Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชาวนาไทยตอนนี้ เหมือนทั้งถูก ‘โหน’ และ ‘กระทืบ’ โดยคนกลุ่มเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน

เพราะอะไร ? เพราะวันนี้ มีคนไทยบางคนมองว่า การแก้ปัญหา "ให้ชาวนา" เป็นการแก้ปัญหา “ให้รัฐบาล” ดังนั้น จึงต้องดึงชาวนามาล้มรัฐบาล แล้วค่อยเริ่มแก้ปัญหาให้ชาวนา

ซึ่งไร้สาระ และอำมหิตที่สุด

การแก้ปัญหา "โครงการจำนำข้าว" กับการแก้ปัญหา "ชาวนาเดือดร้อน" นั้นต่างกัน

โครงการจำนำข้าวจะมีปัญหา จะดีไม่ดี และจะโจมตีอย่างไร ผมไม่เคยไปห้ามอะไรใครวิจารณ์เลย ถ้าไปอ่านความเห็นผมหลายครั้งในสื่อ ผมบอกด้วยซ้ำ ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2555 ว่าแม้ตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับฟ้องคดีข้าว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าโครงการนี้ดี ไม่ได้แปลว่าโครงการนี้ถูกต้อง

ตรงกันข้าม ผมกลับสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่ช่วยกันตรวจสอบโครงการข้าว ผมพูดด้วยซ้ำว่า เรื่องข้าว สุดท้ายก็กลายเป็นคดีทุจริต และ ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็จะกลับมาได้เปรียบ

แต่ปัญหาคือ ผมไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจหรือเกษตรดีพอที่จะพูดเรื่องข้าวได้อย่างลึกซึ้ง ผมเป็นแค่นักกฎหมาย ถ้าเรื่องอำนาจศาลผมตอบได้ แต่ถ้าเรื่องข้าว ผมคงพูดไม่ได้มาก

(ดูที่ผมเคยเขียนเรื่องข้าว เช่น https://www.facebook.com/verapat/posts/3520385142498 และ https://www.facebook.com/verapat/posts/3485768357100)

ถ้าเราตัดเรื่อง "การเมือง" ออกไป แล้วมองเรื่องนี้อย่างเป็นธรรม จะเห็นว่า ตอนนี้ ชาวนาเขาเป็น "เจ้าหนี้" ที่ไม่ได้รับชำระหนี้ตามเวลาจากรัฐบาล ซึ่งต่างจากประเด็นว่าโครงการรัฐบาลจะดีไม่ดี เรื่องนี้คือเรื่องความเป็นธรรมกับไม่เป็นธรรม

สิ่งที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือ การสร้างแรงกดดันไม่ให้มีการแก้ปัญหาให้ชาวนา เพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น การไปกดดันให้ ธนาคารออมสิน ไม่สามารถช่วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ รวมไปถึงอีกหลาย กลวิธี ที่จะมาสะกัดกั้นการแก้ไขปัญหาอื่นๆ

ถ้าใครคิดว่ามันทำไม่ได้เพราะผิดกฎกติกา ก็โปรดแสดงตัวออกมาอธิบายให้ชัด ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ไปขู่หรืออวดภูมิกันลับหลัง หรือยกพวกออกมากทำเท่ห์ถอนเงิน เพียงเพื่อสะใจให้รัฐบาลให้แก้ปัญหาไม่ได้ อันนี้ชั่วร้ายมาก เหมือนทั้งโหน และกระทืบชาวนาในเวลาเดียวกัน

ในทางเศรษฐศาสตร์ และการเมือง โครงการจำนำข้าวจะดีจะชั่วอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ผมยอมรับว่าอาจเกินสติปัญญาของผมที่จะพูดได้ครบ

แต่ถ้าเป็นเรื่องเทคนิควิธีกฎหมายให้สามารถ “ชำระหนี้ให้ชาวนา” เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผมพอจะมีทักษะความรู้อยู่บ้าง จึงขอลองคิดและเสนอไว้เผื่อนำไปต่อยอดได้

หลักการ : ทำให้คนไทยที่มีน้ำใจอยากช่วยชาวนา และไม่ร้อนเงิน สามารถเข้ามาเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลแทนชาวนาได้

ตัวอย่าง : ลุงสมชาย เป็นชาวนา ลงทุนลงแรง ตากแดดทำนา เอาข้าวไปส่งโรงสี แต่กลับไม่ได้เงิน ได้แต่ถือใบประทวน รอรับเงินจากรัฐบาล 3 แสนบาท แต่รัฐบาลยุบสภาติดปัญหาการเมืองและข้อกฎหมาย จะเลือกตั้งเปิดสภามาจ่ายเงินก้อนใหม่ ก็เลือกตั้งไม่ได้ จึงยังจ่ายเงินให้ลุงสมชายไม่ได้ ส่วนลุงสมชายกู้เงินมาทำนา เป็นหนี้ มีค่าใช้จ่ายต้องดูแลครอบครัว ยิ่งรอต่อไป ยิ่งเดือดร้อน

ส่วนผม วีรพัฒน์ มีเงินสด 3 แสนบาทในมือ ที่ผมต้องเก็บไว้ใช้ในอนาคต แต่ยังไม่ต้องรีบใช้ ถามว่า ผมจะนำเงิน 3 แสนบาทนี้ ไปช่วย ชาวนาอย่าง ลุงสมชาย อย่างไร ?

ถ้าจะให้ผมเอาเงิน ไปจ่ายลุงสมชาย แล้วผมเอาใบประทวนมาถือไว้แทน ก็จะมีปัญหา อย่างแรกเลย คือ ผมจะไปตามหาลุงสมชายเจอที่ไหน เพราะเราไม่รู้จักกัน และแม้เจอกัน ก็มีปัญหาอีก เพราะวิธีการจ่ายเงินของโครงการจำนำข้าว จะต้องจ่ายโดย ธ.ก.ส. เข้าบัญชีที่ ลุงสมชาย เปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. เท่านั้น ดังนั้น แม้ผมจะถือใบประทวนไว้ ผมก็ไปรับเงินจากรัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่ได้อยู่ดี

ส่วนถ้าจะให้รัฐบาล หาแหล่งเงินมาช่วย ธ.ก.ส. เช่น เสริมสภาพคล่องระหว่างธนาคาร เหมือนกรณี ธนาคารออมสิน หรือ ออกพันธบัตรช่วยชาวนา ก็จะมีพวกที่จ้องจะออกมาโหนและกระทืบชาวนา เพื่อความสะใจในการได้ล้มรัฐบาล จนสุดท้ายก็อาจทำอะไรไม่ได้

ทางออก: ตัด “รัฐบาล” ออกไปจากภาพการแก้ไขปัญหา แต่ใช้วิธีแก้โดยตรง ระหว่าง “คนไทย-คนไทย” ด้วยกัน

วิธีแรก ให้ภาครัฐ แก้ไข มติ กฎระเบียบ และเงื่อนไขใบประทวน เพื่อเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน จากเดิมที่ต้องให้ชาวนาเอาใบประทวนมาแสดง แล้วโอนเงินเข้าบัญชีของลุงสมชายที่เป็นชาวนา ให้ต่อไปนี้ ใบประทวนเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ ผู้ที่ทรงสิทธิในใบประทวนสามารถนำใบประทวนมาขึ้นเงินได้ เช่น ลุงสมชาย ก็สลักหลังขายใบประทวนให้ผม ผมก็จ่ายเงินลุงสมชาย 3 แสนบาท ผมก็นำใบประทวนมาถือไว้ รอไปขึ้นเงินกับรัฐบาล

วิธีนี้ ถ้าทำได้ (ซึ่งผมยังไม่แน่ใจ) มีข้อดีคือ ลุงสมชายเจอใครอยากซื้อ ก็ขายได้เลย และซื้อเปลี่ยนมือกันได้ด้วย แต่ปัญหา ก็คือ ใบประทวน อาจมีหลายแสนใบ หรือล้านใบ ถ้าเกิดปลอมกัน สลักส่งต่อกันผิด ก็จะวุ่นวายเป็นปัญหาไม่รู้จบ อีกทั้งอาจเกิดภาระต่อลุงสมชายที่ต้องไปวิ่งหาคนซื้อใบประทวน ซึ่งก็ใช่ว่าทุกคนจะสะดวกไปหาคนซื้อจนเจอ

วิธีที่สอง อาจยุ่งยากขึ้นเล็กน้อย แต่เป็นระบบกว่า ก็คือ

1. ให้ ธ.ก.ส. ทำตราสารหนี้ใหม่ขึ้นมาประกบกับใบประทวน อาจเป็นลักษณะใบฝากเงิน หรือ สลากช่วยชาวนาก็ได้ เช่น ถ้า ธ.ก.ส. ตรวจดูข้อมูลในระบบแล้ว รู้ว่า ณ วันนี้ มีใบประทวนที่ถึงกำหนดชำระหนี้อยู่ 1 ล้านใบ ก็อาจทำตราสารประกบอีก 1 ล้านฉบับ แต่ละฉบับจะมีเลขรหัสและจำนวนหนี้ที่ตรงกับใบประทวนแต่ละใบ เช่น ใบประทวนที่ลุงสมชายถือ รัฐบาลเป็นหนี้ 3 แสนบาท ก็ให้ ธ.ก.ส. ทำตราสารขึ้นมา อีกฉบับ มูลค่า 3 แสนบาท แต่อาจมีเงื่อนไขว่าต้องรออีกกี่ปี ก่อนจะมารับเงินคืนได้ ระหว่างรอ จะมีดอกเบี้ย หรือ จับสลากรางวัลอะไร ก็ว่ากันไป

2. จากนั้น ธ.ก.ส. ก็นำตราสารนั้นไปขายให้ประชาชนทั่วไป โดย ธ.ก.ส. สามารถฝากขายผ่านธนาคารอื่นได้ เพราะ ธ.ก.ส. มีสาขาน้อย คงมีธนาคารอื่นที่จะมีจิตใจดี ช่วยวางขายให้โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม เช่น ผมอยากช่วยชาวนา ผมก็เดินไปธนาคารเอกชนใกล้บ้าน ไปซื้อตราสารหนี้ สมมติ ฉบับที่ผมซื้อ 3 แสนบาท เลขรหัสตรงกับ ใบประทวนของ ชาวนา คือ ลุงสมชาย ผมก็ได้ตราสารมาถือไว้ เป็นชื่อผม เงินที่ผมจ่ายไป ก็จะไปที่ ธ.ก.ส. ซึ่งเมื่อลุงสมชายนำใบประทวนมาให้ ธ.ก.ส. ธ.ก.ส. ก็จะนำเงินนั้นจ่ายเข้าบัญชี ธ.ก.ส. ของ ลุงสมชาย

3. เมื่อเป็นดังนี้ หนี้ตามหน้าใบประทวนของลุงสมชาย ที่เป็นชาวนา จึงได้รับการชำระแล้ว แต่ต้องมีการกำหนดกฎระเบียบให้รัดกุมว่า รัฐบาลและ ธ.ก.ส. ยังคงเป็นหนี้ผม ตามตราสารใหม่ ที่ผมถืออยู่ และต้องเป็นกรณีหนี้เดิมที่ยังรอจากรัฐบาล ตามเลขที่ตรงกับใบประทวน ที่เกิดจากโครงการเดิม จึงไม่ใช่เป็นโครงการใหม่ที่ผูกพันรัฐบาลหน้า เพราะเป็นการจ่ายหนี้เดิมแต่เกิดจากโครงการเดิม เพียงแต่ผมซื้อตราสารใหม่โดยยอมรับเงื่อนไขว่า อาจต้องรออีก 1-2 ปี ผมถึงจะถือตราสาร หรือ สลาก มารับชำระเงินเงิน 3 แสนบาท จาก ธ.ก.ส. ได้

วิธีนี้อาจฟังดูยุ่งยาก โดยเฉพาะที่ต้องกำหนดจำนวนเงินใบประทวนและใบตราสารแต่ละใบให้ตรงกัน แต่ในทางธุรกรรมธนาคาร และสติปัญญาของ ธ.ก.ส. ไม่น่ายากเกินที่จะทำ หรือหากจะใช้วิธีปรับเป็นนำหนี้ใบประทวนทุกใบทั้งประเทศมารวมเป็นก้อนเดียวกัน แล้วออกตราสารระดมทุนจำนวนหน่วยเกลี่ยเท่ากัน ก็ทำได้ แต่ต้องชัดว่าเป็นเรื่องของหนี้ก้อนเดิมจากโครงการเดิม เพียงแต่รวมจำนวนกันให้ขายตราสารได้สะดวก

ข้อดีของวิธีการนี้ คือ

1. การออกตราสาร เช่น สลาก ใบฝากเงิน ถือเป็นธุรกรรมทางธนาคารปกติ และยิ่งหากชัดเจนว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับหนี้เดิม ในโครงการเดิม โดยไม่มีการกู้อะไรใหม่ ก็ดำเนินการได้โดยไม่ต้องไปยุ่งกับรัฐบาลรักษาการณ์ ไม่ต้องวุ่นวายหรือสุ่มเสี่ยงข้อกฎหมาย

2. เป็นการตัดการเมืองออกไป เพราะเป็นกรณีที่ ‘คนไทย’ ช่วย ‘คนไทย’ ด้วยกันผ่านเคาเตอร์ธนาคาร โดยเงินไม่ต้องหมุนเงินผ่านรัฐบาล ใครจะไปล้มรัฐบาล อย่างไร นั่นก็อีกเรื่อง อย่ามาเล่นเกมส์ที่โหนและกระทืบชาวนา

3. เป็นธุรกรรมที่มีช่องทางซื้อขายได้สะดวกในตลาด ผมสามารถไปซื้อตราสารที่ธนาคารใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องไปตามหาตัวชาวนาที่ถือใบประทวน ซื้อเสร็จ ถ่ายรูปแชร์ต่อได้เลย ชวนคนอื่นมาซื้อกัน

4. วิธีการนี้จะยิ่งช่วยกดดันรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาข้าว เพราะต่อไปนี้ จะไม่ใช่ชาวนาเท่านั้นที่มาเป็นเจ้าหนี้ แต่ประชาชนที่มาซื้อตราสาร จะออกมาช่วยชาวนารุมรัฐบาล หากยังระบายข้าวไม่ได้

วิธีการที่เสนอมานี้ อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของอีกหลายๆ ทาง อาจคล้ายกับบางวิธีที่มีท่านอื่นเคยเสนอไปแล้ว ซึ่งสังคมควรร่วมกันพิจารณา

แต่ย้ำว่า ที่ผมเสนอมา คือการอาศัยเทคนิคทางกฎหมายเกี่ยวกับตราสารและหนี้ มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะยาว ปัญหาในภาคเกษตร ต้องแก้ทั้งระบบ เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ กฎหมายภาษี กฎหมายที่ดิน การกำกับดูแลอุตสาหกรรมเคมี ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ โรงสี รวมไปถึงทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การจัดโซนนิ่ง การปรับฐานและเพิ่มมูลค่าสู่เกษตรอินทรีย์ และปัญหาโครงสร้างอื่นๆ

ซึ่งเรื่องปัญหาระยะยาวทั้งหมดนี้ เราจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าชาวนายังถูกดึงมาใช้เป็นหมากในการเมืองไทยให้เละเทะไร้กติกา และกฎหมายเป็นแค่เศษกระดาษไว้ห่อถุงปุ๋ยป็อปคอร์นเหมือนทุกวันนี้.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net