สยามประชาภิวัฒน์แถลงรัฐบาลสิ้นสภาพ-เชื่อจะมีการตั้งประเทศ "อีสานล้านนา"

แถลงการณ์ "สยามประชาภิวัฒน์" รัฐบาลรักษาการสิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากจัดเลือกตั้งล้มเหลว ดำเนินนโยบายล้มเหลว เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เตรียมการแบ่งแยกประเทศ "อีสานล้านนา" "ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน" ชี้เลือกตั้งไม่ใช่ทางออก เพราะคนใช้สิทธิน้อยมาก "บรรเจิด" หวัง กกต. ชงศาล รธน. ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

การแถลงข่าวของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2557 (ที่มาของภาพ: FMTV)

 

5 มี.ค. 2557 - เมื่อเวลา 11.00 น. วานนี้ (4 มี.ค.) กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ออกแถลงการณ์การสิ้นสุดของรัฐบาลรักษาการ มีผู้ร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยทั้งหมดได้ออกแถลงการณ์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ "เรื่องการสิ้นสุดลงของรัฐบาล" โดยมีรายละเอียดว่า

"ความแตกแยกขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ กำลังขยับเข้าสู่ “ภาวะสงคราม” ซึ่งเป็นภาวะที่ฝ่ายหนึ่งใช้กองกำลังติดอาวุธซุ่มโจมตีและทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง ที่ใช้การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ถือหลักสันติอหิงสาเป็นแนวทางในการต่อสู้ ภาวะการณ์เช่นนี้ย่อมนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิตและร่างกายของผู้บริสุทธ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กได้ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของผู้กระหายอำนาจแม้จะแลก ด้วยชีวิตเลือดเนื้อของผู้บริสุทธ์และยังไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะมีผู้ บริสุทธ์อีกกี่รายที่จะต้องพลีชีวิตเพื่อให้รักษาการณ์นายกรัฐมนตรีที่ไม่ อาจกล่าวอ้างหลักประชาธิปไตยได้ ได้เสวยอำนาจอีกต่อไป"

"กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เห็นว่า รัฐบาลภายใต้การนำของรักษาการณ์นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้สิ้นสุดลงปราศจากฐานที่จะอ้างความชอบธรรมใดๆตามรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป อันสืบเนื่องมาจาก (1) “ความล้มเหลวของการเลือกตั้ง” (2) “ความล้มเหลวของรัฐบาล” และ (3) “องคาพยพของรัฐบาลกระทำการปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ”"

"(1) “ความล้มเหลวของการเลือกตั้ง” การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่อาจนำไปสู่การเปิดสภาผู้แทนราษฎรได้ตามมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะขัดกับมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ และปัญหาอื่นๆ อีกหลายประการ กล่าวโดยสรุป ฉันทานุมัติของประชาชนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ส่งผลให้จัดตั้งรัฐบาลนั้น ย่อมสิ้นสุดลงเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และเพียงทำหน้าที่รักษาการณ์เพื่อรอสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ในการเลือกผู้ บริหารชุดใหม่ต่อไป เมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ การดำรงอยู่ของรัฐบาลจึงมิอาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป"

"(2) “ความล้มเหลวของรัฐบาล” รัฐบาลรักษาการณ์ภายใต้การนำของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในภาวะล้มเหลวในการบริหารโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ก) ความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ข) ความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวนาอันสืบเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทยจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายและการเสียชีวิต จำนวนมากของชาวนาผู้ประสบเคราะห์กรรมจากนโยบายดังกล่าว ความล้มเหลวดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาล ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ค) ความล้มเหลวในการดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน โดยเฉพาะจากกองกำลังที่ลอบซุ่มโจมตีด้วยอาวุธสงครามต่อผู้บริสุทธ์ ความเสียหายต่อผู้บริสุทธ์คนแล้วคนเล่านอกจากอำนาจฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถปก ป้องคุ้มครองได้แล้ว การกระทำทั้งหลายเหล่านี้น่าเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับฝ่าย รัฐบาลโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"

"(3) “องคาพยพของรัฐบาลกระทำการปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ” เมื่อรัฐบาลไม่อาจอาศัยความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับรัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการสั่งการใดๆได้ ตลอดทั้งศาลได้มีคำสั่งห้ามมิให้ “ศูนย์รักษาความสงบ” (ศรส.) ใช้อำนาจตามที่ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้อีกต่อไป “องคาพยพของรัฐบาล” จึงหันไปใช้กองกำลังติดอาวุธที่เคยใช้ได้ผลเมื่อพฤษภาคม 2553 เพื่อข่มขู่คุกคาม ผู้ชุมนุมโดยสงบปราศอาวุธถือหลักสันติอหิงสา จนนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายของผู้บริสุทธ์ คนแล้วคนเล่า ไม่เว้นแม้แต่เด็กผู้บริสุทธ์ที่ไม่เดียงสา จนล่าสุดมีการเดินพลสวนสนามของ กองกำลังอาสาสมัคร และต่อมามีการรับสมัครอาสาสมัครโดยกล่าวอ้างว่าเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงไปสู่ “การแบ่งแยกประเทศ” เป็น “ประเทศอีสานล้านนา” นั้น การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นพฤติกรรมที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นการกระทำที่เป็น ปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญจนไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป"

"จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลรักษาการณ์จึงสิ้นสภาพจากกระทำของตนเองและองคาพยพของรัฐบาลโดยไม่ อาจกล่าวอ้างรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตยได้อีกต่อไป เพราะผู้จะกล่าวอ้าง “รัฐธรรมนูญ” และ “หลักประชาธิปไตย” ได้นั้นจะต้องไม่ใช่ “ผู้ทำลาย” และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง สถาบันทางการเมืองเท่าที่เหลืออยู่และประชาชนชอบที่จะสถาปนา “ผู้ปกป้องรัฐและรัฐธรรมนูญ” ขึ้นใหม่เพื่อธำรงความเป็น“ราชอาณาจักร”ที่มิอาจแบ่งแยกได้ และพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสืบไปตราบชั่วลูกชั่วหลานของสยามประเทศ ด้วยจิตคารวะ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์  4 มีนาคม 57" (ชมคลิปการแถลงข่าวของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์)

สำนักข่าวไทย รายงานคำให้สัมภาษณ์ ของนายบรรเจิดที่กล่าวว่า คนที่ชี้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่นั้น คือสถาบันทางการเมืองที่เหลืออยู่ ที่ต้องช่วยกันไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือสถาบัน ส.ว.ที่เหลืออยู่เพียงที่เดียว ที่อาจเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ ซึ่งคาดว่าภายใน 2-3 วันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งที่ต้องเป็นวันเดียวและการเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดภายหลัง ซึ่งหากพูดตามหลักกฎหมาย การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นไปไม่ได้

ขณะที่นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า รัฐบาลที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ควรหลีกทาง แต่หากรัฐบาลจะใช้หลักกฎหมายมาต่อสู้ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ก็จะใช้ข้อกฎหมายต่อสู้เช่นเดียวกัน วันนี้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเห็นได้ว่าประชาชนมาใช้สิทธิน้อยมาก แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก รัฐบาลไม่ควรดึงดันเอาการเลือกตั้งมาใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกตัวเองอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท