Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.

มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากรู้ แต่คงไม่ได้รู้แน่ชัดตลอดชาติ นอกจากจะมีใครสักคนลงไปเก็บข้อมูลในที่ชุมนุมของ กปปส.อย่างต่อเนื่องยาวนานพอสมควร แล้วเผยแพร่ข้อมูลที่ได้มา หรือวิเคราะห์ให้ได้คำอธิบายอะไรบางอย่าง

สิ่งที่ผมอยากรู้และเข้าใจก็คือ บทบาทและจินตนาการทางการเมืองของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน

จากข้อมูลที่พอหาได้ ทั้งในสื่อและสื่อสังคม ทำให้เข้าใจว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมของ กปปส. เมื่อตัดคนจำนวนมากที่มาจากภาคใต้ ตัดการ์ดซึ่งต้องจ้างเข้ามารักษาความปลอดภัยจำนวนมากแล้ว คนกลุ่มใหญ่ที่เหลืออยู่คือกระฎุมพี หรือที่ผมเคยเรียกว่าคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป

เขาเหล่านี้ เข้าไปร่วมชุมนุมกับขบวนการที่มีเป้าหมายขัดแย้งกับระบบคุณค่าและหลักการของประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้ทำไม และดังที่กล่าวแล้วว่า ผมคงไม่สามารถตอบปัญหาเช่นนี้ได้เองตลอดชาติ ที่จะพูดต่อไปนี้จึงเป็นเพียงการสังเกตจากหลักกว้างๆ เท่านั้น สักวันหนึ่ง นักวิชาการที่ลงไปศึกษาวิจัยจริง ก็จะพบว่าขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เขาเก็บได้จากการวิจัย

ที่เรียกว่ากระฎุมพีในที่นี้ ผมหมายถึงคนชั้นกลางในตระกูลที่เติบโตทางเศรษฐกิจมาพร้อมกับนโยบายพัฒนาของระบอบสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ การขยายการศึกษาเพื่อรับการลงทุนด้านธุรกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ทำให้พวกเขาได้รับการศึกษาสูงขึ้น เขยิบเข้าไปเป็นคนงานคอปกขาว แล้วก็เขยิบต่อไปถึงระดับบริหาร ตั้งแต่ชั้นสูงถึงชั้นกลางๆ ลูกหลานของเขาซึ่งบัดนี้ก็เป็นหนุ่มสาว ได้รับการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไป และกำลังไต่เต้าอยู่ในบรรไดของหน้าที่การงานต่างๆ ซึ่งดูจะมีอนาคต (prospect) ดีกว่าพ่อแม่ของเขาเสียอีก

ฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับการถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก และถูกอ้างในสื่อไทยบ่อยๆ กล่าวว่าประชาธิปไตยกำลังถูกคนชั้นกลางในหลายประเทศทั่วโลกปฏิเสธ ผมคิดว่าผู้เขียนสรุปอย่างหยาบเกินไป เพราะเรื่องนี้ต้องดู "คนชั้นกลาง" ในแต่ละสังคมให้ดี เพราะถึงถูกเรียกเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วแตกต่างกันมากทีเดียว

ในที่นี้ขอดูแต่คนชั้นกลางกลุ่มที่ผมเรียกว่ากระฎุมพีไทยเท่านั้น

ในยุโรปตะวันตก กระฎุมพีถือกำเนิดนอกระบบศักดินา เมื่อเริ่มขยายตัวก็พบว่าอำนาจของศักดินาที่ยังตกค้างอยู่ เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มพูนโภคทรัพย์และอำนาจของตน จึงหันไปร่วมมือกับกษัตริย์ในการลิดรอนอำนาจศักดินาลง แต่ต่อมาก็เลือกจะเป็นปฏิปักษ์กับกษัตริย์อีก เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่ง ขัดขวางความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและการเมืองของกระฎุมพีเช่นเดียวกัน

ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมของยุโรปตะวันตก คือคำตอบที่กระฎุมพีฝรั่งเลือกสนับสนุน เพราะที่จริงก็คือระบอบปกครองที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของกระฎุมพีที่สุด จะเรียกว่าเป็นระบอบปกครองของกระฎุมพี, เพื่อกระฎุมพี และโดยกระฎุมพีก็ได้

ตรงกันข้าม ในเมืองไทย กระฎุมพีถือกำเนิดภายใต้ระบบศักดินา ร่วมมือกับคนชั้นปกครองของศักดินาในการก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นผู้ครองสมบัติมากรองลงมาจากผู้นำในระบบศักดินา สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเกิดจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับ "เจ้าศักดินา" (ในเมืองไทยก็คือขุนนางและเจ้าประเทศราช) ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกระฎุมพีที่เป็นพ่อค้าวาณิชและเจ้าภาษีนายอากร ตรงกันข้ามกลับทำลายประโยชน์ของกระฎุมพีกลุ่มนี้เสียด้วย

แม้ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามระวังมิให้กระฎุมพีมีอำนาจมากเกินไปตลอด แต่กระฎุมพีก็กระเสือกกระสนอยู่รอดมาได้ โดยการสวามิภักดิ์ต่อนายใหม่คือพระมหากษัตริย์ และอาศัยบารมีของมหาอำนาจตะวันตกในการประกอบการ บางส่วนขาดทุนย่อยยับลงในช่วงทศวรรษ 2430 จึงส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาแผนใหม่ และรีบกลืนตัวเองเข้าไปในระบบราชการแบบใหม่ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม จนกลายเป็นขุนนางผู้มีการศึกษาแบบตะวันตกรุ่นแรกๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระฎุมพีใหม่ (ผู้ดีใหม่ในรุ่นนั้น) ซึ่งมีฐานความชอบธรรมจากการศึกษาแผนใหม่ที่รัฐจัดขึ้น มีอำนาจเพราะสังกัดระบบราชการของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม

คลุกเคล้าเป็นเครือข่ายที่แยกออกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้

ระบอบประชาธิปไตยถูกนำเข้ามาสู่สยามด้วยกระฎุมพีข้าราชการกลุ่มเล็กๆ แม้ได้รับความเห็นชอบอย่างกว้างขวางจากกระฎุมพีอื่น แต่เป็นเพราะกระฎุมพีข้าราชการถูกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขัดขวางความก้าวหน้าในระบบราชการต่างหาก ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์เสรีนิยม หรือความห่วงหาอาทรต่อประชาชนระดับล่างซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ทั้งสิ้น จึงยินดีที่ได้เห็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามสิ้นสลายไปเสียที

ส่วนใหญ่ของการปกครองในระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตยไทย ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของกองทัพ โดยเปิดเผยบ้าง โดยนัยยะในทางปฏิบัติบ้าง ตลอดมา ในช่วงเวลานี้ กระฎุมพีไทยได้มีส่วนในการผลักดันนโยบายสาธารณะหรือไม่ ก็มีเช่นกัน แต่เป็นการต่อรองอย่างไม่เท่าเทียมกันกับกองทัพ และระบบราชการ (ไม่เกี่ยวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม) อำนาจตัดสินเด็ดขาดไม่ได้อยู่ที่กระฎุมพี แต่อยู่ที่กองทัพและอำนาจนอกระบบทั้งหลาย

ดังนั้นกระฎุมพีไทยจึงเติบโตและอยู่รอดได้ดีภายใต้เผด็จการทหาร ซ้ำมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใต้เผด็จการทหารที่ทำลายร่องรอยของสถาบันประชาธิปไตยจนหมดสิ้นอย่างเปิดเผย คือภายใต้ระบอบสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ กระฎุมพีขยายตัวอย่างมโหฬารทั้งด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และกำลังคนที่แปรผันตัวเองไปสู่ความเป็นชนชั้นกระฎุมพี สร้างวัฒนธรรมที่มีตลาดภายในรองรับ (บนจอทีวี, โรงหนัง, แผ่นเสียง และสิ่งพิมพ์ และนี่คือตระกูล "ผู้ดีใหม่" ของปัจจุบัน)

ในทุกวันนี้ หากให้กระฎุมพีไทยหวนรำลึกถึงยุคทองของตน หลายคนคงฝันถึงเผด็จการที่ตอบสนองผลประโยชน์ของตน (แม้ต้องแบ่ง "ค่าเช่า" ให้บ้าง) ในยุคเผด็จการทหารของระบอบสฤษฎิ์ เพราะหลังจากระบอบนี้ถูกทำลายลงในเหตุการณ์ 14 ตุลาแล้ว บ้านเมืองก็ไม่เคยราบเรียบแก่การทำกำไรอย่างนั้นอีก นอกจากภายใต้การกำกับของกองทัพเบื้องหลัง เช่นสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ

ผมคิดว่า น่าประหลาดมากกว่า หากจะหวังให้กระฎุมพีกลุ่มนี้เป็นหัวหอกในการผลักดันประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่พลเมืองทุกคน ภาระอันนั้นกลับไปตกอยู่กับคนชั้นกลางกลุ่มใหม่ (ซึ่งผมหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่ากระฎุมพี เพื่อแยกจากกันให้ชัด) เพราะคนกลุ่มใหม่เหล่านี้ เติบโตมาในการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยกว่า ได้รับอานิสงส์จากการกระจายทรัพยากรกลางไปสู่การพัฒนาชนบท (ซึ่งก็เปิดทางให้แก่การแย่งชิงทรัพยากรของกระฎุมพีจากในเมืองด้วย) อันเป็นฐานเสียงของนักการเมืองที่ต้องลงเลือกตั้ง

การเติบโตทางเศรษฐกิจของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่เหล่านี้ มิได้ราบเรียบนัก เพราะต้องเผชิญกับการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายลักษณะ เผชิญกับโครงสร้างภาษีที่ไม่เป็นธรรม และเผชิญกับการกระจายโอกาส (ทางการศึกษา, สาธารณสุข, สาธารณูปโภคพื้นฐาน) ที่ไม่เป็นธรรม (เกิน 50% - บางครั้งอาจถึง 70% ของงบประมาณแผ่นดินของทุกรัฐบาลใช้ในกรุงเทพฯ)

ประชาธิปไตย โดยเฉพาะมิติกำกับนโยบายสาธารณะผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง จึงเป็นคำตอบแก่พวกเขา

นี่เป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยหลักกว้างๆ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่ก็อาจช่วยอธิบายถึงสงครามชนชั้น (หากนี่คือสงครามชนชั้นจริง)ที่เราเผชิญอยู่ได้บ้าง แต่ผมสงสัยว่า สงครามชนชั้นเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายความกระตือรือร้นของกระฎุมพีจำนวนมาก ที่เข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส.ได้ ผมจึงอยากพูดถึงความแปลกแยกทางสังคมที่กระฎุมพีไทยรับและดำรงสืบมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย

ในทางวัฒนธรรม กระฎุมพีในสังคมใดๆ ก็มักจะลอกเลียนวัฒนธรรมของคนชั้นสูงในสังคมนั้น แต่กระฎุมพีไม่ใช่ชนชั้นเวลาว่างเหมือนคนชั้นสูง การลอกเลียนวัฒนธรรมจึงทำได้จำกัด ไม่ช้าก็เร็ว วัฒนธรรมที่เหมาะกับกระฎุมพีย่อมเกิดขึ้นจนได้ กลายเป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่มักจะฟูมฟาย (baroque) เพื่อแสดงกำลังทางเศรษฐกิจที่มีมากของตน ยิ่งในยุคสมัยที่ตลาดคือผู้อุปถัมภ์ศิลปะวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุด กระฎุมพีซึ่งมีกำลังซื้อครอบตลาดอยู่แล้ว จึงเป็นผู้กำหนดศิลปะวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ

คนชั้นสูงเองเสียอีกที่ต้องหันมายึดถือศิลปะวัฒนธรรมและค่านิยมทางศีลธรรมของกระฎุมพี (เช่นเลิกมีเมียมากอย่างออกหน้า)

และนี่คือแฟชั่นบาโรกนานาชนิดที่เราได้เห็นตามสื่อ และสื่อสังคม (เมื่อผมเป็นเด็ก กระฎุมพีกรุงเทพฯ มักหัวเราะเยาะชาวบ้านนอกที่นิยมเอาสีธงชาติไปทาบนหลังคาเรือนสังกะสีของตน)
 

2.

ในทางการเมือง กระฎุมพีอาจเคยต่อสู้กับเผด็จการทหารมาแล้ว ทั้งใน 14 ตุลาและพฤษภามหาโหด แต่เผด็จการทหารที่กระฎุมพีไทยรับไม่ได้ คือเผด็จการทหารแบบอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างระบอบสฤษดิ์ หรือความพยายามจะรื้อฟื้นระบอบนั้นกลับคืนมาใหม่ของ รสช. เพราะเผด็จการแบบนั้นไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างอิสระของกระฎุมพี ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม หรือการเมือง แต่กระฎุมพีไทยไม่รังเกียจระบอบปกครองที่อยู่ภายใต้การชี้นำและกำกับของทหาร ในทรรศนะของพวกเขา ระบอบนี้เท่านั้นที่จะดำรงรักษาระเบียบสังคมที่เอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าของพวกเขา เพราะเป็นระบอบที่เปิดให้ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพได้มาก ตราบเท่าที่ไม่ใช้เสรีภาพไปบั่นรอนโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ของสังคม ทุกคนมีตำแหน่งแหล่งที่ของตนเอง และตำแหน่งแหล่งที่ของกระฎุมพี ก็หาใช่ตำแหน่งแหล่งที่อันต้อยต่ำแต่อย่างใด ทั้งยังสามารถเขยิบขึ้นได้อีกด้วย (หากใช้เส้นสายให้เป็นและถูก) คนอย่างทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละคือวีรบุรุษ "อัศวินคลื่นลูกที่สาม" ของพวกเขา เพราะใช้เส้นสายเป็นและถูกจนเขยิบขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐี

กระฎุมพีไทยคือผู้ต้องการรักษาสถานะเดิม(status quo) ซึ่งทำให้เขาได้เปรียบ จึงพร้อมจะต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตและกฎกติกาใดๆ เพื่อรักษาสถานะเดิมไว้

ในคำว่าสถานะเดิมนี้ หมายถึงระเบียบสังคมประเภทใด สรุปให้เหลือสั้นๆ คือความลดหลั่นเป็นช่วงชั้นของสังคมนั่นเอง คนมีสถานะที่สูงต่ำโดยกำเนิด โดยการศึกษา และที่สำคัญที่สุดคือโดยทรัพย์สมบัติ เพราะทรัพย์สมบัติคือตัวกลางความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญที่สุดที่กระฎุมพีรู้จักและคุ้นเคย

และด้วยเหตุดังนั้นกระฎุมพีไทยจึงมีความผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์สูง(ส่วนจะจงรักภักดีหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) เราต้องไม่ลืมว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีบทบาทและอิทธิพลสูงมากขึ้น อย่างรวดเร็วหลังการรัฐประหารใน พ.ศ.2500 เป็นต้นมา (ไม่เฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงด้านวัฒนธรรม, สังคม และเศรษฐกิจด้วย) อันเป็นช่วงที่กระฎุมพีขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าคนไทยที่เกิดก่อน 2500 และหลัง 2500 มีญาณทัศน์ (perception) ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างกันอย่างมาก

สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของระเบียบสังคมหรือสถานะเดิมที่กระฎุมพีไทยส่วนใหญ่ต้องการเหนี่ยวรั้งไว้ให้ดำรงอยู่สืบไป

นับตั้งแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา กระฎุมพีมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงขึ้นอย่างชัดเจน เพราะกระฎุมพีคือลูกค้าของสื่อหลักแบบเดิม (หนังสือพิมพ์กระดาษ, ทีวีเสาอากาศ, วิทยุเสาอากาศ) กระจุกตัวในพื้นที่แคบๆ คือเมือง จึงอาจถูกกระตุ้นให้รวมตัวกันแสดงพลังต่อรองทางการเมืองได้ง่ายและเร็ว เมื่อดึงความร่วมมือจากกลุ่มอื่นในเขตเมืองด้วยกันมาได้ เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม, สื่อ, นักวิชาการ และปัญญาชน ก็อาจกำหนดวิถีทางการเมืองและนโยบายสาธารณะได้เกือบเด็ดขาด

น่าสังเกตด้วยว่า การเลือกตั้งหรือการรณรงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เคยเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมืองของกระฎุมพี (ก่อน 2540 สถิติผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของกรุงเทพฯ มักต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด)

การเป็นคนฉลาดจำนวนน้อยที่คอยดูแลปกครองคนโง่จำนวนมาก จึงรู้สึกเป็นภาระหน้าที่ของกระฎุมพี และเป็นความมีระเบียบของสังคมไปพร้อมกัน (นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งหลัง 6 ตุลา คิดว่าเพลโตคือผู้วางรากฐานประชาธิปไตย สะท้อนว่า "ประชาธิปไตย" ในทรรศนะของกระฎุมพีคือระบอบปกครองของคนฉลาด โดยคนฉลาด เพื่อประชาชน)

ผมควรกล่าวด้วยว่า ทัศนคติของกระฎุมพีเช่นนี้ไม่ได้เกิดกับกระฎุมพีไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่เคยเกิดแก่กระฎุมพีอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐ, ฯลฯ มาแล้ว เดอ ต๊อคเคอวิลล์ ผู้ให้อรรถาธิบายแก่ประชาธิปไตยอเมริกันที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เคยแสดงความวิตกว่า เมื่อประชาธิปไตยอเมริกันซึ่งมีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยมวลชนมากขึ้น ข้อดีและพลังของประชาธิปไตยอเมริกันที่เขาชื่นชมก็จะเสื่อมลงไป แต่ในยุโรปตะวันตกและสหรัฐ กระฎุมพีสามารถก้าวข้ามปรัชญา "คนไม่เท่ากัน" ไปได้ เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ช่วยสนับสนุน ผมอยากพูดถึงปัจจัยเหล่านี้ในเมืองไทย

หลายคนมักนึกถึงเศรษฐกิจที่พัฒนาได้ทั่วถึงจนฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ดีขึ้นแต่ความจริงแล้วนี่คือสิ่งที่เกิดในเมืองไทยเวลานี้ซึ่งกลับทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองมากขึ้น ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจสืบเนื่องมาหลายปี ทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัวมากขึ้นแม้อย่างเสียเปรียบ แต่ก็ทำให้รายได้ของเขาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเข้าสู่ตลาดบังคับให้เขาต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง เพราะนโยบายสาธารณะของรัฐกระทบชีวิตของเขา

ตรงกันข้ามกับที่เห็นในเมืองไทย ประชาธิปไตยอังกฤษและฝรั่งเศสขยายตัวไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนวงกว้างขึ้น (แม้ไม่ใช่ผ่านสิทธิเลือกตั้ง) ในขณะที่สังคมอังกฤษและฝรั่งเศสยังมีความข้นแค้น (pauperism) อยู่ดาษดื่นด้วยซ้ำ การต่อสู้เพื่อล้มเลิกกฎหมาย The Poor Law และ Corn Law ในอังกฤษนั้น แม้มีกระฎุมพีเป็นผู้นำ (เพราะกฎหมายเหล่านี้กีดกันมิให้แรงงานกลายเป็นสินค้าเต็มตัว จึงขัดขวางความก้าวหน้าของทุนนิยม) แต่ก็มีคนจนและคนข้นแค้นจำนวนมากหนุนช่วยอยู่เบื้องหลัง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา (เช่นก่อจลาจลด้วยความหิวอยู่บ่อยๆ)

เหตุใดในที่สุดแล้วกระฎุมพีอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐจึงยอมรับความเสมอภาคทางการเมืองของเพื่อนๆ โอลิเวอร์ ทวิสต์, พวก sans coulotte, และ hilly-billy ในเคนตักกี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเด็ดขาดเพียงปัจจัยเดียวอย่างแน่นอน

ผมอยากให้คำตอบโดยสรุปแก่คำถามข้างต้นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่สองด้านหนึ่งคือการลดความแปลกแยกของกระฎุมพีกับสังคมลง และอีกด้านหนึ่งคือการยอมให้ชนชั้นล่างได้เคลื่อนไหวเพื่อต่อรองทางการเมืองได้

การขยายการศึกษาคงมีส่วนสำคัญในการลดความแปลกแยกทางสังคมของกระฎุมพีลูกหลานของชนชั้นล่างได้เรียนหนังสือที่มีคุณภาพไม่ด้อยกว่ากันจนจำนวนไม่น้อยมีโอกาสได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยระดับสูง กระฎุมพีและคนอื่นสามารถพูดภาษาเดียวกันได้ ในเมืองไทยแม้มีการขยายการศึกษาตลอดมา แต่เรามักเอาเป้าหมายทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำ เช่นผลิตแรงงานฝีมือเพิ่มขึ้น จึงแยกการศึกษาระหว่างลูกหลานกระฎุมพีไว้ในโรงเรียนดังเพื่อเตรียมนักบริหาร ส่วนคนอื่นเรียนในโรงเรียนทั่วไปซึ่งด้อยคุณภาพกว่ากันมาก ถูกเตรียมเพื่อเป็นแค่แรงงานฝีมือ กระฎุมพีไทยจึงยังแปลกแยกจากสังคมเหมือนเดิม

การศึกษากำหนดประสบการณ์ของกระฎุมพีให้ต้องมีวิถีชีวิตที่แปลกแยกต่อไปเพราะแทบไม่ได้สัมพันธ์กับคนต่างสถานภาพอื่นอีกนอกจากในฐานะนาย-บ่าว คำพูดของปัญญาชนกระฎุมพีคนหนึ่งที่ว่า คนอีสานเป็นได้แค่เด็กปั๊มและคนรับใช้สะท้อนประสบการณ์แห่งความแปลกแยกทางสังคมที่ชัดเจนที่สุด

นอกจากวิถีชีวิตแล้วอุดมการณ์ชีวิตในวัฒนธรรมไทยก็ไม่ส่งเสริมสำนึกความเสมอภาคมากนัก เช่นพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปในสมัย ร.5 เป็นต้นมา เน้นหลักบุญทำกรรมแต่งซึ่งทำให้ต้องยอมรับความไม่เสมอภาคของบารมีหรือความดีที่ได้สั่งสมมาในอดีตชาติของแต่ละคนในขณะที่หลักของพุทธศาสนาที่เน้นศักยภาพของมนุษย์ทุกคนซึ่งสามารถเข้าถึงสิ่งสูงสุดในชีวิตได้เหมือนกัน ไม่เคยถูกเน้นเลยจนถึงคำสอนของท่านพุทธทาส

อาจเป็นเพราะความแปลกแยกดังกล่าวนี้ ทำให้กระฎุมพีไทยไม่เป็นปราการให้แก่สิทธิการเคลื่อนไหวต่อรองของชนชั้นล่าง รัฐทุนนิยมไทยใช้กำลังและมาตรการนอกกฎหมายนานาชนิดในการปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม ชาวบ้านที่ต่อต้านทุนในการแย่งยื้อทรัพยากร หรือทำลายทรัพยากรท้องถิ่น เกษตรกรที่เรียกร้องราคาผลผลิตที่เป็นธรรม ฯลฯ ในขณะที่กระฎุมพีไทย ไม่รู้สึกหวงแหนสิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่างเหล่านั้น ตรงกันข้ามเสียอีก กระฎุมพีไทยอาจรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นที่มีรัฐคอยรักษาระเบียบสังคมของความไม่เท่าเทียมหรือสถานะเดิมไว้ให้อย่างเข้มแข็ง

และแล้ววันหนึ่งโลกทรรศน์และจินตนาการทางการเมืองเช่นนี้ก็เป็นไปไม่ได้ในสังคมไทยอีกต่อไปเพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้น โลกที่ปลอดภัยมั่นคงของกระฎุมพีกำลังสลายลงต่อหน้า จะหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมที่กระฎุมพีไทยคุ้นเคยได้อย่างไร ดูจะไม่มีวิธีอื่นเลยนอกจากสองทาง หนึ่งคือปรับตัวเองให้เข้ากับระเบียบสังคมใหม่ที่ต้องยอมเปิดพื้นที่ให้แก่คนแปลกหน้าจำนวนมากเข้ามาต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน(ซึ่งผมก็ยอมรับว่าประสบการณ์และทักษะของกระฎุมพีไทยในด้านนี้มีไม่มากนัก ทั้งๆ ที่กระฎุมพีมี "ทุน" ทางการเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมสูงกว่าคู่แข่งมาก) หรือสองคือหยุดยั้งความแปรเปลี่ยนของระเบียบสังคมนี้ทุกวิถีทาง

น่าเศร้าที่กระฎุมพีไทยเลือกหนทางที่สองและนี่คือที่มาของกบฏกระฎุมพีที่เรากำลังเผชิญอยู่

 

 

ที่มา: 
กบฏกระฎุมพี (1): มติชนรายวัน 10 ก.พ. 2557
กบฏกระฎุมพี (2): มติชนรายวัน 17 ก.พ.2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net