Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จากปัญหาสภาพการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน เกิดการเคลื่อนไหวของเหล่าประชาชนผู้คนมากมาย ทั้งจากในเมืองและตามต่างจังหวัด จากการตื่นตัวทางการเมืองหรือแม้กระแสแฟชั่นก็ตาม การตื่นตัวนี้เป็นปรากฎการณ์เก่าที่กลับมาใหม่ในสังคมไทย

ย้อนกลับไปในช่วง 14 ตุลา 2516 การตื่นตัวของนิสิตนักศึกษา ออกมาเคลื่อนไหวกันตามท้องถนนเรียกร้องหาเสรีภาพประชาธิปไตย ภาพเหล่านี้เป็นความประทับใจของใครหลายๆคนทั้งคนรุ่นใหม่ที่พยายามยึดถือแนวทางรูปแบบจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในช่วงนั้นเป็นตัวอย่าง ภาพนั้นยังคงตึดตรึงฝังใจและยังคงถูกผลิตซ้ำจากสื่อการเรียนรู้ ระบบการศึกษา และคำบอกเล่าต่างๆ จากคนรุ่นนั้น และนั้นเป็นการเรียนรู้ของคนในสังคมไทย รวมทั้งเป็นต้นแบบในการเรียกร้องทางการเมืองทุกๆครั้งในประวัติศาสตร์ของไทย โดยพยายามตัดตอนประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจาก 3 ปี 14 ตุลา แล้ว

การเมืองบนท้องถนนกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วง 9  ปีที่ผ่านมา กับการกลับมาอีกครั้งของกลุ่มประชาชน ชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเคยผ่านการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนมาแล้วในปี 2535  มีประสบการณ์ และมีความภาคภูมิใจกับการต่อสู้ในครั้งนั้น จนนำมาสู่ทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์ที่เหมือนจะยกย่องอธิบายถึงการขึ้นมามีบทบาทของชนชั้นกลางในเมืองที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนประชาธิปไตยในชาติให้พัฒนาต่อไปและเป็นตัวจักรในการต่อสู้ขัดขวางการทำรัฐประหารของไทย  แต่ถึงกระนั้นแล้ว ในวันที่ 19 กันยายน 2549 การรัฐประหารโค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เกิดขึ้น สิ่งที่เห็นในเช้าวันรุ่งขึ้นของวันที่ 20 กันยายน 2549 กลับเป็นการที่คนในกรุงเทพไปแสดงความยินดีกับการออกมาเพื่อจัดการนายกรัฐมนตรีของทหาร  โดยไม่รู้ว่าการรัฐประหารครั้งนั้นจะนำมาซึ้งความวุ่นวายทางการเมืองในเวลาต่อมาหรือไม่


ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีมานี้เราได้มีโอกาสเห็นการเคลื่อนไหวของประชาชนซึ่งส่วนใหญ่พื้นที่ข่าวของการเมืองบนท้องถนนจะไปตกอยู่กับ การเคลื่อนไหว ในประเด็นเรื่องการเมือง มากกว่าเรื่องปากท้อง ซึ่งมีเนื้อที่น้อยกว่าปัญหาการเมืองอยู่ตลอดเวลา

การเริ่มเข้ามามีบทบาทของคนตัวเล็กตัวน้อยในต่างจังหวัดเป็นทั้งความรู้สึกยินดีและความรู้สึกรังเกียจของคนในเมืองต่อการเข้ามาเคลื่อนไหวของคนตัวเล็กๆที่พยายามเข้ามามีพื้นที่ยืนในสังคมการเมืองและจัดการกับอำนาจต่อรองที่ตนไม่เคยได้รับจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐไทยอย่างเป็นธรรมมาโดยตลอด การเข้ามาของคนตัวเล็กๆเหล่านี้สร้างความรู้สึกต่อคนในเมืองทั้งในแง่บวกและลบ หากเข้ามาร่วมกับฝ่ายตนก็จะมองว่าเป็นแนวร่วมที่ประเสริญและยกย่องถึงมุมมองความรู้ความคิด แต่หากอยู่ตรงข้ามก็จะถูกดูถูกจากการเข้าร่วมถึงแม้มีเจตนาบริสุทธิก็ตาม และร้ายกว่านั้นยังละเมิดศักศรีความเป็นคนรวมไปถึงการลดทอนความเป็นคนจนไม่เห็นค่าชีวิตของเขาเหล่านั้นจนนำมาสู่การฆ่าฟันอย่างไร้ความเป็นมนุษย์ใน ปี 2553

คนตัวเล็กๆไม่มีพื้นที่ยืนในการต่อรองมานาน เพราะรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้จนเกิดการเติบโตของประชาชนจากนโยบายที่เป็นรูปธรรมที่ได้มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2544  เป็นต้นมา จากนโยบายประชานิยมที่มาพร้อมกับการเข้ามาของพรรคไทยรักไทย การทำให้การหย่อนบัตรมีความหมายถึงชีวิตและปากท้องของคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เคยถูกเหลียวแลจากรัฐไทยมาเป็นเวลานาน การต่อสู้เพื่อปากท้องจึงเริ่มขึ้น คนตัวเล็กๆจึงรู้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่แค่การเลือกคนดีเข้าไปในสภาเท่านั้น แต่คือการต่อรองอำนาจอย่างหนึ่งจนถึงชีวิตและปากท้องด้วย

บทบาทของคนตัวเล็กๆในต่างจังหวัดถูกให้ความสนใจมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาจากการเริ่มเข้ามามีพื้นที่ในสังคมการเมืองอย่างคึกคักอย่างไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน พร้อมกับการพยายามลดทอนคุณค่าของคนเหล่านี้โดยคนเมืองคนที่อยู่ในพื้นที่ทางการเมืองรวมไปถึงคนที่กุมทรัพยากรอยู่ในเมือง การเข้ามาของคนชนบทคนต่างจังหวัด คนมีอุดมการณ์ต่างจากในเมือง ล้วนถูกมองว่าเป็นการสั่นคลอนอำนาจและความมั่นคงในชีวิตของคนในเมืองอย่างรุนแรง จึงต้องกำจัดเสียด้วยทุกวิธีเพื่อคงสถานะอันมั่นคงของพวกเขาเอาไว้ การเติบโตของคนตัวเล็กในพื้นที่ทางการเมืองถูกมองว่าเป็นภัยมากกว่าจะเป็นประโยชน์ในการเข้ามามีพื้นที่ต่อรองในการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรอย่างเป็นธรรมจากรัฐไทย

ประชาธิปไตยที่คนเมืองฝันและคนต่างจังหวัดฝันเหมือนกันและควรจะกลายเป็นจุดร่วมเดียวกัน แต่กลับกลายเป็นจุดต่างของกันและกัน คนเมืองฝันอยากเห็นประชาธิปไตยของคนดีของผู้มีศิลธรรม ของผู้ที่ฉลาดหลักแหลมส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติ ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายของคนตัวเล็กๆที่ต้องการสร้างพื้นที่ต่อรองทางการเมืองและจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

การผลักไสคนตัวเล็กๆของคนในเมืองให้กลับไปอยู่ในพื้นที่ของตนตามต่างจังหวัดตามชนบท ใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน อยู่ในวิถีเกษตรกรรม หรือเป็นลูกจ้างแรงงานขั้นต่ำตามโรงงานหรือแหล่งประกอบการต่างๆ เพื่อให้คนเหล่านี้กลับเข้าไปสู่มายาคติเดิมๆที่ดูจากละครหลังข่าวจึงกลายเป็นเรื่องที่คนในเมืองไม่ตระหนักรู้ถึงการเติบโตและพลวัฒของสังคมชนบท แต่ยังยึดติดอยู่กับมุมมองและจินตนาการเดิมๆที่ผ่านการรับรู้จากสื่อที่พยายามแค่จะสร้างให้ชนบทเป็น ไม่ได้เป็นจริงอย่างที่ตนคิดเห็น การพยายามถีบให้คนเหล่านี้ถอยกลับไปอยู่ในที่เดิมจึงเหมื่อนเป็นการปฎิเสธการเติบโตของคนตัวเล็กๆที่พร้อมจะเติบโตและเข้ามามีพื้นที่ต่อรองทางอำนาจและผลประโยชน์เช่นเดียวกับคนในเมืองที่มีบทบาทอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

ประเทศนี้จะไม่มีทางถอยหลังกลับไปอยู่ในสภาวะที่คนตัวเล็กๆไร้อำนาจต่อรองอีกต่อไป แต่พวกเขาต้องเข้ามาจัดการชะตากรรมของตัวเอง และเลือกที่จะควบคุมอนาคตตัวเองพร้อมกับแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเลือกด้วย

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net