Skip to main content
sharethis

 

12 มี.ค.2557  นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่กองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานได้ให้การสนับสนุนสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตเป็นพลังงานทดแทน โดยเริ่มโครงการนำร่องตั้งแต่ปี2538 จนถึงปัจจุบัน  รวมระยะเวลา 19 ปี ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้รับความสนใจจากเกษตรกรเจ้าของฟาร์มทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากถึง 1,140 แห่ง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา  สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้มากกว่า 835 ล้าน ลบ.ม  สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1,169 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่ามากกว่า 4,094 ล้านบาท

“สนพ. ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า การนำมาใช้ผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (Compressed Biomethane Gas : CBG)  ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่า NGV สามารถนำไปใช้เติมในรถยนต์ได้ดี ไม่มีปัญหากับเครื่องยนต์แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ในหมู่บ้านต่างๆ ด้วยการส่งก๊าซชีวภาพผ่านไปตามท่อ PVC ดังนั้นเพื่อให้ก๊าซชีวภาพสามารถนำไปใช้ทดแทน LPG ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ล่าสุด สนพ.จึงสนับสนุนให้ศึกษาการนำก๊าซชีวภาพมาพัฒนาคุณภาพให้ใกล้เคียงกับก๊าซ  LPG และนำมาอัดใส่ถังแทนการส่งผ่านทางท่อ โดยปัจจุบันได้นำร่องแจกฟรีให้ชาวบ้าน หมู่บ้านโรงวัว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ นำไปใช้ในครัวเรือน ซึ่งนับเป็นหมู่บ้านแห่งแรกของไทยที่ปลอด LPG  

จะเห็นได้ว่าพลังงานก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และใช้ทดแทนพลังงานต่างๆ ในประเทศได้มากมาย ที่สำคัญเป็นพลังงานที่สะอาด ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะวัตถุดิบเป็นของเสีย หรือของเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงพืชพลังงาน  อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีในประเทศที่ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถผลิตพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง” ผอ.สนพ.กล่าว

ด้าน รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  (สถาบันพลังงาน มช.) กล่าวว่า  สถาบันฯ ยังคงคิดค้นออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เพื่อถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการฟาร์ม  นักวิชาการ นักวิจัย วิศวกร และผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีความต้องการการใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมาตรฐานประสิทธิภาพและความยั่งยืนของระบบก๊าซชีวภาพ

“จากผลการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในระยะที่ 4 ปี 2551-2557 มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 256 แห่ง  โดยการก่อสร้างและติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพรองรับปริมาณปศุสัตว์ จำนวน 245,364 หน่วยปศุสัตว์หรือเทียบเท่าสุกรขุนจำนวน 2,044,700 ตัว  สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 68 ล้านลบ.ม./ปี ทดแทนก๊าซ LPG ได้จำนวน 1 ล้าน กก./ปี และน้ำมันเตาเกรดเอ 28,401 ลิตร/ปี และผลิตไฟฟ้าได้ 90 ล้านหน่วย/ปี  ช่วยลดโลกร้อนจากการปล่อยทิ้งก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1,423 ตันคาร์บอน/วัน หรือ 519,456 ตันคาร์บอน/ปี ทั้งนี้สถาบันฯ จึงพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศมีพลังงานทดแทนใช้ตามแผนและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อให้คนไทยทุกคนมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนต่อไป” รศ.ประเสริฐ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net