Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พวกจารีตนิยมได้ใช้เครื่องมือทุกชนิดเข้าฟาดฟันฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งทหาร องค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้สูญเสียความเชื่อถือในสถาบันเหล่านี้ไปจนหมด กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ที่มีต่อ “ความเป็นรัฐไทย”

ผลของวิกฤตศรัทธาดังกล่าวก็คือ เกิดวาทกรรม “แยกประเทศ” ในหมู่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังถูกฝ่ายเผด็จการ ทหาร และสื่อมวลชนกระแสหลักหยิบฉวยไปปั่นเป็นกระแส “กบฏแบ่งแยกดินแดน” ในปัจจุบัน ทั้งที่ความจริงแล้ว วาทกรรม “แยกประเทศ” มีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจเผด็จการกดขี่ผ่านกลไกสื่อมวลชน ทหาร องค์กรอิสระ และกระบวนการยุติธรรมในกรุงเทพฯของพวกจารีตนิยม ปฏิเสธการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมเยี่ยงมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง

นอกจากวาทกรรม “แยกประเทศ” ที่ปฏิเสธอำนาจรวมศูนย์ของรัฐจารีตนิยมในกรุงเทพฯแล้ว การต่อต้านอำนาจจารีตนิยมในกรุงเทพฯยังก่อให้เกิดการตื่นตัวทางเอกลักษณ์วัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคเหนือและภาคอีสาน ประชาชนที่ตื่นตัวทางประชาธิปไตยในภูมิภาคเหล่านี้ได้หันมาฟื้นฟูเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นของตนกันอย่างจริงจัง ส่งเสริมการใช้ภาษาเหนือ (คำเมือง) และภาษาอีสาน (ภาษาลาวตะวันตก) กระทั่งรื้อฟื้นการเขียนอ่านโดยใช้ตัวอักษรดั้งเดิม (ตัวธรรม) ที่สูญหายไปก่อนหน้านี้

วิกฤตการเมืองครั้งนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างขนานใหญ่แล้ว ก็ยังเกิดการตื่นตัวทางเอกลักษณ์วัฒนธรรมครั้งใหญ่ในหมู่ประชาชนภูมิภาคอีกด้วย

ในแง่ประวัติศาสตร์ นี่คือการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งของการต่อสู้ดิ้นรนโดยประชาชนในหัวเมืองชนบท เพื่อต่อต้านอำนาจรวมศูนย์ของรัฐไทยในกรุงเทพฯ ที่มีมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั่นเอง

เมื่อเผชิญกับการคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ผู้ปกครองไทยในกรุงเทพฯก็ได้เร่งสร้างรัฐไทยสมัยใหม่ที่รวมศูนย์ขึ้น โดยอุปสรรคในขั้นแรกคือ อำนาจในท้องถิ่นของขุนนางหัวเมือง ผู้ปกครองไทยได้สลายอำนาจของขุนนางเหล่านั้นอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยการเลิกทาสและเลิกไพร่ รวมศูนย์อำนาจทางการคลัง จัดระบบการปกครองและกองทัพประจำการที่รวมศูนย์มายังสถาบันกษัตริย์ในกรุงเทพฯ และที่สำคัญที่สุดคือ มาตรการทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น ครอบงำความคิดด้วยวัฒนธรรมกรุงเทพฯและอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การรวมศูนย์ทางการเมืองและวัฒนธรรมโดยรัฐไทยดังกล่าวถูกต่อต้านทั้งจากผู้นำและประชาชนในท้องถิ่น ดังปรากฏเป็นกบฏต่าง ๆ ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ตอนล่าง (เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง เลย ขอนแก่น กบฏผีบุญ กบฏมลายู เป็นต้น)

การต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทยในกรุงเทพฯยังสืบทอดต่อมาถึงการต่อสู้ของประชาชนอีสานในยุค 2490 และการต่อสู้ของประชาชนที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในยุค 2510-20 อีกด้วย

แต่ยังมีการต่อสู้ของประชาชนภูมิภาคในอีกแนวรบหนึ่งที่มุ่งเข้ามาแบ่งส่วนอำนาจโดยตรงกับชนชั้นนำในกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ การต่อสู้ทางสภา เมื่อพวกจารีตนิยมกรุงเทพฯจำต้องใช้รูปแบบรัฐสภาเป็นเปลือกนอกมาตั้งแต่ยุค 2520

แม้ว่าผู้ปกครองกรุงเทพฯจะใช้กลไกกองทัพและพรรคประชาธิปัตย์ในการกำกับควบคุมเวทีรัฐสภามาโดยตลอด แต่ประชาชนในภูมิภาคก็สามารถเข้ามาแบ่งส่วนพื้นที่ในเวทีนี้ได้โดยผ่าน “พรรคการเมืองภูธร” ของพวกเขา ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายนายทุนภูธรที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ต่างตอบแทนกับประชาชนในท้องถิ่นนั่นเอง

ในช่วงยุค 2520-30 พรรคการเมืองภูธรเหล่านี้มีลักษณะกระจัดกระจายอ่อนแอ ไร้แนวทางการเมืองที่ชัดเจน และไม่สามารถรวมตัวกันเป็นเอกภาพ แม้จะชนะเลือกตั้งในท้องถิ่นเข้ามาสู่รัฐสภาและตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลกรุงเทพฯได้ ก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายระดับชาติที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคได้ เพราะทั้งระบบราชการและกองทัพก็ถูกกุมอยู่ในมือพวกจารีตนิยมอย่างเหนียวแน่นมาทุกยุคสมัย

นักการเมืองภูธรเหล่านี้จึงทำได้เพียงนำทรัพยากรของรัฐไปสู่ภูมิภาคในรูปงบประมาณและโครงการปลีกย่อยในท้องถิ่นต่าง ๆ และก็ต้องดำเนินไปในโครงครอบปฏิบัติที่เป็นศักดินาดั้งเดิมของรัฐไทยซึ่งเต็มไปด้วยการทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งก็ถูกพวกจารีตนิยมฉวยใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อเรื่อง “นักการเมืองเลือกตั้งนั้นชั่ว เลว โกง” ทั้งที่ต้นตอทางวัฒนธรรมของการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในรัฐไทยก็คือพวกเขาเอง!

คนชั้นกลางกรุงเทพฯจำนวนมากแสดงอาการรังเกียจขยะแขยงนักการเมืองภูธรราวกับโรคเรื้อน โดยอ้างว่า นักการเมืองภูธรพวกนี้เต็มไปด้วยทุจริตเป็นสันดาน แต่สาเหตุที่แท้จริงที่คนชั้นกลางกรุงเทพฯรังเกียจนักการเมืองเหล่านี้ก็คือ โดยจิตใต้สำนึกแล้ว พวกเขารู้สึกว่า นักการเมืองเหล่านี้คือ “ตัวแทนของคนต่างจังหวัดที่ยากจน ไร้การศึกษาและต่ำชั้น” กว่าพวกเขานั่นเอง

แต่แล้ว วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ความเสียหายทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เปิดช่องว่างให้ประชาชนในภูมิภาคได้ค้นพบเครื่องมือทางการเมืองของตนในเวทีรัฐสภา ซึ่งก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย พวกเขาได้เรียนรู้ประสบการณ์อันมีค่าคือ การพร้อมใจกันเลือกพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียวเป็นวิธีการเข้ามาแบ่งส่วนอำนาจและทรัพยากรในกรุงเทพฯที่มีประสิทธิผลที่สุด

พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยก็คือ ผลพวงของการที่ประชาชนในภูมิภาคได้ยกระดับเครื่องมือทางการเมืองของตนจากนักการเมืองและพรรคการเมืองภูธรที่อ่อนแอกระจัดกระจาย มาสู่นักการเมืองและพรรคระดับชาติที่เข้มแข็ง จนสามารถแบ่งปันส่วนอำนาจไปจากผู้ปกครองกรุงเทพฯนั่นเอง

วาทกรรม “แยกประเทศ” ที่แพร่ออกไปในปัจจุบันจึงเป็นเพียงผลล่าสุดของการต่อสู้ระหว่างกลไกอำนาจรัฐจารีตนิยมที่รวมศูนย์ในกรุงเทพฯกับประชาชนในภูมิภาคผ่านรัฐบาลและพรรคการเมืองของเขาในสภา

วาทกรรม “แยกประเทศ” ยังเป็นการปฏิเสธความเชื่อที่พวกจารีตนิยมยึดถือตลอดสองร้อยปีมานี้ว่า กรุงเทพฯคือศูนย์กลางอำนาจ กรุงเทพฯคือประเทศไทย การยึดกุมกรุงเทพฯคือการยึดกุมประเทศไทย การชนะศึกทางการเมืองด้วยการโค่นล้มรัฐบาลในกรุงเทพฯคือการชนะศึกทางการเมืองของประเทศไทย ความเชื่อดังกล่าวอาจเป็นจริงตลอดสองร้อยปีมานี้ แต่เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ในต้นศตวรรษที่ 21 ความเชื่อดังกล่าวก็พ้นสมัยไปเสียแล้ว

ความจริงประการหลังสุดนี้กำลังจะได้รับการพิสูจน์ในอีกไม่ช้า เมื่อการรุกไล่เพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยใช้องค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรม ล้อมกรอบคุกคามโดยกลุ่มมวลชนอันธพาลและกองทัพในกรุงเทพฯ เหล่านี้กำลังบีบบังคับให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องเผชิญกับสองทางเลือกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ ทางเลือกหนึ่ง ยอมจำนนต่อคำวินิจฉัยของปปช. ศาลรธน.และวุฒิสภาที่กำลังจะถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลทั้งชุดให้พ้นจากตำแหน่งในอีกไม่ช้า บุคคลในตระกูลชินวัตรต้องพ้นจากการเมืองและเดินทางออกนอกประเทศไปพร้อมกับคดีอาญาติดต่อตลอดไป หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของปปช.และศาลรธน.ที่ขัดต่อนิติธรรม ย้ายฐานปฏิบัติการของรัฐบาลไปสู่ภูมิภาค อาศัยการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่และรัฐบาลมิตรต่างประเทศ รักษาสภาพรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนให้นานที่สุด ใช้พลังประชาชน แรงกดดันจากนานาชาติ และกาลเวลาที่ยืดเยื้อออกไป เป็นปัจจัยบั่นทอนพวกจารีตนิยมให้อ่อนแอลงและพ่ายแพ้ในที่สุด

แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะต้องประเเมินแนวทางของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา ช่วง 2549-53 เป็นการสร้างขบวนคนเสื้อแดง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากดังที่เห็นกัน มีคนเสื้อแดงเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศนับล้านคน และที่พร้อมออกมาเคลื่อนไหวในสนามหลายแสนคน การแสดงพลังด้วยการชุมนุมใหญ่แต่ละครั้งได้คนจำนวนล้นหลาม สร้างความตระหนกให้กับฝ่ายตรงข้ามได้ทุกครั้ง

ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน ฝ่ายเผด็จการได้พยายามเคลื่อนไหวระดมมวลชนหลายครั้ง พยายามสร้างปริมาณขึ้นมาสู้ แต่ถึงจะระดมสักแค่ไหน ก็ได้ไม่กี่พันคน ถึงหลักหมื่นแค่นั้น (ยกเว้นตอนพรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ระดมได้เป็นแสน แต่ก็อยู่ได้เพียงครู่เดียวเท่านั้น)

ถึงวันนี้ ฝ่ายเผด็จการได้สรุปแล้วว่า ในแง่จำนวนและความทรหดตั้งใจสู้ มวลชนของเขาไม่มีทางเทียบกับเสื้อแดงได้เลย เขาจึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ นั่นคือ เพื่อชดเชยกับจำนวนคนของเขาที่น้อยกว่ามาก เขาจะไม่เอาจำนวนคนเข้าสู้ แต่จะใช้คนจำนวนน้อย ๆ ที่มีอาวุธและใช้ความรุนแรงเข้ากระทำฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและมวลชนเสื้อแดง แล้วเอากฎหมายมาคุ้มครองไว้ จึงจะบดขยี้การเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลและคนเสื้อแดงได้สำเร็จ เพราะคนเสื้อแดงถึงจะมีจำนวนคนมาก แต่ก็มามือเปล่า

กรณีสนามราชมังคลาคือบททดสอบยุทธวิธีใหม่ของเขา และก็ประสบความสำเร็จ ฝ่ายเผด็จการใช้อันธพาลติดอาวุธเพียง 20-30 คนก็สามารถถล่มและบังคับให้สลายการชุมนุมของเสื้อแดงเกือบแสนคนได้โดยง่าย สามารถสร้างผลสะเทือนทางการเมืองได้อย่างมากคือ ทำลายขวัญกำลังใจและความฮึกเหิมของฝ่ายเสื้อแดง

แกนนำนปช.และแกนนำเสื้อแดงในภูมิภาคต้องเข้าใจจุดเปลี่ยนทางยุทธวิธีนี้ และจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและรูปแบบการเคลื่อนไหวใหม่ การระดมคนจำนวนมากมาย สร้างปริมาณคนมาก ๆ เพื่อมาต้านกระแสเผด็จการในวันนี้ไม่ได้ผลแล้ว เขาไม่ตระหนก มวลชนของเขาก็ไม่สะท้าน สื่อมวลชนกระแสหลักก็ไม่ให้น้ำหนักอีกแล้ว และยิ่งไม่ได้ผลในขณะนี้เมื่อเขาใช้ทหารเต็มอัตราศึกประสานกับม็อบติดอาวุธ ยึดพื้นที่กรุงเทพฯไว้ได้ทั้งหมด

ทางเลือกคือ นปช.จะต้องไม่ระดมมวลชนเข้ามาในกรุงเทพฯโดยเด็ดขาด แต่มุ่งเคลื่อนไหวในภูมิภาคและในท้องถิ่น อันเป็นพื้นที่จุดแข็งของฝ่ายประชาธิปไตยและเป็นจุดอ่อนของเผด็จการ ในระยะหลัง แกนนำนปช.หันไปเคลื่อนไหวในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรใช้รูปแบบเดิม ๆ คือ ชุมนุมใหญ่ ระดมคนมาก ๆ มาฟังปราศรัยแล้วก็แยกย้ายไป เพราะไม่สร้างผลสะเทือนทางการเมืองได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว

ควรจะส่งเสริมให้คนเสื้อแดงในแต่ละพื้นที่เคลื่อนไหวในท้องถิ่นของตนตามสภาพการณ์ กดดันพวกกปปส.และเครือข่ายในพื้นที่ รวมทั้งข้าราชการและบุคลากรโรงพยาบาลรัฐที่สนับสนุนกปปส. รวบรวมข้อมูลการเคลื่อนไหวของทหารในพี้นที่ รวมทั้งเตรียมมาตรการรับมือในกรณีถูกคุกคามหรือปราบปราม
 

 

หมายเหตุ: ฉบับย่อ ตีพิมพ์ใน “โลกวันนี้วันสุข” วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net