Skip to main content
sharethis

กรณีเครื่องบินมาเลเซียหายไปอย่างลึกลับ ล่าสุดองค์กรตำรวจสากลเปิดเผยว่าชายชาวอิหร่าน 2 คนผู้ขึ้นเครื่องด้วยหนังสือเดินทางที่ขโมยมาไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องการก่อการร้าย จากกรณีดังกล่าว เดอะการ์เดียนรายงานถึงขบวนการหนังสือเดินทางปลอมในไทย


11 มี.ค. 2557  จอน เฮนเลย์ นักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานเรื่องขบวนการหนังสือเดินทางปลอมในไทย โดยเริ่มจากการกล่าวถึงกรณีในปี 2552 ที่มีการจับกุมหนึ่งในขบวนการทำหนังสือเดินทางปลอมได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่ต่อมาในปี 2553 สามารถจับกุมชาวปากีสถานชื่อเล่นว่า "โทนี" กับแฟนสาวชาวไทย ขณะที่กำลังเดินทางข้ามแดนจากจังหวัดหนองคายไปยังประเทศลาว ก่อนขยายผลไปถึงตัวผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ ได้

ชายผู้ถูกจับกุมคนแรกชื่อ อาห์บุร์ รัมบารัค ฟาธ์ ซึ่งเป็นชาวอิหร่านที่เกิดในอังกฤษให้การรับสารภาพว่า ในกระเป๋าที่เขาถืออยู่มีหนังสือเดินทางของชาวยุโรป แคนาดา และอิสราเอลที่ถูกขโมยรวม 103 เล่ม นอกจากนี้ยังมีโรงงานเล็กๆ ที่ใช้ในการปลอมแปลงเอกสารซึ่งอยู่ในที่พักของโทนี่

เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอที่ไม่ประสงค์ออกนามเคยกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ตรวจค้นโรงงานเล็กๆ ดังกล่าวพบว่ามีเครื่องสแกนและเครื่องพิมพ์แบบคมชัดสูง หนังสือเดินทางที่ถูกขโมยมากกว่า 1,000 เล่ม รูปถ่าย ข้อมูลปลอมแปลงของชาวยุโรป แคนาดา จีน และอิสราเอล นอกจากนี้ยังมีตราปั๊มและวีซ่าสติ๊กเกอร์ของสหรัฐฯ กับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

แม้ว่ายังไม่หลักฐานระบุว่าการหายสาบสูญของสายการบินมาเลเซียเที่ยวบิน MH370 จะเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แต่ข่าวก็ระบุว่าหนังสือเดินทางของผู้โดยสารสองคนในเที่ยวบินดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางที่ถูกขโมยในไทย เล่มหนึ่งเป็นของชาวอิตาลีที่ชื่อลุยจิ มาราลดี ซึ่งทำหายเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้วหลังจากที่เขาวางมัดจำเพื่อเช่ารถจักรยานยนต์ในภูเก็ต อีกรายหนึ่งคือของชาวออสเตรเลียที่ชื่อคริสเจียน โคเซล ซึ่งแจ้งว่าหายไปเมื่อราว 18 เดือนที่แล้วในภูเก็ตเช่นเดียวกัน

แลร์รี่ คันนิ่งแฮม อดีตกงสุลชาวออสเตรเลีย การขโมยหนังสือเดินทางในประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และหลายครั้งก็ตกไปอยู่ในมือของอาชญากรก่อการร้าย มีกรณีหนึ่งที่หนังสือเดินทางปลอมแปลงตกเป็นเครื่องมือของชาวอิหร่านที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุวางระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ก.พ. 2555 ซึ่งคาดว่ามีเป้าหมายเป็นทูตอิสราเอล

แก๊งปลอมแปลงหนังสือเดินทางมีเป้าหมายเป็นประเทศไทยเนื่องจากเป็นประเทศที่มีชาวยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลีย มาเที่ยวในช่วงวันหยุดจำนวนมากทุกปี แต่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอรายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับบางกอกโพสต์ว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือประเทศไทยสามารถเข้าออกได้ง่าย เช่นบางครั้งก็มีการต่อรองกับเจ้าพนักงานหรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่เห็นว่าการปลอมแปลงหนังสือเดินทางเป็นความผิดร้ายแรง

เดอะการ์เดียนระบุว่า ธุรกิจปลอมแปลงเอกสารเดินทางเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 80 โดยแก๊งอาชญากรได้แฝงตัวเข้าไปทำงานเป็นพนักงานโรงแรม ไกด์ทัวร์ และคนขายบริการทางเพศ เพื่อขโมยสมุดเช็คพร้อมกับหนังสือเดินทางของนักท่องเที่ยวเพื่อสามารถนำเช็คไปขึ้นเงินได้ ต่อมาเมื่อเช็คของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนเป็นการใช้บัตรเครดิต แก๊งอาชญากรก็ใช้ความสามารถด้านการปลอมแปลงเอกสารที่มีอยู่แล้วในการรับจ้างปลอมแปลงเอกสารราชการต่างๆ ตั้งแต่หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ และบัตรประชาชนจากนอกประเทศ

เมื่อปี 2555 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอรายหนึ่งคือ ร.ต.อ. ทินวุฒิ สีละพัฒน์ เคยให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารเดอะบิกชิลลี่ (The Big Chilli) ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับชาวต่างชาติในไทยว่า แก๊งลักษณะดังกล่าวมีอยู่ราว 20 กลุ่ม มักจะมีหัวหน้าเป็นอาชญากรจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือจากตะวันออกกลาง ใช้หนังสือเดินทางที่ขโมยในไทย หรือบางครั้งก็ในประเทศอื่นๆ มีการปรับแต่งรูปรวมถึงข้อมูลบและลายเซ็นลงไปใหม่ ก่อนจะขายให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมนอกประเทศไทย

มีการเตือนให้ผู้มาท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระวังเรื่องหนังสือเดินทาง จากข้อมูลของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษระบุว่าในช่วงปี 2555-2556 มีหนังสือเดินทางของชาวอังกฤษถูกขโมยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากถึงราว 600 เล่ม ในเว็บฟอรัมของโลนลี่แพลนเน็ตก็มีหลายคนปรับทุกข์เรื่องหนังสือเดินทางหายหรือถูกขโมยซึ่งส่วนใหญ่มักจะหายที่ผู้ให้บริการเช่ารถ

หลุยจิ มาราลดี ชายอิตาลีที่ถูกขโมยหนังสือเดินทางเคยถามร้านเช่ารถจักรยานยนต์เพื่อทวงคืนหนังสือเดินทาง แต่ทางร้านบอกว่าได้คืนให้กับชายชาวอิตาลีอีกคนหนึ่งที่อ้างว่ามาราลดีเป็นสามีของเขา

แต่หนังสือเดินทางที่ถูกขโมยหรือถูกปลอมแปลงจะกลายเป็นเพียงเอกสารแสดงตนของผู้เดินทาง (travel document) เท่านั้นถ้าหากไม่มีใครตรวจสอบ โดยทั้งโคเซลและมาราลดีได้ไปแจ้งหนังสือเดินทางหายและถูกขโมยโดยมีการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลเอกสารที่สูญหายหรือถูกขโมย (Lost and Stolen Travel Documents หรือ LSTD) ขององค์กรตำรวจสากล (Interpol) ซึ่งมีรายการสูญหายอยู่กว่า 40 ล้านรายการ และถูกค้นหาจากทางการของแต่ละประเทศในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่า 800 ล้านครั้ง

แม้จะมีฐานข้อมูลดังกล่าวแต่เจ้าหน้าที่ของหลายประเทศก็ละเลยการตรวจสอบจากฐานข้อมูลนี้ ทางองค์กรตำรวจสากลบอกว่าเมื่อปีที่แล้วมีผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินมากกว่าพันล้านครั้งโดยไม่มีการตรวจสอบหนังสือเดินทางเทียบกับฐานข้อมูลเพื่อดูว่าเป็นหนังสือเดินทางที่ถูกขโมยมาหรือไม่ ในกรณี MH370 เองก็เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โรนัลด์ โนเบิล เลขาธิการขององค์กรตำรวจสากลกล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการขโมยหนังสือเดินทางของชาวอิหร่านสองคนมีความเกี่ยวข้องกับการหายสาบสูญของเครื่องบินเที่ยว MH370 แต่ก็ถือว่าน่าเป็นห่วงที่มีผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินข้ามประเทศโดยใช้หนังสือเดินทางที่ถูกขโมยซึ่งมีระบุอยู่ในฐานข้อมูล

"...ขณะที่ทั่วโลกตั้งข้อสงสัยว่าผู้ที่ขโมยหนังสือเดินทางจะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ ทางองค์กรตำรวจสากลก็อยากถามว่าทำไมมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ใส่ใจกับการตรวจสอบไม่ให้มีคนที่ขโมยหนังสือเดินทางสามารถขึ้นเครื่องบินเที่ยวบินระหว่างประเทศได้" โนเบิลกล่าว


องค์กรตำรวจสากลเผยชายอิหร่านผู้ใช้หนังสือเดินทางปลอม ไม่เกี่ยวก่อการร้าย

ในวันที่ 11 มี.ค. องค์กรตำรวจสากล (Interpol) ได้เผยแพร่ภาพของชายวัย 19 และ 29 ปี ผู้ใช้อาศัยหนังสือเดินทางปลอมแปลงในการเดินทางด้วยเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซียซึ่งเกิดเหตุหายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา

โดยองค์กรตำรวจสากลเผยแพร่ภาพชายที่ชื่อ พูเรีย นูร์ โมฮัมหมัด อายุ 19 ปี และเซเยด โมฮัมหมัด เรซาร์ เดลาวาร์ อายุ 29 ปี นอกจากนี้ยังระบุว่าทั้งสองคนเป็นชาวอิหร่านที่ใช้หนังสือเดินทางที่ขโมยมาเพื่อใช้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายแต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการก่อการร้าย

นูร์ โมฮัมหมัด ใช้หนังสือเดินทางของชาวออสเตรียที่ขโมยมาเพื่อเดินทางไปเยอรมนี โดยแม่ของเขารออยู่ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ขณะที่เดลาวาร์ใช้หนังสือเดินทางของชาวอิตาลีที่ถูกขโมย

เพื่อนชาวอิหร่านของพวกเขาที่อยู่ในมาเลเซียให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบีบีภาคภาษาเปอร์เซียเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาบอกว่านูร์ โมฮัมหมัดมาอยู่ในมาเลเซีย 3-4 วัน ก่อนที่จะเดินทางไปประเทศเยอรมนี โดยที่พวกเขาอาศัยอยู่เกือบหนึ่งสัปดาห์อีกทั้งเขายังเป็นเพื่อนไปจองเที่ยวบินร่วมกับพวกเขา เพื่อนชาวอิหร่านบอกอีกว่าเขาเห็นนูร์ โมฮัมหมัด พยายามแต่งสีหนวดเคราและสีผมให้ตรงกับรูปในหนังสือเดินทาง

เพื่อนชาวอิหร่านกล่าวอีกว่าเขารู้เรื่องหนังสือเดินทางปลอมแปลงในเวลาต่อมา ซึ่งมารดาของนูร์ โมฮัมหมัด ก็บอกกับเขาในเรื่องนี้และขอให้เขาช่วยบอกกับสายการบินเรื่องหนังสือเดินทางปลอม เพื่อนของนูร์ โมฮัมหมัด บอกว่าพวกเขาติดต่อกันครั้งสุดท้ายเมื่อเวลา 23.30 น. (เครื่องบินออกเวลา 0.41 นาที ของวันที่ 8 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) ขณะที่พวกเขาเดินผ่านประตูตรวจคนเข้าเมืองและบอกว่ากำลังรอเครื่องบินอยู่ทำให้เขาแน่ใจว่าทั้งสองคนได้ขึ้นเครื่องบินเที่ยวที่เกิดเหตุ

คาลิด อะบู บาคาร์ ผู้กำกับการตำรวจแห่งชาติของมาเลเซียกล่าวว่าข้อมูลของชายชาวอิหร่าน 2 คนนี้ทำให้ความเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้เป็นการก่อการร้ายลดลง พวกเขาเชื่อว่านูร์ โมฮัมหมัด ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายใดๆ โดยคิดว่าเขาแค่ต้องการอพยพไปเยอรมนี

เดอะการ์เดียนระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการผ่อนผันอนุญาตให้ชาวอิหร่านเดินทางมายังประเทศมาเลเซียได้ง่ายขึ้น ทำให้มีชาวอิหร่านจำนวนมากนิยมเดินทางมายังมาเลเซีย ซึ่งมักจะเป็นนักท่องเที่ยว นักศึกษา และคนที่ต้องการใช้เป็นจุดผ่านเพื่อเดินทางอพยพต่อไปที่ยุโรป

 


เรียบเรียงจาก

How Thailand's trade in fake passports fuels crime gangs around the world, The Guardian, 10-03-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/mar/10/thailand-trade-fake-passports-crime-gangs-world

Two passengers on lost Malaysian plane were Iranians with forged passports, The Guardian, 11-03-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/mar/11/passengers-malaysian-plane-mh370-iranian-forged-passports

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net