Skip to main content
sharethis

12 มี.ค.2557 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานเบื้องต้น ถึงการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการพิจารณาลงมติในคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภาพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง(1) ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีรายงานว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ากระบวนการพิจารณากฎหมายไม่ถูกต้อง โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ

สำนักข่าวไทยรายงานถึงสิ่งที่ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา มี  2 ประเด็น ดังนี้
 
ประเด็นแรก ร่างดังกล่าวตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งตุลาการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หลังการไต่สวนพบข้อเท็จจริงว่า นายนริศร ทองธิราช ส.ส.พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรลงคะแนนแทนผู้อื่น ในการลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556 ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่ ส.ส.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยต้องไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติหรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์เพื่อส่วนร่วม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมาตรา 126 วรรคสาม ที่สมาชิกหนึ่งคนย่อมมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน การลงคะแนนแทนกันจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
ประเด็นที่สอง การตราร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า การกู้เงินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือเป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ การใช้จ่ายจึงต้องขึ้นอยู่ในข้อบังคับแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดไว้ว่าจะดำเนินการได้ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวกับการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะจ่ายไปก่อน แต่ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณ พระราชบัญญัติรายจ่ายเพิ่มเติมหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าการดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามพระราชบัญญัตินี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
 
ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่า การใช้เงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรนูญมาตรา 170 วรรคสอง เพื่อรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม การที่ร่างดังกล่าวให้กู้เงินแล้วนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ได้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายงบประมาณ ที่ ครม.ต้องรายงานให้สภาฯ รับทราบ ทำให้การควบคุมตรวจสอบค่าใช้จ่ายไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลัง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตราขึ้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ จึงมีผลให้ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม 

โดยก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยวิเคราะห์คำวินิจฉัยอาจจะออกมาใน 3 แนวทางใดแนวทางหนึ่งดังนี้ 1.ศาลอาจจะเห็นว่าการตราร่าง พ.ร.บ.ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2.ศาลอาจจะวินิจฉัยว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ขัดในประเด็นที่สำคัญ จึงทำให้กฏหมายตกไป แต่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ 3.ศาลอาจวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีปัญหา28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส. รวมทั้งพิจารณารับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอเรื่องพร้อมความเห็นกรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ

 

‘ชัชชาติ’ ระบุพร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท

ก่อนหน้ามติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักข่าวไทยรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่า ขอรอฟังคำวินิจฉัยของศาลก่อน

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลจะออกมาอย่างไรพร้อมยอมรับและปฏิบัติตาม เพราะที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลทำดีที่สุดแล้วที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หากคำวินิจฉัยของศาลออกมาในทางลบจะไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล แต่อาจกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่มองว่าการพัฒนาประเทศอาจเกิดความล่าช้า

“หาก พ.ร.บ.นี้ขัดรัฐธรรมนูญยังสามารถก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ โดยกลับไปใช้วิธีเดิม ซึ่งเป็นการกู้เงินผ่าน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ เพื่อก่อสร้างทีละโครงการ ส่วนกรณีที่มีข้อสังเกตว่ามีความไม่พร้อมในการก่อสร้าง เรื่องดังกล่าวเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงความพร้อมในการดำเนินโครงการ ไม่ใช่กรณีที่จะวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อีกทั้ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการอนุมัติกรอบวงเงินเพื่อเตรียมสำหรับการจัดทำโครงการในระยะเวลา 7 ปี ซึ่งต้องทยอยดำเนินการ แต่ในโครงการเร่งด่วนได้เตรียมแผนและความพร้อมไว้หมดแล้ว

“ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบหาก พ.ร.บ.กู้เงิน ขัดรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า รัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว จึงไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ แล้ว” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ภายหลังมีคำวินิจฉัย มีผู้ใช้เฟซบุ๊กเข้าไปโพสต์ภาพและข้อความอุจจาระจำนวนมากในเพจ 'ศาลรัฐธรรมนูญ' ด้วย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net