เกร็ดข่าวรำลึก 3 ปีวิกฤตฟุกุชิมะ

วันนี้เมื่อสามปีที่แล้ว (11 มี.ค. 2554) เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ขนาด 9.0 แมกนิจูด ซึ่งนับเป็นแผ่นดินไหวครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 40.5 เมตร ในมิยาโกะ อิวาเตะ โทโฮะกุ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ โดยมีแกนปฏิกรณ์ปรมาณูหลอมละลาย เกิดการอพยพประชากรหลายแสนคน ธนาคารโลกคาดการณ์มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ราว 7.6 ล้านล้านบาท "ประชาไท" รวบรวมเกร็ดข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นมานำเสนอ

แผนใหม่นโยบายพลังงาน นิวเคลียร์ยังสำคัญ
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการเสนอร่างแผนนโยบายพลังงานต่อรัฐสภาญี่ปุ่น ซึ่งคาดกันว่าจะลงมติเห็นชอบในมีนาคมนี้ ร่างดังกล่าวระบุว่า พลังนิวเคลียร์ยังคงเป็นแหล่งไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศ พร้อมกันนี้ระบุด้วยว่า การพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจะลดลง แต่การประชุมเพื่อวางมาตรฐานความปลอดภัยของเครื่องปฏิกรณ์หลังวิกฤตนิวเคลียร์เมื่อปี 2554 ก็ควรจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยญี่ปุ่นนั้นมีเครื่องปฏิกรณ์พาณิชย์ 48 แห่ง แต่ทั้งหมดหยุดทำการจนกว่าจะผ่านข้อกำหนดด้านความปลอดภัย

นอกจากนี้ ร่างแผนพลังงานนี้ยังกล่าวถึงการรวมกันของพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียน และเชื้อเพลิงฟอสซิล ว่าจะเป็นแหล่งพลังงานที่พึ่งพาได้และเสถียรที่สุดสำหรับการรองรับความต้องการพลังงานของญี่ปุ่นด้วย

ยากูซ่าจ้าง "คนไร้บ้าน" ทำความสะอาดเตาปฏิกรณ์
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีรายงานว่ายากูซ่าในญี่ปุ่นจ้างคนไร้บ้านไปทำงานความสะอาดเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในโครงการของรัฐบาลญี่ปุ่น ด้วยค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ โดยยากูซ่าจะได้ค่านายหน้าราว 3,000 กว่าบาทต่อคนงานหนึ่งคน

ยาสุฮิโระ อาโอกิ บาทหลวงซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มช่วยเหลือคนไร้บ้าน ระบุว่า คนเหล่านี้ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น  จำนวนมากถูกจัดให้นอนรวมกันในหอพัก มีการหักค่าที่พักและค่าอาหารออกจากค่าจ้าง แล้วพอสิ้นเดือน พวกเขาก็ไม่ได้ค่าจ้างเลย

คนวัยเกษียณอาสาสู้กัมมันตภาพรังสี
ไม่กี่เดือนหลังวิกฤตฟุกุชิมะ กลุ่มผู้ที่เกษียณแล้วกว่า 200 คน อาสาเข้าไปในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อควบคุมสถานการณ์การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี โดย ยามาดะ ยาสึเทรุ แกนนำกลุ่มบอกว่า เขาอายุ 72 ปีแล้ว (2554) โดยเฉลี่ยเขาจะมีชีวิตอยู่อีก 13-15 ปี หากเขาได้รับกัมมันตภาพรังสีเข้าไป มะเร็งอาจจะใช้เวลาเติบโตราว 20- 30 ปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นเขาก็จะแก่เกินกว่าที่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งแล้ว ขณะที่บางคนบอกว่าคนรุ่นพวกเขาเป็นคนสนับสนุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนั้นจึงควรต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดของเหล่าผู้สูงอายุนี้ถูกปฏิเสธ โดยบริษัทเทปโกได้กล่าวขอบคุณพวกเขา พร้อมกับบอกว่ามีคนงานเพียงพอแล้ว

เกิร์ลกรุ๊ปต้านนิวเคลียร์ด้วยเสียงเพลง
นอกจากเพลงรำลึกผู้สูญเสีย ระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว ยังมีเพลงต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ อย่างเพลงของวงเกิร์ลกรุ๊ป "Seifuku Kojo Iinkai" (คณะกรรมการปรับปรุงเครื่องแบบนักเรียน) พวกเธอมีเครื่องแบบเป็นชุดนักเรียน เพลงของพวกเธอเป็นเพลงป๊อบจังหวะสนุก แต่เนื้อหาวิจารณ์การใช้พลังงานนิวเคลียร์ เช่น เพลง Da! Da! Datsugenpatsu (เป็นอิสระจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) ซึ่งมีเนื้อหาบอกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ยกโทษให้ไม่ได้แม้ว่าจะเป็นนโยบายของชาติก็ตาม เพราะมีการโกหกเกี่ยวกับผลกระทบจากกัมมันตรังสี นอกจากนี้ ยังบอกไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่บอกว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบปลอดภัยว่าให้ไปอยู่เสียเอง รวมถึงพูดถึงนักการเมืองที่ไม่จัดการกับปัญหาและคิดถึงแต่ประโยชน์ของตัวเองด้วย วงนี้ก่อตั้งเมื่อ 2535 มีการผลัดเปลี่ยนสมาชิกเหมือนกับวงอื่น อย่าง Morning Musume และ AKB48 โดยได้รับเชิญเข้าร่วมงานต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์หลายงาน และสมาชิกบางคนยังเข้าร่วมการเดินขบวนต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ด้วย

3/11 Kids' Photo Journal บันทึกผ่านสายตาเด็ก
ยูมิ โกโตะ และทีมช่างภาพ เริ่มโครงการ 3/11 Kids' Photo Journal เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ให้เด็กๆ ในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิจากจังหวัดอิวาเตะ มิยากิ และฟุกุชิมะ เขียนและบันทึกภาพชีวิตประจำวันและความคืบหน้าในการฟื้นฟูบ้านเกิดของพวกเขา โดยหวังจะสื่อให้เห็นถึงผลของภัยพิบัติในพื้นที่เหล่านี้ในมุมที่ต่างไปจากที่หนังสือพิมพ์และทีวีรายงาน โดยนอกจากสิ่งเหล่านี้จะแทนเสียงของเด็กๆ แล้ว ยังช่วยบำบัดจิตใจของพวกเขาด้วย ก่อนหน้านี้ ยูมิ โกโตะ ได้จัดโครงการคล้ายกันนี้ให้กับเด็กๆ ในจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547

 

 

มังงะจากประสบการณ์ตรงของอดีตคนงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
คาซุโอะ ทาซึทะ อดีตคนงานที่เข้าไปทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ เขียนการ์ตูนเรื่อง 1F: Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant Work Log ตีพิมพ์ลงใน Morning นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ของสำนักพิมพ์โคดันฉะ เล่าถึงประสบการณ์ของเขาในพื้นที่ ในการ์ตูนจะเห็นภาพของคนงานซึ่งจะต้องผ่านระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและการปฏิบัติงานที่รัดกุม เข้า-ออกเขตอพยพและพื้นที่ที่เสียหายจากสึนามิ พบกับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ตอนนี้บรรดาสัตว์ออกมาเดินเตร็ดเตร่ได้อย่างอิสระ

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก
http://edition.cnn.com/2011/WORLD/asiapcf/05/31/japan.nuclear.suicide/
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-13598607
http://www.latimes.com/business/la-fgw-japan-quake-world-bank-20110322,0,3799976.story
http://www.theguardian.com/world/2014/feb/25/japan-energy-policy-fukushima-nuclear-power
http://www.forbes.com/sites/williampentland/2013/12/30/yakuza-gangsters-recruit-homeless-men-for-fukushima-nuclear-clean-up/
http://www.animenewsnetwork.com/news/2013-11-03/fukushima-nuclear-worker-pens-manga-about-experience
http://invisiblephotographer.asia/2012/06/21/311kidsphotojournal/
https://www.facebook.com/KidsPhotoJournal
http://www.kidsphotojournal.org/english/
http://www.world-nuclear-news.org/ON-Manga-shows-Fukushima-workers-experience-0111131.html
http://www.japantimes.co.jp/culture/2011/09/08/music/seifuku-kojo-iinkai-ditch-the-idol-prattle-for-an-antinuke-message/#.Ux45BfmSzwg

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท