Skip to main content
sharethis
อัยการจ.ภูเก็ตเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องนักข่าวชาวออสเตรเลียและไทย ซึ่งกองทัพเรือฟ้องหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพ์ ในขณะที่สหภาพแรงงานคนทำงานสื่อในออสเตรเลียจัดประท้วง เรียกร้องกองทัพเรือไทยถอนฟ้องข้อกล่าวหาดังกล่าวทันที

12 มี.ค. 2557 ชุติมา สีดาเสถียร และอลัน มอร์ริสัน ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ภูเก็ตหวานซึ่งถูกฟ้องหมิ่นประมาทจากกองทัพเรือ เปิดเผยว่า อัยการได้เลื่อนการฟังคำสั่งฟ้องไปวันที่ 17 เม.ย. จากเดิมวันที่ 10 มี.ค. เนื่องจากจำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
 
ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กองทัพเรือได้กล่าวโทษผู้สื่อข่าวทั้งสองคนในข้อหาหมิ่นประมาท และละเมิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากการตีพิมพ์บทความวันที่ 17 ก.ค. 56 ที่อ้างอิงจากบทความของสำนักข่าวรอยเตอร์ ลงในเว็บไซต์ phuketwan.com โดยมีเนื้อหาว่ามีเจ้าหน้าที่กองทัพเรือได้ประโยชน์จากการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาทางตอนใต้ของประเทศไทย
 
โดยย่อหน้าที่กองทัพเรือระบุว่ามีปัญหา มีข้อความว่า ''The Thai naval forces usually earn about 2000 baht per Rohingya for spotting a boat or turning a blind eye, said the smuggler, who works in the southern Thai region of Phang Nga [north of Phuket] and deals directly with the navy and police.
 
ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ปกติแล้วเจ้าหน้าที่ทหารเรือไทย จะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อโรฮิงญาหนึ่งคน หากว่าพบเห็นเรือ [ผู้อพยพ] หรือทำเป็นไม่รู้เรื่อง [ต่อการค้ามนุษย์] ผู้ลักลอบค้ามนุษย์คนหนึ่งกล่าว เขาทำงานในจังหวัดพังงาทางภาคใต้ และตกลงธุรกิจโดยตรงกับกองทัพเรือและตำรวจ” 
 
ทั้งนี้ Phuketwan.com เป็นเว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต และได้รับรางวัลด้านการรายงานสืบสวนสอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติแล้วหลายรางวัล
 
น.อ. พัลลภ โกมโลทก ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพเรือ ได้กล่าวหารายงานดังกล่าวว่า มีเนื้อหาไม่เป็นความจริง และเป็นการให้ร้ายต่อกองทัพเรือ ส่งผลให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกิดความเสียหาย จึงได้ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 วรรค 1 ซึ่งระบุความผิดจากการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
 
หากผู้สื่อข่าวทั้งสองคนถูกตัดสินว่ามีความผิด อาจได้รับโทษสูงสุดคือจำคุกคือ 5  ปี และ/หรือปรับเป็นเงินหนึ่งแสนบาท จากพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และอีก 2 ปี จากกฎหมายหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และปรับเป็นเงินไม่เกินสองแสนบาท 
 
มอร์ริสัน และชุติมา ได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และมองว่าการฟ้องร้องดังกล่าวของกองทัพเรือ เป็นไปเพื่อการพยายามข่มขู่การรายงานข่าวของสำนักข่าวภูเก็ตหวานในทำหน้าที่เปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา 
 
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เขียนรายงานดังกล่าว ไม่ได้ถูกฟ้องในข้อหาใดๆ
 
โดยเมื่อวันอังคารที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา พันธมิตรสื่อ งานบันเทิงและงานศิลปะ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานสำหรับผู้ที่ทำงานในวงการสื่อ และศิลปะการบันเทิงในออสเตรเลีย ได้เดินทางไปประท้วงหน้าสถานทูตไทยในเมืองเมลเบิร์น เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อมอร์ริสัน และชุติมา 
 
ก่อนหน้านี้ นายคริสโตเฟอร์ วอร์เรน เลขาธิการองค์กรดังกล่าวยังได้เขียนจดหมายเปิดผนึกไปยังเอกอัครราชทูตไทยในออสเตรเลีย เพื่อแสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าวที่จะกระทบต่อเสรีภาพสื่อด้วย 
 
นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ คณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalist) และพันธมิตรเพื่อสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Aliance) ยังได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าว และเรียกร้องให้กองทัพเรือถอนฟ้องข้อกล่าวหาทันที
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net