Skip to main content
sharethis
เมื่อนักโทษล้นคุก ก็ย้ายคุกออกนอกเมือง ขยายพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ดูเหมือนว่า ‘เท่าไรก็ไม่พอ’ และยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกอย่างไม่น่าเชื่อ
 
 
นโยบายภาพรวมของกรมราชทัณฑ์ในการโยกย้ายเรือนจำทั่วประเทศ ออกไปยังพื้นที่ภายนอกเมือง ดังที่ได้สำรวจไปในตอนที่แล้ว  แม้ในด้านหนึ่ง การย้ายเรือนจำจะเป็นการปรับปรุงสภาพคุกและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังให้ดีขึ้นอยู่บ้างระดับหนึ่ง แต่จากการสำรวจกรณีตัวอย่างของเรือนจำกลางเชียงใหม่ซึ่งถูกย้ายออกไปตั้งอยู่ในพื้นที่ใหม่บริเวณตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 (ย้ายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555) หรือกว่า 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าแม้จะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ยังคงนำมาซึ่งปัญหาใหม่ๆ หลายประการ รวมทั้งปัญหาหลายอย่างของการจัดการเรือนจำก็ยังดำรงอยู่สืบเนื่องมา 
 
 
ชมวิดีโอคลิปเบื้องต้น ปูพื้นสู่เรื่องราวของ เรือนจำเชียงใหม่ (แห่งใหม่) 
 
 
เรือนจำกลางเชียงใหม่นั้นมีสถานะเป็นเรือนจำกลางประจำเขต รับผิดชอบเรือนจำและทัณฑสถานในพื้นที่ภาค 5 ทั้งหมด 8 จังหวัด 14 แห่งในภาคเหนือ เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณเขตอำเภอแม่ริม เยื้องกับศูนย์ราชการของจังหวัด และไม่ไกลจากศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยเรือนจำกลางเชียงใหม่รับผิดชอบผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินเด็ดขาดแล้ว และถูกกำหนดโทษไม่เกิน 30 ปี รวมทั้งมีสถานะเป็นเรือนจำพิเศษเชียงใหม่ด้วย จึงต้องรับผิดชอบผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนชั้นตำรวจ ชั้นพิจารณาคดีของศาล และระหว่างอุทธรณ์ฎีกา รวมทั้งยังเป็นสถานกักขังและสถานควบคุมผู้รอการตรวจพิสูจน์ ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูยาเสพติดอีกด้วย
 
พิรุณ หน่อแก้ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า โดยทางกายภาพ เรือนจำกลางเชียงใหม่เดิมนั้น มีพื้นที่ภายในกำแพงจำนวน 11 ไร่ ตึกคุมขังมีลักษณะเป็นคอนโดมิเนียม 5 ชั้น ซึ่งสร้างสำหรับผู้ต้องขัง 2 พันคน แต่จำนวนผู้ต้องขังมีเฉลี่ยราว 4 พันคน ทำให้เกิดสภาพแออัดภายในเรือนจำตลอดหลายปีก่อนหน้านี้
 
 
พิรุณ หน่อแก้ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงใหม่คนปัจจุบัน
 

การนอน ‘สายกลาง’ ของผู้ต้องขัง

อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ในพื้นที่เก่า ได้เล่าถึงสภาพความแออัดนี้ว่า ห้องนอนหนึ่งนั้นมีผู้ต้องขังประมาณ 70 กว่าคน ขณะที่ความจุจริงๆ ประมาณ 50 คน ทำให้นอนได้อย่างลำบาก โดยความกว้างของห้องจะนอนได้สามแถว สองแถวริมจะนอนเอาหัวชนกำแพง ส่วนแถวกลางต้องเอาหัวชนเท้าของนักโทษคนอื่น โดยพวกที่เข้ามาใหม่ จะต้องนอน “สายกลาง” ก่อน และต้องรอให้ระบายผู้ต้องขังออกไป จึงจะได้ขยับเข้ามา
 
เขาบรรยายถึงสภาพการนอนนี้ว่า “ถามว่ามันนอนสบายไหม ก็ไม่สบาย พื้นเป็นเสื่อน้ำมัน เราจะเอาผ้าห่มมาเย็บเป็นที่นอนอีกที  เมื่อก่อนเรือนจำมีเครื่องนอนให้ แต่มันเก่า และไม่มีแล้ว ก็ต้องทำกันเอง หมอนไม่มี ต้องใช้เสื้อผ้าเรานี่แหละมาเป็นหมอน ผ้าห่มก็ต้องรอให้คนข้างนอกส่งเข้าไป ที่นอนก็ไม่ใช่จะกว้างเหมือนเดิมตลอด ถ้าคนเขามาอีกก็จะต้องขยับ  ห้องส่วนมากจุได้ 50 กว่าคน แต่ทีนี้คนมันเต็ม เขาก็อัดเข้ามาเรื่อยๆ จะยัดให้ได้ เพราะไม่มีที่จะเก็บ ก็อัดเข้าไป จากนอนเมตรหนึ่ง ก็ขยับเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ ก็อัดอย่างเดียว” 
 
อันที่จริงแล้วแผนการย้ายคุกเชียงใหม่เมื่อแรกเริ่มนั้น กำหนดให้ทำการย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีสภาพเป็นอาคารเก่าแก่ออกมายังตำบลสันมหาพน อำเภอแม่แตง ซึ่งมีพื้นที่ 100 ไร่ และมีพื้นที่ภายในกำแพงทั้งหมด 43 ไร่ แต่ในภายหลังจากปัญหาด้านงบประมาณ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงภารกิจ โดยย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ไปอยู่ที่ตั้งเดิมของเรือนจำกลางเชียงใหม่ (ชาย) แล้วย้ายเรือนจำกลางเชียงใหม่ไปยังพื้นที่ใหม่ที่ตำบลสันมหาพนแทน ส่วนสถานกักขังและสถานตรวจพิสูจน์ยังอยู่ที่เรือนจำเดิม
 
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีทุบทำลายคุกเก่ากลางเวียงในพิธี “ถอนขึด” 
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2556
 

เรือนจำที่ไกลศาลที่สูดของประเทศไทย 

ผบ.พิรุณ เล่าว่า การเลือกพื้นที่ตั้งเรือนจำ ถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดให้หาพื้นที่ของราชพัสดุ และต้องมีขนาดประมาณ 100 ไร่ ซึ่งพื้นที่ลักษณะนี้ในจังหวัดเชียงใหม่หาได้ค่อนข้างยาก จนมาได้พื้นที่ตำบลสันมหาพนนี้ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุส่วนหนึ่ง พื้นที่ป่าส่วนหนึ่ง และพื้นที่ของชลประทานส่วนหนึ่งรวมกัน โดย ผบ.พิรุณยอมรับว่า พื้นที่ใหม่นี้ไกลจากศาลและตัวเมืองอย่างมาก คือทั้งหมด 43.5 กิโลเมตร อาจถือได้ว่าเป็นเรือนจำที่ไกลจากศาลที่สุดของประเทศในตอนนี้
 
ระยะทางห่างไกลเช่นนี้นำไปสู่ปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนยุติธรรม เนื่องจากจำเป็นต้องรับส่งผู้ต้องขังไป-กลับศาลเป็นประจำทุกวัน ภารกิจนี้ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายสถานีตำรวจภูธรมาหมุนเวียนกันรับ-ส่งและควบคุมผู้ต้องขังเดินทางไปศาล ได้แก่ สภ.แม่แตง, สภ.หางดง สภ.สันทราย. สภ.ดอยสะเก็ด เป็นต้น เนื่องจากกำลังคนของสถานีตำรวจแต่ละแห่งไม่เพียงพอจะทำงานนี้โดยลำพัง
 
บางครั้งมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาไม่ทันเวลา และศาลมักนัดหมายเวลาพิจารณาคดีประมาณ 9 นาฬิกา  หากไปถึงศาลเกินเวลานัด ก็จะต้องเลื่อนนัด ซึ่งในแต่ละครั้งที่เลื่อนนัด โดยทั่วไปก็กินเวลาอีกราวหนึ่งเดือนเป็นอย่างต่ำ จึงจะนัดขึ้นศาลใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับเวลาสะดวกของโจทก์ซึ่งมักจะเป็นพนักงานอัยการ รวมทั้งของทนายความฝ่ายจำเลยด้วย ทำให้คดีล่าช้าออกไป  ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีทั้งหมด โดยเฉพาะต่อสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่ไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว
 
วัฒนา เจนนภา ทนายความในจังหวัดเชียงใหม่ เล่าประสบการณ์การทำคดีว่า เคยพบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลืมไปรับตัวผู้ต้องขังมาจากเรือนจำแม่แตง โดยปกติที่เรือนจำเก่า ตำรวจจะไม่เกี่ยวข้องกับการรับส่งผู้ต้องขังนัก เพราะเรือนจำอยู่ตรงข้ามกับศาลเลย แต่เมื่อย้ายออกไป เรือนจำจึงขอให้สถานีตำรวจต่างๆ จัดเวรสลับกันเอารถไปนำขบวนผู้ต้องขังมาศาล จนมีวันหนึ่งเป็นเวรของโรงพักแห่งหนึ่งที่ค่อนข้างไกล แล้วเจ้าหน้าที่ลืมเวรของตนเอง ทำให้เรือนจำไม่สามารถนำผู้ต้องขังมาได้ และมาศาลนัดเช้าไม่ทัน จนต้องมีการโทรศัพท์ตาม
 

คุกไกลเมือง ผลกระทบต่อผู้ต้องขัง

ขณะเดียวกัน กลุ่มทนายในพื้นที่เองก็ประสบความยากลำบากมากขึ้นในการทำคดี คือแทนที่จะสามารถไปปรึกษาคดีกับผู้ต้องขังได้บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่ก็เลือกไปเฉพาะเท่าที่จำเป็น เนื่องจากระยะทางที่ค่อนข้างไกลและเวลาที่ใช้ในการเดินทาง เมื่อเทียบกับแต่ก่อนที่เดินออกจากศาล ข้ามถนนก็เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังได้เลย
 
นอกจากนั้นปัญหาเรื่องระยะทางยังส่งผลถึงเรื่องสวัสดิการของผู้ต้องขัง เพราะโดยส่วนมากกว่าผู้ต้องขังที่ไปศาล จะกลับถึงเรือนจำก็เป็นเวลามืดค่ำ เลยเวลาอาหารไปแล้ว (ปกติในเรือนจำกินอาหารเย็นเวลา 15.30 น.) ทางเรือนจำก็ไม่ได้กันอาหารไว้ให้ อีกทั้งที่ศาลเองก็ไม่ได้มีการเตรียมอาหารกลางวันไว้ให้ผู้ต้องขังด้วย ต้องอาศัยญาติของแต่ละคนซื้ออาหารส่งเข้าไปให้เอง ทำให้ผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติต้องอดอาหารอีกด้วย
 
ทนายวัฒนาเล่าเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนเคยมีเพื่อนที่เป็นเจ้าหน้าที่บังคับคดี ได้เอาเงินไปให้ร้านอาหารในศาลเพื่อจัดเตรียมข้าวกลางวันให้กับผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติทุกๆ วัน โดยแทบไม่มีใครรู้เรื่องนี้จนกระทั่งเพื่อนคนนี้เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้จึงอยากเสนอให้มีการจัดทำ “กองทุนอาหารกลางวัน” สำหรับผู้ต้องขังที่มาศาล เพื่อให้ผู้ต้องขังไม่ต้องอดอาหารกลางวัน
 
วิธีการบริหารจัดการที่เรือนจำนำมาใช้แก้ปัญหาดังกล่าวประการหนึ่ง คือการใช้ระบบ “ฝากขัง conference” เข้ามาช่วย ทำให้ผู้ต้องขังไม่ต้องเดินทางไปศาล แต่อาศัยกล้องและระบบเทคโนโลยีในการถ่ายทอดสัญญาณผู้ต้องขังไปยังศาล แต่ระบบนี้ก็ใช้ได้แต่เฉพาะกรณีการรับทราบคำสั่งขยายวันฝากขังเท่านั้น  ส่วนในวันนัดพร้อม นัดสืบพยาน หรือนัดฟังคำพิพากษา ผู้ต้องขังก็ยังคงต้องเดินทางไปศาลอยู่นั่นเอง
 
 
 
 
พื้นที่ด้านหน้าเรือนจำ และภาพถ่ายจากมุมสูงภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่
 
ส่วนในทางกายภาพของพื้นที่ใหม่ เรือนจำกลางเชียงใหม่สามารถรองรับผู้ต้องขังได้ประมาณ 3,500 คน แต่จำนวนผู้ต้องขังเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 มีอยู่ทั้งสิ้น 4,472 คน แยกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ 2,769 คน เรือนจำพิเศษเชียงใหม่ 1,703 คน (อยู่ในชั้นอุทธรณ์-ฎีกา 1,305 คน ไต่สวน 255 คน และสอบสวน 143 คน) จึงกล่าวได้ว่า จำนวนผู้ต้องขังก็ยังคงเกินความจุของเรือนจำที่สร้างขึ้นใหม่นี้อยู่ดี
 
อีกทั้งเมื่อย้ายเรือนจำมาแล้ว เรือนจำกลางเชียงใหม่ยังขยายอำนาจคุมขัง จากเดิมรับผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกได้ไม่เกิน 30 ปี ได้ขยายออกไปถึงโทษจำคุกตลอดชีวิต ทำให้ไม่ต้องส่งผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตไปที่เรือนจำพิษณุโลกอีก แต่ยังคงต้องส่งนักโทษประหารชีวิตไปยังเรือนจำบางขวางอยู่ (ขณะนี้เรือนจำเชียงใหม่มีนักโทษจำคุกตลอดชีวิตจำนวน 79 คน)
 

1: 32 ปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่

ด้านจำนวนของเจ้าหน้าที่ทั้งเรือนจำกลางเชียงใหม่มีอยู่ 156 คน ทำให้อัตราส่วนของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขังอยู่ที่ 1 ต่อ 30 และปกตินั้นต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่เวรกลางคืนราว 32 คน โดยในตอนกลางวันคนอยู่เวรก็ต้องทำงานตามปกติ และยังต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขังไปโรงพยาบาลหรือศาลอีกราว 10 คนต่อวัน ทำให้ภาระของเจ้าหน้าที่ยังมีค่อนข้างหนัก บางครั้งจึงมีการจ้างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองเพื่อทำหน้าที่เป็นเวรให้แทนกันในตอนกลางคืน
 
ทั้งนี้เรือนจำในที่เดิมนั้น ไม่ได้มีการแยกแดนของผู้ต้องขังอย่างชัดเจนมาก่อน เนื่องจากสภาพอาคารเดี่ยวเป็นลักษณะคอนโดมิเนียม เมื่อเรือนจำใหม่มีพื้นที่กว้างขวางขึ้น จึงได้มีการแยกออกเป็นแดนต่างๆ โดยแดน 4 ใช้สำหรับคุมขังผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีโดยเฉพาะ และเป็นแดนแรกรับ แดน 5 นักโทษเด็ดขาดในคดีทั่วไป แดน 7 นักโทษเด็ดขาดในคดียาเสพติด และแดน 8 เป็นแดนความมั่นคงสูง คือผู้ต้องขังคดีอุจฉกรรจ์ และคดียาเสพติดเกินกว่าหนึ่งหมื่นเม็ดขึ้นไป มีการควบคุมพิเศษและดูแลเข้มงวดกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ผู้ต้องขังอยู่บนเรือนนอน และมีกล้องวงจรปิดอยู่ทั่วไป ส่วนแดน 3 เป็นสถานพยาบาล และแดน 1, 2 เป็นพื้นที่รอญาติเยี่ยม
 
เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางเชียงใหม่รายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ให้ข้อมูลว่าระบบแดนจะช่วยให้สามารถแยกผู้ต้องขังออกจากกันได้มากขึ้น โดยตามระเบียบราชทัณฑ์ต้องแยกประเภทผู้ต้องขังออกจากกัน เช่น ผู้ต้องขังในคดียาเสพติด ผู้ต้องขังชาวต่างชาติ หรือผู้ต้องขังวัยหนุ่ม ไม่ควรนำมารวมกัน เพราะจะนำไปสู่การถ่ายทอดพฤติกรรม แต่ในความเป็นจริงก็พบว่าไม่สามารถแยกกันได้เด็ดขาดทั้งหมด เนื่องจากยังคงมีความคับแคบของสถานที่
 
ผู้ต้องขังรายหนึ่งในเรือนจำใหม่ (ขอสงวนนาม) เล่าว่า แม้ภายนอกของแต่ละแดนจะมีพื้นที่กว้างขวาง แต่ภายในแดนและเรือนนอนก็ยังคงมีสภาพแออัด เนื่องจากสภาพผู้ต้องขังที่ล้น ทำให้ต้องอัดกันเข้าไปในห้องนอนอยู่ดี โดยแดนหนึ่งมีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่กว่า ขณะที่มีผู้ต้องขังกว่า 1,300 คน [แดน 4,5,7 มีผู้ต้องขังอยู่ราวแดนละ 1,300 คน และแดน 8 มีนักโทษ 283 คน (ข้อมูลช่วงเดือนธันวาคม 2556)] ส่วนห้องนอนห้องหนึ่งนั้น เป็นห้องขนาดกว้างราว 3-4 เมตร และยาว 8-10 เมตร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเรือนจำเก่าเกือบเท่าตัว โดยห้องหนึ่งมีผู้ต้องขังนอนประมาณ 37-39 คน จากความจุที่เหมาะสมราว 30 คน ทั้งห้องนอนยังมีระบบล็อคสองชั้น คือด้วยระบบไฟฟ้าและกุญแจเหล็ก
 
 
หลังประตูชั้นแรกของแดน 8 หรือแดนควบคุมพิเศษ
(ได้รับอนุญาตให้บันทึกภาพได้เพียงเท่านี้)
 
 
ภาพถ่ายแดน 5 คุมขังนักโทษเด็ดขาดในคดีทั่วไป
มีรั้วและลวดหนามกั้นพื้นที่ในแต่ละแดนอย่างแน่นหนา
 

ปัญหาของเรือนจำหญิง 

หากหันกลับไปพิจารณาทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ซึ่งเพิ่งถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่เดิมของเรือนจำกลางเชียงใหม่ในช่วงต้นปี 2556 อารีรัตน์ เทียมทอง ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ มีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 1,669 คน โดยแยกเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี 299 คน (ตัวเลขเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.56)
 
จากจำนวนผู้ต้องขังดังกล่าว ผอ.ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ให้ความเห็นว่าไม่มีปัญหาเรื่องความแออัดของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำใหม่แต่อย่างใด หากแต่มีปัญหาในเรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอเช่นกัน กล่าวคือ ทัณฑสถานหญิงมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 79 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเจ้าหน้าที่ชายอีก 6-7 คน คอยดูแลส่วนความมั่นคงภายนอก แต่มีภาระในการทำงานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะต้องรองรับผู้ต้องขังหญิงที่ป่วยจากภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่างที่ส่งมาควบคุมและรักษาที่เชียงใหม่ 
 
เมื่อต้องไปโรงพยาบาลเป็นประจำ ทำให้ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล โดยตามระเบียบผู้ต้องขัง 1 คน ต้องมีเจ้าหน้าที่ติดตามไปดูแล 2 คน ในวันหนึ่งอาจมีเฉลี่ยราว 7 คน ทำให้ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลที่โรงพยาบาล ในตอนกลางวัน 14 คน ตอนกลางคืน 14 คน สับเปลี่ยนกันไป ยังไม่นับกรณีที่แพทย์นัดตรวจภายนอก ซึ่งวันหนึ่งมีราว 10 คน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องออกไปนอกเรือนจำทุกๆ วัน เกิดปัญหาอัตรากำลังไม่เพียงพอในการดูแลสภาพภายใน
 
 
แบบจำลองพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของเรือนจำกลางเชียงใหม่
 
นอกจากนั้น สภาพที่เก่าและถูกใช้มานานแล้วของเรือนจำชายเดิม ทำให้ต้องปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ประปา ไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ให้เหมาะสมกับผู้หญิง และต้องทำความสะอาดใหม่ทั้งหมด ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการและรองบประมาณจากภาครัฐ
 
 
อารีรัตน์ เทียมทอง ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
 
อีกทั้ง นอกเหนือจากปัญหาความแออัดของผู้ต้องขังและภาระอันหนักอึ้งของเจ้าหน้าที่ที่ยังคงมีอยู่สืบเนื่องมาแม้จะมีการย้ายเรือนจำ และปัญหาระยะทางห่างไกลจากศาลดังกล่าวมาแล้ว  จากการสำรวจยังพบปัญหาหลักอื่นๆ อีกหลายประการ ได้แก่  ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์กับชุมชน  ปัญหายาเสพติด  ปัญหาสวัสดิการผู้ต้องขัง  และปัญหาเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาล ในส่วนนี้จึงจะลองสำรวจรายละเอียดของแต่ละกรณีปัญหา
 

ความหวาดระแวงของชุมชนต่อ ‘คน(เคย)คุก’

ปัญหาประการแรกๆ ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่เผชิญ ภายหลังจากการย้ายมาตั้งในพื้นที่ใหม่ คือความเข้าใจของผู้คนและชุมชนโดยรอบเรือนจำใหม่ โดยความเฉพาะความกังวลต่อความปลอดภัยของประชาชนบางส่วน จากการปล่อยตัวผู้ต้องขังในยามค่ำคืน 
 
ปัญหานี้เป็นผลรวมมาจากระยะทางที่ห่างไกลจากศาลและอัตรากำลังพล บวกกับทัศนคติของสังคมที่มีต่อ “คนคุก” กล่าวคือ ในแต่ละวันนั้นทางเรือนจำจะจัดให้ผู้ต้องขังที่ไปศาล เดินทางออกในเวลาประมาณ 8.00 น. และกลับพร้อมกันทั้งหมดในเวลาประมาณ 19.30 น. หากผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกับที่ออกศาล ก็จะต้องกลับมาทำเรื่องทะเบียนเอกสารที่เรือนจำอีกครั้ง ก่อนได้รับการปล่อยตัว โดยหากไม่มีญาติมารับในเวลาดึกดื่น ด้วยความที่เป็นพื้นที่นอกเมือง ประกอบกับไม่มีรถโดยสารประจำทาง จึงจำเป็นต้องเดินออกไปปากทางซึ่งมีระยะทาง 2.5 กิโลเมตรกว่าจะถึงถนนใหญ่ ต้องผ่านย่านที่พักอาศัยของชุมชน จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะเหมารวมหวาดระแวงคนคุกหรือผู้มีประวัติอาชญากรรมทั้งหลาย
 
ต่อปัญหานี้ ทางเรือนจำพยายามจัดการด้วยการชี้แจงต่อชุมชน และฝากผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว ไปกับรถที่ต้องนำตัวผู้ต้องกักขังไปส่งที่ทัณฑสถานหญิงซึ่งอยู่ใกล้เมืองมากกว่า รวมทั้งเตรียมจัดโครงการ “บ้านสวัสดี” หรือ “บ้านฉุกเฉิน” เป็นที่พักสำหรับผู้ต้องขังปล่อยตัวออกด้วย 
 
ปัญหาใหม่อีกประการหนึ่ง คือปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและโดยรอบเรือนจำ พื้นที่เรือนจำใหม่นี้ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง ผบ.พิรุณให้ข้อมูลว่า ในระหว่างการก่อสร้าง มีการเกรงกันว่าจะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงได้ชะลอการย้ายมาระยะหนึ่ง ทั้งเพื่อสร้างแฟลตที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม และเพิ่มระบบจัดการน้ำเสีย โดยติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยงบประมาณ 9.5 ล้านบาท
 

น้ำเสีย-ขยะ ปัญหาใหญ่ของเรือนจำใหม่

ในช่วงต้น มลพิษทางกลิ่นเป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่ง ผบ.เรือนจำกลางเชียงใหม่ให้ข้อมูลว่า ในช่วงแรกนั้นถังบำบัดหรือถังแซทยังไม่สามารถทำงานได้เท่าที่ควร โดยมวลน้ำของเรือนจำนั้นมีอยู่ด้วยกันสามก้อน ก้อนแรกก็คือน้ำจากถังบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากการใช้ห้องน้ำ ก้อนที่สองเกิดจากผู้ต้องขังใช้อาบและใช้ในกิจวัตรประจำวันต่างๆ ก้อนที่สามคือน้ำฝน ปัญหาคือมวลน้ำทั้งสามก้อนมีร่องระบายน้ำเดียวกัน ไม่สามารถแยกกันได้ ประกอบกับการเป็นพื้นที่ลาดชัน น้ำที่ไหลลงบ่อบำบัดหรือบ่อเก็บจะประดังมาในทีเดียว จุลินทรีย์ไม่สามารถดำเนินการย่อยสลายได้ทันท่วงที จึงเกิดการหมักหมมและส่งกลิ่นเหม็นเน่าเสีย
 
ปัจจุบัน เรือนจำได้นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยดูแล และใช้วิธีกั้นทางระบายน้ำออกเป็นช่วงๆ เพื่อทดน้ำให้ระยะเวลาในการไหลช้าลง จุลินทรีย์ก็สามารถดำเนินการย่อยสลายสิ่งเน่าเสียได้  รวมทั้งการใช้อีเอ็มบอลเข้ามาช่วย กลิ่นเหม็นจึงค่อยลดลง แต่ก็ยังไม่อาจหมดไปได้ เพราะผลสืบเนื่องจากจำนวนประชากรล้นคุกนั่นเอง ในระยะยาว เรือนจำยังมีแผนขอพื้นที่เพิ่มเติมจากทางชลประทานราว 1 ถึง 2 ไร่เพื่อทำบ่อบำบัดน้ำเสียเพิ่ม ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แม่น้ำปิง แต่ก็ยังต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
 
ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณมหาศาลของผู้ต้องขังยังนำไปสู่ปัญหาการจัดการขยะ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่าขยะจากเรือนจำวันหนึ่งมีปริมาณเกือบ 14 ตัน ในช่วงแรกเรือนจำได้ขอให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลสันมหาพนเข้ามาช่วยดูแลขยะ แต่ทาง อบต.ได้ตอบปฏิเสธภารกิจนี้ เนื่องจากมีรถขยะเพียงสองคัน ไม่สามารถรับขยะจำนวนมากจากเรือนจำได้อีก
 
เมื่อถูกปฏิเสธ เรือนจำจึงใช้วิธีขุดกลบฝังขยะ และแม้เรือนจำจะมีเตาเผาขยะ แต่ก็เกรงเรื่องปัญหามลภาวะหมอกควัน จึงใช้การเผาขยะในปริมาณไม่มากนัก ภายหลังจึงมีการจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาจัดการ โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละประมาณ 6 หมื่นบาท ซึ่งขณะนี้ยังต้องใช้เงินนอกงบประมาณจ่ายอยู่
 
 
การแก้ไขเฉพาะหน้าต่อปัญหากลิ่นเน่าเหม็นโดยการชะลอน้ำในรางระบายน้ำเสีย
 
ปัญหาสาธารณูปโภคสำคัญอีกประการหนึ่ง คือเรื่องน้ำกินน้ำใช้  โดยในช่วงก่อสร้างเรือนจำได้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลเอาไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2553 แต่เมื่อย้ายผู้ต้องขังมาแล้ว เจ้าหน้าที่เรือนจำให้ข้อมูลว่า ทางน้ำอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่สามารถใช้บ่อบาดาลได้ แม้จะจ้างบริษัทเอกชน และให้ อบจ.มาดำเนินการแก้ไขแล้ว ก็ยังใช้การไม่ได้ เรือนจำจึงต้องใช้รถไปบรรทุกน้ำจากการประปาวันละ 10-15 เที่ยว โดยเที่ยวหนึ่งได้ราว 6,000 ลิตร และยังต้องจัดซื้อเครื่องปั๊มน้ำ เพื่อให้น้ำไหลจากชั้นล่างขึ้นไปยังเรือนนอนของผู้ต้องขังได้ รวมทั้งเปลี่ยนการอาบน้ำด้วยฝักบัวไปใช้แบบถังน้ำธรรมดา
 
ผบ.เรือนจำกลางเชียงใหม่กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ทาง อบจ.กำลังดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลน้ำฝนอีกหนึ่งบ่อ และในระยะยาวกำลังจัดทำแผนงานขอขยายเขตประปา จากการประปาแม่แตงด้านหลังเรือนจำ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกราว 8 แสนกว่าบาท
 
ด้าน จ.ส.ต.สฤษดิ์ ชื่นจิตต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสันมหาพน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางเรือนจำได้ขอให้ อบต. ช่วยเข้าไปดำเนินการพ่นยาฉีดยุง และเข้าไปสาธิตการดับเพลิงและป้องกันภัยด้วย ส่วนในเรื่องการจัดการขยะ ทาง อบต.ไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ เพราะไม่มีที่ทิ้งขยะ และเรือนจำมีจำนวนประชากรมาก ทั้งผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ลูกเมียเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็เกือบจะเท่ากับประชากรทั้งตำบลเลยทีเดียว (อบต.สันมหาพน มีประชากรราว 8 พันคน)
 
ในตอนนี้ แม้จะไม่มีการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง แต่ก็มีเสียงบ่นถึงปัญหาที่เกิดจากเรือนจำ โดยเฉพาะความกังวลของชาวบ้านในเรื่องของความปลอดภัยในยามค่ำคืน จากเหตุที่นักโทษซึ่งถูกปล่อยตัวแล้วไม่มีญาติมารับ ต้องเดินไปนอนค้างแถวศาลาในบริเวณชุมชน หรือเสียงบ่นในเรื่องของกลิ่นเหม็น และการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำปิง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งพื้นที่
 

การลับลอบส่งยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือ

ปัญหาเรือนจำที่ปรากฏตามสื่ออยู่บ่อยครั้ง คือปัญหาการลักลอบส่งยาเสพติดเข้าไปภายในเรือนจำ โดยในเรื่องนี้ กิตติพัฒน์ เดชะพหุล ผอ.สำนักทัณฑปฏิบัติ กรมราชทัณฑ์ วิเคราะห์ว่า เมื่อมีผู้ต้องขังคดียาเสพติดจำนวนมาก จึงทำให้มีความพยายามนำส่งยาเสพติดเข้าไปในเรือนจำด้วยวิธีการต่างๆ แม้กลุ่มผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะมีสถานะยากจน แต่ในคดียาเสพติดนั้น ผู้ค้ารายใหญ่ๆ บางคนมีกำลังซื้อสูง ผู้ต้องขังบางคนก็มีเงินค่อนข้างมาก จะเห็นได้จากเงินฝากของผู้ต้องขังทั้งระบบทั่วประเทศนั้น มีอยู่ราว 800 กว่าล้านบาท แน่นอนว่านี่คือปัญหาใหญ่ในเชิงระบบที่เชื่อมโยงกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างแนบสนิทด้วย
 
วิธีการหนึ่งในการลักลอบนำยาเสพติด โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนเข้าไปในเรือนจำ คือการจ้างเจ้าพนักงานนำเข้าไป โดยซ่อนไว้ในรองเท้าหรือหมวก เป็นยาบ้ามัดหนึ่ง 200-300 เม็ด เพื่อแลกกับเงินราว 5 หมื่นบาท ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการมีเงินเดือนเพียงประมาณหนึ่งหมื่นบาท และค่าเข้าเวรเดือนหนึ่งอีกราว 6-7 พันบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจึงเหลือไม่มาก ทำให้บางคนเข้าไปหาประโยชน์จากของผิดกฎหมายทำนองนี้ กิตติพัฒน์ประมาณว่า ปีหนึ่งมีการไล่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกจากราชการไปประมาณ 20 กว่าคน
 
ผบ.พิรุณ หน่อแก้ว ให้ข้อมูลว่า ในเรือนจำกลางเชียงใหม่มีผู้ต้องขังคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดราว 70% ในกลุ่มนี้มีทั้งกลุ่มผู้ค้า ผู้ค้ารายย่อย และผู้เสพ ซึ่งขณะนี้เรือนจำไม่สามารถจะดำเนินการแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน ทำให้กลุ่มผู้ค้ากับผู้เสพมีโอกาสพบปะกันอยู่ หรือผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วก็ยังสามารถติดต่อกลับเข้าไปได้ กลายเป็นเครือข่ายลักลอบขนส่งยาเสพติดและโทรศัพท์มือถือ
 
ส่วนทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ อารีรัตน์ เทียมทอง ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ให้ข้อมูลว่าผู้ต้องขังในคดียาเสพติดในทัณฑสถานมีราว 82% โดยเหตุที่ผู้ต้องขังหญิงในคดียาเสพติดมีค่อนข้างมากกว่าผู้ชาย เพราะมีกรณีที่ผู้หญิงรับแทนผู้ชายค่อนข้างเยอะ อารีรัตน์กล่าวถึงการศึกษาผู้ต้องขังของตนพบว่า ปัญหาใหญ่ของกลุ่มผู้ต้องขังหญิงที่ติดคุกในคดียาเสพติด คือการมีอาชีพที่สร้างรายได้ในการครองชีพหรือดำรงชีวิตไม่พอกับรายจ่าย ทางออกทางหนึ่งจึงคือการทำให้ผู้ต้องขังสามารถออกไปทำงานภายนอก มีรายได้เลี้ยงตนเองได้โดยที่สังคมยอมรับ 
 
ทางกรมราชทัณฑ์พยายามใช้นโยบาย “เรือนจำสีขาว” มาจัดการกับปัญหายาเสพติด โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจปัสสาวะเป็นประจำ หรือใช้การจู่โจมตรวจค้นจากหลายหน่วยงานภายนอก เช่น ตำรวจ ทหาร หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ราวเดือนละหนึ่งครั้ง หากเรือนจำใดไม่เคยเจอปัญหาเลย ก็จะได้รับการกำหนดเป็น “เรือนจำสีขาว”  แต่เนื่องจากในกรณีเรือนจำกลางเชียงใหม่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้ต้องใช้วิธีกำหนดและประกาศเป็นแดนๆ ว่าเป็น “แดนสีขาว” หรือ “ห้องนอนสีขาว” ในแดนหรือห้องนอนที่มีประวัติว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดแทน
 
ในหนึ่งปีที่ผ่านมา ผบ.พิรุณ ยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่บางส่วนที่มีพฤติการณ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด โดยเรือนจำพยายามติดตามจนสามารถจับกุมเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามา และดำเนินคดีได้หนึ่งราย รวมทั้งพยายามทำรายงานปัญหานี้ต่อกรมราชทัณฑ์
 
ส่วนการแก้ปัญหาการลักลอบนำโทรศัพท์เข้าภายในเรือนจำ ผบ.พิรุณให้ข้อมูลว่า ยังไม่ได้เครื่องมือในการตัดสัญญาณจากทางกรม เหตุเพราะเรือนจำกลางเชียงใหม่ ถูกจัดให้อยู่ในระยะหรือเฟสที่สาม โดยเฟสที่หนึ่งที่ได้รับเครื่องมือตัดสัญญาณโทรศัพท์ คือเรือนจำความมั่นคงสูง เช่น เรือนจำเขาบิน เรือนจำคลองไผ่ ส่วนระยะที่สองจะขยายไปสู่เรือนจำกลางประจำเขตที่มีปัญหามากๆ อย่างเช่น เรือนจำพิษณุโลก เรือนจำเชียงราย ส่วนเรือนจำกลางเชียงใหม่นั้นเป็นระยะที่สาม
 
อดีตผู้ต้องในเรือนจำเก่ารายหนึ่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำมีการลักลอบใช้โทรศัพท์ โดยคิดว่าเจ้าหน้าที่นั่นแหละที่มีส่วนร่วมนำเข้าไป เครื่องหนึ่งอาจขายได้ราคาราว 1-2 หมื่นบาท คนที่เป็นเจ้าของจะเปิดให้เช่าโทร 5 นาที คิดเป็นเงินราว 200 บาท หรือกาแฟ 2 ถุงใหญ่ (ภายในหมู่ผู้ต้องขังโดยทั่วไปมักใช้กาแฟหรือบุหรี่แทนเงินตรา) และหากมีการยึดโทรศัพท์ได้ ผู้ต้องขังจะถูกลงวินัยโดยการขังซอยเป็นเวลาสามเดือน ซึ่งโดยมากผู้ต้องขังที่ถูกขังเดี่ยวนี้จะเป็นขาประจำ เรียกว่าเป็น “ตัวแสบ” ของเรือนจำ ซึ่งมีอยู่ราว 200-300 คน
 
ขณะที่ผู้ต้องขังในเรือนจำใหม่อีกรายหนึ่งเล่าว่า ภายในเรือนจำมีกลุ่มที่เป็นขบวนการลักลอบค้ายาเสพติดอยู่ภายใน โดยนักโทษจะรวมกลุ่มแบบที่เรียกว่าเป็น “บ้าน” และมี “ขาใหญ่” ดูแลในลักษณะแก๊งอิทธิพลในเรือนจำ ซึ่งบางครั้งก็มีการยกพวกตีกันบ้าง และมีบางกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักลอบรับส่งของผิดกฎหมาย
 
นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มีส่วนในการลักลอบนำยาหรือโทรศัพท์เข้าไป เรียกกันว่า “ผีสิง” บางทีก็มีการโยนข้ามกำแพง โดยยาบ้ามีราคาเฉลี่ยราวเม็ดละ 500 บาท ถ้าซื้อไม่กี่เม็ด ก็ตอบแทนโดยการส่งกับข้าวให้กันทุกวัน แต่ถ้าซื้อเยอะ ก็จะมีการโอนเงินกันข้างนอก นอกจากนั้นยังมีกระบวนการที่เรียกว่า “การเก็บยอด” คือผู้ต้องขังคนไหนเอายามาแล้วไม่ขาย ก็อาจจะมีการทำร้ายร่างกายกัน โดยในแต่ละแดนจะมีกลุ่มนักโทษตัวแสบ ที่เรียกว่า “ซามูไร” คอยรับจ้างเก็บยอดอีกด้วย
 
ปัญหายาเสพติดนี้ถือได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังต่อเนื่อง และกลายเป็นภาพลักษณ์ในทางลบของการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรือนจำไทยเรื่อยมา ทั้งที่ผู้ต้องขังที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหานี้กล่าวได้ว่ามีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด แต่กรณีที่ไม่มากนี้ก็ส่งผลไปสู่การพยายามควบคุมปิดกั้นการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกของผู้ต้องขังทั้งหมด ในตอนต่อไปจึงจะได้สำรวจความเปลี่ยนแปลงในระบบการเยี่ยมและสวัสดิการผู้ต้องขัง รวมทั้งปัญหาการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำ และพิจารณาการจัดการคุกในฐานะส่วนหนึ่งของโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
 
 
หมายเหตุ ขอขอบคุณ ธีระพล คุ้มทรัพย์ สำหรับความช่วยเหลือด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วน
 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net