Skip to main content
sharethis
 
 
ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเกิดความผันผวนไปมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ละครั้งสร้างความเสียหายต่อชุมชนตลอดลำน้ำโขงอย่างมหาศาล และยังเป็นปัญหาค้างคาของชาวบ้านว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วนเหล่านี้
 
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นมากกว่า 3 เมตรที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสนและเชียงคาน และมากกว่า 2 เมตรที่สถานีวัดระดับน้ำโขงเจียมภายในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน ส่งผลเสียหายอย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนริมน้ำโขงตลอดแนว ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย และ 7 จังหวัดในภาคอีสานของไทย เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทางการจีนยังคงเงียบเฉย มิได้แจ้งหรือแถลงข่าวใดๆ ว่ามีสาเหตุมาจากการเปิดน้ำของเขื่อนในจีน ซึ่งสร้างเสร็จแล้วถึง 6 แห่ง หรือไม่อย่างไร
 
จากนั้นในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างต้องเผชิญกับความผันผวนของแม่น้ำโขงอีกครั้ง สาเหตุมาจากการที่ประเทศจีนปิดเขื่อนทางตอนบนเพื่อซ่อมแซม ทำให้ระดับน้ำโขงทางตอนล่างลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ที่สถานีวัดระดับน้ำเชียงแสน, เชียงคาน และโขงเจียม ระดับน้ำโขงลดระดับอย่างรวดเร็วโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร และปัจจุบัน (17 มีนาคม 2557) ระดับน้ำโขงกลับเพิ่มระดับสูงขึ้นมาใหม่ และมีแนวโน้มจะสูงกว่าระดับเดิมในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดังที่ได้แสดงให้ไว้ในกราฟแสดงระดับน้ำโขง
 
 
โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) ติดตามสถานการณ์และศึกษาปัญหาผลกระทบเบื้องต้น โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำโขงขึ้นผิดปกติในเดือนธันวาคม 2556 และได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลจากประชาชนริมโขงจำนวน 158 ราย รวมพื้นที่ 4 จังหวัดในเขตตำบลบ้านหม้อ ตำบลเมืองหมี ตำบลปะโค ตำบลเวียงคุก จังหวัดหนองคาย, ตำบลหอคำ ตำบลไคสี ตำบลบุ่งคล้า ตำบลโคกกว้าง จังหวัดบึงกาฬ, ตำบลป่งขาม จังหวัดมุกดาหาร และตำบลโคกสาร ตำบลชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งประกอบอาชีพประมง เกษตรริมโขง และเลี้ยงปลากระชัง โดยในที่นี้ส่วนใหญ่ทำทั้งประมงและเกษตรริมโขง
 
แปลงผักถูกน้ำโขงท่วมเสียหายในเดือนธันวาคม 2556 ในเขตตำบลหอคำ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ
(ภาพ: จินตนา เกษรสมบัติ, 20 ธันวาคม 2556)
 
สามารถประเมินความเสียหายรวมได้ประมาณ 7,143,475 บาท โดยแยกเป็นประเด็นปัญหาต่างๆ ได้ดังนี้
 
·         ลักษณะความผันผวนขึ้น-ลง ของระดับน้ำโขง
 
ในระหว่างวันที่ 16 - 23 ธันวาคม 2556 ระดับน้ำโขงเริ่มมีระดับสูงขึ้นที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยน้ำโขงขึ้นต่อเนื่องประมาณ 3 วัน ในอัตรา 0.5 - 1 เมตรต่อวัน และระดับน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 1.5 - 2.5 เมตร (สังเกตจากระดับความสูงของป่าอ้อริมตลิ่ง, ไม้หลักสำหรับปักเรือ, หลักเดินเรือในแม่น้ำโขง) และลดระดับลงสู่ระดับเดิมในระหว่างวันที่ 26 - 31 ธันวาคม 2556 ระยะเวลาตั้งแต่น้ำโขงขึ้นจนลดลงสู่ระดับปกติใช้เวลาประมาณ 10 วัน ช่วงเวลาดังกล่าวแม่น้ำโขงไหลแรงกว่าปกติ มีฟองฟอด มีเศษไม้ (ทั้งที่มาเป็นขอนไม้ ท่อนไม้ และทั้งลำต้นที่มีรากติดมาด้วย) และมีขยะปนมามาก น้ำขุ่นจนถึงแดง มีคราบน้ำมัน
 
จากข้อมูลระดับน้ำในเว็บไซต์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2556 แม่น้ำโขงขึ้นสูงสุดที่สถานีเชียงคานที่ระดับ 10.68 เมตร ด้วยอัตราการไหลสูงถึง 9,024 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับน้ำโขงที่สถานีเชียงคานในช่วงเดือนธันวาคม ระหว่างปี 2510-2535 (ก่อนมีการสร้างเขื่อนในจีน) อยู่ที่ระดับ 5.31 เมตรเท่านั้น
 
แปลงถั่วลิสง ถูกน้ำโขงท่วมเพียงชั่วข้ามคืนในเดือนธันวาคม 2556 ในเขตตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
(ภาพ: มนตรี จันทวงศ์)
 
·         ความเสียหายด้านประมง
 
การประมวลข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นจากชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงจำนวน 115 คน พบว่าความเสียหายด้านการประมง เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะคือ ความเสียหายต่อเครื่องมือประมง และการสูญเสียรายได้จากการจับปลา มีมูลค่าความเสียหายรวมกัน 380,000 บาท
เครื่องมือประมงที่เสียหาย ได้แก่ เรือ มองหรือตาข่ายดักปลา เบ็ด เชือก และเครื่องยนต์เรือ ซึ่งถูกพัดพาหายไปกับกระแสน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเรือและเครื่องยนต์ที่เสียหายจากการจมน้ำ มูลค่าความเสียหายประมาณ 220,000 บาท
 
ความเสียหายจากการสูญเสียรายได้จากการขายปลา ชาวบ้านจับปลาลดลงประมาณร้อยละ 50 - 80 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อคิดมูลค่ารายได้ที่หายไปในช่วง 10 วันของเหตุการณ์น้ำโขงขึ้น-ลงผิดปกติ พบว่ารายได้สูญเสียไปประมาณ 160,000 บาท และชนิดพันธุ์ปลาที่หายไปในช่วงเวลานั้น ได้แก่ ปลาหมู ปลาตะเพียน ปลานาง ปลายอน ปลาสร้อย ปลากด ปลาคัง ปลาโจก ปลาแค่ ปลาขบ ปลาบักบาน ปลาหน้าหนู ปลายาง ปลาเพี้ย เป็นต้น
 
ระดับน้ำโขงที่ขึ้นผิดปกติและมีกระแสน้ำไหลแรงในเขตจังหวัดนครพนม ส่งผลให้ชาวประมงต้องตรวจตราและเฝ้าระวังเรือตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งไม่สามารถออกหาปลาได้ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้
(ภาพ: มนตรี จันทวงศ์, 22 ธันวาคม 2556)
 
·         ความเสียหายด้านการเกษตรริมแม่น้ำโขง
 
การประมวลข้อมูลความเสียหายจากการเกษตรบนตลิ่งริมแม่น้ำโขง จากชาวบ้านจำนวน 114 ราย พบความเสียหายจากน้ำโขงขึ้นผิดปกติ และท่วมพื้นที่เกษตรริมโขงใน 2 ลักษณะคือ ต้นทุนที่จ่ายไปแล้ว และค่าเสียโอกาสรายได้จากการขายผลผลิตการเกษตร อย่างไรก็ตาม ความเสียหายทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมผลผลิตของพืชผักในส่วนที่นำมาบริโภคในครอบครัว
 
ความเสียหายในด้านต้นทุนรวมของชาวบ้าน 114 รายคิดเป็นจำนวนเงิน 346,350 บาท จากต้นทุนที่จ่ายไปเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า ปุ๋ย ค่าแรง และค่าซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำที่จมลงจากน้ำที่สูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากย้ายขึ้นมาที่สูงไม่ทัน พืชผักที่เสียหายได้แก่ คะน้า กะหล่ำปลี หอม กระเทียม ผักบุ้ง ผักชี ถั่วลิสง มันเทศ ฟักทอง ข้าวโพด ถั่วฝักยาว มันแกว (มันเพา ในภาษาอีสาน) พริก ผักกาด มะเขือเทศ ผักกาดเขียว หอมแดง ผักกวางตุ้ง แตงกวา ผักชีลาว ผักกาดหอม ผักตั้งโอ๋ ผักสลัด สะระแหน่ โหระพา เป็นต้น ชาวบ้านบางส่วนยังพยายามปลูกพืชผักใหม่ภายหลังน้ำลด แม้จะทราบดีว่าการปลูกหนนี้จะได้ผลผลิตไม่ดีเหมือนเดิม เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน
 
อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียโอกาสในเรื่องของรายได้จากการขายพืชเกษตรริมโขง ยังไม่สามารถประเมินชัดเจนได้ในขณะนี้
 
แปลงผักริมโขงที่ต้องลงทุนปลูกใหม่ทั้งหมด ของนางจริน คำกอง (หมู่ 1 ต.บุ่งคล้า) จากความเสียหายที่น้ำโขงขึ้นผิดปกติในเดือนธันวาคม 2556 ที่ ตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
(ภาพ: มนตรี จันทวงศ์, 8 มีนาคม 2557)
 
·         ความเสียหายกับผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง
 
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงปลากระชังในตำบลบ้านหม้อ ตำบลเมืองหมี และตำบลปะโค จังหวัดหนองคาย จำนวน 43 ราย มี 3 กรณีได้แก่ กรณีแรก ปลาบางส่วนน็อคน้ำและตายจะเป็นความเสียหายกับต้นทุนที่ลงไปแล้ว โดยเฉพาะต้นทุนค่าลูกปลาและค่าอาหาร และการสูญเสียโอกาสรายได้จากปลากระชัง กรณีที่สอง แม้ปลาจะไม่ตาย แต่พบว่าต้องใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น จึงจะได้น้ำหนักที่ขายได้ ซึ่งเพิ่มต้นทุนค่าแรง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าไฟฟ้า และอาจต้องใส่สารบำรุงปลา และกรณีที่สาม กระชังปลาเสียหายโดยตรง ในด้านโครงสร้าง หรือตาข่ายขาด เนื่องจากท่อนไม้ที่ไหลมาตามน้ำอย่างกะทันหัน และต้องมีการซ่อมแซม
 
ความเสียหายที่รุนแรงมากที่สุดคือ ความเสียหายในกรณีแรก คือปลาน็อคน้ำและตาย เพราะขาดออกซิเจน เนื่องจากน้ำที่ไหลมา มีตะกอนปนอยู่มากจนน้ำแดงขุ่น น้ำสกปรกและไหลเชี่ยว พบว่าผู้เลี้ยงปลากระชัง 43 ราย มีกระชังปลารวมกันประมาณ 400 กระชัง ได้เลี้ยงปลากระชัง 2 รุ่น คือ รุ่นสองเดือน และรุ่นครึ่งเดือน ตายไปประมาณร้อยละ 20 (เฉลี่ยกระชังละ 500 ตัว) ผู้เลี้ยงปลากระชังต้องสูญเสียโอกาสรายได้จากการขายปลารวมกันมากถึง 6,417,125 บาท (ในจำนวนนี้เป็นต้นทุนหลักของค่าลูกปลาและค่าอาหารประมาณ 3,417,125 บาท)
 
ปลาในกะชังตายยกกะชัง จากน้ำโขงขึ้นผิดปกติระหว่างช่วงวันที่ 19-20 เดือนธันวาคม 2556 ในพื้นที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
(ภาพ: หนองคายข่าว NC News online วันที่ 23 ธันวาคม 2556)
 
·         ความสูญเสียในด้านอื่นๆ
 
ความสูญเสียยังเกิดขึ้นในกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำโขง ซึ่งยังไม่ได้ประมวลข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน เช่น ความเสียหายที่เกิดกับเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง เพื่อใช้ผลิตน้ำประปาในระดับหมู่บ้านและอำเภอ หลายพื้นที่ต้องหยุดดำเนินการไป 2 - 3 วัน และต้องซ่อมแซมภายหลังจากน้ำลดแล้ว เช่น ระบบสูบน้ำประปาของตำบลบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
 
ความเสียหายที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ความเสียหายด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากโดยปกติในฤดูแล้งตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี เมื่อระดับน้ำโขงลดลง จะปรากฏเกาะแก่ง หาดหิน หาดทรายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องสูญเสียโอกาสรายได้ในปีนี้ไป อาทิเช่น บริเวณแก่งคุดคู้ ตั้งอยู่ที่บ้านน้อย ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ทุกปีเมื่อระดับน้ำโขงลดลง จะปรากฏหาดหินและหาดทรายขนาดใหญ่มากกว่า 50 ไร่ เป็นพื้นที่สำคัญของการท่องเที่ยวในช่วงน้ำลด โดยชาวบ้านจะไปสร้างเพิงชั่วคราวขายอาหารบนหาดทรายเหล่านี้ สร้างรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยววันหนึ่งๆ รวมกันหลายหมื่นบาท และเป็นพื้นที่การประมงที่สำคัญของชาวประมงทั้งฝั่งไทยและลาว แต่ปัจจุบันนี้ระดับน้ำโขงยังคงสูงท่วมพื้นที่หาดดังกล่าว โอกาสการสร้างรายได้ของชาวบ้านจึงแทบจะยุติลงทั้งหมด
 
แม่น้ำโขงที่แก่งคุดคู้ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ยังคงมีระดับสูงท่วมหาดหินและหาดทราย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอเชียงคานในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านในพื้นที่จะสูญเสียรายได้มหาศาล จากการที่ไม่สามารถจัดกิจกรรมต่างๆบนหาดหินและหาดทรายได้
(ภาพ: มนตรี จันทวงศ์, 13 มีนาคม 2557)
 
ใครต้องรับผิดชอบ?
 
ความเสียหายจากน้ำโขงผันผวนตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2556 ถึงปัจจุบันที่เราได้สำรวจถือเป็นส่วนน้อยนิดเท่านั้นเมื่อเทียบกับสายน้ำโขงที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ และหล่อเลี้ยงคนกว่า 60 ล้านคนในภูมิภาคแม่น้ำโขง แต่จนถึงขณะนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ปัญหาของแม่น้ำโขงโดยตรงอย่าง คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission) ก็ยังมิได้ให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมาต่อสถานการณ์น้ำโขงขึ้นผิดปกติได้
 
มีแต่เพียงการออกใบแถลงข่าวในเดือนธันวาคม 2556 เมื่อครั้งที่น้ำโขงมีระดับสูงขึ้นผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 50 ปี จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันทางตอนล่างว่า มีสาเหตุจากฝนตกหนักในเขตลุ่มน้ำโขงตอนบนในประเทศลาว พม่า และจีน โดยอ้างว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะชี้ชัดว่าเป็นผลมาจากการปล่อยน้ำอย่างผิดปกติของเขื่อนในจีน
 
อย่างไรก็ตาม ใบแถลงข่าวล่าสุดของเอ็มอาร์ซีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 แม้จะระบุว่า การเพิ่มระดับและลดระดับของน้ำโขงอย่างเฉียบพลันอาจเป็นผลมาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนในจีนเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า และอาจเป็นไปได้ว่าเพื่อจุดประสงค์ของการเดินเรือ ทั้งนี้ทั้งนั้น เอ็มอาร์ซี ระบุว่ากำลังสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่จีน ซึ่งหากเอ็มอาร์ซีและทางการจีนมีความจริงใจจะต้องเปิดเผยข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริงให้ภาคประชาชนท้ายน้ำด้วย
 
เศษไม้ เศษขยะที่ลอยมากับแม่น้ำโขงในเดือนธันวาคม 2556 ได้พัดทำลายเครื่องมือประมงและเรือไปเป็นจำนวนมาก ในเขตตำบลบุ่งคล้า ตำบลโคกกว้าง อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ
(ภาพ: นิชล ผลจันทร์, 22 ธันวาคม 2556)
 
จนถึงขณะนี้ ประชาชนริมน้ำโขงต้องเผชิญกับปัญหาเพียงลำพัง กล่าวเฉพาะใน 8 จังหวัดของไทยที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ลำพังแต่ผลกระทบและความเสียหายตลอดกว่า 10 ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดของไทยเข้ามาสำรวจดูแลความเสียหายที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงแปรปรวนผิดธรรมชาติเริ่มถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านเชื่อว่าสาเหตุสำคัญมาจากการปิดกั้นลำน้ำโขงด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 6 เขื่อนทางตอนบนในประเทศจีน และขณะนี้ “เขื่อนไซยะบุรี” กำลังดำเนินการก่อสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่างทางตอนเหนือของลาว โดยมีแผนจะสร้างเสร็จในปี 2561 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
 
แต่หายนะที่คาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยยังเพิกเฉย และปล่อยให้ประชาชนเผชิญชะตากรรมกับความผันผวนนี้เพียงลำพัง
 
ที่น่าวิตกคือ ความเสียหายที่เกิดจากน้ำโขงแปรปรวนผิดปกติตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีสักครั้งที่ทางการจีนได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในอนาคตหากแม่น้ำโขงยังคงผันผวนผิดธรรมชาติเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อการจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อความสูญเสียทวีคูณที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง หรือแม้แต่การผลิตไฟฟ้าที่จะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางแผนกันไว้
 
ท่ามกลางกระแสการโฆษณาชวนของเอ็มอาร์ซีในเรื่อง “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน” (Sustainable Hydropower) ที่มุ่งเน้น “การแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อน” และเชื่อว่าเขื่อนสามารถถูกจัดการให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ โดยเฉพาะเมื่อประชาชนผู้ถูกผลกระทบได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปของการชดเชยเยียวยา แนวคิดนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนลุ่มน้ำโขงของไทย เพราะพวกเขาเห็นว่าความยั่งยืนที่แท้จริงคือ "การปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ” ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งลุ่มน้ำ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net