เวเนซุเอล่ายุคหลังชาเวซ การลุกฮือของนักศึกษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในช่วงเวลาเดียวกับที่หมู่มวลมหาประชาชนชาว กปปส.ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ และตั้งสภาประชาชน ในอีกซีกของโลก ที่เวเนซุเอล่า รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิปดี นิโคลัส มาดูโร่ ทายาททางการเมืองของอดีตผู้นำฝีปากกล้า อูโก ชาเวซ ก็กำลังเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่เช่นกัน เมื่อหมู่มวลมหาประชาชนชาวเวเนซุเอล่าต่างพากันออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนายมาดูโร่ ดำรงตำแหน่งประธานาธิปดีได้เพียง 10 เดือน

เป็นที่น่าสนใจว่า การประท้วงที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็ม แกนนำหลักของการประท้วงคือ กลุ่มนักศึกษา โดยจุดเริ่มต้นของการประท้วง เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันเบสบอลประเพณี “The Caribbean Series Baseball Tournament” ซึ่งมีทีมเบสบอลจากประเทศคิวบา ประเทศพันธมิตรที่สำคัญของเวเนซุเอล่านับตั้งแต่ยุคของชาเวซมาร่วมแข่งขันด้วย ในระหว่างการแข่งขันมีผู้ออกมาชุมนุมต่อต้านโดยถือป้ายที่มีข้อความเช่นว่า “Communism is the modern form of slavery” (คอมมิวนิสต์ คือรูปแบบปกครองแบบทาสสมัยใหม่) หรือ “Go home Cubanos” (กลับบ้านไปพวกคิวบา) ข้อความดังกล่าวทำให้เจ้าภาพเวเนซุเอล่า ‘เสียหน้า’ มิใช่น้อย ซึ่งส่งผลให้มีผู้ประท้วงถูกจับกุมในเวลาต่อมา จากนั้นชนวนของการประท้วงก็เริ่มขยายตัวไปสู่หมู่นักเรียนนักศึกษา โดยเริ่มจากนักศึกษาในเมือง ซาน คริสโตบอล (San Cristobal) เมืองหลวงของรัฐ ตาชิร่า(Táchira) ตามมาด้วยเมืองสำคัญอย่าง เมริด้า (Mérida) ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศคือ La Universidad de Los Andres (ULA)โดยเหล่านักศึกษาที่เข้าร่วมประท้วงต่างพากันออกมาปิดถนนสายสำคัญในเมือง เผายางรถยนต์ และขว้างปาสิ่งของใส่สถานที่ราชการ

ในขณะเดียวกัน กลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจกับการบริหารงานของรัฐบาลนายมาดูโร่ ต่างก็พากันมาเข้าร่วมกับการประท้วงในครั้งนี้ โดยเมื่อวันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เหล่านักศึกษาและประชาชนชาวเวเนซุเอล่าต่างออกมารวมตัวกันที่ถนนกลางใจเมืองเพื่อชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในหลายเมืองทั่วประเทศ ทั้งนี้ นอกจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์จะเป็นวันเยาวชน (Día de la Juventud) ของเวเนซุเอล่าแล้ว ยังมีนัยสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองอีกด้วย กล่าวคือ เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองให้กับเหล่าเยาวชนผู้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเมือง ลา วิตอเรีย (La Victoria) จากสเปนได้สำเร็จ ซึ่งสงครามในครั้งนั้นเป็นหนึ่งในสมรภูมิการต่อสู้ที่สำคัญก่อนการประกาศอิสรภาพจากสเปน             

อะไรคือแรงผลักดันให้เหล่านักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วง?

 - ปัจจัยสำคัญซึ่งนำมาสู่การลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลของเหล่านักศึกษา เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาเรื้องรังด้านนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจที่สั่งสมมาตั้งแต่รัฐบาลของชาเวซ รวมทั้งขาดโมเมตันทางการเมืองด้วยการถ่วงดุล ซึ่งถือเป็นปัญหาของการเปลี่ยนผ่านของการเมืองสมัยใหม่ที่สำคัญ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลของนายมาดูโร่ จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ ในทางกลับกันสถานการณ์กลับดูเหมือนจะยิ่งย่ำแย่ลงเสียด้วยซ้ำ โดยปัญหาหลักๆ คือ

- ปัญหาด้านอาชญากรรมและความปลอดภัย จากข้อมูลของ Venezuelan Violence Observatory (VVO)[1]พบว่าโดยเฉลี่ยเมื่อปี ค.ศ.2013 มีชาวเวเนซุเอล่าเสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมจำนวน 79 คนต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีค.ศ 2012 ซึ่งอยู่ที่ 73 คนต่อประชากร 100,000 คนโดยตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมกับเหตุอาชญากรรมและคดีลักพาตัวที่ไม่มีการแจ้งความ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี ค.ศ. 2013 การก่ออาชญากรรมขยายตัวจากพื้นที่เมืองใหญ่ไปสู่ เมืองขนาดกลาง และเมืองขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ กรุงคาราคาส (Caracas)เมืองหลวงของประเทศถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่อันตรายเป็นอันดับ 3 ของประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา[2]รัฐบาลของมาดูโร่ ออกมาแถลงการณ์ตอบโต้ข้อมูลดังกล่าวทันทีว่า เป็นรายงานที่เกินจริงและคดีอาชญากรรมในประเทศก็มีแนวโน้มที่ลดลง ทว่าเหตุการณ์ฆ่าชิงทรัพย์อดีตนางงามชาวเวเนซุเอล่า[3] เมื่อเดือนที่ผ่านมา กลับยิ่งตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรม และปลุกกระแสให้คนในประเทศออกมาประท้วงเพิ่มมากขึ้น โดยการเดินขบวนของนักศึกษาในระยะแรก เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับปัญหาอาชญากรรมและหาคนกระทำผิดมาลงโทษอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นนี้ยังเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ทางสังคม เช่น ปัญหายาเสพติดที่ทะลักเข้ามาในประเทศ ปัญหาความยากจน และปัญหาการว่างงานตามลำดับ

- ปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภค บริโภคภายในประเทศ เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ชาวเวเนซุเอล่าต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำตาล กาแฟ น้ำมันพืช แป้งข้าวโพดที่ใช้ประกอบอาหารหลัก กระดาษชำระ และตอนนี้ยังขยายไปถึงกระดาษสำหรับพิมพ์หนังสือพิมพ์ โดยก่อนการประท้วงของนักศึกษาก็มีการออกมาเคลื่อนไหวของบรรดานักหนังสือพิมพ์ทั้งในพื้นที่ Social Media และตามท้องถนนภายใต้สโลแกนที่ว่า “Without Paper, Without Newspaper” (ไม่มีกระดาษ ไม่มีหนังสือพิมพ์) ปัญหาการขาดแคลนสินค้าสำคัญๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายและกลไกของรัฐหลายประการ นับตั้งแต่การพึ่งพิงการส่งออกน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว การควบคุมราคาสินค้า มาตรการควบคุมเงินดอลล่าร์[4] รวมไปถึงการเข้ายึดกิจการและที่ดินของเอกชน ซึ่งส่งผลให้ผู้ค้าไม่สามารถผลิตหรือซื้อสินค้ามาขายได้ในราคาที่รัฐกำหนด หรือกิจการหลายแห่งที่รัฐยึดไปก็ไม่สามารถแข่งขันและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาขายได้มากเพียงพอกับความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ยังพบว่า ที่ดินและบริษัทหลายแห่งที่ถูกยึดก็ถูกปล่อยทิ้งร้างขาดการดูแลต่อจากรัฐ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาสินค้าขาดตลาดด้วยการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ พร้อมกับกล่าวโทษพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามข้อหากักตุนสินค้า แต่ภาพของชาวเวเนซุเอล่ายืนคอยเข้าแถวยาวเพื่อซื้ออาหารและของใช้ก็ยังเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วประเทศ

- ปัญหาสำคัญคู่ขนานไปกับความล้มเหลวของมาตรการความปลอดภัยของพลเมืองคือ การคอรัปชั่น จากผลสำรวจของข้อมูลองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International) เมื่อปีค.ศ.2013 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศเวเนซุเอล่าติดอับดับประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และเป็นอันดับที่ 160 ของโลก[5] โดยนอกเหนือจากการคอรัปชั่นในหมู่นักการเมืองแล้ว หน่วยงานตำรวจก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีปัญหาการคอรัปชั่นมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง ชาวเวเนซุเอล่าจำนวนมากเชื่อว่า จำนวนอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจละเลยการปฏิบัติงาน เหยื่อหลายรายหลีกเลี่ยงที่จะเข้าแจ้งความกับตำรวจ เพราะหวั่นเกรงอันตรายที่จะตามมา เนื่องจากเจ้าหน้าที่บางคนเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมด้วยขณะเดียวกันประชาชนเองก็ไม่ได้มีความเชื่อมั่นในหน่วยงานของทหารมากนัก ชาวเวเนซุเอล่าหลายคนที่ผู้เขียนรู้จักเชื่อว่า ทหารระดับสูงหลายนายมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดและขบวนการลักพาตัว 

เหล่านี้เป็นปัญหาที่ซุกซ่อนใต้พรมเช็ดเท้าของชาเวซมาเป็นเวลานาน ซึ่งการประท้วงที่เกิดขึ้นขณะนี้ถือได้ว่า เป็นความท้าทายใหม่ของรัฐบาลซึ่งสืบทอดอำนาจต่อมาจากชาเวซ และยังเป็นการสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ของกลุ่ม “พอกันที” จากฝั่งละตินอเมริกาที่น่าสนใจ

นอกจากเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว กลุ่มนักศึกษาก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสภาวะทางเศรษฐกิจภายหลังจากเรียนจบและต้องก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน แม้ว่าอัตราการว่างงาน สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2013 จะลดลงมาอยู่ 5.6% จากเดิมที่อยู่ที่ 6.6% ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน[6]แต่จากรายงานข่าว[7] เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า มีนักศึกษาเวเนซุเอล่านิยมเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศไอร์แลนด์มากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สาเหตุหลักมาจากสภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไอร์แลนด์ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังผ่านวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป การมีกฎหมายคนเข้าเมืองที่เป็นมิตรมากกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา อีกทั้งชาวเวเนซุเอล่าไม่จำเป็นต้องใช้วีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้ไอร์แลนด์กลายมาเป็นจุดหมายใหม่ของคนหนุ่มสาว ซึ่งปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ การประท้วงเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ที่ออกมาชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองเช่นเดียวกัน นอกจากนี้มีผู้บาดเจ็บจากการปะทะอีกเป็นจำนวนมาก ในเวลาต่อมาสถานีข่าว NTN24 ของโคลอมเบียที่ออกอากาศที่เวเนซุเอล่าก็ถูกตัดสัญญาณขณะกำลังสัมภาษณ์นายลีโอโพโด โลเปซ นักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า สื่อของโคลอมเบียกำลังบิดเบือนข้อมูลและปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในประเทศ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า รัฐบาลของเวเนซุเอล่าสั่งบล็อคสัญญาณการส่งข้อมูลภาพของผู้ชุมนุมไปยังระบบของ Twitter ผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ส่งผลให้ผู้ใช้ไม่สามารถทวิตภาพการชุมนุมได้ ซึ่งทาง Twitter เองก็ออกมายืนยันรายงานดังกล่าว[8]

ท่าทีของกลุ่ม Democratic Unity Roundtable ( Mesa de la Unidad Democrática — MUD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของบรรดาพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามพรรครัฐบาล สมาชิกภายในกลุ่มส่วนใหญ่ต่างออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนายลีโอโพโด โลเปซ หัวหน้าพรรค Voluntad Popular นาย อันโตนิโอ เลเดซม่า อดีตนายกเทศมนตรีเมืองคาราคาส  และนาง มาเรีย มาชาโด สมาชิกวุฒิสภาแห่งชาติ ส่วนนาย เอ็นริเก้ กาปรีเลส อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอล่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐมิรันดา (Miranda) นั้นกลับมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการออกมาสนับสนุนดังกล่าว เพราะมองว่าจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาใช้วิธีการทางกฎหมายอย่างสันติแทน

ณ เวลานี้การประท้วงในเวเนซุเอล่าก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการประกาศนัดรวมตัวของทั้งฝั่งนักศึกษา ประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาล และฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาลออกอย่างต่อเนื่องในหลายเมืองทั่วไปประเทศ โดยล่าสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ฝ่ายนักศึกษาได้หันมาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาจำนวน 13 คนที่ถูกจับไปและนำตัวคนที่สังหารประชาชนมาลงโทษ รวมถึงขับไล่รัฐบาลให้ออกจากตำแหน่ง ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลเองก็ออกมากล่าวโทษฝั่งตรงข้ามว่า เป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น

เมื่อย้อนกลับไป ในช่วงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2013 หลังอดีตประธานาธิปดีอูโก ชาเวซ ถึงแก่อสัญกรรมมีการคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างกว้างขวาง แต่เวเนซุเอล่าก็สามารถผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างสงบ ทั้งนี้ หรืออาจเป็นเพราะจริงๆ แล้ว ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ เวลานี้ โดยไม่ได้เป็นการเปลี่ยนผ่านจากนักการเมืองคนหนึ่งสู่ทายาททางการเมือง แต่เป็นจากประชาชนสู่ประชาชนด้วยกัน? ซึ่งนั่นก็ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบกันต่อไป.....เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย

 

                                                https://www.youtube.com/watch?v=EFS6cP9auDc&sns=fb

ในช่วงเวลาหลายวันที่ผ่านมานี้ คลิปดังกล่าวเป็นคลิปหนึ่งที่ชาวเวเนซุเอล่านิยมแชร์กันอย่างมากในโลก Social Network โดยคนทำเป็นเวเนซุเอล่าที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และพยายามจะอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศของตนให้คนอื่นในโลกรู้

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ในประเทศเวเนซุเอล่า ในช่วงระหว่างปี 2001-2002 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐบาลนายอูโก้ ชาเวซขึ้นในเดือนเมษายนค.ศ.2002 และได้มีโอกาสเดินทางกลับไปยังเวเนซุเอล่าเมื่อเดือนธันวาคม 2012ที่ผ่านมา



[3] ข่าวนางงามเวเนซุเอล่าถูกฆ่าชิงทรัพย์ http://edition.cnn.com/2014/01/07/world/americas/monica-spear-venezuela-beauty-queen-killed/

[4] อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการควบคุมเงิน ดอลลาร์ ของเวเนซุเอล่า http://world.time.com/2014/01/23/venezuelas-currency-controls-propels-those-with-connections/  และบทวิเคราะห์ผลดี/ผลเสียของนโยบาย http://venezuelanalysis.com/analysis/10317

[5] เรียงลำดับจากประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดไปหาประเทศที่โปร่งใสมากที่สุด   http://www.transparency.org/country#VEN

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท