Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศยูเครนที่ปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2557 – ปัจจุบัน มักได้รับคำอธิบายจากสื่อสารมวลชน รวมถึงนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถึงเหตุการณ์ดังกล่าว อยู่ใน 3 กรอบหลัก กล่าวคือ

กรอบคำอธิบายที่หนึ่ง ยูเครนในฐานะพื้นที่ปะทะทางอำนาจระหว่างรัสเซียและสหภาพยุโรป (EU)
คำอธิบายถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในยูเครนตามกรอบนี้ มักมีจุดเน้นการอธิบายอยู่ที่บทบาทของรัสเซียในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อประเทศอดีตสหภาพโซเวียต อีกนัยหนึ่งคือประเทศที่รัสเซียมองว่าเป็นรัฐกันชน (Buffer State) ของตนเอง อาทิ จอร์เจีย ยูเครน คาซัสสถาน อุซเบกิสถาน เป็นต้น โดยสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังปะทุในยูเครน เป็นผลลัพธ์จากการแข่งขันทางอำนาจระหว่างมหาอำนาจอย่างรัสเซียและสหภาพยุโรป โดยมีสหรัฐอเมริกาที่กำลังสอดแทรกเข้ามาในความสัมพันธ์ดังกล่าว ทั้งนี้การปะทะกันทางอำนาจระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปนั้น ไม่ได้เพียงพึ่งปรากฏในประเทศยูเครนแต่ดำเนินเรื่อยมาเสมอผ่านพื้นที่ปะทะอื่นๆ อาทิ สงครามที่เกิดขึ้นในประเทศจอร์เจีย พ.ศ. 2551 เป็นต้น

กรอบคำอธิบายที่สอง วิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ในฐานะประธานาธิบดีที่ไร้ความชอบธรรม
ชุดคำอธิบายเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในยูเครนตามกรอบนี้ มักผลิตสร้างคำอธิบายโดยตรงไปยังตัวบุคคล โดยเฉพาะคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับตัวประธานาธิบดียานูโควิช ถึงบทบาทหน้าที่ซึ่งมักดำเนินการบริหารประเทศให้อยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของประเทศรัสเซีย (Pro-Russia) มากกว่าการบริหารประเทศให้ไปเชื่อมโยงกับประเทศในสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของประธานาธิบดียานูโควิช ยังถูกอธิบายเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ปฏิวัติสีส้ม (Orang Revolution) อันเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วง พ.ศ. 2547 ที่ผลการเลือกตั้งดังกล่าวนายยานูโควิชเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่ด้วยการประท้วงของผู้คนที่มองว่าการเลือกตั้งในครั้งนั้น มีการทุจริตอย่างมาก จึงมีการล้มการเลือกตั้งครั้งนั้นโดยศาลฎีกา ภาพลักษณ์ของนายยานูโควิชจากเหตุการณ์ที่กล่าวข้างต้นจึงสะท้อนให้นายยานูโควิช มีลักษณะของประธานาธิบดีที่บกพร่องในความชอบธรรมอยู่สูงตามการอธิบายในกรอบนี้

กรอบคำอธิบายที่สาม การปลดแอกประเทศของประชาชนชาวยูเครน การอธิบายในลักษณะนี้มุ่งไปที่การทำความเข้าใจต่อความคับข้องใจของประชาชนที่รวมตัวขึ้นมาภายใต้การจัดโครงสร้างอย่างหลวมๆ กล่าวคือ ไม่มีโครงสร้างในการจัดตั้งและแกนนำที่ชัดเจน การลุกฮือของประชาชนในกรุงเคียฟ เป็นปฏิกิริยาตอบโต้จากความไม่พอใจต่อการผลิตนโยบายของระบบการเมือง ที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ นโยบายของระบบการเมืองที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับข้อตกลงเขตการค้าเสรีของสหภาพยุโรป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อขยายความเข้าใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในยูเครนให้มากขึ้น อาจต้องเริ่มทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์สังคม (Historical Society) ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ผ่านกระบวนที่เรียกว่า การกลืนกลายให้เป็นรัสเซีย (Russification) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตในกระบวนการกลืนกลายให้เป็นโซเวียต (Sovietization) กระบวนการดังกล่าวได้เข้าไปก่อรูป (Shape) หรือได้เข้าไปปฏิบัติการ (Operate) ต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน จนอาจคลี่คลายมาเป็นชนวนของความขัดแย้งในปัจจุบัน

การกลืนกลายให้เป็นโซเวียต หรือการกลืนกลายให้เป็นรัสเซีย อาจอธิบายในความหมายอย่างกว้างได้ว่า เป็นกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในแต่ละพื้นที่เพื่อดูดกลืนสำนึกเดิมและสร้างสำนึกความเป็นโซเวียต หรือสร้างสำนึกความเป็นรัสเซียเข้าไปแทนที่ แต่หากจะอธิบายในความหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไปจะพบว่า กระบวนการกลืนกลายให้เป็นโซเวียต เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติบอลเชวิคเมื่อเลนินขึ้นครองอำนาจ การกลืนกลายให้เป็นโซเวียตหมายถึง การใช้รูปแบบทางการเมืองและการจัดการปกครอง (Model of Governance) ของโซเวียตกับประเทศหรือพื้นที่อื่นๆ รวมถึงการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปรื้อสร้าง (Restructuring) เศรษฐกิจ ชีวิตประจำวัน สังคม วัฒนธรรม และดนตรี ในพื้นที่หนึ่งให้เป็นเหมือนกับโซเวียต 

ในขณะที่การกลืนกลายให้เป็นรัสเซีย หมายถึง สิทธิอำนาจ (Authority) ที่จะเข้าไปเปลี่ยน ผสมผสาน หรือกลืนกลาย (Assimilate) ผู้คนในชาติอื่นๆ ให้เป็นรัสเซีย โดยอาจใช้วิธีการแบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and rule)  การสร้างสายสัมพันธ์แบบใหม่ (Rapprochement) หรือการผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่ง (Merge)

โดยที่ทั้งสองกระบวนการดังกล่าวอาจมีวัตถุประสงค์และแนวทางในการใช้ที่ต่างกันกล่าวคือ การกลืนกลายให้เป็นโซเวียต มุ่งเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน หรือกระทำโดยตรงกับกลุ่มผู้ปกครองในแต่ละพื้นที่ให้มีอำนาจในการปกครองและจัดการกับผู้ที่ไม่จงรักภักดีและไม่เชื่อมมั่นต่อความเป็นโซเวียต ในขณะที่การกลืนกลายเป็นรัสเซียมุ่งเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้กับทั้งกลุ่มผู้ปกครอง และคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ปกครองประเทศ โดยให้คนกลุ่มน้อยเป็นตัวแปรในการควบคุมความจงรักภักดีของประเทศนั้นๆ ต่อรัสเซีย อาทิ การเหตุการณ์ในยูเครนที่ประชากรชาวยูเครนฝั่งตะวันตก ออกมาประกาศตัวสนับสนุนประธานาธิบดียานูโควิช ปักธงชาติรัสเซีย และมีกองกำลังติดอาวุธเข้าไปควบคุมในเขตพื้นที่ เหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมานั้นย่อมสะท้อนปฏิบัติการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี หรือเหตุการณ์ในพื้นที่ออสเซเทียใต้ และพื้นที่อับคาเซีย ในประเทศจอร์เจีย ที่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมักต่อต้านรัฐบาลและนิยมในความเป็นรัสเซีย ฯลฯ
สำหรับปฏิบัติการที่โซเวียตและรัสเซียใช้ในการกลืนกลายให้ประเทศต่างๆ อยู่ภายใต้สำนึกความเป็นโซเวียต หรือความเป็นรัสเซียนั้นอาจสามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้ดังนี้

1. การกลืนกลายผ่านระบบภาษา กระบวนการนี้ใช้ภาษาเป็นกลไกสำคัญในการกลืนกลายให้เกิดสำนึกความเป็นโซเวียต หรือความเป็นรัสเซีย โดยเป็นการกำหนดให้มีการใช้ภาษารัสเซียในการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับโรงเรียน รวมถึงการให้สิทธิพิเศษกับผู้รู้ภาษารัสเซียในการเข้าทำงานในระบบราชการ กระบวนการดังกล่าวดำเนินมาจนถึงการกำหนดให้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการของแต่ละพื้นที่ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของโซเวียต จนเป็นผลผลิตสู่ปัจจุบันที่ภาษารัสเซียยังเป็นภาษาที่ประชากรในแถบยุโรปตะวันออกใช้กันอย่างแพร่หลาย

2. การกลืนกลายผ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography) การกลืนกลายให้เป็นโซเวียตหรือรัสเซียในรูปแบบนี้กระทำผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ ที่แสดงให้เห็นการก่อรูปของสังคมขึ้นมาใหม่ โดยกระบวนการในการก่อรูปของสังคมขึ้นมาใหม่มักเชื่อมโยงกับโซเวียต ทั้งการสนับสนุนทางการเมืองและเศรษฐกิจ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเขียนประวัติศาสตร์ที่มีโซเวียตเป็นแกนกลางในการช่วยก่อรูปสังคมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง รวมถึงการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นย้ำความสำคัญในการสร้างจักรวรรดิแห่งการปฏิวัติ    

3. การกลืนกลายผ่านประชากร แนวทางนี้ใช้การเคลื่อนย้ายประชากรเชื้อสายรัสเซียให้เข้าไปอยู่ในแต่ละพื้นที่ หรือในแต่ละประเทศ การเคลื่อนย้ายประชากรเชื้อสายรัสเซียเป็นจำนวนมากให้ไปตั้งรกรากในเขตพื้นที่อื่น ซึ่งมีประชากรเชื้อสายอื่นๆ อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น เป็นกระบวนการที่มีมาตั้งแต่สมัยการปกครองโดยพระเจ้าซาร์ แต่ในช่วงเวลาตั้งกล่าวการอพยพโยกย้ายประชากรไปยังอีกทีหนึ่ง มีนัยของการลงโทษนักโทษทางการเมือง จนมาถึงยุคแห่งการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์การอพยพโยกย้ายประชากรเชื้อสายชาวรัสเซียยังคงมีอยู่ แต่มีนัยที่แตกต่างไปจากเดิม กล่าวคือ เป็นการนำประชากรชาวรัสเซียเข้าไปปกครองในพื้นที่ต่างๆ ผลผลิตของกระบวนการดังกล่าวได้ปรากฏตัวอย่างอยู่ในประเทศยูเครนที่แบ่งคนในยูเครนออกเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก เป็นต้น

นอกจากที่กล่าวมายังปรากฏว่ามีกระบวนการกลืนกลายให้เป็นโซเวียต หรือรัสเซียในรูปแบบอื่นๆ อาทิ การสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างความเป็นโซเวียตในเยอรมันตะวันออก และโปแลนด์ การสร้างระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับการสร้างความเป็นโซเวียตในโปแลนด์ ฯลฯ

ปฏิบัติการและผลผลิตจากกระบวนการกลืนกลายให้เป็นโซเวียต หรือการกลืนกลายให้เป็นรัสเซียเป็นการชี้ให้เห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์สังคมของรัสเซียกับยูเครน ที่เชื่อมร้อยกันอยู่ผ่านความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างต่างๆ และความสัมพันธ์ที่ร้อยรัดกันนั้นก็สามารถกลายตัวไปสร้างปัญหาทางการเมืองได้

การด่วนสรุปปัญหาทางการเมืองของยูเครนให้เป็นเพียง ปัญหาจากนักเลือกตั้งและระบบเลือกตั้งที่เลวร้าย จนมีประชาธิปไตยคุณภาพต่ำ มีนักการเมืองและผู้นำประเทศที่ไร้ความชอบธรรม ทำให้คนต้องออกมาประท้วง อาจเป็นการสรุปที่ละเลยหรือเพิกเฉยต่อการมองหรือการทำความเข้าใจต่อปฏิบัติการบ้างอย่างในสังคมนั้นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการเลือกที่จะปฏิเสธปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการก่อรูปและสร้างความเป็นไปของเรื่องราว และรับเอาเฉพาะปัจจัยที่ตนเองคิดว่าเหมาะสมเท่านั้น   

 

อ้างอิง:
- Darius Staliunas. Making Russian: Meaning and Practice of Russification in Lithuania and Belarus after 1863. New York: Rodopi, 2007. 
- Olaf Mertelsmann. Every Life in Stalinist Estonia. Tartu Historical Studies volume 2, 2012.
- Grigore Claudiu Moldovan. Sovietization of Historiography during Cultural Stalinism: New Perspectives. Anuarul Institutului de Istorie: din Cluj-Napoca, 2012.

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net