Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้เข้ามามีอิทธิพลในการสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันของมนุษย์ในปัจจุบัน โดยอิทธิพลจากเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนมากขึ้นก็ดีหรืออิทธิพลของเครื่องมือสื่อสารที่ถูกพัฒนาให้ง่ายต่อการเข้าถึงเครื่องข่ายอินเตอร์เน็ตก็ตาม ย่อมส่งผลให้ประชาชนสามารถและเปลี่ยนข่าวสารประเภทต่างๆ ซึ่งกันและกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สื่อสังคมออนไลน์ย่อมมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเด่นที่ผู้ออกแบบสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ ได้ออกแบบเอาไว้ ด้วยมุ่งหวังให้ผู้ใช้สื่อดังกล่าวสามารถสื่อสารข้อมูลต่างๆ ถึงกันและกันได้สะดวก รวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี สื่อสังคมออนไลน์อาจถูกนำมาใช้เพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง (expressions of political opinion) โดยส่วนตัวให้กับบุคคลที่อยู่ในบุคคลที่อยู่ในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ของตนหรือแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง (political criticism) ของตน ให้กับสาธารณะชนที่ใช้เครื่อข่ายออนไลน์หรือบุคคลที่อยู่ในสังคมออนไลน์ร่วมกันตนได้รับทราบ ผ่านการใช้สื่อสังคมออนไลน์ร่วมกัน  ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นทางการเมืองหรือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองบนโลกออนไลน์ผ่านการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ย่อมทำได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และบุคคลอื่นๆ ที่ใช้เครื่องข่ายสังคมออนไลน์ร่วมกันต่างก็สามารถสนทนาหรือแลกเปลี่ยนความเห็นหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางการเมืองซึ่งกันและกันได้โดยง่ายและสะดวก สื่อสังคมออนไลน์ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ยังเอื้อต่อการแลกเปลี่ยน (sharing) ข้อความและรูปภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการแสดงออกในทางการเมือง ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ ที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็น ทวิตเตอร์ (twitter) เฟชบุ๊ค (facebook) และยูทูบ (youtube) ต่างก็ถูกนำมาใช้งานเป็นเครื่องมือแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองทั้งสิ้น

นอกจากนี้ นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ต่างก็นำสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทางการเมือง (Political Communication instruments) โดยมุ่งประโยชน์ทางการเมืองหรือมุ่งแย่งชิงความได้เปรียบในทางการเมืองกับคู่แข่งทางการเมืองของตน รวมไปถึงมุ่งการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมือง อภิปรายประเด็นในทางการเมือง ถายทอดข่าวสารกิจกรรมในทางการเมืองตางๆ ระหวางสมาชิกในสังคมออนไลน์หรือมุ่งสื่อข้อมูลข่าวสารไปยังสื่อมวลชนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลข่าวสารไปเผยแพร่ต่อประชาชนอีกทอดหนึ่ง

แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการแสดงความเห็นหรือถูกนำมาใช้เป็นเวทีในการถกเถียงประเด็นทางการเมือง รวมไปถึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสือสารทางการเมืองดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น อย่างไรก็ตาม สื่อสังคมออนไลน์อาจถูกใช้นำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือที่สร้างความแตกแยกในหมู่ชนหรือแตกความสามัคคีในสังคมได้เช่นเดียวกัน หากประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองอื่นๆ นำเสนอข้อมูลข่าวสารทางการเมืองที่มีเนื้อหาในทำนองที่โจมตีผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองไม่สอดคล้องกับตนผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงความเกลียดชังหรือดูหมิ่นดูแคลนเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ความเป็นพลเมือง ลักษณะความพิการทางกาย ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศและรสนิยมทางเพศ ของผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองต่างไปจากตนเองหรือนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับตนบนโลกออนไลน์ ซึ่งการแสดงออกในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะเช่นนี้ เป็น การพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกออนไลน์ (Hate Speech in Cyberspace)

รูปที่ 1: สื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ บนโลกอินเตอร์เน็ตที่อาจถูกนำมาใช้เพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง หรือแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง

อ้างอิง: European Youth Card Association, Tell us what you think about hate speech online, http://www.eyca.org/news/90/tell-us-what-you-think-about-hate-speech-online accessed 9 March 2014.

การพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์ ย่อมก่อเกิดความเกลียดชังระหว่างหมู่ชนหรือนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมระหว่างประชนด้วยกัน จนอาจก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงระหว่างผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันในสังคมหรือระหว่างกลุ่มอิทธิผลและกลุ่มผลประโยชน์ที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน อนึ่ง อินเตอร์เน็ตถือช่องทางหนึ่งในระบบสารสนเทศที่ทำให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลอื่นๆ สามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้สะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เมื่อประชาชนหรือกลุ่มบุคคลสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้โดยง่าย เพียงผ่านการใช้งานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ก็ย่อมทำให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลสามารถพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

สหภาพยุโรปถือเป็นองค์การเหนือชาติระดับภูมิภาคที่นอกจากจะมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคแล้ว สหภาพยุโรปยังกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความสามัคคีในระดับภูมิภาคยุโรปอีกด้วย ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีความสามัคคี รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นไปในเชิงการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีด้วย

การกำหนดมาตรการในระดับภูมิภาคที่สามารถลดความขัดแย้งจากการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกออนไลน์ ถือเป็นบริบทหนึ่งในภารกิจหลักของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภูมิภาค เพื่อให้เกิดสันติภาพทั้งในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน อนึ่ง พลเมืองของประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรปมีเสรีภาพในการแสดงออกในด้านต่างๆ (right to freedom of expression) อันเป็นไปตามมาตรา 10 แห่งอนุสัญญาแห่งยุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ค.ศ. 1950 (European Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms 1950) ที่ได้วางหลักเกณฑ์ให้เสรีภาพแก่พลเมืองในการแสดงออกทางความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ ตราบเท่าที่การแสดงออกในด้านต่างๆ ที่ประชาชนพึ่งจะกระทำ ไม่ไปกระทบต่อสิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเห็นมนุษย์ของบุคคลอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เอง การแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองในโลกออนไลน์เท่าที่จำเป็นตามแนวทางสังคมประชาธิปไตย (democratic society) ถือเป็นสิทธิที่พลเมืองสหภาพยุโรปพึ่งกระทำได้ แต่การแสดงความหรือการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ต้องไม่กระทำไปในทางที่กระทบต่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยของสาธารณชน และสิทธิหรือศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น

นอกจากการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยส่วนตัวให้กับบุคคลที่อยู่ในบุคคลที่อยู่ในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์ของตนหรือแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองให้กับสาธารณะชนที่ใช้เครื่อข่ายออนไลน์หรืออยู่ในสังคมออนไลน์ร่วมกันตนได้รับทราบ โดยอาศัยกฎหมายสิทธิมนุษยชนสหภาพยุโรปแล้ว สหภาพยุโรปยังได้พยายามกำหนดโครงการต่างๆ ของสหภาพยุโรป ตัวอย่างเช่น การกำหนดให้วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันรณรงค์การใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย (Safer Internet Day - SID) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้อินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็น (safer space for expression) อันปลอดจากการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังในลักษณะต่างๆ และการสร้างเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังโดยสภายุโรป (No Hate Speech Movement) โดยสภายุโรป ที่มุ่งขจัดหรือลดผลกระทบของการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังในภูมิภาคยุโรป เป็นต้น

รูปที่ 2: โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อแสดงแผนผังพยายามเชื่อมโยงว่าชาวยิวสมคบคิดกับผู้นำประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร (Jewish world conspiracy propaganda poster) อันถือเป็นการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองประการหนึ่ง

อ้างอิง: Holocaust Education & Archive Research Team, Hitler Speaks to the Reichstag on the Jewish Question, http://www.holocaustresearchproject.org/holoprelude/jewishquestion.html accessed 9 March 2014.

สำหรับเหตุที่สหภาพยุโรปใส่ใจต่อปัญหาและผลกระทบจากการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังเป็นพิเศษ ก็เพราะหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป เคยได้รับผลกระทบจากการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองของพรรคนาซีและกองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่สงครามระหว่างประเทศภูมิภาคยุโรปและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอันสุดโหดร้ายในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ พรรคนาซีและกองทัพเยอรมันยังเคยอาศัยการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังมาเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ (Nazi Propaganda) สำหรับสร้างความชอบธรรมให้ผู้นำทางการเมืองของตนในขณะนั้นกับโน้มน้าวจิตใจประชาชนให้เห็นด้วยหรือคล้อยตามการกระทำของผู้นำประเทศเยอรมันในขณะนั้น

นอกจากนี้ หลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังได้พยายามกำหนดมาตรการทางกฎหมายเฉพาะสำหรับจัดการกับปัญหาการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังในลักษณะทั่วไปและการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังในโลกอินเตอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น ประมวลกฎหมายอาญาของเดนมาร์ก (Straffeloven) กฎหมายสื่อมวลชนของฝรั่งเศส (Loi du 29 juillet 1881 sur la liberté de la presse) และกฎหมายความสงบเรียบร้อยของประชาชนของประเทศอังกฤษ (Public Order Act of 1986) ซึ่งกฎหมายสารบัญญัติเหล่านี้ได้กำหนดมาตรทางอาญาที่กำหนดโทษแก่ผู้ที่แสดงการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชัง

รูปที่ 3: โครงการเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังโดยสภายุโรป (No Hate Speech Movement) โดยสภายุโรป ที่มุ่งขจัดหรือลดผลกระทบของการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังในภูมิภาคยุโรป

อ้างอิง: Council of Europe, Welcome to the No Hate Speech Movement Campaign of Young People for Human Rights Online, http://www.nohatespeechmovement.org/ accessed 9 March 2014.

 

หากจะมองย้อนถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของประเทศไทย ผู้เขียนเห็นว่านักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองต่างก็พยายามอาศัยการพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ มาเป็นเครื่องมือที่ในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองให้ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาหรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้อยตามไปกับตนหรือกลุ่มทางการเมืองของตน นอกจากนี้ ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาหรือมีอุดมการณ์ร่วมกับนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ก็พยายามที่จะใช้สื่อสังคมออนไลน์มาเป็นพื้นที่ในการแสดงความเห็นทางการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองหรือติดตามข้อมูลข่าวสารในทางการเมือง ในทางที่สร้างความเกลียดชังหรือดูหมิ่นดูแคลนเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ความเป็นพลเมือง ลักษณะความพิการทางกาย ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศและรสนิยมทางเพศ ของผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองต่างไปจากตนเองหรือนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับตนบนโลกออนไลน์ เช่น การอาศัยเพศหรือรสนิยมทางเพศมาสัญลักษณ์ในการโจมตีทางการเมืองและการอาศัยความเป็นผู้คนในภูมิภาคต่างๆ มาเป็นประเด็นในการดูหมิ่นดูแคลน เป็นต้น

การพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ มาเป็นเครื่องมืออาจเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยรุนแรงมากขึ้น จนอาจนำไปสู่การยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชน นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกันก็เป็นได้ในอนาคต ภาครัฐ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองและประชาชนควรหันมาใส่ใจและตระหนักถึงโทษภัยของ การพูดว่าร้ายที่สร้างความเกลียดชังทางการเมืองในโลกออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่อาจสร้างความแตกแยกอันร้าวลึกระหว่างผู้คนในสังคมไทย

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

[1] Banks, J., ‘European regulation of cross-border hate speech in cyberspace: The limits of legislation’, 2011, 1 (19) European Journal of Crime, Criminal Law and Criminal Justice, pp 1-13.

[2] European Court of Human Rights, Factsheet - Hate speech, http://www.echr.coe.int/Documents/FS_Hate_speech_ENG.pdf accessed 9 March 2014.

[3] European Law Students’ Association & Council of Europe, Online Hate Speech: Hate or Crime?, http://files.elsa.org/AA/Online_Hate_Speech_Essay_Competition_runner_up.pdf accessed 9 March 2014.

[4] Kiska, R., 'Hate Speech: A Comparison between the European Court of Human Rights and the United States Supreme Court Jurisprudence', 2013, 1 (25) Regent University Law Review, pp 107-151.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net