ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (11): หนังสือเถื่อนกับการปฏิวัติฝรั่งเศส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อธิป จิตตฤกษ์ ชวนย้อนดูคุณูปการของหนังสือเถื่อนในการขยายอุดมการณ์ที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18

ในโลกของประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา เป็นที่ยอมรับความกว้างขวางว่านักคิดในกระแส “ยุคแห่งความรู้แจ้ง” (Enlightenment) คือต้นตอทางความคิดของการปฏิวัติฝรั่งเศส [1] อย่างไรก็ดีในโลกของประวัติศาสตร์หนังสือกลับมีข้อกังขาในความคิดแบบนี้ เพราะอย่างน้อยๆ งานประวัติศาสตร์หนังสืออันโด่งดังชิ้นหนึ่งก็เคยได้ชี้ว่า หากไปค้นรายนามหนังสือในบรรดาห้องสมุดส่วนตัวเป็นร้อยๆ ห้อง เราก็จะพบหนังสือที่เรียกได้ว่าเป็นพิมพ์เขียวของการปฏิวัติอย่าง The Social Contract ของ Jean-Jacques Rousseau เพียงเล่มเดียว [2] พูดง่ายๆ คือแม้ว่าความคิดของ Rousseau จะมีความสอดคล้องกับอุดมการณ์ในการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่มันก็ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆ ที่จะยืนยันได้ว่าคนฝรั่งเศสช่วงก่อนปฏิวัติอ่าน The Social Contract ของ Rousseau กันจริงๆ

จริงๆ แล้วหนังสือที่คนฝรั่งเศสอ่านกันจริงๆ ยุคก่อนปฏิวัติหรือในโลกของ “ระบอบเก่า” นั้นยังเป็นสิ่งที่คลุมเครือมาก นอกจากแทบจะตลอดศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสจะไม่ได้มีเสรีภาพทางการพิมพ์อย่างที่อังกฤษมีตั้งแต่ก่อนสิ้นศตวรรษที่ 17 แล้ว ฝรั่งเศสยังมีระบบการควบคุมการพิมพ์ที่น่าจะซับซ้อนที่สุดในยุโรปด้วย กลไกควบคุมการพิมพ์หนังสือของฝรั่งเศสภายใต้อำนาจกษัตริย์ไม่ได้มีแค่ในปารีส แต่มีไปทั่วหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีตำรวจวรรณกรรมประจำอยู่หมด [3]

ภายใต้ระบบการสอดส่องหนังสือของรัฐฝรั่งเศสในระบอบเก่า มันแทบไม่มีการบันทึกที่เปิดเผยใดๆ เกี่ยวกับหนังสือ “ผิดกฎหมาย” ทั้งหลาย เพราะการบันทึกไว้ก็ล้วนจะกลายเป็นหลักฐานมัดตัวไม่ว่าจะเป็นผู้ขายหรือผู้มีในครอบครอง นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีคำว่า “หนังสือปรัชญา” เป็นรหัสลับในการค้าหนังสือผิดกฎหมายทั้งหลายซึ่งใช้สื่อถึงตั้งแต่หนังสือปรัชญาจริงๆ ยันหนังสือรวมเรื่องซุบซิบในวังและหนังสือโป๊ [4] อันมีชื่อเล่นในสมัยนั้นว่า “หนังสือที่อ่านด้วยมือข้างเดียว”

การขุดคุ้ยเพื่อหาว่าคนฝรั่งเศสช่วงปลายระบอบเก่าอ่านอะไรกันจริงๆ บ้าง น่าจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งไปกว่าการประเมินว่าคนยุคปัจจุบันนั้นบริโภคหนังโป๊กันเท่าไรด้วยซ้ำ เพราะนี่เป็นการหาสิ่งที่คนที่ตายไปราวสองร้อยปีไม่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนบริโภคในพื้นที่ส่วนตัว และก็แน่นอนว่าพวกเขาย่อมแทบไม่ยอมทิ้งร่องรอยไว้ [5]

ณ จุดนี้นักประวัติศาสตร์หนังสือผู้ยิ่งใหญ่จากอเมริกาอย่าง Robert Darnton ได้เสนอว่าถ้าไม่มีบันทึกอะไรในฝรั่งเศสบอกเราได้ ก็น่าจะลองไปดูบันทึกของโรงพิมพ์หนังสือเถื่อนของสวิสเซอร์แลนด์แทน ซึ่งนี่ดูจะเป็นคุณูปการทางประวัติศาสตร์ของพ่อค้าหนังสือเถื่อน ที่สำหรับพ่อค้าหนังสือที่ “ถูกกฎหมาย” ภายใต้อำนาจกษัตริย์สมัยนั้นก็ไม่ได้แยกแยะระหว่างความ “เถื่อน” ในแง่ของการพิมพ์หนังสือที่ตนพิมพ์ซ้ำ หรือพิมพ์หนังสือผิดกฎหมายที่ตนไม่มีสิทธิ์พิมพ์ เพราะมันก็เป็นการแย่งตลาดทั้งนั้น ซึ่งเอาจริงๆ ในมิติของการค้าหนังสือในศตวรรษที่ 18 สวิสเซอร์แลนด์กับฝรั่งเศสก็คล้ายๆ สก็อตแลนด์กับอังกฤษ คือพ่อค้าหนังสือจากฝ่ายแรกนั้นเป็นไม้เบื่อไม้เมาของฝ่ายหลังมานมนานในแง่ของความเป็นคู่แข่งที่แข่งได้โดยเสรีโดยไม่ต้องเคารพกฎหมายของฝ่ายแรก และการที่พวกพ่อค้าหนังสือจากนอกประเทศไม่ยอมทำตามกฎหมายของประเทศนั้นก็ทำให้พ่อค้าหนังสือนอกประเทศเหล่านี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไพเรต” ซึ่งความหมายของมันคือ “ผู้ละเมิดอภิสิทธิ์ในการผูกขาดการค้า” ไม่ว่านั่นจะหมายถึง อภิสิทธิ์ภายใต้อำนาจกษัตริย์ หรือลิขสิทธิ์ภายใต้อำนาจสภา

ฝรั่งเศสก็เหมือนชาติอื่นๆ ในยุโรปที่พ่อค้าหนังสือนั้นนิยมไปขอ “อภิสิทธิ์” เพื่อผูกขาดการพิมพ์กับกษัตริย์ ความต่างคือฝรั่งเศสนั้นมีระบบ “สมาคมช่าง” ที่เข้มแข็งมากๆ ซ้อนอยู่ด้วยและมันก็ผูกโยงกับระบบกษัตริย์อย่างใกล้ชิด [6] กล่าวในทางปฏิบัติของในระบบการค้าหนังสือคือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชฝรั่งเศส กษัตริย์ใช้อำนาจในการอนุญาตให้มีการผูกขาดการผลิตหนังสือในเมืองต่างๆ ผ่านการรองรับสถานะของพวกสมาคมช่างพิมพ์ในเมืองนั้นๆ ซ้อนไปกับอำนาจการให้อภิสิทธิ์การพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มอีกที กล่าวง่ายๆ คือนี่ทำให้สิทธิในการพิมพ์หนังสือแต่ละครั้งอย่างถูกกฎหมายภายใต้ระบบเก่าประกอบไปด้วย 2 อภิสิทธิ์เป็นอย่างน้อย คืออภิสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจการพิมพ์ และอภิสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือ

ในระบบของสมาคมช่างฝรั่งเศสในระบอบเก่า นายช่างใหญ่ (Master) แต่ละคนของแต่ละสมาคมมีอำนาจในการผูกขาดการค้าในเมืองนั้นๆ และมีหน้าที่ในการฝึกฝนพวกนายช่างฝึกหัด (Apprentice) ที่ต้องอยู่กินในบ้านของนายช่างใหญ่ สิ่งที่เหล่านายช่างใหญ่ต้องให้ตอบแทนกับกษัติริย์ที่ให้สิทธิ์พวกเขาผูกขาดการค้าคือ การที่พวกเขาต้องหน้าที่เป็นกลไกรัฐในการตรวจสอบดูแลพวกช่างฝึกหัดไม่ให้ทำตัวนอกลู่นอกทางด้วย พูดง่ายๆ คือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชฝรั่งเศส ได้ใช้นายช่างใหญ่ในการทำหน้าที่ “ตำรวจ” ด้วย กล่าวคือกษัตริย์ให้สิทธิในการผูกขาดกับนายช่างใหญ่แล้ว นายช่างใหญ่ก็ต้องทำงานเป็นหูเป็นตาให้กษัตริย์ด้วย [7]

นี่คือระบบปกติของสมาคมช่างทั่วฝรั่งเศส ซึ่งกับสมาคมช่างพิมพ์นั้นก็จะพบว่ายิ่งแล้วใหญ่ เพราะนอกจากนายช่างใหญ่ในหัวเมืองจะทำหน้าที่เป็น “ตำรวจ” แล้ว ทางรัฐยังมี “ตำรวจวรรณกรรม” ทำงานซ้อนไปอีกเพื่อตรวจจับหนังสือละเมิดอภิสิทธิ์ทั้งหลายที่อยู่ในท้องตลาดฝรั่งเศส ณ ตรงนี้กล่าวคือฝรั่งเศสมีระบบการควบคุมสิ่งพิมพ์ถึง 3 ชั้น ชั้นแรกคือการจำกัดผู้มีสิทธิ์ผูกขาดการพิมพ์ผ่านสมาคมช่าง ชั้นที่สองคือการจำกัดผู้มิสิทธิ์พิมพ์งานชิ้นหนึ่งๆ ผ่านอภิสิทธิ์ที่ออกมาเฉพาะกิจ และชั้นที่สามคือมีตำรวจวรรณกรรมคอยตรวจตราการละเมิดสิทธิสองชั้นแรกอีกที น่าจะกล่าวได้ว่าไม่มีชาติใดในยุโรปหรือในโลกช่วงเดียวกันจะมีการควบคุมหลายชั้นเท่าฝรั่งเศสในระบอบเก่า เพราะอย่างน้อยๆ ที่อื่นในโลกช่วงนั้นก็ไม่มีตำรวจวรรณกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชฝรั่งเศสจริงจังกับการควบคุมสิ่งพิมพ์ในรัฐมากๆ

ในโลกของอภิสิทธิ์ซ้อนอภิสิทธิ์ และตำรวจซ้อนตำรวจนี้ ผู้คนที่ดูจะมีบทบาทในการผลักดันหนังสือเถื่อนนั้นคือคนที่อยู่นอกระบบอภิสิทธิ์ทางการค้าหนังสือ คนพวกนี้ก็มีตั้งแต่พวกนักเขียนไส้แห้งทั้งหลายที่ขยายตัวในปารีสช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 ยันสายส่งหนังสือเถื่อนที่เอาหนังสือเถื่อนจากโรงพิมพ์ในสวิสมาขาย การลักลอบนี้ก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องจากการประทับตราเฉพาะที่ทำให้เกวียนขนหนังสือจากสวิสไม่โดนตรวจค้นตอนมันข้ามแดนมาฝรั่งเศสก่อนที่มันจะถูกกระจายไปทั่วฝรั่งเศสต่อไป วิธีการลักลอบแบบง่ายๆ นี้ก็ดำเนินมาจนปี 1783 ที่ทางสมาคมพ่อค้าหนังสือปารีสยืนยันให้ส่งหนังสือที่เข้ามาฝรั่งเศสทั้งหมดไปตรวจสอบที่ปารีสก่อนที่จะนำไปกระจายในฝรั่งเศสได้ [8]

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าบันทึกจากปารีสดูจะไม่บอกเราเลยว่าความคิดด้านการปฏิวัติมาจากไหน บันทึกการตีพิมพ์หนังสือเถื่อนไปขายฝรั่งเศสของโรงพิมพ์เถื่อนสวิสก็ดูจะตอบเราบ้างว่ามีการลักลอบหนังสือเถื่อนประเภทไหนเข้าไปปารีสบ้าง บันทึกของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งที่เหลืออยู่ดูจะชี้ว่าหนังสือปรัชญาจริงๆ ของคนอย่าง Rousseau และ Voltaire นั้นมีการลักลอบนำมาสูงจนติดอันดับหนังสือเถื่อนขายดีของโรงพิมพ์ ดังนั้นจึงมี Social Contract มากกว่า 1 เล่มในฝรั่งเศสแน่ๆ เพียงแต่มันไปอยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่รู้เท่านั้น

ประเด็นที่ดูจะน่าสนใจกว่าก็คือ หนังสือเถื่อนที่ขายดีที่สุดช่วงก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสมันกลับไม่ใช่พวกหนังสือปรัชญาที่ผิดกฎหมาย เพราะหนังสือปรัชญาพวกนี้ที่แม้จะติดอันดับขายดีก็ติดอันดับปลายๆ เท่านั้น หนังสือเถื่อนที่ขายดีที่สุดคืองานจำพวกวรรณกรรมแบบยูโธเปียไซไฟที่วาดฝันถึงปารีสในยุคที่ไม่มีกษัตริย์ ไปจนถึงหนังสือชีวประวัติของ Madame du Barry วรชายาคนสุดท้ายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่มีชื่อเสียงด้านความงามและชีวิตทางเพศอันโลดโผนเนื่องจาก du Barry เป็นคนไต่เต้าจากซ่องโสเภณีไปยังพระราชวังแวร์ซายล์ได้ในที่สุด ซึ่งหนังสือที่ว่านี้ก็ดูจะเต็มไปด้วยเรื่องใต้สะดือของเหล่าคนในแวร์ซายล์ด้วย [9]

ประเด็นที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือถ้าเราเชื่อตามนี้ เราก็จะพบว่าถ้าหนังสือเถื่อนมีบทบาทในการกระตุ้นการปฏิวัติจริงๆ หนังสือเถื่อนที่มีอิทธิพลในวงกว้างมันก็ดูจะเป็นหนังสือจำพวกนวนิยายและหนังสือรวมเรื่องซุบซิบนินทาในแวร์ซายล์มากกว่าหนังสือปรัชญาที่มีเนื้อหานามธรรมเกี่ยวกับความเท่าเทียมของมนุษย์ นี่ดูจะเป็นภาพที่ต่างจากที่นักประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาชอบวาดไว้ว่า Rousseau นั้นเป็นขวัญใจของชาวฝรั่งเศสยุคปฏิวัติ

ภาพที่ดูจะสมจริงกว่าคือคนอย่าง Rousseau ดูจะเป็นขวัญใจปัญญาชนและพวกนักเขียนมากกว่า และนักเขียนเหล่านั้นก็นำแนวคิดของ Rousseau มาย่อยออกมาเป็นวรรณกรรมอีกที ซึ่งวรรณกรรมเหล่านั้นก็ผลักดันบรรยากาศความคิดการปฏิวัติ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนอย่าง Rousseau ไปจนถึงความคิดอันตรายของเขาจะเป็นที่รู้จักกันดีในฝรั่งเศสช่วงปฏิวัติ ทั้งๆ ที่ชาวฝรั่งเศสที่รู้จักเขาอาจมีเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้นที่เคยอ่านงานของเขาจริงๆ

ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าความคิดอันตรายได้แพร่ไปทั่วฝรั่งเศสแล้วตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 ผ่านหนังสืออย่าง Encyclopedie ที่ Denis Diderot เป็นบรรณาธิการ (และคนเขียนเนื้อหาในแต่ละหมวดของสารานุกรมเล่มนี้ก็คือบรรดาปัญญาชนหัวก้าวหน้าของฝรั่งเศสยุคนั้น) เพราะจากการประเมินหนังสือเล่มนี้น่าจะมีกระจายทั่วฝรั่งเศสกว่า 11,500 ฉบับแล้วในช่วงการปฏิวัติ [10] ซึ่งจำนวนก็ไม่ใช่น้อยๆ ในยุคที่ปกติพิมพ์หนังสือกันหลักร้อยเล่ม ในแง่นี้จะเห็นได้ว่าแนวคิด “อันตราย” เกี่ยวกับความเท่าเทียมและโลกทัศน์แบบใหม่แพร่กระจายในฝรั่งเศสนานแล้วก่อนการปฏิวัติ คนอย่าง Rousseau และ Voltaire เพียงได้มาตอกย้ำและขยายความคิดอันตรายนี้เท่านั้นเองในช่วงปลายระบอบเก่า

สิ่งที่ตลกที่สุดคือถ้าไปดูเนื้อหางานของนักคิดแห่งยุคแห่งการรู้แจ้งตั้งแต่ Diderot ยัน Rousseau เราจะไม่พบแนวคิด “ล้มเจ้า” หรือสาธารณรัฐนิยมอะไรทั้งนั้น (อย่างน้อยก็แบบตรงๆ) เพราะเอาจริงๆ ไม่ว่านักคิดยุคแห่งการรู้แจ้งของชาติไหนก็ไม่ได้ต้องการจะไปแตะต้องกับราชบัลลังก์ทั้งนั้น อย่างเต็มที่พวกนี้ก็เป็นนักปฏิรูปไม่ใช่นักปฏิวัติที่นิยมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองรุนแรงใดๆ เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าการที่ Robespierre บอกว่า “ไม่มีคดีให้พิจารณา” สำหรับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 [11] ไปจนถึงการที่เหล่าฝูงชน San-Culottes เห็นว่าคนรวยในปารีสควรจะถูกจับมา “กิโยติน”  มาจากส่วนใดของแนวคิด Rousseau โดยเฉพาะ เพราะสิ่งเหล่านี้ก็ดูจะมาจากมโนทัศน์เรื่อง “ความเท่าเทียม” โดยทั่วๆ ไปมากกว่า และการเผยแพร่แนวคิดอันตรายนี้ก็ดูจะเป็นไปไม่ได้นอกระบบการผลิตหนังสือเถื่อน ที่หลุดรอดกลไกของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชของระบอบเก่ามาได้โดยตลอดศตวรรษที่ 18 พูดง่ายๆ ก็คือ หากไม่มีการละเมิดอภิสิทธิ์การผูกขาดการพิมพ์ ก็คงจะไม่มีการปฏิวัติฝรั่งเศสนั่นเอง

อ้างอิง:

  1. ดู Robert Darnton, “In Search of the Enlightenment: Recent Attempts to Create a Social History of Ideas”, The Journal of Modern History, Vol. 43, No. 1 (Mar., 1971), pp. 113-132
  2.   ดู Robert Darnton, “Reading, Writing, and Publishing in Eighteenth-Century France: A Case Study in the Sociology of Literature”, Daedalus, Vol. 100, No. 1, Historical Studies Today (Winter, 1971), pp. 214-256
  3. สำหรับรายละเอียดของระบบการควบคุมวรรณกรรมในระบอบเก่าช่วงก่อนปฏิวัติ ดู  Carla Hesse, Publishing and Cultural Politics in Revolutionary Paris, 1789-1810, (Berkeley: University of California Press, 1991), pp. 6-33
  4. Robert Darnton, "The Forbidden Bestsellers of Prerevolutionary France", Bulletin of the American Academy of Arts and Sciences, Vol. 43, No. 1 (Oct., 1989), pp. 17-45
  5. ซึ่งเอาจริงๆ นี่ก็ไม่ได้ลึกลับน้อยไปกว่าการสืบหาว่าคนมันอ่านอะไรกันตอนปฏิวัติอังกฤษร้อยกว่าปีก่อนหน้านั้น ความต่างคือผู้คนก็ไม่ได้เชื่อมโยงแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมของตนในปัจจุบันเข้ากับพวก Leveller ตอนปฏิวัติอังกฤษเท่ากับแนวคิดของคนอย่าง Rousseau
  6. William H. Sewell, Jr., Work and Revolution in France: The Language of Labor from the old Regime to 1848, (New York: Cambridge University Press, 1980), p. 125
  7. William H. Sewell, Jr., ibid, p. 119
  8. Robert Darnton, “Reading, Writing, and Publishing in Eighteenth-Century France: A Case Study in the Sociology of Literature”, Daedalus, Vol. 100, No. 1, Historical Studies Today (Winter, 1971), pp. 214-256
  9. Robert Darnton, "The Forbidden Bestsellers of Prerevolutionary France", Bulletin of the American Academy of Arts and Sciences, Vol. 43, No. 1 (Oct., 1989), pp. 17-45
  10. Robert Darnton, The Business of Enlightenment: A Publishing History of the Encyclopedie, 1775-1800, (Cambridge: The Belknap Press of Harvard University Press, 1979), p. 37
  11. เหตุผลคือถ้าต้องพิจารณาคดีพระเจ้าหลุยส์ก็หมายความว่าต้องเริ่มด้วยสมมติฐานว่าพระเจ้าหลุยส์เป็นผู้บริสุทธิ์ก่อน ซึ่งการมีสมมติพระเจ้าหลุยส์ผู้เคยเป็น “กษัตริย์” ผู้บริสุทธิ์ได้นั้นก็ดูจะขัดกับหลักการของสาธารณรัฐที่ต้องถือว่าทุกคนเท่ากัน พูดง่ายๆ คือเป็นกษัตริย์ก็ผิดแล้วโดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นกษัตริย์ที่ดีหรือเลวด้วยซ้ำ ดู Slavoj Zizek “Introduction: Robespierre, or, the ‘Divine Violence’ of Terror” in Maximilien Robespierre, Virtue and Terror, Texts Selected and annotated by Jean Ducange, Translated by John Howe, (London: Verso, 2007), pp. vii-xxxix
  12. San-Culottes เป็นคำเรียกของกลุ่มชนชั้นล่างเกิดใหม่หลังปฏิวัติฝรั่งเศสล้มระบบอภิสิทธิ์ลง ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นฐานสนับสนุนสำคัญของระบอบแห่งความกลัวของ Robespierre อันมุ่งจะทำให้คนเท่ากันอย่างแท้จริง หลังจากระบอบอภิสิทธิ์จบสิ้นลงพร้อมๆ บรรดาสมาคมช่างใต้อำนาจกษัตริย์ทั้งหลาย San-Culottes พวกนี้คือพวกนายช่างใหญ่ในภาคการค้าที่ไม่ทำกำไรนักและพวกนายช่างฝึกหัดซึ่งรวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันใต้สาธารณรัฐ กล่าวคือ San-Culottes คือฝูงชนชั้นกลางระดับล่างผสมชนชั้นล่างที่ปะปนกันหมดทั้งนายจ้างและลูกจ้าง (ดังนั้นพวกนี้จึงต่างจากชนชั้นกรรมาชีพของเหล่ามาร์กซิสต์) คนพวกนี้เกลียดพวก “อภิชน” มาก แต่เวลาคนพวกนี้พูดถึง “อภิชน” พวกเขาไม่ได้พูดถึงเข้าขุนมูลนาย แต่หมายถึงพวกคนรวย ดังนั้นสิ่งที่ฝูงชนบ้าคลั่งแห่งปฏิวัติฝรั่งเศสต้องการจะ “กิโยติน” นั้นจึงไม่ใช่กษัตริย์ ราชนิกูล หรือกระทั่งขุนนาง แต่เป็นพวกคนรวยเสียมากกว่า อันที่จริงชื่อของกลุ่มคนพวกนี้ก็ดูจะบ่งบอกอยู่แล้วว่าเกลียด “อภิชน” เพราะ San-Culottes แปลตรงๆ ว่าพวกไม่ใส่กางเกงกูล็อตต์ ซึ่งกางเกงกูล็อตต์คือกางเกงสี่ส่วนที่ใส่กับถุงเท้าคลุมแข้งของพวก “อภิชน” และสิ่งที่บ่งบอกการเป็น San-Culottes ก็คือการแสดงอัตลักษณ์ไม่ใส่กางเกงพร้อมถุงเท้าดังกล่าวนี่เอง ดู William H. Sewell, Jr., ibid, p. 111

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท