Skip to main content
sharethis

องค์กรไบต์ฟอร์ออล (Bytes for All) เคยฟ้องศาลปากีสถานหลังจากรัฐบาลสั่งแบนยูทูบทั้งเว็บเพียงเพราะวิดีโอหมิ่นศาสนาวิดีโอเดียว ขณะนักกฎหมายอีกกลุ่มหนุนการแบนยูทูบ อ้างกลุ่มไบต์ฟอร์ออลเป็นพวกขบวนการไซออนิสต์ (Zionist)

15 มี.ค. 2557 กลุ่มนักกฎหมายประเทศปากีสถานที่สนับสนุนการสั่งแบนเว็บยูทูบออกมาประท้วงนอกศาลสูงของเมืองลาฮอร์ เพื่อประท้วงการหมิ่นศาสนาและการปกป้องผู้หมิ่นศาสนา

อีกฝ่ายหนึ่งคือองค์กรไบต์ฟอร์ออล (Bytes for All) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและคลังสมองวิจัยด้านไอซีที ที่รณรงค์ให้เลิกการสั่งแบนวิดีโอในเว็บไซต์ ยัสเซอร์ ลาตีฟ ฮัมดานี ทนายของฝ่ายไบต์ฟอร์ออลและเจ้าหน้าที่องค์กรอีก 4 คน ได้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีที่ศาลสูงเมืองลาฮอร์

อัชชาร์ ซิดดิค ทนายขององค์กรกฎหมายผู้ไม่อยากให้ยกเลิกการสั่งแบน กล่าวหาในช่วงที่มีการรับฟังการพิจารณาคดีว่า องค์กรไบต์ฟอร์ออลต้องการให้ยกเลิกการแบนเว็บยูทูบเนื่องจากองค์กรนี้มีวาระซ่อนเร้นในการสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ (Zionist ขบวนการที่ต้องการให้ชาวยิวตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ มีลักษณะชนชาตินิยมสูง) และยังพยายามนำเสนอหลักฐานว่ามีแผนการ 26 ข้อของไซออนิสต์

แต่ฮัมดานีก็กล่าวโต้ตอบข้อกล่าวหาว่า ทางองค์กรไบต์ฟอร์ออลต้องการให้ยกเลิกการแบนเนื่องจากเรื่องเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อเป็นสิทธิของคนทุกคน

ซิดดิคซึ่งเป็นประธานองค์กรคณะลูกขุนนักกิจกรรม (Judicial Activism Panel) ถูกผู้พิพากษา มานซูร์ อาลี ชาห์ กล่าวตักเตือนหลังจากทราบว่าซิดดิคดูวิดีโอของยูทูบก่อนเริ่มกระบวนการในศาลเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น โดยผู้พิพากษาชาห์กล่าวว่าซิดดิคเป็นผู้ต่อต้านวิดีโอยูทูบแต่กลับดูวิดีโอของยูทูบเสียเอง ทำให้ฟังดูเหมือนซิดดิคเป็นคนที่พูดอย่างทำอย่าง (hypocrisy)

ทางด้านตัวแทนของไบต์ฟอร์ออลเองก็ถูกกล่าวตักเตือนเช่นกันหลังทราบว่ามีการวางเครื่องอัดเสียงไว้ใกล้กับลำโพงในศาลขณะมีการพิจารณาคดี โดยศาลได้ยึดเครื่องอัดเสียงของเธอไว้จนกว่าจะถึงการพิจารณาคดีครั้งหน้า

คดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2556 โดยองค์กรไบต์ฟอร์ออลเป็นผู้ฟ้องร้ององค์การโทรคมนาคมของปากีสถานผู้ได้ทำการกลั่นกรองและสอดแนมอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะกับยูทูบที่มีการสั่งแบนหลังเกิดกรณีผู้ไม่พอใจประท้วงภาพยนตร์เรื่อง Innocence of Muslims ที่ฉายในยูทูบ ซึ่งองค์กรไบต์ฟอร์ออลอ้างว่าการแบนยูทูบผิดหลักรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญปากีสถานให้ความคุ้มครองไว้

ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศของปากีสถานได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า ทางรัฐบาลปากีสถานได้สั่งแบนเว็บไซต์ยูทูบจากคำสั่งของศาลฎีกาหลังจากที่มีการโพสต์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงในยูทูบ แต่ทางผู้พิพากษาบอกว่าคำสั่งศาลดังกล่าวให้อำนาจแค่บล็อควิดีโอที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงเท่านั้นไม่ใช่เว็บไซต์ทั้งหมด อย่างไรก็ตามทางการปากีสถานก็อ้างว่าพวกเขาไม่มีเทคโนโลยีที่ทำให้บล็อคเฉพาะเนื้อหาบางส่วนของเว็บไซต์

ทางด้านฮัมดานีกล่าวว่าปากีสถานเป็นประเทศประชาธิปไตยและการสั่งแบนยูทูบอาจเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน ไม่มีกฎหมายหรือหลักการใดที่อนุญาตให้องค์การโทรคมนาคมของปากีสถานแบนเนื้อหาอินเทอร์เน็ต ฮัมดานียังได้ตอบโต้ข้ออ้างของฝ่ายตรงข้ามที่บอกว่าการยกเลิกแบนยูทูบถือเป็นการหมิ่นศาสนา โดยบอกว่าการชมวิดีโอที่มีเนื้อหาหมิ่นศาสนาไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม อีกทั้งเนื้อหาส่วนมากทั้งที่เป็นวิชาการและความบันเทิงในยูทูบเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา

ผู้พิพากษาชาห์กล่าวว่า "ถ้าหากวันนี้ยูทูบถูกสั่งแบนเพียงเพราะวิดีโอที่สร้างความไม่พอใจวิดีโอเดียว วันพรุ่งนี้บางคนก็คงพยายามเรียกร้องให้แบนวิดีโอที่อื่น แล้วถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่บล็อคอินเทอร์เน็ตเสียให้หมด"

 

เรียบเรียงจาก
Right to information: YouTube ban equated with stopping blasphemy, The Express Tribune, 14-03-2014
http://tribune.com.pk/story/682631/right-to-information-youtube-ban-equated-with-stopping-blasphemy/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net