัสดิการให้ พร้อมเสนอขอค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ทำงานในช่วงกะกลางคืนอีก 150 บาท
 
ด้าน นายโชคชัย ปัญญายงค์ รักษาการ กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย กล่าวว่า กรณีที่พนักงานบริษัท วิงสแปน จะประท้วงหยุดงานนั้น เป็นสิทธิพนักงานที่สามารถทำได้ แต่จะต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ในส่วนของนายจ้างก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องให้ผู้เกี่ยวข้องลงไปดู
 
นายโชคชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. เป็นประธานเป็นครั้งแรก ว่า แนวโน้มยอดจองตั๋วล่วงหน้าในเดือนเม.ย. เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. สาเหตุหลักมาจากมีเทศกาลที่สำคัญ คือ เทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น จึงส่งผลให้เกิดการเดินทางมากขึ้น ทั้งนี้ การบินไทยจะพยายามผลักดันให้อัตราการบรรทุก ผู้โดยสาร (เคบิน แฟ็กเตอร์) เดือนเม.ย. อยู่ที่ประมาณ 72% ถือเป็นการรักษาระดับให้อยู่ไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ที่คาดว่าเคบิน แฟ็กเตอร์อยู่ระดับ 68-70% เดือนก.พ.อยู่ที่ 70% และเดือนม.ค.อยู่ที่ 71.5% ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่อยู่ระดับ 79-80%
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมบอร์ดการบินไทย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย นำโดยนายดำรงค์ ไวยมณี ประธานสหภาพ พร้อมตัวแทนพนักงานกว่า 200 คน ได้รวมตัวกันหน้าอาคารสำนัก งานใหญ่ พร้อมตั้งเวทีกล่าวโจมตี และขับไล่นายอำพน กิตติอำพน ให้พ้นจากกรรมการการบินไทย โดยต้องการให้บอร์ดชุดนี้ ซึ่งมีพล.อ.อ.ประจิน เป็นประธาน ทบทวนมติบอร์ดการบินไทยเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมาที่พิจารณาให้นายอำพนกลับมาเป็นกรรมการอีกครั้ง เนื่องจาก จะครบวาระในการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เม.ย.นี้ 
 
(ข่าวสด, 27-3-2557)
 
ชี้แนวโน้มวิกฤตการขาดแรงงานด้านวิทยาศาสตร์ เหตุเพราะบัณฑิตสายวิทย์มุ่งสู่อาชีพบันเทิงและพนักงานขาย
 
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) ผู้จัดทำ "ดัชนีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" เพื่อชี้วัดระดับความก้าวหน้าและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย พบว่าจากการจัดอันดับของสถาบันนานาชาติ ประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การลงทุนด้านวิจัยพัฒนาของประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว สำหรับ แนวโน้มบัณฑิตสายวิทย์ หันไปประกอบอาชีพนางแบบ สายบันเทิงหรือพนักงานขายสินค้ามากขึ้น จึงเร่งผลักดันหลักสูตรเทคโนโลยีผลิตบัณฑิตทดแทนเพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
       
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 จาก 60 ประเทศ ในปี 2556 สูงขึ้นจาก อันดับ 30 ในปี 2555 โดยอยู่ในอันดับต่ำกว่า มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน หรือ การวัดระดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันโดยรวม (The Global Competitiveness Index : GCI) โดย เวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับ37 ในปี 2556 - 2557 โดยหนึ่งในหลักเกณฑ์การพิจารณาของทั้ง 2 สถาบัน จะใช้เกณฑ์วัดเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลกหรือในภูมิภาคเดียวกัน
       
“หากพิจารณาตัวเลขด้านทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะพบว่าสัดส่วนของนักศึกษาใหม่ที่เลือกเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์มีเพียง 39% ซึ่งน้อยกว่าสาขาสังคมศาสตร์ที่มีสัดส่วน 61% โดยเฉพาะในระดับสูงกว่าปริญญาตรี มีผู้เลือกเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียง 20% แต่มีผู้เลือกเรียนต่อด้านสังคมศาสตร์ถึง 80% และเมื่อพิจารณาถึงตัวเลขของกำลังแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย พบว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่ได้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึง 38% โดยในกลุ่มนี้ 25% หันไปประกอบอาชีพนางแบบนายแบบในสายบันเทิง หรือ พนักงานขายสินค้า ซึ่งแน้วโน้มตัวเลขดังกล่าวสะท้อนผลกระทบโดยตรงต่อการขาดแคลนแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคตอย่างแน่นอน” ดร.พิเชฐกล่าว
       
จากปัญหาข้างต้น จึงการกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ โดยให้ สวทน. และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงานการผลิตบุคลากรนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาเทคโนโลยีเพื่ออนาคต หลายหลักสูตร เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันของประเทศ
       
“ในด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้เป็น 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น จากตัวเลขสถิติในปี2554 พบว่า การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของเอกชน มีสัดส่วน 51% และภาครัฐนั้นมีสัดส่วนที่ 49% โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร ปิโตรเลียม เครื่องจักร ยางและพลาสติก สวทน. จึงต้องเร่งประสานให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา โดยมีเป้าหมายให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุน 70% ภายในปี 2559” เลขาธิการ สวทน. ให้ตัวเลข
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-3-2557)
 
บริษัท รปภ.ประท้วง รพ.จุฬาฯ เบี้ยวค่าจ้าง
 
​พนักงานรักษาความปลอดภัย จากบริษัทสเปเชี่ยล ไทยการ์ดแอนด์เซอวิส จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญารับจ้างรักษาความปลอดภัยให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกันชุมนุมเรียกร้องให้โรงพยาบาล จ่ายค่าจ้างที่ยังค้างจ่ายบริษัทอยู่ 6 เดือน 
 
โดยพันโท ชัยพร คุ้มสุพรรรณ ประธานบริษัท และนางสาวณัฐรินทร์ วสุธรธนาวัฒน์ ผู้จัดการบริษัท กล่าวว่า บริษัท เริ่มต้นสัญญากับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมปี 2556 มีกำหนดสัญญาถึงวันที่ 30 กันยายนปีนี้ ตามสัญญาระบุว่า โรงพยาบาลจะต้องจ่ายค่าจ้างตามสัญญา เดือนละ 5 แสน 2 หมื่น 2 พัน 6 ร้อย 6 สิบ 6 บาท ให้แก่บริษัท แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีการจ่ายเงินตามที่สัญญากันไว้ และยังได้ผลัดผ่อนไม่ยอมจ่ายมาหลายครั้งแล้ว จนมาถึงกำหนดอีกครั้งในวันนี้
 
ที่ผ่านมา บริษัทต้องสำรองจ่ายให้พนักงานไปก่อน เป็นเงินมูลค่ากว่า 3 ล้านบาทแล้ว จนกระทั่งหมดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถสำรองจ่ายให้พนักงานได้อีกแล้ว และไม่มั่นใจว่าในวันนี้ ทางโรงพยาบาลจะผลัดผ่อนไปอีกครั้งหรือไม่ พวกตนจึงต้องมาชุมนุมกัน เพื่อทวงสัญญาไม่ให้มีการผลัดผ่อนอีกต่อไป
 
นอกจากนี้ ตัวแทนบริษัทสเปเชี่ยล ไทยการ์ดแอนด์เซอวิส ยังเปิดเผยว่ากรณีของบริษัทตน ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น แต่เคยมีกรณีที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จ่ายเงินไม่เป็นไปตามสัญญากับบริษัทอื่นๆ ที่เคยมาทำสัญญากับโรงพยาบาลก่อนหน้านี้แล้ว
 
ในเวลาต่อมา ทางผู้บริหารของโรงพยาบาล จึงได้เข้าหารือกับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่มาชุมนุม และรับปากว่าจะมีการจ่ายเช็คให้ภายในเวลา 15 นาฬิกาของวันนี้ พนักงานรักษาความปลอดภัย จึงแยกย้ายกันกลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่ยืนยันว่าหากไม่มีการจ่ายเงินตามที่สัญญากันไว้ พวกตนจะกลับมาชุมนุมอีกครั้ง และยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลในทันที
 
(ว๊อยซ์ทีวี, 31-3-2557)
 
กรมการจัดหางาน ยืนยันซาอุฯ ไม่ให้วีซ่าแรงงานไทย หลังเกิดคดีขโมยเพชรซาอุฯ ตั้งแต่ปี 2532
 
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ จำเลยในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้อง พร้อมกับพวกรวม 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาฯ จากกรณีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้มีการจัดส่งแรงงานไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียมานานแล้ว เนื่องจากประเทศซาอุดีอาระเบียไม่ได้ให้วีซ่า หลังนายเกรียงไกร เตชะโฮ่ง แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในพระราชวังของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย ก่อคดีขโมยเพชรจำนวนมหาศาลเมื่อเดือนสิงหาคม 2532
 
(สำนักข่าวไทย, 31-3-2557)
 
ลูกจ้าง บ.สยามมิชลิน ปักหลักชุมนุมใน ก.แรงงาน นัดเจรจานายจ้าง 8 เม.ย.หาข้อยุติพิพาทโบนัสพิเศษ-ค่าเช่าบ้าน-เบี้ยขยัน
 
(1 เม.ย.) ที่กระทรวงแรงงาน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแรงงานบริษัท สยามมิชลิน จำกัด อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประมาณ 600 คน ได้มาปักหลักชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน เพื่อเตรียมที่จะขอให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ช่วยเจรจากับนายจ้างเพื่อหาข้อยุติข้อพิพาท เนื่องจากการยื่นขอโบนัสพิเศษ ปรับค่าจ้างประจำปี
       
นายธนกร สมสิน ประธานสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกกว่า 1,300 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างทั้งหมด 9 ข้อ โดยมีข้อเรียกร้องหลักคือ ขอให้บริษัทจ่ายโบนัสพิเศษประจำปี 2556 ให้แก่พนักงานทุกคนในอัตรา 4.7 เท่าของฐานเงินเดือน (เดือนสุดท้ายของปี 2556) พร้อมทั้งเงินบวกอีกคนละ 40,000 บาท จากที่ในปี 2555 บริษัทจ่ายโบนัสพิเศษในอัตรา 3.2 เท่าของฐานเงินเดือน ขอให้จ่ายเงินค่าเช่าบ้านให้แก่พนักงานทุกคนเดือนละ 2,700 บาท โดยอิงตามศูนย์ระยอง ขอให้ปรับเงินค่าจ้างประจำปีให้แก่พนักงานทุกคนตามเกณฑ์การประเมินผลงานของบริษัท และขอให้จ่ายเงินเบี้ยขยันให้แก่พนักงานทุกคน 1,000 บาทต่อเดือน โดยอิงตามศูนย์สมุทรปราการ ซึ่งบริษัทยินดีรับข้อเรียกร้องแต่ให้ทำสัญญา 3 ปี จึงจะยื่นข้อเรียกร้อง 1 ครั้ง ซึ่งสหภาพไม่ยินยอมจะทำสัญญาและออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว จึงเกิดข้อพิพาทขึ้นและสหภาพเรียกประชุมสมาชิกโดยได้ลงมติใช้สิทธิหยุดงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.จนถึงปัจจุบัน รวมเวลา 20 วัน
       
“ที่ผ่านมาสหภาพเจรจากับนายจ้างมาแล้ว 9 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 มี.ค.แต่ไม่ได้ข้อยุติข้อพิพาท จึงมาขอให้ กสร.ช่วยเจรจากับนายจ้างโดยสหภาพยินยอมทำสัญญา 3 ปี จึงจะยื่นข้อเรียกร้อง 1 ครั้ง แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องกำหนดการจ่ายเงินโบนัสพิเศษประจำปีแบบขั้นบันได ปรับค่าจ้างประจำปีตามฐานเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน และจ่ายค่าเช่าบ้านและเบี้ยขยัน ส่วนอัตราเงินจะเป็นเท่าไหร่สามารถตกลงกันได้ โดยสหภาพแรงงานได้นัดเจรจากับนายจ้างอีกรอบในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ที่ จ.ชลบุรี พวกเราจะปักหลักชุมนุมที่กระทรวงแรงงานจนกว่าการเจรจาแก้ปัญหาข้อพิพาทจะได้ข้อยุติ และจะหารือกันว่าจะไปเคลื่อนไหวที่หน้าสำนักงานใหญ่ที่ย่านพหลโยธิน หรือจะไปสถานทูตฝรั่งเศสหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กสร.ช่วยเหลืออยู่ระหว่างหารือกัน ” นายธนกร กล่าว
       
นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดี กสร.กล่าวว่า ปัญหาข้อพิพาทในเรื่องของโบนัส เงินค่าเช่าบ้าน และเงินเบี้ยขยัน เป็นเรื่องที่นายจ้างกับลูกจ้างเจรจาหาข้อยุติกันเอง เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจของ กสร.ทั้งนี้ ขณะนี้ลูกจ้างที่ปักหลักชุมนุมยังไม่ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กสร.ช่วยเหลือ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-4-2557)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net