Skip to main content
sharethis

การเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการหนึ่งของเรือนจำกลางเชียงใหม่ ภายหลังโยกย้ายมาในพื้นที่ใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงระบบการเยี่ยม  จากที่เรือนจำเดิมเคยเปิดให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ทุกวัน ปัจจุบันได้กำหนดให้แดน 4 ที่ควบคุมผู้ต้องขังระหว่าง เยี่ยมได้เฉพาะในวันจันทร์ แดน 5 ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีทั่วไป เยี่ยมได้วันอังคาร แดน 7 นักโทษเด็ดขาดในคดียาเสพติด เยี่ยมได้ในวันพุธ แดน 8 แดนความมั่นคงสูง เยี่ยมได้ในวันพฤหัส และวันศุกร์เปิดให้เยี่ยมผู้ต้องขังผู้ช่วยงาน ผู้ต้องขังต่างชาติ และผู้ต้องขังแดนอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับทั้ง 4 แดน การเปลี่ยนระเบียบเช่นนี้ทำให้ญาติสามารถเยี่ยมผู้ต้องขังได้เพียงสัปดาห์ละหนึ่งวัน-หนึ่งครั้งเท่านั้น

พิรุณ หน่อแก้ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่กล่าวถึงเหตุที่ทำให้มีการเปลี่ยนระเบียบการเยี่ยมนั้น เนื่องมาจากจำนวนผู้ต้องขังที่มาก จึงจำเป็นต้องลดจำนวนญาติเยี่ยมในแต่ละวันลง ทั้งเห็นว่า ญาติเดินทางมาไกล ถ้าเยี่ยมพร้อมๆ กันทุกแดนได้เหมือนเรือนจำเดิม ระยะเวลาเยี่ยมก็จะลดลง แทนที่จะเป็น 15-20 นาที อาจลดเหลือ 7-8 นาที ทำให้การเดินทางไกลไม่คุ้มกับการเยี่ยม จึงใช้วิธีเฉลี่ยวันกันไปในแต่ละแดน โดยในช่วงแรก ญาติไม่ทราบเรื่องการเปลี่ยนระเบียบนี้ แต่ทางเรือนจำก็ได้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจ นอกจากนั้นเรือนจำยังนำระบบบัตรคิวมาช่วยอำนายความสะดวกในการเยี่ยมและฝากเงินให้ผู้ต้องขังด้วย

ระบบการเยี่ยมญาติใหม่

ผู้ต้องขังรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เล่าว่า ระบบการกำหนดให้เยี่ยมญาติได้แดนละวันนี้ เกิดขึ้นเพราะทางเรือนจำกลัวจะมีปัญหาหากแต่ละแดนออกมาพร้อมๆ กัน ผู้ต้องขังที่เป็นอริต่อกันจะได้พบกัน อาจทะเลาะกัน หรือนัดส่งยาเสพติดต่างๆ เลยใช้วิธีแยกกันเยี่ยม  รวมทั้งเรือนจำยังอ้างว่าเป็นการลดการใช้เจ้าหน้าที่ในการควบคุมดูแลการเยี่ยม  แต่การกระจายการเยี่ยมก็ทำให้มีเวลาเยี่ยม 15 นาที มากกว่าเรือนจำในพื้นที่เดิมซึ่งให้เวลาเยี่ยมไม่เกิน 10 นาที

ญาติผู้ต้องขังรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เล่าถึงการเดินทางมาเรือนจำว่า ตนไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว และอยู่ในอำเภอแม่ออน ต้องต่อรถประจำทางกว่า 4 ต่อเพื่อเดินทางมาเยี่ยมญาติที่เรือนจำ คือจากหมู่บ้านในอำเภอเข้ามายังตัวอำเภอสันกำแพง แล้วนั่งรถสองแถวเข้ามายังตัวเมืองเชียงใหม่เพื่อต่อรถไปยังอำเภอแม่แตง ก่อนต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทาง เข้าไปยังเรือนจำซึ่งอยู่ลึกเข้าไปอีกกว่า 2.5 กิโลเมตร กว่าจะถึงเรือนจำเชียงใหม่ก็ใช้เวลา 2 ชั่วโมงเพื่อมาเยี่ยมลูกชายในเวลา 15 นาที สภาพเช่นนี้ทำให้ต้องหยุดงานทั้งวันเพื่อมาเยี่ยมผู้ต้องขังโดยเฉพาะ

พื่นที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ไกลจากที่ตั้งเดิมราว 40 กิโลเมตรและยังต้องเข้าซอยลึกอีก 2.5 กิโลเมตร

กิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผอ.สำนักทัณฑปฏิบัติ กรมราชทัณฑ์ ให้ความเห็นถึงระยะทางที่ค่อนข้างไกลจากเมืองของเรือนจำว่า นอกจากกระทบต่อผู้ต้องขังที่จะมาศาล ยังสร้างความยุ่งยากสำหรับคนที่จะไปเยี่ยมด้วย 

“ความที่สังคมไทยเป็นสังคมที่ระบบครอบครัวและเครือญาติเหนียวแน่นมาก ไม่ทิ้งกัน ก็อยากจะไปเยี่ยม ไปเยี่ยมเหมือนไปเยี่ยมคนที่โรงพยาบาล ไปทุกวันเลย ซึ่งจริงๆ ในต่างประเทศ ครอบครัว ภรรยาหรือบุตร เขาจะไปในวันหยุด ไปนานๆ ที สองสามเดือนก็ไปกินข้าวด้วยกันที แต่ของเราไปเหมือนไปเยี่ยมไข้เลย ซึ่งสิ้นเปลืองมาก ไปอยู่แม่แตงก็ไม่สะดวกในการเดินทาง คนที่ไม่มีพาหนะส่วนตัวก็ยากหน่อย”

จากการสำรวจเรือนจำอื่นๆ บางส่วนพบว่า แต่ละแห่งมีระบบการเยี่ยมญาติที่แตกต่างกันออกไป ตามสภาพของแต่ละเรือนจำ เช่น ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังคดียาบ้าตั้งแต่ 1,000 เม็ดขึ้นไป เยี่ยมได้สัปดาห์ละครั้ง ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ เยี่ยมได้เฉพาะวันพุธ ส่วนผู้ต้องขังที่เหลือเยี่ยมได้ทุกๆ วัน วันละหนึ่งรอบ รอบละ 10-15 นาที

ที่เรือนจำกลางลำปาง ซึ่งมีผู้ต้องขังชายและหญิงอยู่ภายในเรือนจำเดียวกัน แต่คุมขังแยกแดนออกจากกัน ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังชายเยี่ยมได้ในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ส่วนผู้ต้องขังหญิงเยี่ยมได้ในวันอังคาร และวันพฤหัสบดี รอบละ 15 นาทีเช่นเดียวกัน

ส่วนเรือนจำกลางเชียงราย กำหนดให้แดน 2 เยี่ยมได้วันจันทร์ วันพุธ และบ่ายวันพฤหัส ส่วนแดน 3 เยี่ยมได้ในวันอังคาร วันศุกร์ และวันพฤหัสเช้า ในส่วนแดนแรกรับ, แดน 4, แดนหญิง, ส่วนการศึกษา สูทกรรม พัสดุ ฝึกวิชาชีพ พยาบาล และกักขังแดน 1 เยี่ยมได้ทุกวันทำการ

อนึ่งยังพบด้วยว่า เรือนจำหลายแห่งมีกฎระเบียบประกาศระบุไว้หน้าห้องเยี่ยมว่า “ให้เยี่ยมเฉพาะญาตินามสกุลเดียวกันกับผู้ต้องหาเท่านั้น”  หรือ “บุคคลที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตเท่านั้น” แต่ในระยะหลังเจ้าหน้าที่ก็เริ่มผ่อนปรนระเบียบนี้มากขึ้น

พื้นที่รอเยี่ยมญาติในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

ประกาศที่ระบุว่าบุคคลที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตเท่านั้น

เรือนจำกลางเชียงราย

การออกแบบระบบการเยี่ยมนี้อยู่ในอำนาจของผู้บัญชาการแต่ละเรือนจำ ซึ่งกำหนดพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพเรือนจำและสภาพผู้ต้องขัง โดยมีระเบียบกว้างๆ จากกรมราชทัณฑ์ เช่น ระบบความมั่นคง ให้การเข้าไปเยี่ยมต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เป็นต้น และในช่วงหลังทางราชทัณฑ์ได้เริ่มอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเยี่ยมญาติ เรียกว่า “การเยี่ยมแห้ง” คือเยี่ยมผ่านวีดีโอ conference โดยผู้ต้องขังไม่ต้องออกมาจากแดน

นอกจากนั้น กรณีเรือนจำกลางเชียงใหม่ ยังมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องระบบสวัสดิการผู้ต้องขัง โดยญาติจะไม่สามารถซื้อของฝากหรืออาหารจากภายนอกส่งเข้าไปให้ผู้ต้องขังได้อีก โดยอ้างว่าป้องกันการลักลอบส่งยาเสพติดเข้าไปภายในเรือนจำ  ทำให้ญาติต้องซื้ออาหารหรือข้าวของผ่านร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังของเรือนจำแต่เพียงอย่างเดียว  สินค้าที่ซื้อจะไม่ผ่านมือญาติ  โดยญาติจะชี้สินค้าที่ต้องการตามรูปภาพ มีการบรรจุหีบห่อสินค้าที่ส่งเข้าไปอย่างดี และผู้ต้องขังจะได้รับของผ่านทางร้านค้าสงเคราะห์ที่อยู่ภายในเรือนจำอีกที  ทั้งนี้เรือนจำเพิ่งจะเพิ่มอัตราเงินที่ผู้ต้องขังแต่ละคนสามารถใช้ได้ในแต่ละวัน จากไม่เกิน 200 บาท ไปเป็นไม่เกิน 300 บาทต่อวัน

ส่วนในประเด็นสินค้าที่ขายในร้านสงเคราะห์ ก็จะมีการตรวจสอบราคาสินค้ากับร้านค้าภายนอกไม่ให้แพงกว่าท้องตลาด หรือบางเรือนจำอาจจะไม่ให้มีการขายสินค้าบางประเภท เช่น งดไม่ให้มีขายบุหรี่ ส่วนในกรณีเรือนจำกลางเชียงใหม่ ให้มีการจำกัดการซื้อบุหรี่ของญาติได้ไม่เกิน 2 ซอง

รวมทั้ง เรือนจำยังไม่ให้มีการส่งพัสดุเข้าไปให้ผู้ต้องขังด้วย ยกเว้นกรณีพิเศษซึ่งจะพิจารณาเป็นครั้งคราวไป เช่น ในกรณีฤดูหนาว ก็จะอนุโลมให้ญาติส่งเครื่องกันหนาวเข้าไป ขณะเดียวกันระบบการส่งพัสดุหรือจดหมายที่มีอยู่เดิม คือจะส่งออกไปภายนอกอาทิตย์ละสองวัน แต่รับเข้ามาได้ทุกวัน แต่จดหมายจะถูกเปิดและอ่านอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้มีการเขียนเรื่องภายในเรือนจำที่ไม่ดีออกไป

จะเห็นได้ว่า การจัดระบบเยี่ยมญาติและการฝากของให้ผู้ต้องขังนั้น เป็นเรื่องดุลพินิจของผู้บริหารเรือนจำโดยแท้  ทว่าในแต่ละครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คือผู้ต้องขังและญาติ  ซึ่งต้องยอมปรับตัวให้เข้ากับระเบียบใหม่ด้วยตัวเอง ไม่ว่าระเบียบนั้นจะเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร โดยช่องทางร้องเรียนต่างๆ มักไม่ค่อยได้ผล

อาหารการกินในเรือนจำ

ด้านอาหารการกินในคุก อดีตผู้ต้องขังในเรือนจำเก่ารายหนึ่งเล่าว่า โดยปกติในโรงเลี้ยงจะมีนักโทษด้วยกันเป็นคนปรุงอาหาร แต่อาหารที่กินในคุกอยู่ในสภาพที่รับได้ยาก คือมักจะไม่อร่อย ถ้าเป็นประเภทปลาจะมีกลิ่นเหม็นคาวมากๆ จนกินไม่ได้ หรือถ้าเป็นอาหารที่มีไก่ ก็เรียกได้ว่าเป็น “วิญญาณไก่” คือมักไม่มีเนื้อไก่เหลือมาถึงจานอาหารของผู้ต้องขัง หรือบางวันก็เจออาหารที่เป็นมะเขือสามเวลา โดยในเดือนหนึ่งจะมีอาหารพื้นเมือง เช่น ลาบคั่ว แกงโฮะ แกงฮังเล ให้กินสักครั้งหนึ่ง สภาพเช่นนี้ทำให้บางคนก็ใช้กาแฟไปแลก “ซื้อยอด” (หมายถึงซื้ออาหารจากข้างนอกมากินข้างใน) เพื่อให้ได้กินดีมากขึ้น

ผู้ต้องขังในเรือนจำใหม่ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า กับข้าวในเรือนจำไม่อร่อย คล้ายกับ “แกงตาย” ที่กินไม่ได้ ทั้งคาวทั้งเหม็น ผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติจะประสบปัญหาในการใช้ชีวิต เนื่องจากจะไม่มีสวัสดิการอะไรดูแลมาก โดยค่าอาหารที่รัฐจัดสรรให้นักโทษปัจจุบัน อยู่ที่เพียงหัวละ 45 บาทต่อวัน สภาพเช่นนี้ทำให้ผู้ต้องขังที่ญาติไม่ได้ซื้ออาหารส่งเข้าไปให้ หรือฝากเงินไว้ให้ซื้อของ ต้องทนตกอยู่ในสภาพลำบากด้านอาหารการกิน

โรงเลี้ยงหรือโรงประกอบอาหารในแดนสูทกรรม

และเมนูอาหารแต่ละมื้อในรอบหนึ่งเดือน

การรักษาพยาบาลในเรือนจำ

นอกจากภารกิจรับนักโทษที่มีโทษสูงจาก 8 จังหวัดภาคเหนือแล้ว เรือนจำกลางเชียงใหม่ยังทำหน้าที่รองรับผู้ต้องขังที่ป่วยรุนแรงหรือมีโรคประจำตัวในเขตจังหวัดภาคเหนือที่ส่งตัวมายังโรงพยาบาลนครพิงค์ หรือโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก) รวมถึงผู้ต้องขังที่ต้องได้รับการตรวจทางจิตเภททั่วภาคเหนือก็จะส่งตัวมาที่นี่ เพื่อดูแลในการรับส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสวนปรุงต่อไป

ผบ.พิรุณ ให้ข้อมูลว่า เดิมที่เรือนจำเก่า โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยปฐมภูมิ คือโรงพยาบาลนครพิงค์ เมื่อย้ายมาที่ใหม่นี้ โรงพยาบาลหน่วยปฐมภูมิ คือโรงพยาบาลแม่แตง ที่อยู่ห่างจากเรือนจำราว 2 กิโลเมตร และจะส่งแพทย์เข้ามาตรวจผู้ต้องขังภายในเรือนจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในกรณีผู้ต้องขังมีอาการรุนแรงในระดับที่โรงพยาบาลแม่แตงรับไม่ได้ จะมีการส่งตัวผู้ป่วยเข้าไปโรงพยาบาลภายในจังหวัดต่อไป

ตามหลักนั้น ผู้ต้องขังที่ต้องนอนโรงพยาบาล จะต้องใช้ผู้คุมจำนวน 2 คนไปควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจากตัวเลขในช่วงเดือนธันวาคม 2556 มีผู้ต้องขังที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ 4 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังที่ต้องออกไปตรวจตามนัดของแพทย์ วันหนึ่งเฉลี่ยราว 5-10 ราย ทำให้ต้องใช้ผู้คุมอีกประมาณ 10 คนเพื่อควบคุมผู้ต้องขังที่ป่วยออกไปตรวจภายนอกเรือนจำ

ส่วนสถานพยาบาลภายในเรือนจำนั้น รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 50 คนต่อวัน มีพยาบาลวิชาชีพประจำภายในอยู่เพียง 2 คน มีนักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครช่วยงาน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังด้วยกันที่พอมีความรู้ด้านการแพทย์อีกจำนวนหนึ่ง ทำหน้าที่เดินเอกสาร จัดยา โดยผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วจึงจะสามารถช่วยเรื่องการฉีดยา ล้างหรือเย็บแผลได้ จากสภาพขาดบุคลากรเช่นนี้ ทำให้เป็นเรื่องยากลำบากพอสมควรที่จะดูแลผู้ป่วยให้ทั่วถึง

เรือนจำกลางเชียงใหม่ มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ต้องขังเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 2 คน ส่วนใหญ่จะมีเหตุมาจากโรคประจำตัว แยกเป็นการเสียชีวิตภายในเรือนจำ กับเสียชีวิตภายนอก คือที่โรงพยาบาลหรือขณะนำส่งตัว นอกจากนั้น กรณีผู้พิการ ผู้มีโรคประจำตัว หรือผู้ป่วยโรคจิตเภท เรือนจำยังไม่ได้มีการแยกแดนเป็นพิเศษ แต่อยู่ปะปนกับผู้ต้องขังทั่วไป และให้มีอาสาสมัครในแต่ละห้องนอนเป็นคนดูแลเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้หมายความว่า อาสาสมัครเหล่านั้นจะมีความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะดูแลผู้ต้องขังป่วยได้อย่างเหมาะสม

เรือนพยาบาลภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่

นพ.สมศักดิ์ โอภาสตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่แตง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เรือนจำย้ายมาแรกๆ นั้น ทางเรือนจำยังต้องส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนครพิงค์ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะยังไม่ได้ตกลงระบบระเบียบการจัดการกับทางโรงพยาบาลแม่แตง  ภายหลังเมื่อได้พูดคุยกันแล้ว ทางแพทย์จากโรงพยาบาลแม่แตงจึงรับหน้าที่เข้าไปให้บริการ  โดยเรือนจำมีหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยเข้ามารับบริการตรวจรักษา (คัดโดยพยาบาลวิชาชีพ 2 คน) ส่วนทีมแพทย์จะเข้าไปยังแดนพยาบาลภายในกำแพงเรือนจำในทุกๆ บ่ายวันศุกร์ ซึ่งคณะที่เข้าไปประกอบด้วยแพทย์ 1 คนและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอีก 2-3 คน

ในการรักษาผู้ต้องขังของแพทย์นั้นแบ่งเป็น 2 กรณี คือกรณีทั่วไปที่แพทย์เข้าไปตรวจรักษาในเรือนจำ ให้ยาตามปกติ และกรณีที่รักษาไม่ได้ ผู้ต้องขังก็จะต้องทำใบคำร้อง โดยแพทย์ต้องเขียนระบุลงไปว่า กรณีคนไข้รายนี้ต้องส่งไปตรวจรักษาที่อื่นที่มีศักยภาพสูงกว่า และให้คำแนะนำว่าจะต้องส่งตรวจอาการใดอย่างไร รวมถึงตรวจที่สถานพยาบาลในเมืองเชียงใหม่แห่งใด จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทางเรือนจำที่จะดำเนินการต่อ 

ในกรณีฉุกเฉินที่ต้องส่งผู้ต้องขังป่วยไปรักษาอย่างเร่งด่วน โรงพยาบาลแม่แตงจะจัดบริเวณสำหรับคนไข้จากเรือนจำโดยเฉพาะ แต่กระบวนการส่งตัวผู้ต้องขังออกมาเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการเอกสารหลายขั้นตอน

นพ.สมศักดิ์ ชี้ว่า เรือนจำยังให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขและการดูแลรักษาพยาบาลน้อยเมื่อเทียบกับสภาพที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการที่สถานพยาบาลในเรือนจำ มีพยาบาลประจำอยู่เพียงแค่ 2 คน (เคยมีอยู่แค่สามคน แต่มีการโอนย้ายไปที่อื่น 1 คน) แต่ต้องดูแลประชากรเรือนจำประมาณ 4 พันกว่าคน ซึ่งไม่ใช่การกระจายตัวของประชากรในหมู่บ้านตามปกติ

ประชากรในเรือนจำมีโอกาสเจ็บป่วยค่อนข้างสูง เนื่องจากสุขภาพอนามัยที่ไม่ดี รวมทั้งผู้ต้องขังจำนวนมากมีความเจ็บป่วยเบื้องต้นมาก่อนหน้าการคุมขังแล้ว โดยเฉพาะในคดีล่วงละเมิดทางเพศ หรือคดียาเสพติด ซึ่งมีโอกาสติดโรคต่างๆ มาก่อนอยู่แล้ว  อัตราผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ที่มีโรคประจำตัวมีอยู่ราวร้อยละ 9.21 ของนักโทษทั้งหมด โดยมีผู้ต้องขังอยู่ในระบบประกันสุขภาพประมาณ 3,000 คน มีประกันสังคมราว 800-900 คน ใช้สิทธิเบิกประมาณไม่เกิน 100 คน และเป็นกลุ่มคนต่างด้าวราว 800-900 คน

ภาพแสดงจำนวนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ในเรือนจำกลางเชียงใหม่

(ภาพโดย อธิคม มุกดาประกร)
คลิ๊กดูภาพขนาดใหญ่

จากสภาพพื้นฐานเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องเข้าดูแลและบริหารจัดการตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งในส่วนคนไข้โรคเรื้อรังที่ต้องรับยาเป็นประจำ กลุ่มคนไข้สูงอายุที่มักจะเป็นเบาหวานหรือความดัน และส่วนของคนไข้โรคติดต่อซึ่งมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปสู่คนอื่นค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะวัณโรคและโรคเอดส์ก็ต้องได้รับการดูแล ต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีเหมือนกับคนไข้ทั่วไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การดูแลมักเป็นไปในเชิงรับ หรือเมื่อมีความเจ็บป่วยรุนแรงจึงจะรักษาอย่างฉุกเฉิน  ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้โรคต่างๆ แพร่กระจายไปได้ง่าย และโรงพยาบาลขนาดเล็กในต่างอำเภอก็ไม่สามารถจะรองรับความเจ็บป่วยต่างๆ ได้ทันท่วงทีด้วย (โรงพยาบาลแม่แตง มีแพทย์ประจำเพียง 3 คน ที่เหลือเป็นแพทย์เกษียณอายุที่ทำการเฉพาะวัน)

นพ.สมศักดิ์เห็นว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของโรงพยาบาลในเขตที่เรือนจำมาตั้งอยู่ แต่มีพื้นฐานอยู่ที่สถานพยาบาลภายในเรือนจำ ซึ่งต้องให้ความสำคัญในการจัดองค์ประกอบของแพทย์และพยาบาลในการดูแลสถานพยาบาลแต่ละแห่ง และยังเกี่ยวโยงไปถึงแนวคิดของภาครัฐ การประสานงานร่วมกันในระดับกระทรวง ทบวง กรม ระหว่างส่วนกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้

“ทุกวันนี้คนไข้ประจำเท่าที่อยู่ในเรือนจำที่นี่มีอย่างน้อย 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่กับการลงทุนของรัฐกลับมีบุคลากรเจ้าหน้าที่หรือพยาบาลแค่ 2 หรือ 3 คน ซึ่งต้องถามกลับไปยังส่วนราชการของรัฐว่า เขาคิดอย่างไร ต้องให้ประชาชนถามเขา ไม่ใช่มาถามตรงนี้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้านอดีตผู้ต้องขังที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่เก่าเล่าให้ฟังว่า โรคที่ผู้ต้องขังเป็นกันมากคือโรคผิวหนัง บางคนที่เป็นหนักๆ ก็ต้องแยกไปแดนพยาบาลโดยเฉพาะ โดยปกติแพทย์จะเข้ามาในเรือนจำคนเดียว แต่มาทุกวัน โดยมีบุรุษพยาบาลประจำคนหนึ่ง ที่เหลือเป็นพวกนักโทษที่เข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยเหลือ  อีกทั้งขั้นตอนการเบิกยายังทำได้ค่อนข้างยาก มักอ้างว่าหมอไม่มาบ้าง หรือส่วนมากก็ให้แต่ยาพาราเซตามอล และมีรูปแบบการจัดให้เบิกยาได้คนละวันกันด้วย เช่น ผู้ที่ทำงานกองกลาง เบิกได้ในวันพฤหัส หรือหน่วยงานอื่นๆ ก็เบิกได้ในวันอื่น

อดีตผู้ต้องขังรายนี้เล่าต่อว่า ในกรณีที่ผู้ต้องขังขึ้นไปยังเรือนนอนแล้ว และมีอาการหนักๆ เกิดขึ้น ผู้ต้องขังที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าห้องจะเป่านกหวีดเรียกผู้คุม บางทีผู้คุมก็มาเร็ว หรือบางทีก็ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง ทำให้ต้องเป่าแล้วเป่าอีก เมื่อผู้คุมมาดูแล้วก็อาจให้เขียนคำร้อง เพื่อไปยื่นให้พยาบาล  และกว่าที่ “หมอ” หรือพยาบาลจะมาถึงก็อีกนาน โดยหมอในตอนกลางคืนก็มักจะเป็นนักโทษด้วยกันที่เข้าไปช่วยอยู่ในแดนพยาบาล 

ความล่าช้าเช่นนี้ทำให้หลายครั้งมีผู้ต้องขังเสียชีวิต จากอาหารช็อก หายใจไม่ออก หรือหัวใจวายเฉียบพลัน โดยหากมีคนตาย ก็ต้องรอให้แพทย์จริงๆ ฝ่ายปกครอง อัยการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาชันสูตรตามกฎหมายในตอนเช้า และกว่าจะเอาศพลงได้ก็ตอนบ่ายๆ  ซึ่งทำให้ผู้ต้องขังรายอื่นที่นอนอยู่ในห้องเดียวกันต้องนอนร่วมกับศพจนถึงเช้า ผู้ต้องขังรายนี้ประมาณการณ์ว่า ในเดือนหนึ่งๆ มีผู้ต้องขังเสียชีวิตอาจจะถึง 10 คน

“อยากให้ปรับปรุงเรื่องสถานพยาบาล คือเปรียบเทียบแล้ว ในคุกนั้น สถานพยาบาลก็เป็นเหมือนโรงฆ่าสัตว์โดยตรง คือนักโทษที่จะออกข้างนอกได้ต้องรอ บางทีคนปวดท้องใกล้จะตาย ก็ออกไปไม่ได้ ต้องผ่านหลายอย่าง อย่างในคดีอากง (อ้างถึงกรณีนายอำพล ตั้งนพกุล ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 ที่เสียชีวิตที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ) อยากให้ปรับปรุงเรื่องสถานพยาบาล เป็นอะไรนิดหน่อยมีแต่ตายๆ คือ กว่าจะส่งนักโทษไปจนถึงมือหมอ ก็ไปตายที่มือหมอ เคยมีหมอโรงพยาบาลป่าแงะ (ชื่อเรียกทั่วไปของโรงพยาบาลนครพิงค์) มาประท้วงหน้าเรือนจำ เรื่องการส่งคนไข้ ส่งนักโทษไป ขอให้ส่งให้ไวหน่อยได้ไหม คือไปตายปุ๊บก็โทษหมอใช่ไหม ถึงมือหมอก็ตายพอดี คือหมอมาประท้วง นักโทษมันตายเยอะเกิน” อดีตนักโทษรายนี้ให้ข้อมูลประกอบความเห็นไว้เช่นนี้

นอกจากนั้น ในเรือนจำเก่ายังมีปัญหาผู้ต้องขังผูกคอตายด้วย โดยมากคนที่จะผูกคอตายมักจะขึ้นห้องไปก่อนผู้ต้องขังคนอื่น หรือผูกคอตายตามบันไดโดยใช้เสื้อผ้าทั่วไป เนื่องจากถ้าเป็นในเรือนนอน ตอนกลางคืนจะมีการจัดผู้ต้องขังเป็นเวรยาม ให้คอยเฝ้าดูคนละ 1 ชั่วโมง และหากมีการผูกคอตายในห้อง เวรยามผลัดนั้นๆ อาจโดนลงโทษได้

นักโทษในเรือนจำปัจจุบันอีกรายหนึ่งเล่าคล้ายกันว่า สภาพการรักษาพยาบาลภายในเป็นเรื่องแย่  ผู้ต้องขังที่สามารถออกไปโรงพยาบาลได้ต้องป่วยหนักจริงๆ ซึ่งหากถามว่าต้องหนักขนาดไหน ก็คือหนักถึงขั้นหามออกไป แต่ถ้าใครมีเส้นสายหรือมีเงินก็อาจจะได้ออกไว โดยมีอาการนิดๆ หน่อยๆ ก็จะได้ออก

ปกติการไปพบแพทย์ในวันศุกร์ ต้องเขียนคำร้องยื่นต่อผู้บังคับแดนเพื่อขอพบหมอ  โดยบุรุษพยาบาลกับนางพยาบาลประจำในเรือนจำจะเป็นคนสกรีน บางทีพอพบหมอแล้ว หมอบอกว่าไม่เป็นอะไรมาก ก็ขอยาได้ค่อนข้างยาก มักได้แต่ยาพาราฯ และถ้าเป็นไข้เล็กน้อย ส่วนใหญ่ก็ต้องรอถึงวันศุกร์ ส่วนกรณีโรคประจำตัวต่างๆ จะมีการให้ยารักษาเป็นประจำอยู่แล้ว ผู้ต้องขังรายนี้ประมาณว่า ในแดนที่ตนอยู่เคยมีคนเสียชีวิตประมาณ 3-4 คน  มีนักโทษเคยแขวนคอตาย 1 คน เพราะความเครียด  หลับแล้วก็ชักและตายด้วยโรคประจำตัวอีก 2-3 คน

บอร์ดแสดงยอดผู้ป่วยและผู้ต้องขังที่ออกตรวจยังโรงพยาบาลในแต่ละวัน

(ขอสงวนรายชื่อผู้ต้องขัง)

ส่วนในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ผอ.อารีรัตน์ เทียมทอง เล่าว่า จะมีพยาบาลอยู่ประจำสองคนและนักจิตวิทยาหนึ่งคน มีแพทย์เข้าไปสัปดาห์ละหนึ่งวัน ทั้งนี้ ในแดนพยาบาลจะมีเตียงพักฟื้นและห้องทันตกรรมให้ผู้ป่วย ผู้ต้องขังที่มีอาการป่วยและจะไปแดนพยาบาลในช่วงเช้าของแต่ละวัน จะต้องขออนุญาตหน่วยที่รับผิดชอบผู้ต้องขังคนนั้นก่อนจึงจะไปได้

ในแต่ละวัน ยังมีกรณีผู้ป่วยที่ต้องออกไปตรวจประจำยังโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยโรคจิตเภทก็ต้องไปโรงพยาบาลสวนปรุงด้วย ซึ่งผู้ต้องขังหลายคนที่มีโรคหนักๆ เช่น มะเร็ง เอชไอวี โรคไต ก็ต้องไปโรงพยาบาลที่เป็นเขตรับผิดชอบ คือโรงพยาบาลนครพิงค์ และก็มีการส่งผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลมหาราชด้วย

ในกรณีของผู้ต้องขังหญิง ยังมีกรณีที่ตั้งครรภ์มาจากโลกภายนอก และต้องออกไปคลอดลูกในโรงพยาบาล จะมีการตรวจสภาพร่างกายผู้ต้องขังตั้งแต่รับเข้าไปวันแรก หากมีการตั้งครรภ์ จะมีการนำออกมาฝากครรภ์ข้างนอก และมีศูนย์อนามัยแม่และเด็กเข้าไปดูแล พอใกล้เวลาคลอด จะส่งตัวผู้ต้องขังออกมาคลอดภายนอก เมื่อคลอดแล้วสามวันจึงจะนำตัวกลับเข้าไปภายใต้ “บ้าน” ในโครงการดูแลแม่และเด็ก จะให้แม่เลี้ยงลูกและให้นมเอง และมีพี่เลี้ยงในการบริบาลทารก จนเด็กอายุสักหนึ่งขวบ จะขอให้ญาติมารับออกไป

ทั้งนี้โดยพื้นฐาน เรือนจำของผู้หญิงมีระเบียบต่างๆ เหมือนกับของชาย แต่ในรายละเอียดอาจมีการดูแลที่แตกต่างกันบ้าง เช่น ในเรื่องการตรวจค้น กรณีผู้หญิง ต้องไม่ตรวจค้นให้ผู้อื่นเห็น หรือไม่ให้ทำงานที่ใช้กำลังหนักมากเกินไป รวมทั้งในเรื่องของความเป็นแม่ที่จะต้องดูแลบุตร นอกจากนั้น สำหรับผู้ต้องขังหญิงแล้ว ยังมีข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) อันเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ (แต่ไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม)

ในภาพรวม นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงปัญหาการรักษาพยาบาลและเสียชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำ ว่าแบ่งเป็นสองด้าน  ด้านหนึ่งคือกรณีที่ไม่ได้นำตัวผู้ต้องขังออกมารักษาข้างนอก แต่ปรากฏว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงและรักษาข้างในไม่ได้ ทำให้เกิดการเสียชีวิตภายในเรือนจำ  แต่อีกด้านหนึ่ง คือบางทีผู้ต้องขังก็อาศัยช่องว่างส่วนนี้ แกล้งบอกว่าไม่สบาย เพื่อออกมารับการรักษา เสร็จแล้วก็หลบหนีไป กลายเป็นปัญหาแรงดึงสองด้าน คือด้านหนึ่งรีบนำตัวผู้ต้องขังมารับการรักษาภายนอก กับอีกด้านหนึ่งคือเจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าให้ออกมา เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าจะมีการหลบหนีหรือไม่ ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อคนที่ควรได้รับการปล่อยให้ออกมารักษาพยาบาล เรือนจำกลับไม่ปล่อย แต่บางทีไม่ควรปล่อยออก กลับปล่อย ปัญหาจึงอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่า กรณีไหนควรหรือไม่ควร

นัทธีให้ข้อมูลว่า โดยปกติแล้วการจะให้ผู้ป่วยออกมารับการรักษาภายนอกเรือนจำได้หรือไม่ เป็นดุลพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งประกอบกับความเห็นแพทย์ ซึ่งจะเป็นผู้ตรวจเบื้องต้นและเสนอขึ้นไป แต่ปัญหาคือ ภายในเรือนจำก็ไม่ได้มีแพทย์ประจำอยู่ ทำให้หากมีกรณีรุนแรง การติดตามแพทย์จากภายนอกอาจเป็นไปอย่างล่าช้า  หรือหากเกิดเหตุในตอนกลางคืน แพทย์ก็จะไม่เข้าไป โดยนัทธีเห็นว่าทางแก้ไข คือควรจะมีแพทย์ประจำอยู่ในเรือนจำ แต่ปัญหาคือ การหาแพทย์ก็เป็นไปได้ยาก แม้แต่ข้างนอกเอง แพทย์ยังขาดแคลน และยังต้องขอความร่วมมือกับทางกระทรวงสาธารณสุขด้วย

โดยสรุปจากกรณีเรือนจำในจังหวัดเชียงใหม่นี้ แม้การย้ายเรือนจำจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังดีขึ้นในบางส่วน แต่ก็มีส่วนที่สร้างปัญหาและกระทบต่อสิทธิผู้ต้องขังในหลายด้าน ได้แก่ กระทบต่อสิทธิผู้ต้องขังในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการที่เรือนจำอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากศาล ทำให้เกิดกรณีผู้ต้องขังมาศาลไม่ทันเวลา เป็นเหตุให้กระบวนพิจารณาล่าช้าออกไป หรือการเดินทางไปเยี่ยมของทนายความก็มีข้อจำกัด รวมทั้งสิทธิในการพบญาติก็ถูกจำกัดลง จากทั้งระยะทางและการเปลี่ยนระเบียบให้ผู้ต้องขังในแต่ละแดนได้รับการเข้าเยี่ยมเพียงสัปดาห์ละหนึ่งวัน

ในส่วนอาคารพักอาศัยและระบบสาธารณูปโภคของแต่ละแดนนั้น เดิมออกแบบมาสำหรับรองรับผู้ต้องขังหญิงซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าผู้ต้องขังชายเกือบหนึ่งเท่าตัว ทำให้เกิดสภาพแออัดในส่วนของแต่ละแดนและเรือนนอนอยู่เช่นเดิม  รวมทั้งปัญหาความพร้อมในการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ทั้งปัญหาน้ำเสีย ขยะ สิ่งปฏิกูล และกลิ่นเหม็น อันเป็นผลมาจากความหนาแน่นของจำนวนประชากรในเรือนจำ ทำให้เกิดปัญหากับชุมชนโดยรอบเรือนจำที่แต่เดิมก็มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคุกอยู่แล้ว  แม้ว่าในภายหลังทางเรือนจำจะได้แก้ไขบรรเทาปัญหาเหล่านี้ลงได้บ้างแล้ว  แต่ก็ยังใช้เวลานานเกินไปในการจัดการ 

ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การวางแผนการย้ายคุกนั้นยังขาดประสิทธิภาพ  ขาดการเตรียมพร้อมรับกับปัญหา รวมทั้งในส่วนของปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด และปัญหาสิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ต้องขัง ก็ยังคงเป็นปัญหาที่สืบเนื่องต่อมาจากเรือนจำเดิมโดยไม่ได้รับการแก้ไขมากนัก

จากเรือนจำสู่ระบบตรวจสอบ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย

สภาพปัญหาและกรณีตัวอย่างของเรือนจำในจังหวัดเชียงใหม่ดังที่ยกมานี้ ทำให้เห็นได้ว่า ภาครัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำในเชิงระบบ โดยนัทธี จิตสว่าง เห็นว่า ระบบยุติธรรมตอนนี้ยังปฏิบัติต่อคนที่ทำผิดโดยเน้นเรื่องการใช้โทษจำคุกเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องหาวิธีการหลีกเลี่ยงโทษจำคุกให้มากขึ้น ต้องแก้ไขทั้งในเชิงกฎหมาย และการหามาตรการไม่ควบคุมตัวมาใช้มากขึ้น เช่น การให้ทำงานบริการสังคม การควบคุมตัวที่บ้าน การใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์มาควบคุม เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาดุลพินิจของศาลด้วย

ปัญหาความแออัดของประชากรคุกส่งผลสืบเนื่องต่อปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา

เช่นเดียวกับที่ ผบ.พิรุณ หน่อแก้ว ชี้ว่า เคยมีการประชุมร่วมกันระหว่างศาล อัยการ ตำรวจ และราชทัณฑ์ โดยทางเรือนจำได้เคยเสนอปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกไปที่ศาลว่า เรือนจำอยู่ในสภาวะที่รับไม่ไหวแล้ว โดยเสนอให้ใช้วิธีลงโทษแบบอื่นๆ เช่น Electronic Monitoring หรือควบคุมด้วยวิธีอื่นๆ รวมทั้งเรื่องการให้สิทธิประกันตัวและการรอกำหนดโทษ โดยในการประกันตัวนั้น แม้จะอนุญาตให้ใช้บุคคลแทนหลักทรัพย์ได้ แต่ทางปฏิบัติ ข้าราชการก็ไม่สามารถประกันคดีนโยบายอย่างเช่นคดียาเสพติดได้ แม้แต่ตำแหน่งผบ.เรือนจำเอง ก็ไม่สามารถใช้ตำแหน่งประกันผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้

เกี่ยวกับปัญหายาเสพติดนั้น ผบ.พิรุณ เสนอให้เรือนจำต้องพยายามแยกกลุ่มผู้ต้องขังเฉพาะออกจากผู้ต้องขังคดีอื่นอย่างเด็ดขาด เพื่อควบคุมไม่ให้ยาเสพติดแพร่กระจายไปยังผู้ต้องขังคดีอื่นๆ และจำเป็นต้องกลับไปแก้ไขที่ความเป็นอยู่ในสังคมโดยตรงด้วย เช่น เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม  พยายามไปสมัครงานก็ไม่มีใครรับ (เพราะมีประวัติการต้องโทษ) จึงหันกลับไปค้ายา หรือบางครอบครัวก็ค้ายากันทั้งบ้าน ทั้งพ่อและแม่ถูกจับกุมกันหมด หรือในคดีอื่นๆ เช่น ลักทรัพย์ ปล้นฆ่า หลายกรณีก็มักมีมูลเหตุมาจากยาเสพติด เป็นต้น

ด้านกิตติพัฒน์ เดชะพหุล กล่าวว่า ตนไม่ค่อยมีความหวังกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการนี้ต้องเป็นงานในระดับสภา และออกแบบประเทศไทยใหม่ เริ่มตั้งแต่การออกแบบรัฐธรรมนูญ เขียนโครงสร้างใหม่ และทำให้ศาลมีความรับผิดชอบต่อประชาชน มีองค์กรที่มีการคานอำนาจกันในระบบยุติธรรม โดยศาลต้องเป็นระบบที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

“ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง องค์กรอื่นก็ปรับตัวหมด แก้ไขหมด แต่ศาลเป็นองค์กรเดียวที่ไม่มีผลกระทบเลย ยังทำงานเหมือนเดิม untouchable (แตะต้องไม่ได้) กระบวนการศาลยังเป็นองค์กรที่สืบเนื่องมาจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเต็มๆ เลย...มันอยู่ที่การออกแบบประเทศ แต่จะพูดถึงศาลอย่างเดียวก็ไม่ได้ อัยการก็ไม่มีใครถ่วง ตำรวจก็ยิ่งไม่มี ส่วนของราชทัณฑ์นั้น มันแค่ปลายเหตุ” กิตติพัฒน์กล่าว

ส่วน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า ความตื่นตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมยังมีค่อนข้างน้อย โดยหากเทียบกับองค์กรทางด้านสาธารณสุข จะพบการตื่นตัวของแพทย์มากกว่า ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเพราะแต่ละองคาพยพของกระบวนการยุติธรรมปิดล้อมอยู่ในอาณาจักรของตนเอง  ยังมีลักษณะการทำงานที่ทุกคนต่างสร้างอาณาจักรของตัวเอง  พอคิดจะเข้าไปดูรายละเอียดแต่ละส่วนก็ทำได้ยาก และการจะเอามาเชื่อมต่อกันก็ยิ่งทำได้ยาก รวมทั้งวิธีคิดและหลักปฏิบัติก็ถูกครอบงำมาโดยตลอด

นพ.นิรันดร์ยังเห็นว่า ไม่ค่อยมีการคิดแก้ไขปัญหาในเชิงระบบกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดว่า จะต้องมีคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้น โดยเกิดแต่เพียงคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เท่านั้น

นอกจากนั้น ในศาลเองก็มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย คือมองการบังคับใช้กฎหมายโดยถือว่า รัฐมีอำนาจ แต่ไม่ค่อยมองเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลักสิทธิเสรีภาพเป็นกฎหมายสูงสุด  ไม่ว่าตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ก็จะมีการตัดสินที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่นึกถึงหลักสิทธิมนุษยชน และมีลักษณะของการใช้หลักกฎหมายเชิงเดี่ยว แทนที่จะเป็นหลักกฎหมายเชิงซ้อนที่เอาเรื่องมิติทางสังคม วัฒนธรรม หรือหลักสิทธิมนุษยชนเข้าไปประกอบด้วย

แม้จะมีการตรวจตราเข้มงวดคุ้มกันความปลอดภัยอย่างแน่นหนา

แต่ก็ยังมีโอกาสที่ยาเสพติดหรือโทรศัพท์มือถือจะเล็ดลอดเข้าไปได้ผ่าน “คนใน” ได้

ในกรณีของเรือนจำ นพ.นิรันดร์เห็นว่า หลักการปฏิรูปพื้นฐานก็เหมือนกับทุกระบบ คือต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น อาจให้ส่วนกลางรับผิดชอบเฉพาะนักโทษหรือผู้ต้องขังที่สำคัญๆ และรุนแรง ส่วนผู้ต้องขังทั่วไปอาจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการดูแลได้  การดูแลผู้ต้องขังส่วนนี้ก็จะอยู่บนฐานการเข้าใจสภาพชีวิตวัฒนธรรม มิติทางสังคม ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 

ส่วนที่สอง นพ.นิรันดร์เห็นว่า ควรจะต้องปฏิรูปในเรื่องจิตสำนึกและความเข้าใจ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่า “..ยิ่งอยู่ในเรือนจำก็กลายเป็นมาเฟียไปเลย ในเรื่องของการเอาผลประโยชน์กับนักโทษ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องยาเสพติด หรือแม้กระทั่งเรื่องทั่วไป จะมีมาเฟียอยู่ข้างใน แม้กระทั่งผู้คุมก็ยังกลัว ตรงนี้เป็นปัญหาที่พอระบบมันปิด ก็ยิ่งทำให้เกิดการใช้อำนาจอิทธิพลที่ไม่ถูกต้องมากขึ้น ต้องเปิดทุกอย่าง คือให้มีการเข้าไปตรวจสอบ  ระบบการตรวจสอบในกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก  ถ้าไม่มีการตรวจสอบ ก็จะกลายเป็นการทำลายตัวเอง จากการที่มันมีอำนาจเยอะ”

โดยสรุปแล้ว นอกจากการคิดถึงปัญหาที่จะตามมาจากการย้ายเรือนจำดังที่กล่าวไป กล่าวได้ว่าการแก้ไขปัญหาของเรือนจำ จำเป็นต้องคิดถึงการออกแบบการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ มากกว่าเพียงคิดแยกเป็นหน่วยๆ หรือจำเป็นต้องคิดถึงการแก้ไขตัวบทกฎหมายเพื่อใช้โทษจำคุกให้ลดน้อยลง และคิดถึงการตรวจสอบการทำงาน อำนาจหน้าที่ระหว่างหน่วยงานภายในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีงานราชทัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย รวมทั้งจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงวิธีคิดภายในหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมที่แนวโน้มยังมีลักษณะอนุรักษ์นิยมอยู่อีกด้วย

 
 
หมายเหตุ ขอขอบคุณ ธีระพล คุ้มทรัพย์ สำหรับความช่วยเหลือด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วน และขอบคุณ อธิคม มุกดาประกร สำหรับการออกแบบภาพประกอบ
 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net