Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Christine Lagarde ประธานและกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ที่มา: Wikipedia)

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา Christine Lagarde ประธานและกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund, IMF) ได้แสดงทัศนะต่อบทบาทของนวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่เชื่อมโลกไว้ด้วยกันมากขึ้น (Global interconnectivity) และจะมีอิทธิพลต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ในการบรรยาย ที่ Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอตั้ง 3 คำถามสำคัญคือ 1) เทคโนโลยีจะมีผลกระทบต่อ เศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะงาน (Job) และแรงงาน (Workforce) อย่างไร หุ่นยนต์จะมาแทนที่คนหรือไม่ 2) ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น และ 3) ทางออกของการศึกษาที่จะโอบอุ้มแนวคิดพหุพาคีนิยมใหม่ (new multilateralism) จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

Lagarde สตรีคนแรกของโลกที่ครองตำแหน่งประธาน IMF เป็นคนที่ 11 ได้เกริ่นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในภาวะที่อัตราการว่างงานสูง หนี้สาธารณะและหนี้เอกชนมหาศาล และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่ำเกินไป โดย IMF ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตปี 2014 อยู่ที่ 3.75% เพิ่มขึ้นจาก 3% เมื่อปีก่อน และ จะเพิ่มเป็น 4% ในปี 2015 ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือ ประเทศในสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน ตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโลกยังเดินหน้าต่อไปได้ เพราะมีส่วนถึง 75% ในอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กำลังอยู่ในภาวะถดถอย เนื่องจากมาถึงช่วงขาลงของวงจรเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตชะลอตัว ในบางประเทศ การเติบโตที่รวดเร็ว เผยให้เห็นถึงความเปราะบางและคอขวดที่ทำให้การเติบโตเริ่มช้าลง แนวโน้มสวนทางระหว่างเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากกลุ่มหลัง ก่อให้ตลาดเกิดภาวะผันผวนและอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินขึ้นลง

ด้วยเหตุที่เพิ่งกลับจากการประชุมกลุ่ม G20 หรือกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก (เทียบเท่าประมาณ 85% ของเศรษฐกิจโลก) Lagarde ได้พูดถึงกลุ่ม 20 ประเทศชั้นนำที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตการเงินและเป็นการพบปะที่เน้นถกเรื่องประเด็นเศรษฐกิจและการเงินของโลก เช่น ประเทศสมาชิกได้มีข้อตกลงที่จะทำการปฏิรูปทางการเงินทั้งระบบ เพื่อแก้ไขวิกฤตภายในสิ้นปี 2014 ทำให้ภาคการเงินมีความมั่นคงขึ้น และ มีแนวโน้มก่อให้เกิดวิกฤตน้อยลง รวมถึงการสื่อสารการดำเนินการทางนโยบายอย่างชัดเจน สม่ำเสมอ และร่วมมือกันสอดส่องติดตามผลกระทบของนโยบายในประเทศที่มีต่อประเทศอื่น (spillover) ต่อไป โดยมีเป้าหมายใหม่ที่จะเพิ่มระดับ GDP อีก 2% ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลพวงสำคัญในการแก้ไขปัญหาว่างงานสูง และเป็นโครงการภายใต้การนำของออสเตรเลีย ประธาน G20 ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังมีคำถามว่า แนวทางที่ถูกที่ควร จะพาเศรษฐกิจไปถึงจุดหมายปลายทางใด และ เป็นการเติบโตแบบใด ระหว่าง การเติบโตอย่างแข็งแรง ยั่งยืน และ มีความสมดุล หรือ การเติบโตที่เปราะบาง เอาแน่เอานอนไม่ได้ และ ขาดความสมดุล ซึ่งแน่นอนว่าใครๆ ต้องการแบบแรกมากกว่า

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว Lagarde จึงบรรยายถึงรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอีกหลายปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไป โดยเธอยังได้หยิบยกคำพูดของ Isaac Asimov ปรมาจารย์นิยายวิทยาศาสตร์ ที่เคยกล่าวว่า “เราไม่สามารถตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลได้อีกต่อไป หากปราศจากการคำนึงถึงไม่เพียงโลกที่เป็นอยู่ แต่รวมถึงโลกที่จะมาถึง”

Lagarde ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นสตรีที่มีอำนาจที่สุดในโลกอันดับ 8 โดยนิตยสาร Forbes ประจำปี 2011 ได้ตั้งคำถาม 3 ข้อ เพื่อตอบคำถามเรื่องทิศทางของเศรษฐกิจโลก ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนดังนี้

1. ยุคใหม่ของเทคโนโลยีมีนัยสำคัญอะไรต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องงาน

2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับ 1 ในประเด็นแห่งยุค ความเหลื่อมล้ำที่สาหัสมากขึ้น อย่างไร

3. ทางออกมีอะไรบ้าง รวมถึงประเด็นด้านการศึกษา และสิ่งที่เธอเรียกว่า new multilateralism

 

บทบาทของเทคโนโลยีต่อเศรษฐกิจ

ในแง่เทคโนโลยี เธอเปรียบว่า การเปลี่ยนแปลงกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วมาก ทำให้รู้สึกเหมือนเทคโนโลยี 5 ปีก่อน หรือ ยุคที่โทรศัพท์มือถือธรรมดายังไม่เป็นสมาร์ทโฟน กล้องถ่ายรูปแบบใส่ฟิล์ม หรือ อุปกรณ์ไร้สาย ที่เคยหมายถึง วิทยุแบบเก่า ซึ่งเด็กสมัยนี้ไม่คุ้นเคย กลายเป็นเรื่องยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปแล้ว ความก้าวหน้าดังกล่าวมีหัวใจอยู่ที่เครือข่ายดิจิตอลเชื่อมโยงทั่วโลก หรือ โลกการติดต่อสื่อสารไม่หลับใหล (hyperconnected world) ผนวกกับการกำเนิดของเครื่องจักรที่มีปัญญาอย่างแท้จริง เธอเปรียบว่าถ้าการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งก่อนๆ เป็นการใช้เครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงาน สมัยนี้จึงเป็นการใช้เครื่องจักรทดแทนสมอง และ ยิ่งเทคโนโลยีนำพาการเชื่อมต่อโลกให้ก้าวกระโดดไปอย่างมาก สมัยนี้จึงเป็น “สมองที่เชื่อมต่อกัน” เธอยังได้พูดถึงเทรนด์ใหม่ เช่น รถยนต์ที่ขับไปสู่งจุดหมายปลายทางได้เองอัตโนมัติ เครื่องพิมพ์ที่ผลิตชิ้นส่วนอันซับซ้อนแบบ 3 มิติ หรือ หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานที่มีความยุ่งยากสูงสุด ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า “นิยายวิทยาศาสตร์” กำลังกลายเป็น “ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์” อย่างรวดเร็ว

คำถามสำคัญอยู่ที่ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้มีความหมายต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของเราในอนาคตทางเศรษฐกิจอย่างไร เธอระบุว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะจินตนาการถึงอนาคตอันแสนสะดวกสบาย ที่โยนกิจวัตรในชีวิตประจำวันให้เครื่องจักรที่ไม่มีวันบ่น หรือ ทำงานเพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่ John Maynard Keynes ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง IMF จินตนาการไว้ตั้งแต่ยุค 1930 แบบที่นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชอบฝัน

แต่ภาพที่มองไปข้างหน้ามีเทรนด์ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ ผลกระทบของเทคโนโลยีเครื่องจักรใหม่ๆ ยังไม่สามารถติดตามหรือวัดผลได้ในตอนนี้ และเธอเน้นว่า ผลิตภาพ (productivity) เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่สุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าตัวขับเคลื่อนใด อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าเป็นกังวลที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบอย่างไรต่องาน หรือ เครื่องจักรจะแซงหน้าไปทอดทิ้งแรงงานให้ตกงานหรือไม่ โดยเธออ้างถึงคำพูดของ Keyes ที่แม้มีวิสัยทัศน์ในแง่บวก แต่เป็นห่วงปัญหาช่วงระหว่างการเปลี่ยนถ่ายที่เขาเรียกว่า “การว่างงานเชิงเทคโนโลยี” (technological unemployment) ซึ่งเกิดขึ้น เมื่อเราลดต้นทุนแรงงานได้เร็วกว่าการหาประโยชน์ใหม่ของการใช้แรงงาน จึงมีนัยว่า แม้แต่มืออาชีพที่มีประสบการณ์ ในปัจจุบัน ยังต้องเคว้งคว้างในตลาดงานที่ไม่คุ้นเคย

ในแง่ของการสร้างงาน หลายปีข้างหน้า เธอชี้ว่าเราต้องเร่งสร้างงานให้เร็วยิ่งกว่าเดิมอีกมาก สืบเนื่องจากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจ หากไม่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ตอนนี้ คนจะมีงานทำมากขึ้น 62 ล้านงาน ตามตัวเลขของ International Labor Organization (ILO) ส่งผลให้ตอนนี้มีคนมากกว่า 200 ล้านคนกำลังหางานทั่วโลก ถ้าเปรียบเป็นประเทศ กลุ่มคนว่างงานจะเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น ในจำนวนนี้ เป็นคนวัยหนุ่มสาวมากถึง 75 ล้านคน ที่หวังจะย่างเท้าก้าวแรกขึ้นไปสู่บันไดแห่งความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศจึงไม่ควรปล่อยให้คนเหล่านี้สาบสูญในเชิงเศรษฐกิจ จึงสรุปได้ว่างานเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องจัดการในปีต่อๆ ไป

 

เทคโนโลยีและความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นแรก มีผลกระทบเกี่ยวเนื่องในประเด็นต่อมา ในขอบเขตที่กว้างกว่า เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้กอบโกยไม่กี่รายในโลก กับ คนที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับผลประโยชน์ เกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่นับวันมีหลักฐานให้เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กำลังเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ตามรายงานของ Oxfam เกือบครึ่งหนึ่งของความร่ำรวยมั่งคั่งของโลก อยู่ในความครอบครองของประชากรเพียง 1% และ ที่น่าตกใจยิ่งกว่า หากแบ่งประชากรโลกทั้งหมดเป็น 2 ส่วนตามระดับฐานะ ประชากรครึ่งล่างของโลกมีทรัพย์สินเทียบเท่าคนรวยที่สุดในโลกเพียง 85 คนเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 1980 ประชากรรวยที่สุด 1% ได้เพิ่มส่วนแบ่งรายได้ใน 24 จาก 26 ประเทศที่มีข้อมูล โดยในอเมริกา ส่วนแบ่งรายได้ที่เข้ากระเป๋าคนรวยที่สุด 1% เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวตั้งแต่ยุค 1980 และนับตั้งแต่ปี 2009 คนกลุ่มดังกล่าวกวาดไปถึง 95% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่คนระดับล่าง 90% กลับยิ่งยากจน ILO ระบุว่า ส่วนแบ่งรายได้ของแรงงาน ได้ตกลงไปในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ใน 26 จาก 30 เศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ทั้งที่ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

Lagarde กล่าวว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องการกระจายรายได้ อาจไม่ได้มีเพียงปัจจัยเดียว แต่เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สร้างผลตอบแทนมหาศาลให้ผู้มีวิสัยทัศน์ในระดับบน และ สร้างความเดือดเนื้อร้อนใจให้แรงงานทั่วไปในระดับล่าง คนที่มีทักษะระดับพื้นฐานที่สุดย่อมประสบความลำบากที่สุดในเศรษฐกิจปัจจุบัน ดังนั้น หากไม่จัดการให้ดี ความเหลื่อมล้ำและการกีดกันทางเศรษฐกิจอาจส่งผลร้าย ทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และ การเงิน ถึงระดับที่สามารถฉีกเยื่อใยที่ทำให้สังคมเป็นหนึ่งเดียวได้เลย

เธอเน้นว่า IMF มีหลักฐานงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันอย่างหนัก บั่นทอนความเร็วและความยั่งยืนของการเติบโตในระยะยาวได้ ดังนั้น ตั้งแต่นี้ไป การมองเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเดียวจะไม่เพียงพออีกแล้ว แต่ต้องตั้งคำถามว่าการเติบโตนี้มีความทั่วถึง (inclusive) หรือไม่ โดยเปรียบเปรยว่า เรือเล็กต้องแล่นกับเรือลำใหญ่ได้ มิใช่เสี่ยงที่จะโดนพลิกคว่ำเอาเท่านั้น จากงานศึกษาของ IMF นโยบายเรื่องภาษีก้าวหน้าและการใช้จ่าย การพัฒนาการเข้าถึงสาธารณสุข และการศึกษา โปรแกรมทางสังคม สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ และแม้อาจก่อให้เกิดความข้อแย้งและเสียงคัดค้าน แต่เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำ มิฉะนั้นเดิมพันความเสียหายอาจมีมากกว่าหลายเท่านัก

 

ความสำคัญของการศึกษาและแนวคิดพหุภาคีนิยมใหม่

ต่อเนื่องจากประเด็นที่ 2 Lagarde ตั้งคำถามอีกว่า ยุคเศรษฐกิจใหม่ จะสามารถยกระดับของมนุษย์ขึ้นไปได้อย่างไร และ นวัตกรรมจะสามารถผลักดันศักยภาพของผู้คนทั้งมวลไปข้างหน้าอย่างไร โดยเธออ้างคำพูดของ Abraham Lincoln ที่เคยกล่าว “หลักความเชื่อของอดีตที่เงียบงันไม่เพียงพอกับปัจจุบันที่โหมกระหน่ำ สถานการณ์ที่เผชิญเต็มไปความยากลำบากกองใหญ่ และ เราต้องยกระดับตัวเองให้เท่าทันสถานการณ์ ในเมื่อกรณีของเราเป็นเรื่องใหม่ เราจึงต้องคิดใหม่และทำใหม่”

เธอจึงได้ขยายความในส่วนของการคิดใหม่ทำใหม่ว่า เราต้องสร้างสะพานเชื่อมโยงที่พาเราไปสู่อนาคตอันปรารถนา เพื่อค้นหาขอบฟ้าใหม่ สะพานเชื่อมต่อที่เธอพูดถึง หมายถึงการศึกษา ที่ไม่ใช่การศึกษาทั่วไป แต่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของยุคที่สมองกลก้าวหน้าไปมาก กล่าวคือ ระบบการศึกษาไม่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และโลกการทำงานที่มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลาได้ทัน เธอเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีคนคิดมองเรื่องนี้ในแง่กลยุทธ์ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีคนใส่ใจไม่มากพอ

โดยพื้นฐาน เธอมองว่า เราต้องเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระ (what) วิธีการ (how) ช่วงเวลา (when) รวมถึงเหตุผลหรือความสำคัญ (why) ที่คนเรียนรู้ และต้องก้าวข้ามรูปแบบการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เด็กมานั่งเฉยในชั้นเรียน ทำงานที่ได้รับมอบหมาย และท่องจำบทเรียน เพราะคอมพิวเตอร์สามารถทำแทนเราได้ ดังนั้นการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงต้องมุ่งเน้นด้านที่มนุษย์ทำได้เหนือกว่าคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ทักษะทางปัญญา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะเครื่องกลประณีต หรือ ทักษะการเขียนโปรแกรมที่รอบด้าน หรือพูดภาพใหญ่ คืองานที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ ความเอาใจใส่ และฝีมืออย่างมาก นอกจากนี้ ยิ่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มนุษย์จำเป็นต้องมีความสามารถในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ด้วยเหตุนี้ภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และยังหมายความว่า สถาบันการศึกษาต้องคิดให้หนักยิ่งกว่าว่าจะจัดหาความรู้อย่างไรให้คนสมัยนี้ พร้อมสำหรับโลกในวันข้างหน้า

Lagarde แสดงวิสัยทัศน์ต่อไปว่า เครื่องกลสามารถเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ และ คอมพิวเตอร์สามารถมาแทนที่ปัญญาของเราได้ แต่เธอยังมั่นใจว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีวันมาแทนที่ความสามารถที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และไฟความกระตือรือร้น ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ การศึกษา ต้องเป็นสะพานเชื่อมระหว่างปัจจุบันกับอนาคต สิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ แต่เธอกล่าวว่า เรายังต้องสร้างรากฐานที่ทนทานด้วย ซึ่งเธอหมายถึงวิธีคิดแบบใหม่ต่อเศรษฐกิจโลก นั่นคือ new multilateralism หรือ พหุภาคีนิยม กล่าวคือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมีความรับผิดชอบร่วมกันในสินค้าสาธารณะของโลก (global common good) ทลายพรมแดนและอุปสรรคที่ตกทอดมาจากยุคที่ผ่านพ้นไปนานแล้ว โดยให้เหตุผลว่ารากฐานแบบนี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้คนรุ่นใหม่คล้อยตาม อีกทั้งจัดการช่องทางอันซับซ้อนของโลกการสื่อสารไม่หยุดนิ่ง รวมถึงเพื่อตระหนักว่าปัญหาระดับโลกไม่สามารถแก้ได้ด้วยหนทางระดับประเทศอีกต่อไป เพราะปัญหาเหล่านั้นเพิกเฉยเขตแดนอย่างสิ้นเชิง

เธอได้ยก IMF เป็นตัวอย่างของพหุภาคีนิยม เพราะกองทุนฯ ประกอบด้วย 188 ประเทศสมาชิกที่มีคำมั่นที่จะทำงานร่วมกัน และ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามจำเป็น ด้วยความคิดว่าการช่วยเหลือประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการช่วยเหลือทุกฝ่าย ยิ่งไปกว่านั้น พหุภาคีนิยมใหม่จะต้องห้อมล้อมเส้นใยเครือข่ายและการประสานงานอันหนาแน่นที่ฝังลึกอยู่ในเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ผู้เล่นจะมีความแตกต่างหลากหลายมากบนเวทีใหม่ระดับโลก ความท้าทายสำคัญ คือ พวกเขาต้องทำงานแบบเกาะเกี่ยวกัน และ เขียนบทใหม่ของโชคชะตาโลกด้วยกัน

สตรีคนแรกที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจ G8 สรุปปิดท้ายโดยแสดงความเห็นด้วยกับคำกล่าวของ 2 นักอนาคตศาสตร์ ได้แก่ Erik Brynjolfsson และ Andrew McAfee 2 ผู้เขียนหนังสือ The Second Machine Age ที่กล่าวว่า “เทคโนโลยีไม่ใช่โชคชะตา แต่เรากำหนดโชคชะตาของเราเอง”

 

ที่มา: เรียบเรียงจากคำกล่าวสุนทรพจน์ http://www.imf.org/external/np/speeches/2014/022514.htm และวิดีโอการกล่าวสุนทรพจน์ http://www.youtube.com/watch?v=1Lbgyx055Xc

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net