Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เรื่องสามเรื่องที่ผมกล่าวถึงนั้น ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่สำหรับผมนั้นผมเห็นว่าเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง นอกเหนือไปจากการที่ทั้งสามเรื่องเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน (หรือไล่ๆ กัน)

เรื่องที่หนึ่ง คือเรื่องการเมืองของตัวเลขการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้มีท่านผู้รู้หลายท่านให้ความคิดเห็นอย่างน่ารับฟัง (อย่างน้อยก็มี รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์) แต่ในส่วนของผมเอง เมื่อมองภาพรวมการเลือกตั้ง ผมกลับมองโลกในแง่ดีเอามากๆ ในแง่ที่ว่า อย่างน้อยในการถกเถียงเรื่องว่ามีคนออกมาเลือกตั้งเท่าไหร่ คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยลดลงมากแค่ไหน มีคะแนนไม่ลงคะแนนเสียงมากแค่ไหนนั้น มันก็สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกตั้งนั้นนอกเหนือจากจะต้องเสรีและเป็นธรรมแล้ว การเลือกตั้งจะต้อง "มีความหมาย" บางประการด้วย

ดังนั้น ตัวเลขการเลือกตั้งนั้นจึงเป็นตัวเลขที่ "มีความหมาย" (meaningful) เป็นอย่างยิ่ง และชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการอยู่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย

ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดเช่นกัน เพราะในรายการขององค์กรระหว่างประเทศนั้น มักจะพูดว่าการเลือกตั้งนั้นจะต้องมีมิติของสันติภาพ (peaceful) ด้วย แต่เรื่องนี้ต้องนำมาขบคิดเช่นกันว่า มันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งและประชาชน/ประชาสังคมในการทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องไม่มีความรุนแรง แต่ไม่ใช่อ้างว่าประเทศยังไม่พร้อมจะมีการเลือกตั้งเพราะการเลือกตั้งนั้น เป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งนี้ เพราะความรุนแรงนั้นเกิดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเลือกตั้งเอง และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องทำให้การเลือกตั้งนั้น เป็นวิถีทางในการอยู่ร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงเสียมากกว่าการเลื่อน การเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ

ทีนี้กลับมาที่ตัวเลขและการตีความตัวเลข ผลการเลือกตั้ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าขบคิดเป็นอย่างมาก และผมเองก็ไม่มีหน้าที่จะต้องไปปกป้องรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด กลับยิ่งคิดว่าการเลือกตั้งเองกลับชี้ให้เห็นว่าเป็นวิถีทางที่จะทำให้พรรคการเมืองนั้นจะต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก

แต่สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือ การเลือกตั้งครั้งนี้มีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์แบบและไม่เป็นไปอย่างอุดมคติเป็นอย่างยิ่ง ด้วยว่าขาดพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในการต่อสู้ในเกมการเลือกตั้ง (แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย หากดูทั้งจากการไม่ออกมาเลือกตั้ง และคะแนนงดออกเสียง โดยเฉพาะในบางเขตเลือกตั้งที่มากกว่าคะแนนผู้ลงคะแนนเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้น่าจะต้องมีการแก้ไขกรอบกฎหมายให้สามารถมีผลบังคับได้ว่า ถ้าเขตใดมีคะแนนเลือกน้อยกว่าคะแนนไม่เลือกอาจจะต้องลงเลือกตั้งกันใหม่)

การขาดฝ่ายค้านที่เข้มแข็งนั้นไม่ได้หมายถึงเรื่องที่ว่าขาดฝ่ายค้านที่เข้มแข็งแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ชอบธรรม แต่หมายถึงว่าเมื่อขาดฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในการเลือกตั้ง ก็ทำให้เราไม่สามารถคาดหวังว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเกิดนวัตกรรมทางนโยบายที่จะเกิดความใฝ่ฝันและข้อถกเถียงเชิงนโยบายใหม่ๆ ได้

ในแง่นี้การเลือกตั้งครั้งนี้สีสันจึงน้อย และเอาเข้าจริงอาจจะชี้วัดโดยตรงไม่ได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อไทยเองได้มีโอกาส "ปล่อยของ" ใหม่ๆ ออกมา แต่แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างน้อยมีความหมายว่า เพื่อไทยมีคะแนนนิยมลดลง และมีคนสนใจเลือกตั้งและประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งอยู่มากมาย (ขึ้นอยู่กับว่าเราเทียบทุกอย่างจากตัวเลข 100% หรือเทียบจาก 75% ซึ่งเป็นตัวเลขจากคราวที่แล้ว เป็นตัวเลขฐาน เพราะเชื่อว่าไม่มีความเป็นไปได้ที่ทุกคนจะออกมาเลือกตั้งอยู่แล้ว)

เราจึงยังมองไม่เห็นสีสันและเงื่อนไขใหม่ๆ ในมิติการเมืองของนโยบาย และเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องยากที่ประชาธิปัตย์ และ กปปส. เองจะอ้างตัวเลขที่ไม่ได้เทไปที่เพื่อไทยว่าเป็นของตน แต่ก็เหมือนกับที่ย้ำไปตั้งแต่แรกแล้วว่ายิ่งประชาธิปัตย์ และ กปปส.มาร่วมถกเถียงเรื่องตัวเลขก็เป็นสัญญาณที่ดี ว่าอย่างน้อยการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นนอกจากในระดับหนึ่งจะไม่เกิดความรุนแรงในวันเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งยังมีความหมายเป็นอย่างยิ่งยวดนั่นแหละ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร จะด้วยการถูกสั่งให้เป็นโมฆะ หรือจะด้วยการเลือกตั้งชดเชย/ทดแทนไปเรื่อยๆ ซึ่งความล่าช้าโดยตัวของมันเองก็ยิ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ดูไร้ความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่?

เรื่องที่ดูจะตามหลอกหลอนเรื่องที่สอง (แต่ก็ไม่มากนัก) ในระยะนี้เห็นจะเป็นเรื่องของ "นายกฯคนกลาง" ที่นักวิชาการหรือกลุ่มพลังทางการเมืองบางกลุ่มยังฝันและเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งสำหรับผมแล้วเรื่องของนายกฯคนกลางนั้นเป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาในหลายมิติ

อาทิ เรื่องที่ว่านายกฯคนกลางนั้นควรจะเป็นใคร และสอง (ซึ่งผมว่าสำคัญกว่า) ก็คือ เงื่อนไขอะไรจะทำให้เกิดนายกฯคนกลางได้ และสาม การมีนายกฯคนกลางนั้นจะทำให้เราสูญเสียอะไรหรือได้อะไรบ้างท่ามกลางการดำเนินไปของการเมืองในวันนี้

เรื่องที่ว่านายกฯคนกลางควรจะเป็นใครนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเหมือนนิยายสืบสวนสอบสวนอยู่มิใช่น้อย เพราะเท่าที่ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องของนายกฯคนกลางในประวัติศาสตร์ไทยนั้น ก็จะพบว่านายกฯคนกลางนั้นอาจจะมีที่มาและความยึดโยงกับสถาบันต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะอยู่ตรงที่ว่านายกฯคนกลางนั้นจะต้องเป็นคนที่ทุกคน "นึกไม่ถึง" (หุหุ)

ในแง่นี้คนที่มักจะถูกมองว่าเป็นตัวเต็งในการเป็นนายกฯคนกลางนั้นเอาเข้าจริงมักไม่ได้เป็น ส่วนคนที่ได้เป็นนั้นมักจะเป็นคนที่อาจจะไม่ได้เป็นคนที่โดดเด่นที่สุด หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะมากที่สุดเสมอไป แต่จะต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากทุกๆ ฝ่ายในระดับหนึ่งเสียมากกว่า

พูดแบบขำๆ ก็คือ จะคิดไปให้ปวดหัวทำไม เพราะว่าสุดท้ายแล้วคนที่เรานึกไม่ถึงนั่นแหละครับจะได้เป็นนายกฯคนกลาง

แต่ส่วนสำคัญจริงๆ กลับอยู่ที่ว่ากระบวนการที่จะได้มาซึ่งนายกฯคนกลางต่างหากที่เราเห็น หรือได้ยินมาโดยตลอด จนบางทีเราอาจจะหลงลืมไปว่าเรื่องไหนสำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่ากัน นั่นก็คือ ตกลงนายกฯคนกลางนั้นเป็นผลพวงของการทำรัฐประหาร หรือสุดท้ายจริงๆ แล้ว การรัฐประหารเป็นเพียงกระบวนการที่จะได้มาซึ่งนายกฯคนกลางกันแน่

เรื่องนี้เป็นบทเรียนของหลายฝ่ายครับ เพราะถ้าเราสนใจแค่ว่าจะโค่นล้มนายกฯจากการเลือกตั้ง (และไม่มีศรัทธาว่าผู้นำฝ่ายค้านสามารถเป็นนายกฯได้จากการเลือกตั้ง) โดยแสวงหาคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็คงจะคิดว่ารัฐประหาร หรือเดี๋ยวนี้มีคำที่ดูอบอุ่นอ่อนโยนกว่า อาทิ การได้มาซึ่งอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ (ว่าตามที่คนแก่กลุ่มหนึ่งเขาไปนั่งคุยกันแล้วถ่ายคลิปมาให้ดูอย่างภาคภูมิใจ) นั้นเป็นเพียงวิถีทางเดียวให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ หรือเอาเข้าจริง เรากำลังพูดว่านายกฯคนกลางนั้นจะเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวบางอย่างให้ เป็นผลสำเร็จเพื่อทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบางอย่างเกิดขึ้นได้ (บางครั้งไม่ได้มีความหมายแค่ทำให้การเลือกตั้งเกิดได้ หรือจัดการนักการเมืองเลว แต่อาจหมายถึงการผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น หรือผลักดันในเกิดการสถาปนาอำนาจของชนชั้นหนึ่งเหนืออีกชนชั้นหนึ่ง มากกว่าแค่เข้ามาพยุงฐานะทางอำนาจของกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง)

ดังนั้น การเข้ามาเป็นนายกฯคนกลางนั้นจึงเป็นสถานะที่สุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก แถมบางคนเมื่อเข้ามาเป็นแล้ว กลายเป็นว่าออกไปยังโดนวิจารณ์และขุดคุ้ย รวมทั้งไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างจริงจังอีกต่างหาก มิพักต้องกล่าวถึงว่า เมื่อมีนายกฯคนกลางแล้วนั้นปัญหาบางอย่างในสังคมก็ยังดำรงอยู่ต่อไป อาทิ อาจจะทำให้เรารู้สึกโล่งใจว่านักการเมืองที่เราไม่ชอบไม่สามารถอยู่ในการเมืองได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง นายกฯคนกลางโดยเฉพาะที่มีภูมิหลังจากราชการเอง ก็ไม่สามารถที่จะจัดการระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปกว่าเดิมได้ดังที่เราได้เห็นที่ผ่านๆ มา

และในท้ายที่สุด เรื่องราวของนายกฯคนกลางนั้นกลับไม่ได้เดินทางไปในทิศทางที่สังคมก็เรียกร้องเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ "การเจรจา" ซึ่งในคราวนี้กลับน่าสนใจยิ่ง ว่ากระแสเรียกร้องเรื่องการเจรจานั้นไม่ได้รับความสนใจมากนัก

ใช่ว่าจะไม่มีการเรียกร้องเอาเสียเลย แต่ที่สำคัญตรงที่การกดดันให้มีการเจรจานั้นไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น การเรียกร้องโดยปราศจากการกดดันให้มีการเจรจากันนั้นก็อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่ทำให้เราเห็นว่า กระแสของพลังทางเลือกที่สาม (ในความหมายที่จะเป็นพลังสนับสนุนนายกฯคนกลาง) นั้นไม่ได้มีขึ้นอย่างจริงจัง หากกระแสที่มีอยู่นั้นเต็มไปด้วยการช่วงชิงความชอบธรรมกันระหว่างขั้วความขัดแย้งเสียมากกว่า

 

เรื่องสุดท้าย ที่ควรบันทึกเอาไว้ในช่วงนี้คือเรื่องของการต่อสู้ที่ว่าด้วยเรื่องของนโยบายจำนำข้าว ซึ่งยังเป็นเรื่องที่จบไม่ลง และอาจจะบานปลายไปมากขึ้น และใช่ว่าอาจจะไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองเอาเสียเลย

พึงพิจารณาให้ดีว่า ในอดีตนั้น เงื่อนไขที่ใช้บ่อยที่สุดในการทำรัฐประหารในบ้านเรานั้น ไม่ใช่เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือเงื่อนไขของความไม่จงรักภักดี หากแต่เป็นเงื่อนไขของความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารประเทศของรัฐบาล

ดังนั้น การจี้ไปที่ประเด็นเรื่องของการไม่สามารถจ่ายเงินประกันข้าวให้ชาวนานั้น จึงมีลักษณะที่แหลมคมทางการเมืองยิ่ง แม้ว่าจะไม่ใช่จุดตั้งต้นของการชุมนุมขับไล่รัฐบาลในครั้งนี้ แต่เราก็ไม่สามารถไปชี้ว่าเงื่อนไขนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เสียเลย ด้วยว่าการเคลื่อนไหวในรอบที่แล้วของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั้นก็ใช้เวลาและใช้ประเด็นที่สะสมและเคลื่อนตัวจากจุดแรกมาจนถึงจุดสุดท้าย คือรัฐประหารมาอย่างยาวนานในระดับหนึ่งเช่นกัน

และในอีกทางหนึ่งก็คือในครั้งนี้นอกเหนือจากรัฐบาลจะยังไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายจำนำข้าวของตนต่อไปแล้ว องค์กรอิสระยังก้าวเข้ามานำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาทั้งที่ในชั้นแรกการพิจารณามีวงการพิจารณาอยู่เพียงแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ยังไม่ใช่เรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง

ความละเอียดอ่อนในเรื่องของนโยบายจำนำข้าวนี้เป็นเรื่องที่ดีที่สังคมควรจะพิจารณาร่วมกัน ทั้งมิติของนโยบายเอง และมิติของกฎหมาย หรือกล่าวอีกอย่างก็คือ เรื่องของการจำนำข้าวมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องของนโยบายและการจัดการเรื่องการคอร์รัปชั่น

แน่นอนว่าถ้ามีเรื่องของการคอร์รัปชั่น เรื่องของการคอร์รัปชั่นโดยตัวของมันเองเป็นมิติเรื่องกฎหมายโดยตรง เมื่อมีการจับได้ก็จะต้องลงโทษกันไปตามวิถีทางทางกฎหมาย

แต่เรื่องส่วนที่เป็นเรื่องของนโยบายการจำนำข้าวเองนั้น ยังผูกพันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องทางกฎหมายล้วนๆ แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้กันให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าการจำนำข้าวนั้นควรจะเป็นเรื่องที่สังคมควรจะร่วมรับผิดชอบแค่ไหน อย่างไร อาทิ ควรจะช่วยชาวนาทุกเม็ดและทุกปี หรือควรจะช่วยเป็นบางปี และด้วยราคาที่ไม่สูงกว่าราคาตลาดมากนัก รวมทั้งการวางแผนระยะยาวที่จะต้องทำให้คุณภาพของข้าวนั้นสูงขึ้น

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายนัก เพราะนโยบายจำนำข้าวที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จทางการเมืองในยุคสมัยหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการยอมรับทางการเมืองเช่นกันกับบุคคลอีกหลายกลุ่ม มิหนำซ้ำยังเกี่ยวพันไปถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ได้ยืนข้างเรามากนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา

สำหรับผมแล้วนี่คือบทเรียนสำคัญประการหนึ่งของการยกระดับประเทศ ที่มีราคาต้องจ่าย และนี่คือนโยบายประชานิยมที่สร้างปัญหาเป็นอย่างมากของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะมีลักษณะประชานิยมแบบให้ความสำคัญกับบางภาคส่วน (sectoral populism) เมื่อพิจารณาเทียบกับประชานิยมในยุคแรก นั่นคือประเภท สามสิบบาทรักษาทุกโรค หรือกองทุนหมู่บ้าน หรือการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งล้วนเป็นประชานิยมที่มีนัยยะของการบริหารจัดการงบประมาณที่มีอยู่เดิม แต่กระจายในรูปแบบใหม่ให้เท่าเทียมกันมากขึ้น

แต่ประชานิยมแบบภาคส่วนนี้มีลักษณะที่จับใจแต่ก็แหลมคมทางการเมืองยิ่ง เพราะไปเกี่ยวพันกับการเน้นช่วยเหลือคนบางกลุ่มโดยต้องกู้เพิ่ม และยิ่งเมื่อพิจารณาคู่ไปกับนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จะพบว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นได้คะแนนเสียงเต็มๆ จากคนสองกลุ่มนี้ แต่ภาระ/ต้นทุนเหล่านี้กลับถูกโยนไปให้คนกลุ่มอื่นๆ ต้องแบกเพิ่มขึ้น

เรื่องมันก็ซับซ้อนขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่ได้มีฐานเสียงจากคนกลุ่มเหล่านั้นอย่างเข้มแข็ง และเมื่อฝีมือการบริหารและเงื่อนไขของเศรษฐกิจโลกไม่ได้เป็นใจ แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายเช่นนี้ก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งมีเงื่อนไข/ข้อมูลเรื่องการทุจริตตามมาด้วยแล้ว แรงตึงเครียดทางสังคมอันเนื่องมาจากนโยบายเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย (มิพักต้องพูดถึงความเห็นส่วนตัวขององค์กรอิสระที่มองว่า รอให้ถนนลูกรังหมดก่อนจึงจะมีรถไฟความเร็วสูง หรือการโวยวายเรื่องค่าครองชีพที่แพงขึ้นจากบรรดาผู้ที่อาจไม่ได้เดือดร้อนที่สุด แต่เขาก็เดือดร้อนจริงเช่นกันโดยเฉพาะจากบรรดาคนเมืองที่ไม่ได้รับผลบวกจากการขึ้นราคาสินค้าเกษตรและค่าแรงต่อลูกจ้างของเขา หรือเขาไม่ได้ปรับราคาค่าจ้างไปด้วย เนื่องจากไม่ใช่คนกลุ่มที่เป็นเป้าหมายทางการเมืองของรัฐบาล)

แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาอ้างว่าหากไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รัฐบาลก็จะสามารถแก้ปัญหาการจำนำข้าวเฉพาะหน้านี้ไปได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าแม้ว่าอาจจะมีเงินไปจ่ายให้ชาวนา แต่การแก้ปัญหาระยะยาวก็ยังไม่เกิด และยังเมื่อรัฐบาลไม่สามารถครองใจคนอีกหลายภาคส่วนได้ รวมทั้งเมื่อเศรษฐกิจโลกไม่เป็นใจ รัฐบาลก็จะย่อมจะต้องแบกรับปัญหานี้และย่อมต้องรับผิดชอบทางการเมืองกับฐานะคะแนนเสียงหลักของพวกเขา ดังที่ส่วนหนึ่งอาจจะสะท้อนจากคะแนนนิยมที่ลดลงของพรรครัฐบาล

แต่ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านเอง และ กปปส. รวมทั้งนักวิชาการและกลุ่มพลังต่างๆ ที่ออกมาพยายามนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นทางการเมืองก็ต้องระวังคำถามให้ดีว่า พวกเขามีทางเลือกทางนโยบายอะไรที่จะเป็นที่ต้องใจกับฐานคะแนนเสียงกลุ่มนี้ อย่างจริงๆ จังๆ ในระยะยาวไหม

เพราะเอาเข้าจริงนายกฯคนกลางหรือแนวคิดปฏิรูปมากมายที่พูดถึงในช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับปัญหาชาวนาที่กลายเป็นโอกาสในการพลิกเกมระยะสั้นในช่วงนี้มากนัก

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 11 กุมภาพันธ์ 2557

ที่มา: มติชนออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net