Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสายตาของนักประวัติศาสตร์วรรณกรรมเยอรมัน การที่วรรณกรรมเยอรมันสู้วรรณกรรมอังกฤษไม่ได้เท่าที่ควรในศตวรรษที่ 18 เป็นผลมาจากการที่เยอรมันไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ หรืออย่างน้อยๆ การไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ดูจะเป็นปัจจัยให้เหล่านักเขียนในเยอรมนีมีชีวิตที่ยากลำบากกว่านักเขียนอังกฤษเพราะมีรายได้น้อยกว่า [1] คำอธิบายครอบจักรวาลแบบ “ไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ ชีวิตไม่ดี” แบบนี้ยังดำเนินอยู่ถึงทุกวันนี้แม้ว่านักประวัติศาสตร์วรรณกรรมและนักประวัติศาสตร์กฎหมายของอังกฤษจะชี้ให้เห็นแล้วว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษเป็นกฎหมายที่เจ้าของลิขสิทธิ์แทบจะไม่ใช้ดำเนินคดีจริงจังเลยมาเป็นร้อยปี [2]

นี่ดูจะเป็นสิ่งที่เข้าใจไม่ได้หากเข้าใจว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษเป็นกฎหมายที่สมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนผลักดันมาอย่างยากลำบาก อย่างไรก็ดี ดังที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าหากพิจารณาอย่างละเอียดจริงๆ กฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษดูจะเป็นกฎหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของทางสภาอันเกิดจากการที่สภาเอาข้อเรียกร้องของสมาคมฯ มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนสมาคมฯ จำไม่ได้ และผลผลิตก็คือกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ทางสมาคมไม่นิยมชมชอบเลยแม้แต่นิด

แม้ว่าจะมีข้อกำหนดเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของลิขสิทธิ์นั้นกำหนดให้หนังสือทุกเล่มที่จะได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องไปขึ้นทะเบียนกับทางสมาคมพ่อค้าหนังสือแห่งลอนดอนโดยไปเขียนรายนามหนังสือที่ต้องการคุ้มครองในหนังสือทะเบียนเล่มใหญ่พร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมไม่เกิน 6 เพนนี (ก็ไม่ใช่เงินมากมายอะไรนักในการทำธุรกิจ มูลค่ามันพอๆ กับมื้อเย็นนอกบ้านดีๆ หน่อยสักมื้อของเสมียนยุคนั้น [3] ถ้าจะเทียบเป็นเงินไทยตอนนี้คร่าวๆ ก็ไม่น่าจะเกิน 300-400 บาท) ซึ่งดูเผินๆ ก็เหมือนจะให้อำนาจกับทางสมาคม ทว่าในความเป็นจริงคือสมาคมไม่มีสิทธิปฏิเสธการขึ้นทะเบียน และการขัดขวางการขึ้นทะเบียนก็มีโทษ ซึ่งหลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว หนังสือที่ต้องการการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ก็ต้องส่งหนังสือที่ตีพิมพ์ด้วยกระดาษที่ดีที่สุดไปให้ห้องสมุดที่ทางการกำหนด 9 แห่ง

ข้อกำหนดนี้อาจดูเล็กน้อยในมาตรฐานทุกวันนี้ แต่ในศตวรรษที่ 18 หนังสือก็ไม่ได้ราคาถูกๆ เหมือนทุกวันนี้ และการตีพิมพ์หนังสือโดยทั่วๆ ไปก็พิมพ์กันไม่ถึง 1,000 เล่ม การบังคับส่งหนังสือคุณภาพดีสุดไปให้ทางการจึงอาจเทียบเท่าการเก็บภาษีเป็นหนังสือที่มีมูลค่าราวๆ 1-2% ของยอดพิมพ์ทีเดียว ซึ่งหนังสือยิ่งพิมพ์น้อยก็ยิ่งเสียภาษีเป็นอัตราส่วนที่มาก และนี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ของหนังสือที่ไม่ได้ขายดีนักในระดับต้องลุ้นว่าพิมพ์มาแล้วจะขายหมดหรือเปล่า

ในแง่นี้จึงไม่แปลกอะไรที่พ่อค้าหนังสือแทบทั้งหมดไม่ยอมไปยุ่งกับระบบลิขสิทธิ์เลยถ้าไม่จำเป็น นี่น่าจะเป็นเหตุผลให้หนังสือเพียงไม่ถึง 5% ที่ตีพิมพ์มาในอังกฤษในศตวรรษที่ 18 เท่านั้นที่ไปลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์หลังกฎหมายลิขสิทธิ์ออกมา [4] พูดง่ายๆ คือถ้าต้องเสียเงินเพื่อให้มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ก็มีน้อยคนที่ยังจะต้องการการคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่อีก

พอเป็นคดีความแล้วลิขสิทธิ์ยิ่งมีบทบาทน้อยใหญ่ แน่นอนก็ดังที่ผู้เขียนได้ชี้ไว้แล้วว่าหนังสือที่จะโดน “ไพเรต” แทบทั้งหมดน่าจะเป็นหนังสือขายดีทั้งนั้น ซึ่งหนังสือเหล่านี้ก็น่าจะเป็นหนังสืออันน้อยนิดที่ไปขึ้นทะเบียนกับทางสมาคมฯ อย่างไรก็ดี พอเป็นคดีความขึ้นมา แทบไม่มีคดีใดเลยที่จะไปอ้างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกอย่าง Statute of Anne เพราะคดีความเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตแทบทั้งหมด ทางโจทก์มักอ้างสิทธิตามกฎหมายจารีตประเพณีว่าทางสำนักพิมพ์ที่พิมพ์มาก่อนมีกรรมสิทธิ์อันเป็นนามธรรมในการผูกขาดการตีพิมพ์หนังสือแต่เพียงผู้เดียวไม่ต่างจากทรัพย์สินอื่นๆ อย่างน้อยๆ ถ้าอ่านสำนวนฟ้องคดีความแรกเกี่ยวกับ “หนังสือคลาสสิก” หลังมี Statute of Anne ที่โผล่มาในปี 1735 ก็จะพบว่าทางทนายก็ทำราวกับว่า Statute of Anne ไม่ได้ดำรงอยู่ และอ้างราวกับว่า “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสารบบการคุ้มครองทรัพย์สินของระบบกฎหมายจารีตประเพณีอยู่แล้ว [5]

ข้ออ้างแบบนี้ปรากฏทั่วไปในคดีความ “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษซึ่งถึงที่สุดเหล่าพ่อค้าหนังสือและทนายอังกฤษไม่มีใครสนใจจะอ้าง “กฏหมายลิขสิทธิ์”  เพราะทุกคนมองว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่อเป็นส่วนเสริมของสิทธิที่มีอยู่แล้วในระบบกฎหมายจารีตประเพณีเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าสิทธิดังกล่าวไม่เคยมีอยู่ และมันก็เพิ่งถูกอ้างราวกับว่ามันมีมาแล้วอย่างยาวนานในศตวรรษที่ 18 นี่เอง เพราะถ้าสิทธิดังกล่าวมีอยู่จริงมาแต่แรก ทางสมาคมพ่อค้าหนังสือแห่งลอนดอนก็คงไม่ออกมารณรงค์เพื่อให้สภาออกกฎหมายคุ้มครอง “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” มาให้วุ่นวาย ซึ่งสุดท้ายพอผลที่ออกมาได้กฎหมาย “ลิขสิทธิ์” ที่มีลักษณะเอนเอียงไปเข้าข้างสาธารณชนกว่า ทางสมาคมก็พร้อมจะหันหลังให้กับผลของการต่อสู้ที่ออกมาผิดพลาดนี้อย่างไม่เหลียวแล

สุดท้ายกฎหมายใหม่อย่างลิขสิทธิ์ก็ดูจะไม่ได้รับความนิยมในการใช้ต่อสู้ “ไพเรซี่” เพราะถ้าไม่นับการฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีการละเมิด “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” ให้ศาลตัดสิน เทคนิคที่เหล่าพ่อค้าหนังสือนิยมใช้เพราะให้ผลแน่นอนกว่าคือการขอหมายศาลสูงให้ยึด “ของกลาง” นี่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วก่อนมีกฎหมายลิขสิทธิ์ และการดำเนินคดีภายใต้กฏหมายลิขสิทธิ์ก็หมายถึงการให้ศาลตัดสินต่อเมื่อทั้งโจทก์และจำเลยอยู่ต่อหน้าศาลเท่านั้น กล่าวคือมันให้สิทธิจำเลยในการแก้ต่างว่าตนไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยก่อนจะมีการดำเนินการทางกฎหมายใดๆ ในเงื่อนไขนี้เทคนิคการใช้กฎหมายจารีตประเพณีที่ได้ผลเร็วกว่าก็คือการที่โจทก์ไปขอให้ศาลสูงออกหมายมาเพื่อยึดหนังสือละเมิดลิขสิทธิ์เลย โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีสิทธิจะแก้ต่างใดๆ ก่อนโดนยึดเลยไม่ว่าหนังสือจะละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ (เพราะอย่างน้อยในหลายๆ กรณีก็มีความก้ำกึ่ง เช่นในกรณีของงานเขียนแบบดัดแปลงที่ในยุคนั้นถือว่าเกิดขอบข่ายการคุ้มครองของลิขสิทธิ์) ซึ่งนอกจากเทคนิคในการเอาอำนาจรัฐมาใช้โดยอีกฝ่ายไม่อาจตอบโต้นี้ เทคนิคที่พ่อค้าหนังสือใช้กันประจำคือการผูกพันธมิตรทางการค้าเพื่อควบคุมไม่ให้พ่อค้าในเครือข่ายทั้งหมดทำสำเนาเถื่อน และนี่ก็ดูจะเป็นเทคนิคการค้าแบบโบราณที่ใช้กันมาถึงทุกวันนี้

ในภาพรวมน่าจะกล่าวได้ว่าพ่อค้าหนังสือในอังกฤษดำเนินธุรกิจของพวกเขาไปราวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ดำรงอยู่มาตลอดศตวรรษที่ 18 เลย ดังนั้นการกล่าวอ้างว่ากฎหมายลิขสิทธิ์มีผลใดๆ ต่อการค้าหนังสือในอังกฤษไม่ว่าจะในทางไหนก็ดูจะเป็นการกล่าวเกินจริงทั้งสิ้น อันที่จริงคำอธิบายที่ดีกว่าของความรุ่งเรืองของตลาดหนังสืออังกฤษก็น่าจะเป็นเพราะว่าลักษณะการกระจุกตัวทางประชากรของอังกฤษที่ไปออกันที่ลอนดอนอันเป็นตลาดหลักของหนังสืออังกฤษ นี่ทำให้แม้ประชากรอังกฤษจะน้อยกว่าฝรั่งเศสและโลกภาษาเยอรมันเป็นเท่าตัว แต่อังกฤษก็กลับมีตลาดหนังสือที่แข็งแกร่งกว่าเพราะการรวมศูนย์ที่ลอนดอน ทำให้การปราบปรามการออกนอกลู่นอกทางทางการค้าเป็นไปได้อย่างง่ายดาย ซึ่งลักษณะกลยุทธ์การผูกขาดการค้านี่เป็นไปได้โดยไม่เกี่ยวกับกฎหมายพิเศษพิสดารในสมัยนั้นอย่างกฎหมายลิขสิทธิ์ที่อังกฤษมีเป็นประเทศเดียวในโลกแทบจะตลอดศตวรรษที่ 18

นี่ดูจะทำให้เหล่านักวิชาการที่โบ้ยความสำเร็จของวรรณกรรมอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ไปให้การมีกฎหมายลิขสิทธิ์ต้องขบคิดถึงข้อเสนอนี้กันใหม่ ไปคำนึงถึงลักษณะตลาดหนังสือที่เฉพาะของอังกฤษแทนที่จะไปอธิบายด้วยกฎหมายตัวเดียวที่แทบไม่มีใครใช้

เรื่องตลกร้ายที่สุดก็คือในท้ายที่สุด กฎหมายลิขสิทธิ์กลับถูกนำมาใช้เพื่อยืนยันว่าสารบบกฎหมายอังกฤษ มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สินทางวรรณกรรม” อยู่ แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เกิดในปี 1774 เมื่อเกิดคดีความที่ทำให้ต้องส่ง Statute of Anne กลับขึ้นไปให้สภาขุนนางตีความเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายภายหลังจากที่สภาผ่านมันมาแล้ว 64 ปี 

อ้างอิง:

  1. W. H. Bruford, Germany in the Eighteenth Century: The Social Background of The Literary Revival, (Cambridge: Cambridge University Press, 1935), pp. 272-279 และ Martha Woodmansee, The Author, Art, and the Market: Rereading the History of Aesthetics, (New York: Columbia University Press, 1994), p. 36, 79
  2. ดู Michael F. Suarez, S.J., "To what degree did the Statute of Anne (8 Anne, c.19, [1709]) affect commercial practices of the book trade in eighteenth- century England? Some provisional answers about copyright, chiefly from bibliography and book history" in Global Copyright: Three Hundred Years Since the Statute of Anne, from 1709 to Cyberspace, Lionel Bently, Uma Suthersanen & Paul Torremans (eds.), (Cheltenham: Edward Elgar Publishing, 2010), pp. 54-69 และ Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004)
  3. ดู ราคาสินค้าและบริการสมัยนั้นได้ที่ http://footguards.tripod.com/08HISTORY/08_costofliving.htm หรือ http://www.oldbaileyonline.org/static/Coinage.jsp ทั้งนี้หน่วยเงินอังกฤษนั้น 12 เพนนี เท่ากับ 1 ชิลลิ่ง ส่วน 20 ชิลลิ่งเท่ากับ 1 ปอนด์ วิธีเขียน ประมาณเงิน 1 ปอนด์ 2 ชิลลิ่ง 3 เพนนี คือ £1.2s.3d.
  4. ดู Michael F. Suarez, S.J., ibid, p. 57
  5. Ronan Deazley, ibid, pp. 74-75

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net