Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2557 สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเครือข่ายของสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนผลิตบุคลากรทางการศึกษา ได้ระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ข้อสรุปว่า หากพิจารณาปัญหาที่ตัวบุคลาการทางการศึกษานั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ครูขาดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจาก ขาดทักษะในการจัดการเรียนการสอน ขณะเดียวกันการผลิตครูที่มุ่งเน้นให้มีปริมาณมากกว่าคุณภาพก็ส่งผลทำให้ครูขาดความลุ่มลึกทางวิชาการ ขาดสำนึกของส่วนร่วม อีกทั้งครูและผู้บริหารยังขาดจิตสำนึกรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษา ซึ่งปัญหาเหล่านี้นอกจากจะเป็นปัญหาที่เกิดจากกระบวนการผลิตบุคลาการทางการศึกษาแล้ว ยังพบว่าสาเหตุสำคัญยังมาจากตัวกฎหมายและนโยบายการศึกษาที่ขาดความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ทำให้สภาพการบังคับใช้ขาดความชัดเจน ไม่เอื้อต่อการผลิตและพัฒนาครู รวมทั้งการมีระบบบริหารคุณภาพที่ไม่ชัดเจน ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดมาตรฐาน

จากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทยจาก 70 สถาบันทั่วประเทศ จึงเล็งเห็นว่าจะต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยมีข้อเสนอในการปฏิรูป ดังนี้

1.ปฏิรูปกฎหมาย/ นโยบายทางการศึกษา ทุกวันนี้มีคอรัปชั่นในวงการศึกษามากมายซึ่งมีนักการเมืองเข้ามามีส่วนใช้อำนาจในการกำหนดและเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ส่งผลต่อการทิศทางการจัดการศึกษาของทั้งระบบ ทำให้นโยบายที่ผ่านมาขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงบ่อย การบังคับใช้ขาดการยืดหยุ่น จึงเสนอให้แยกการศึกษาออกจากการเมือง และให้มีการปรับนโยบายให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ปัญหา โดยต้องจัดทำตัวนโยบายในรูปแบบ white paper ที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ตามสภาพจริง

2.ปฏิรูปหลักสูตร การประเมินผล ตัวชี้วัด ให้เอื้อต่อการเรียนที่ให้ผู้เรียนเป็นสำคัญ การทดสอบ ONET GAT PATควรใช้เนื้อหาเดียวกับการเรียนการสอนในห้องเรียน และการประเมินผลต้องปรับให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน

3.ปฏิรูปการบริหารจัดการ ด้วยการคืนครูให้กับชั้นเรียน ด้วยการลดงานของครู และกระบวนการพัฒนาวิชาชีพ วิทยาฐานะ ควรส่งเสริมให้มีศูนย์ฝึกพัฒนาตนเองที่ทำให้การพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของงานในหน้าที่ รวมทั้งมีการติดตาม ประเมิน

4.ปฏิรูประบบการผลิตบุคลากรทางการศึกษา โดยกระบวนการคัดเลือก ให้มีการกำหนดเกรดสำหรับผู้ที่จะเรียนครู ตั้งแต่ ๓.๐๐ ขึ้นไป มีการจัดทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาครูตลอดหลักสูตร รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการผลิตครู ให้ครูมีความสามารถสอนได้หลายวิชา

5.ปฏิรูปงบประมาณการศึกษา โดยการผลิตครูนั้นการจัดสรรงบประมาณโดยใช้สูตรเดียวทั้งหมดไม่ถูกต้อง จะต้องทำให้การจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับสภาพจริง และสนับสนุนส่งเสริมให้มากในพื้นที่ที่ต้องการการดูแล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net