Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อธิป จิตตฤกษ์ พาไปดูที่มาของคำว่าศิลปิน-นักเขียน ที่ในศตวรรษที่ 17 ยังมีความหมายว่าเป็น “นักเลียนแบบ” จนต่อมาจึงหมายถึง “ผู้สรรสร้าง” อันจะมีนัยสำคัญต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ในเวลาต่อมา

คำว่า “ลิขสิทธิ์” ในภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันคือคำว่า Droitd'auteur และ Urheberrecht ซึ่งก็น่าจะแปลตรงตัวได้ว่า “ประพันธกรสิทธิ์” หรือ “สิทธิของประพันธกร” ทั้งคู่ คำแปลนี้ต่างจากคำแปลของ Copyright ในภาษาอังกฤษอย่างชัดเจนที่แปลได้ว่า “สิทธิในการทำสำเนา” ความต่างดังกล่าวเป็นการสะท้อนวิธีคิดด้านลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างฐานวิธีคิดของกฎหมายลิขสิทธิ์ในโลกภาษาอังกฤษ (และอาณานิคม) กับกฎหมายลิขสิทธิ์ในภาคพื้นทวีปยุโรปกฎหมายลิขสิทธิ์ของโลกภาษาอังกฤษนั้นแรกเริ่มเดิมทีให้น้ำหนักกับผลประโยชน์สาธารณะชนอย่างเด่นชัดโดยไม่ใส่ใจผลประโยชน์พวกพ่อค้าหนังสือหรือกระทั่งนักเขียนด้วยซ้ำ [1] แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ของภาคพื้นทวีปจะให้ความสำคัญกับสิทธิของ “ประพันธกร” เป็นหลักมาตั้งแต่แรก (แม้จะยังมีการสร้างสมดุลระหว่างสิทธิของประพันธกรและสาธารณชนก็ตาม กล่าวคือการอ้างว่า “นี่งานที่ฉันสร้างมากับมือ ฉันมีสิทธิ์เหมือนมัน” ก็ไม่สามารถใช้อ้างอย่างชอบธรรมได้ในทุกกรณีแม้ในยุโรป)

ความแตกต่างของกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งสองแบบเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในเชิงประวัติศาสตร์ว่ามันเกิดในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน สิ่งที่เรียกว่า “ประพันธกร” ในความหมายของทุกวันนี้เป็นผลผลิตของครึ่งหลังศตวรรษที่ 18 อันจะมีความชัดเจนมากๆในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายลิขสิทธิ์เกิดขึ้นในภาคพื้นทวีปยุโรปในอีกด้านหนึ่ง กฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษถูกเขียนขึ้นมาในยุคที่ไม่ได้มีสิ่งที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ว่า “ประพันธกร” ดังนั้นก็จริงไม่แปลกที่กฎหมายลิขสิทธิ์อังกฤษ (และอาณานิคมที่ประกาศอิสรภาพภายหลังอย่างอเมริกา) ไม่มีความใส่ใจใดๆ ในสิทธิของประพันธกรในระดับรากฐานความคิดของกฎหมาย

อย่างไรก็ดี อ่านมาถึงตรงนี้เราคงจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่าอะไรคือ “ประพันธกร” และมันโผล่มาได้อย่างไรในประวัติศาสตร์

สิ่งที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Author เรียกในภาษาฝรั่งเศสว่า Auteur หรือกระทั่งเรียกในภาษาเยอรมันว่าUrheberมีรากมาจากคำภาษาลาตินว่า Auctorที่มีความหมายว่า “ผู้สร้าง” คำว่า “ผู้สร้าง” ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงการสร้างแบบการก่อสร้างที่ในเชิงกายภาพ หรือการประกอบสสารวัตถุต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่หมายถึงการสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาจากความว่างเปล่า เป็นการสร้างระดับเดียวกับพระเจ้าที่สร้างโลกและมนุษย์ ซึ่งก็ไม่แปลกที่คำว่า “ผู้สร้าง” ในภาษาไทยในที่นี้จะแปลมาจากคำภาษาอังกฤษกว่า Creator หรือ Originator [2] ดังนั้นโดยรากฐานแล้วสิ่งที่เรียกกันในภาษาไทยว่า “ประพันธกร” ก็จึงเป็นสิ่งเดียวกันกับ “ผู้สร้าง” ดังที่ว่ามานี้ และลิขสิทธิ์ในโลกภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันที่แปลว่า “ประพันธกรสิทธิ์” ก็จะแปลตรงตัวไปอีกระดับได้ว่า “สิทธิของผู้สร้าง”

อันที่จริงการใช้คำว่า Author เรียกนักเขียนนั้นก็มีมาเป็นร้อยปีก่อนศตวรรษที่ 18 เพราะแม้แต่ใน “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” ก็ยังเรียกนักเขียนว่า Authorแต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือในตอนต้นศตวรรษคำว่า Author หมายถึงผู้สร้างโดยทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้างโลก ผู้สร้างเครื่องจักร ผู้สร้างพรรคการเมือง และผู้สร้างตระกูล ก็ล้วนเรียกว่า Author ทั้งสิ้น โดยในดิกชันนารี่ในช่วงนั้นความหมายของ Author ในฐานะของคนเขียนหนังสือก็ไม่ใช่ความหมายแรกๆ ในความหมายเกือบ 10 ความหมายของมันด้วยซ้ำ [3] ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคำว่า Author จึงเป็นคำทั่วๆ ไปที่สื่อถึงการสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาโดยรวมๆไม่ได้หมายถึง “ผู้สร้างงานเขียน” อย่างเฉพาะเจาะจง

ข้อสังเกตในที่นี้คือคำว่า Author ไม่ได้มีความหมายรวมไปถึงการสร้างงาน “ศิลปะ” ในกรอบคิดของคนสมัยใหม่ตอนต้นและก่อนหน้านั้นศิลปะไม่ใช่เรื่องของ “การสร้าง” แต่เป็น “การเลียนแบบ” (imitation) เอาเข้าจริงคำว่า “ศิลปิน” และ “ศิลปะ” ในยุคสมัยใหม่ตอนนั้นตั้งก็ไม่ได้มีความหมายเชื่อมโยงกับความสร้างสรรค์ใดๆ ด้วยซ้ำ แต่มันหมายถึงกิจกรรมที่ต้องใช้สติปัญญาและทักษะการฝึกฝน กล่าวคือศิลปะเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ที่ผ่านการฝึกมาทำเท่านั้นจึงจะทำได้ [4] นี่ไม่ใช่ความหมายของ “ศิลปะ” ทั่วๆ ไปในยุคปัจจุบัน แต่ความหมายนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่ทุกวันนี้ในคำอย่าง “ศิลปะการต่อสู้” “ศิลปะการปกครอง” เป็นต้น ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าเราจะไม่คาดหวังความเป็น “ศิลปิน” จากนักต่อสู้หรือนักปกครองมากกว่าที่จะหวังให้คนพวกนี้เป็นผู้มีทักษะในสิ่งที่ตนทำเป็นอย่างดีเนื่องจากผ่านการฝึกฝนมา

นักเขียนโดยทั่วไปก็ไม่ใช่ผู้ที่วิเศษเลิศเลอไม่ได้ต่างจาก “ศิลปิน” ในยุคนั้นนักเขียนในยุคสมัยใหม่ตอนต้นไม่ได้ถูกมองหรือคาดหวังว่าเป็นอะไรไปมากกว่าการเป็นนักเลียนแบบที่เก่ง ดังนั้นก็จึงไม่แปลกอะไรที่นักเขียนในช่วงสมัยใหม่ตอนต้นนั้น “ลอกงาน” (Plagiarize) ผู้อื่นกันเป็นปกติ ซึ่งก็ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล เพราะนักแต่งบทละครมือชั้นเอกของศตวรรษที่ 16 และ 17 อย่าง William Shakespeare ก็เป็นนักลอกงานตัวยงในแบบที่ถ้าทำแบบนี้ทุกวันนี้ ก็คงจะโดนประจานไปทั่วอินเทอร์เน็ตไปเรียบร้อยเนื่องจากบางครั้งเขาก็ “ก๊อป” งานอื่นมาแบบคำต่อคำด้วยซ้ำในบทละครของเขา [5]

การลอกงานเขียนไม่ใช่เรื่องผิดบาปร้ายแรงอะไรในโลกวรรณกรรมตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงช่วงสมัยใหม่ตอนต้นเหตุผลหนึ่งที่การลอกงานเขียนใช่ความผิดร้ายแรงก็น่าจะเป็นเพราะโลกของงานเขียนช่วงสมัยใหม่ตอนต้นนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “นักเขียนอาชีพ” อยู่ เอาจริงๆ ขนาดตอนต้นศตวรรษที่ 18 นั้นก็ยังแทบไม่มี “นักเขียนอาชีพ” อยู่ที่ใดในโลกด้วยซ้ำนอกจากนักเขียนในอังกฤษไม่กี่คนที่พอหากินได้กับตลาดสิ่งพิมพ์ลอนดอนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพราะขนาดนักเขียนอาชีพในตลาดที่ใหญ่รองจากลอนดอนอย่างปารีสนั้นกว่าจะโผล่มาก็กลางศตวรรษที่ 18 แล้ว และช่วงนั้นนักเขียนอาชีพของฝรั่งเศสในความหมายของผู้ที่ไม่ได้มีรายได้ในการดำรงชีพจากทางอื่นเลยนอกจากการเขียนหนังสือก็น่าจะมีคนเดียวคือ Denis Diderot ผู้โด่งดัง [6]

เมื่อการเขียนไม่ใช่เรื่องปากท้องก็ไม่มีใครออกมาโวยวายทำนองว่า “นักเขียนก็ต้องกินข้าว” เพราะไม่มีใครคาดว่าจะมีข้าวกินจากการเขียนหนังสืออยู่แล้วอันที่จริงการเขียนงานต่างๆ ในช่วยสมัยใหม่ตอนต้นนั้นหลายต่อหลายคนก็ไม่ต้องการ “เครดิต” ด้วยซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เขียนสิ่งที่ล่อแหลมในทางการเมือง ยิ่งภายใต้ระบบจ่ายเงินนักเขียนเป็นแบบเหมาจ่ายก้อนเดียวโดยพ่อค้าหนังสือหรือสำนักพิมพ์แล้ว นักเขียนก็แทบจะไม่มีแรงจูงใจอะไรจะไปเอา “เครดิต” ดังนั้นในโลกการเขียนจะ “ก็อป” กันไปเท่าไรก็ไม่ใช่ปัญหาของนักเขียน นี่ดูคล้ายกับพวกนักแต่งเพลงพื้นบ้านในยุคสมัยใหม่ตอนต้นที่มีธรรมเนียมการปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้แต่งเพลง (ความหมายคือเนื้อเพลง) ด้วยซ้ำแม้ว่าตัวเองจะแต่งมาเอง [7] นี่เป็นเรื่องปกติในยุคสมัยที่อำนาจรัฐชี้เป็นชี้ตายคนได้ ไม่มีใครจะอยากรับว่าเป็นคนแต่งเพลงด่าเจ้าเมือง เพราะแม้แต่คนแต่งเองก็โบ้ยว่าได้ยินจากคนอื่นมาอีกที (เป็นสมัยนี้อาจอ้าง “มิตรสหายท่านหนึ่ง”) และเราก็น่าจะอนุมานได้พอสมควรว่าลักษณะแบบเดียวกันน่าจะเกิดขึ้นในโลกของงานเขียน อย่างน้อยที่สุดก่อนศตวรรษที่ 18 โดยทั่วไปผู้ที่ร้องหา “Author” ก็ไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นทางการที่ต้องการระบุต้นตอของข้อเขียนแต่ละชิ้นเพื่อจะได้เอาผิดผู้เขียนได้ถูกคน [8]

นี่คือโลกยุคก่อนจะมี “ประพันธกร” ในความหมายของนักเขียนผู้ภาคภูมิใจในความเป็นผู้สร้างงานเขียนของตน สำหรับจุดกำเนิดของ “ประพันธกร” นั้นก็ไม่มีหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ที่จะระบุได้เด่นชัดว่า เกิดขึ้นมา ณ จุดไหนอย่างไรก็ดีในภาพรวมประพันธกรจะเกิดจากหลายปัจจัยจากการขยายตัวของตลาดหนังสือตลอดศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษและภาคพื้นทวีปซึ่งมันก็โตพร้อมๆ กับเสรีภาพในการแสดงออกที่ทำให้การเขียนอะไรไม่ถูกใจทางการไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอีกต่อไป ปรากฏการณ์ทั้งหมดทำให้เกิด “นักเขียนอาชีพ” ที่ต้องการอ้างความเป็น “ผู้สร้าง” เหนืองานตัวเองเพื่อจะนำมันไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่อไป [9]

เงื่อนไขทั้งหมดถูกยกระดับไปอีกเมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคโรแมนติคปลายศตวรรษที่ 18 และตอนต้นศตวรรษที่ 19 ในยุคนี้นักเขียนมองว่าตัวเองเป็นประพันธกรโดยสมบูรณ์ พร้อมๆ กับที่นักวาดภาพมองว่าตัวเองไม่ใช่ช่างศิลป์อีกต่อไปแต่เป็นศิลปิน ยุคนี้เป็นยุคแรกที่มองว่าศิลปะเป็นเรื่องของการแสดงตัวตนและอารมณ์ความรู้สึกของศิลปิน ไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติอีกต่อไป นักเขียนก็อยู่ในกรอบคิดแบบนี้และส่งผลให้เขามองว่างานเขียนของเขาเป็นผลผลิตของตัวตนของเขาซึ่งเขาสร้างมาทั้งหมด การสร้างงานต่อยอดจากงานผู้อื่นเป็นเรื่องผิดบาปอันไม่พึงประสงค์ในโลกที่ความเป็นต้นฉบับคือสิ่งที่ต้องสักการะบูชา (แม้ว่าจริงๆ งานของเขาอาจไม่ต่างจากงานในยุคที่นักเขียนไม่ได้มองว่าการ “ก็อป” เป็นเรื่องผิดบาปก็ตาม) และประพันธกรหรือนักเขียนที่สำคัญตนว่าตนเป็นผู้สร้างงานเขียนของตนขึ้นมาจากความว่างเปล่าก็ถือกำเนิดมาโดยสมบูรณ์ดังนี้เอง

อ้างอิง

  1. Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004)
  2. Martha Woodmansee, The Author, Art, and the Market: Rereading the History of Aesthetics, (New York: Columbia University Press, 1994), pp. 38, 52
  3. Roger Chartier, The Order of the Book: Readers, Authors, and Libraries in Europe between the Fourteenth and Eighteenth Centuries, Translated by Lydia G. Cochrane, (California: Stanford University Press, 1994), pp. 39-40
  4. William H. Sewell, Jr., Work and Revolution in France: The Language of Labor from the old Regime to 1848, (New York: Cambridge University Press, 1980), p. 23
  5. Mark Rose, Authors and Owners: The Invention of Copyright, (Cambridge, Harvard University Press, 1993), p. 2
  6. Robert Darnton, "The High Enlightenment and the Low-Life of Literature in Pre- Revolutionary France", Past & Present, No. 51 (May, 1971),pp. 97-98
  7. Peter Burke, Popular Culture in Early Modern Europe, (New York: Harper & Row, 1978), p. 115
  8. Roger Chartier, ibid, p. 30
  9. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภาพหลังการวางรากฐานทางอุดมการณ์ของ “สุนทรียศาสตร์” ซึ่งถือกำเนิดในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 และสามารถสถาปนา “ศิลปะบริสุทธิ์” (fine art) หรือการเคลมว่าศิลปะที่ไม่มีคุณค่าประโยชน์ใช้สอยใดๆ ก็มีคุณค่าทางศิลปะของมัน ดู Martha Woodmansee, ibid, p. 11

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net