6 ก.พ.57: ความเคลื่อนไหว ‘ม็อบชาวนา’ – การแก้ปัญหาจำนำข้าว

ชาวนาภาคกลางขู่ยกระดับ ขับอีแต๋น-รถไถบุกกรุงฯ/ชาวนาภาคตะวันตก เคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพฯ แล้ว/ชาวนา 5 จังหวัดเหนือล่าง เดินทางยื่นถวายฎีกา/ชาวนาสิงห์บุรี-ชัยนาท-อ่างทอง ร้อง ป.ป.ช.สอบการทุจริต/มติเกษตรกรอีสาน 20 จังหวัด วอนรัฐ จี้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ใบประทวน/‘ยิ่งลักษณ์’ โพสต์เฟซบุ๊กแจงเร่งแก้ไขอุปสรรคการจ่ายเงินจำนำข้าว
 
ชาวนาภาคกลางขู่ยกระดับ ขับอีแต๋น-รถไถบุกกรุงฯ
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 ก.พ. 57 นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยชาวนาในพื้นที่ จ.อ่างทอง กว่า 500 คน ได้เดินทางไปรวมตัวกันที่ถนนสายเอเชีย กม.ที่ 67-68 ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง พร้อมนำเต็นท์จำนวน 3 หลัง ตั้งขวางถนนทั้งขาขึ้นภาคเหนือและขาเข้า กทม. เพื่อกดดันเรียกร้องทวงเงินค่ารับจำนำข้าวที่ยังไม่ได้รับจำนวนกว่า 2 พันรายจากรัฐบาล
 
ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต ติดขัดยาวเหยียดมาจนถึงเขต อ.เมืองอ่างทอง เป็นระยะทางกว่า 15 กม. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองอ่างทอง สภ.ไชโย จ.อ่างทอง และ สภ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ต้องระดมกำลังออกประชาสัมพันธ์ ให้ยวดยานเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน
 
ต่อมามีเกษตรกรชาวนาจาก จ.ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี เดินทางมาร่วมสมทบ ตั้งโต๊ะรับหลักฐานเพื่อเตรียมส่งให้สภาทนายความฟ้องศาลเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการจ่ายเงินล่าช้าอีกทาง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นผู้ชุมนุมมีมติยกระดับการชุมนุม โดยการย้ายเต็นท์มาที่บริเวณ กม. 65-66 ตรงทางแยกเข้าวัดไชโยวรวิหาร และฝั่งขาล่องตรงทางแยกเข้า อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เพื่อปิดถนนอย่างเด็ดขาด ไม่ให้รถสัญจรผ่านไปมาได้ จนเกือบเกิดการประทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ชูเดช กองกันภัย รอง ผบก.ภ.จว.อ่างทอง ที่นำกองร้อยควบคุมฝูงชนเข้าขัดขวาง จนกระทั่งตำรวจได้ล่าถอยไปในที่สุด
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ประชาสัมพันธ์ผู้ใช้รถเปลี่ยนเส้นทางสำหรับขาขึ้นไป จ.นครสวรรค์ ให้เลี่ยงเข้า จ.อ่างทอง ไปใช้เส้นทางสาย 309 ถนนสายอ่างทอง-สิงห์บุรี สายเก่า กับถนนเลียบคลองชลประทาน ส่วนด้านขาล่องเข้า กทม.ให้เลี่ยงเข้าใช้เส้นทางเข้า อ.ท่าวุ้ง ผ่านเข้า จ.ลพบุรี ไปตามถนนสายลพบุรี-พระนครศรีอยุธยา แยกเข้าบรรจบถนนสายเอเชีย ที่ อ.เมืองอ่างทอง เพื่อมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ
 
นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า การปิดถนนสายเอเชียครั้งนี้ ชาวนาต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลนำเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวที่รอมานานหลายเดือนแล้ว และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะได้เมื่อไรแน่ เหมือนโกหกพวกเราไปวันๆ จนไม่รู้ว่าจะให้รอนานเท่าใด ส่วนที่ตั้งโต๊ะรับหลักฐานจากชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวนั้น เพื่อเป็นหลักฐานฟ้องรัฐบาลให้ชดใช้เงินค่าข้าว รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย
 
บ่ายวันเดียวกัน พล.ต.ต.สมศักดิ์ โอภาสเจริญกิจ ผบก.ภ.จว.อ่างทอง ได้เดินทางไปรับทราบแนวทางจุดประสงค์ของการชุมนุม และขอร้องให้ผู้ชุมนุมเปิดการจราจร เพื่อจะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องสัญจรไปมา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะปิดถนนไปจนกว่าจะมีตัวแทนรัฐบาลมาเจรจา และหากไม่ยอมมาจะหารือกันในการยกระดับการชุมนุม และเดินทางเข้าไปในกรุงเทพฯ ต่อไป
 
กระทั่ง เมื่อเวลา 15.30 น. หลังจากที่นายทรงพล พร้อมสมาชิกสภาเกษตรกร จ.อ่างทอง และจังหวัดข้างเคียงปิดถนนมานานกว่า 6 ชั่วโมง แต่ยังไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลเข้ามารับหนังสือเรียกร้อง แกนนำเกษตรกรจึงได้เข้าร่วมประชุมหารือกัน และมีมติว่าจะได้ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องสัญจรไปมาต่อไปอีก โดยการยอมเปิดการจราจรบนสายเอเชียให้สัญจรไปมาได้ตามปกติก่อนช่วยกันรื้อเต็นท์และแยกย้ายกันเดินทางกลับ
 
นายทรงพล เผยเพียงสั้นๆ ว่า เมื่อรัฐบาลไม่ส่งตัวแทนมาดูแลความเดือดร้อนของชาวนา พวกเราจะนัดรวมตัวกันเดินทางไปที่กรุงเทพ สมทบกับม็อบที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ ในเวลา 08.30 น.วันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) ต่อไป
 
 
ชาวนา จ.กาญจนบุรี ชุมนุมต่อเนื่องวันที่ 2 
ส่วน เนชั่นรายงานด้วยว่า ในส่วนการชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ของชาวนา ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ที่นำมวลชน 200 คน ปิดถนนสายกาญจนบุรี-สุพรรณบุรี บริเวณ 3 แยกไฟแดง ต.หนองขาว นายอภิชาต อบอาย แกนนำ กปปส.กาญจนบุรี ได้เข้าหารือกับแกนนำชาวนา เพื่อชักชวนให้มวลชน ทั้งหมดเดินทางไปร่วมชุมนุมกับทาง กปปส. ที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตอบรับในประเด็นดังกล่าว
 
 
ชาวนา 5 จังหวัดเหนือล่าง เดินทางยื่นถวายฎีกาแล้ว
 
เนชั่น รายงานว่าวันที่ 6 ก.พ.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.พิจิตร ว่า กรณีที่มีชาวนา จาก 5 จังหวัดประกอบไปด้วย จ.พิจิตร นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชรและพิษณุโลก กว่า 500 คนโดยมีนายประกาศิต แจ่มจำรัส นายก อบต.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล จ.พิจิตร เป็นแกนนำ ยังมีการชุมนุมปิดถนนบริเวณ ถนนทางหลวงหมายเลข 117 -นครสวรรค์-พิษณุโลก ขาล่องเข้ากทม.หน้า ธ.ก.ส.สาขาบึงนาราง ใกล้สี่แยก อ.บึงนาราง จ.พิจิตร โดยมีการลงรายมือชื่อต่อเนื่อง ที่จะนำรายชื่อทั้งหมดเพื่อยื่นถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เห็นถึงความเดือดร้อนชาวนา
 
ล่าสุดเมื่อในช่วงเช้า นายประกาศิต แจ่มจำรัส แกนนำกลุ่มชาวนา 5 จังหวัด ภาคเหนือ พร้อมเกษตรกรชาวนา จำนวน 120 คน เดินทางด้วยรถบัส 2 คัน รถตู้ 1 คัน เดินทางเข้าเพื่อทูลเกล้า ถวายฎีกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยได้นำรายชื่อเกษตรกรชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อน เงินจำนำข้าว จำนวนเกษตรกร 3,000 รายชื่อ โดยมีนายวิสูตร เยี่ยมแสนสุข กองการนิติกร สำนักพระราชวัง รับมอบหนังสือรายชื่อถวายฎีกา พร้อมกล่าวให้กำลังใจกับชาวนา โดยหลังจากการถวายฎีกาแล้วชาวนาทั้งหมดจึงเดินทางกลับ
 
นายประกาศิต แจ่มจำรัส แกนนำกลุ่มชาวนา 5 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ในส่วนทางเวทีที่ชุมนุมที่บริเวณถนน สาย 117 พิษณุโลก-นครสวรรค์จะต้องยุติการชุมนุม พร้อมทั้งเก็บอุปกรณ์เวที เต็นท์ เพื่อคืนพื้นที่การชุมนุมให้ใช้การได้ตามปกติ ในส่วนหลังจากที่ชาวนากลับจากทูลเกล้าถวายฎีกาแล้ว ทางกลุ่มแกนนำ จะประชุมกันอีกครั้ง จะมีแนวทาง เพื่อกดดันการทวงเงินจำนำข้าวอย่างไร
 
 
ชาวนาสิงห์บุรี-ชัยนาท-อ่างทอง ร้อง ป.ป.ช.สอบการทุจริต
 
ไอเอ็นเอ็น รายงาน เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2557 กลุ่มเกษตรกรชาวนาพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ชัยนาท และอ่างทอง นำโดย นายวินัย หลำหนู เดินทางมายัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ ป.ป.ช. เร่งรัดการตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และช่วยติดตามเงินของเกษตรกรที่รัฐบาลค้างจ่าย ในฤดูกาลผลิตปี 2556/57 ซึ่งมีการค้างจ่ายมานานกว่า 4 - 5 เดือน
 
โดย นายวินัย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการบริหารโครงการที่ผิดพลาดของรัฐบาล และการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ได้เกิดจากความไม่ต่อเนื่องจากการประกาศยุบสภาตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ต้องเป็นหนี้จากการกู้ยืมเงินเพื่อยังชีพ รายละกว่า 2 - 3 แสนบาท และขณะนี้ ชาวนาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าวดังกล่าวแล้ว เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือชาวนาได้จริง
 
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหลักฐานเป็นรายชื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และใบประทวนที่รัฐบาลค้างจ่าย ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้มีการสัญญาไว้ว่า หลังการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. จะมีการจ่ายเงินให้ชาวนา แต่จนขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณว่าจะได้เงินตามที่สัญญาไว้ ซึ่งทาง ป.ป.ช. ก็ระบุว่า จะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย กลุ่มเกษตรกรจึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาทันที โดยไม่ได้ร่วมชุมนุมกับชาวนากลุ่มอื่นแต่อย่างใด
 
 
ชาวนาภาคตะวันตก เคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพฯ แล้ว
 
เนชั่น รายงานว่า เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 6 ก.พ.57 กลุ่มชาวนาภาคตะวันตกที่รวมกันปิดถนนพระราม 2 บริเวณแยกวังมะนาว หมู่ 5 ต.วังมะนาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ได้มารวมตัวกันเพื่อจะเดินทางไปทวงถามเงินค่าข้าวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยก่อนจะออกเดินทางชาวนาได้ร่วมกันร้องเพลงชาติ และทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอขมาลาโทษพื้นที่ได้มาทำการปิดกั้นถนน รวมทั้งขอให้การเดินทางไปทวงถามเงินที่กระทรวงพาณิชย์ให้ปลอดภัยทุกคนและให้ได้รับคำตอบที่ดี ที่จะทำให้ชาวนาได้พอมีหวังว่าจะได้เงินค่าข้าว
 
จากนั้นได้ร่วมกันขึ้นรถบัสและรถยนต์ส่วนตัวรวมกว่า 20 คัน โดยมีป้ายข้อความเรียกร้องเงินของชาวนาคืนมาทุกคัน ซึ่งขบวนที่เดินทางไปนั้นจะใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมและจะไปพบกับขบวนของกลุ่มชาวนาใน จ.กาญจนบุรี ที่บริเวณแยกสระกระเทียม อ.เมือง จ.นครปฐม ที่มารวมตัวรออยู่ จากนั้นก็จะร่วมเดินทางไปพบกับชาวนาใน จ.นครปฐมที่บริเวณ อ.พุทธมนฑล จ.นครปฐม ก่อนจะเดินทางเข้าไปยังกระทรวงพาณิชย์
 
อย่างไรก็ตาม มีชาวนารอส่วนหนึ่งยังคงปักหลักปิดถนนที่อยู่บริเวณพระราม 2 ต่อไปเพื่อรอรับการกลับมาของชาวนาที่เดินทางไปทวงเงินที่ค่าข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ด้วย
 
เดินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 11.30น. วันที่ 6 ก.พ. ที่หน้ากระทรวงพาณิชย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวนาจาก จ.เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี ได้เดินทางมาชุมนุมปิดด้านหน้ากระทรวงพาณิชย์เพื่อเรียกร้องเงินค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลติดค้างมาประมาณ 4 เดือน โดยมีตัวแทนชาวนาสลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีโครงการรับจำนำข้าวที่ล้มเหลว จนทำให้ชาวนาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวโดยมีเจ้าหน้าตำรวจ สภ.เมืองนนทบุรี มีดูแลรักษาความปลอดภัย
 
นางดวงสมร คงครุฑ กล่าวว่า กลุ่มชาวนา จาก ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเงินค่ารับจำนำข้าวจากรัฐบาลซึ่งติดค้างมากว่า 4 เดือนแล้ว ทำให้ได้รับเดือดร้อนเพราะติดหนี้ค่าเช่าที่นาค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน เป็นจำนวนเงิน กว่า 100,000 บาท ทำเจ้าของที่นาที่เช่าอยู่จะยึดที่นาคืนและไม่มีเงินหมุนเวียนในการปลูกข้าวในฤดูการใหม่อีกด้วย ก็จึงขอฝากไปยังว่าให้เร่งรัดในการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ติดค้างอยู่ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด
 
กรมประชาสัมพันธ์รายงาน กลุ่มเกษตรกรชาวนา นำโดยนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ซึ่งปิดล้อมกระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ ยังคงปักหลักชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลต่อเนื่อง โดยในคืนนี้ แกนนำการชุมนุม มีมติจะพักค้างคืนที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ ได้อำนวยความสะดวก โดยเปิดลานด้านหน้าอาคาร ประตูทางเข้าที่ 1 ให้เป็นที่พัก
 
ทั้งนี้ในเบื้องต้น ผู้ชุมนุม มีกำหนดชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งบรรยากาศโดยรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้ชุมนุมเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่พักค้างคืนที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อรอชาวนาจากจังหวัดอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมชุมนุมในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.57) โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากสถานีตำรวจภูธรนนทบุรี ดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงดูแลการจราจรรอบพื้นที่ ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้ใช้รถกระบะ รถเกี่ยวข้าว ในการปิดล้อม แต่ในช่วงกลางคืน กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถไปจอดบริเวณด้านในกระทรวงพาณิชย์ ทำให้การจราจรด้านหน้ากระทรวงฯ สามารถใช้การได้ตามปกติ
 
 
ชาวนาเสียงแตก เตรียมบุกพาณิชย์ อีกกลุ่มไร้แผนประท้วง
 
6 ก.พ. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงาน นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สมาคมฯ และกลุ่มชาวนาใน 12 จังหวัด ได้ประชุมหารือและจัดทำหนังสือ เพื่อยื่นต่อรัฐบาลวันนี้ (6 ก.พ. 57) ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการกู้เงินเพื่อมาชำระค่าข้าวให้ชาวนา โดยเสนอให้รัฐบาลกู้เงินแบบเปิดกว้าง ไม่เน้นเพียงกู้เงินผ่านธนาคารรัฐเท่านั้น ควรกู้ธนาคารพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เชื่อว่าจะมีธนาคารให้ความร่วมมือและขอให้ธนาคารเห็นใจชาวนา พิจารณาปล่อยกู้เงินด้วย

นอกจากนี้ ชาวนายังสนับสนุนการระบายข้าวของรัฐบาล โดยให้เปิดกว้าง ประมูลขายในประเทศและเพื่อส่งออก รวมถึงประมูลขายเพื่อการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้เงินมาจ่ายค่าข้าว

"สมาคมฯ และเครือข่ายชาวนา 12 จังหวัด ไม่มีแผนจะเดินขบวนประท้วงรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะรู้อยู่ว่าประท้วงไปก็ไม่มีประโยชน์ รัฐบาลกำลังเร่งหาเงินมาจ่ายให้เราอยู่ แต่ก็มีปัญหาติดขัด อยากขอให้เห็นใจชาวนาบ้าง ตอนนี้เราเดือดร้อนมาก เป็นหนี้สินเยอะ เพราะต้องกู้มาลงทุนเพาะปลูกข้าวรอบใหม่ แล้วยังจะมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีก เงินให้ลูกไปโรงเรียน หนี้สินรัดตัวมาก จนจะทนไม่ไหวอยู่แล้ว" นายวิเชียรระบุ

ขณะที่ นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย นำกลุ่มชาวนาทั่วประเทศเดินทางมายังกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกดดันให้กระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าว และหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนา หลังจากที่ชาวนานำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำ แล้วยังไม่ได้เงินนานกว่า 6 เดือน แม้กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่เปิดทำการทุกกรมก็ตาม แต่ต้องการเดินทางมากดดัน เพื่อแสดงสัญลักษณ์และความเดือดร้อนของชาวนา

 
 
ม็อบชาวนาอีสานยุติปิดถนนมิตรภาพ หลัง ธ.ก.ส.อ้างรัฐจ่ายมาแล้ว 40 ล้าน
 
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นายภานุพงศ์ ภัทรคนงาม นายกสมาคมชาวนาอีสาน นายวินัย สิทธิมณฑล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยสำนักงานการค้าภายจังหวัดขอนแก่น ร่วมหารือถึงข้อเรียกร้องของชาวนาที่ออกมาชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอพล จังหวัดขอนแก่นตั้งแต่เช้าวันนี้ (6 ก.พ.) หลังจากชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวยังไม่ได้รับเงินค่าข้าวจำนวนกว่า 5 หมื่นราย
 
ภายหลังการหารือ ทางตัวแทน ธ.ก.ส.ได้แจ้งว่าขณะนี้ทาง ธ.ก.ส.ได้รับเงินจากรัฐบาลเพื่อนำมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้เกษตรกรที่มีใบประทวน โดยในวันนี้มีเงินจ่ายค่าจำนำข้าวออกมาแล้วประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายค่าจำนำข้าวและจะมีเงินทยอยมาจ่ายให้ชาวนาจบครบ 1,900 ล้านบาท
 
การทราบข้อมูลข้างต้นสร้างความพอใจแก่ทางกลุ่มชาวนาที่ชุมนุม และในที่สุดทางกลุ่มสมาคมชาวนาภาคอีสานลงมติจะไม่มีการปิดถนนที่สี่แยกเมืองพลเหมือนกับที่ประกาศไว้เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้
 
 
มติเกษตรกรอีสาน 20 จังหวัด วอนรัฐ จี้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ใบประทวน
 
ทีมข่าวภูมิภาคไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2557 ที่ห้องประชุม คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกร จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า ในการประชุมเครือข่ายสภาเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด มติที่ประชุมมีข้อสรุปเบื้องต้น เกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวนาภาคอีสานที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากชาวนาไม่ได้รับเงินจากโครงการนี้นานหลายเดือนแล้ว ต่างก็ได้รับความเดือดร้อน เพราะมีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน รวมทั้งหนี้สินที่กู้ยืมมาใช้ในการทำนา หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ ความเดือดร้อนของชาวนาก็จะยังไม่มีข้อยุติ เพราะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาจ่ายชาวนาได้
 
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวนา ทางเครือข่ายสภาเกษตรกรภาคอีสาน 20 จังหวัด จึงมีมติที่จะเสนอข้อเรียกร้องไปยังสภาเกษตรแห่งชาติ เพื่อให้มีมติเสนอต่อไปยังรัฐบาล คือ ให้ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้กับชาวนาทั่วประเทศ วงเงินเต็มตามใบประทวน ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนนี้ รัฐบาลต่อไปต้องจ่ายแทนชาวนา เพราะไม่ใช่ความผิดของชาวนาที่จะต้องมารับภาระดอกเบี้ย และรัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับชาวนาที่ถือใบประทวน นับเริ่มตั้งแต่วันที่ออกใบประทวน ทางเครือข่ายมองว่า น่าจะเป็นทางออกของปัญหา เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ให้รัฐบาล แต่สามารถที่จะปล่อยกู้ให้ชาวนาได้ เพราะมีใบประทวนเป็นหลักทรัพย์อยู่แล้ว
 
ล่าสุด ชาวนาใน จ.มหาสารคาม ที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล มีอยู่กว่า 3 หมื่นราย เป็นเงินกว่า 1,966 ล้านบาท
 
 
‘ยิ่งลักษณ์’ โพสต์เฟซบุ๊กแจงเร่งแก้ไขอุปสรรคการจ่ายเงินให้ชาวนา
 
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Yingluck Shinawatra วันนี้ (6 ก.พ.2557) ระบุ ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยมาช้านาน เป็นทั้งพืชเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ชาวนากลับเป็นกลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมและเหมาะสมมาโดยตลอด รัฐบาลชุดนี้จึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวนาจะต้องได้รับความเป็นธรรม ผลผลิตต้องได้ราคา ผลกำไรต้องตกอยู่ในมืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจึงเป็นนโยบายเพื่อยกระดับรายได้ และสร้างความมั่นคงมั่งคั่งที่ยั่งยืน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้ผิดกับนโยบายสนับสนุนและอุดหนุนสินค้าเกษตรในต่างประเทศที่มีหลากหลายรูปแบบ ปรับใช้ตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ด้วยทุกคนตระหนักว่า ประเทศจะต้องดูแลผู้ที่ผลิตผลผลิตทางการเกษตรหลักของชาติให้มีชีวิตที่ดี มีรายได้ มีความสุข ปรัชญาแนวคิดที่มาเป็นนโยบายของรัฐบาลจึงเป็นที่ยอมรับของชาวนามาโดยตลอด และประสบความสำเร็จในการยกระดับรายได้ขยายโอกาสให้กับพี่น้องประชาชนในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและคณะรัฐมนตรีได้ทุ่มเทที่จะทำให้โครงการสำเร็จ

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นสถานการณ์พิเศษ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วง 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกตั้ง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลมีข้อจำกัดในการบริหารงาน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 181 ในขณะเดียวกันก็มีเกมการเมืองนอกระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีเป้าหมายเดียวคือล้มล้างรัฐบาล และช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ดำเนินการขัดขวางการทำงานของรัฐบาลที่พยายามจะดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้แต่โครงการจำนำข้าวที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวนาทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการต่อสู้ทางการเมืองจะไปในทิศทางใด ดิฉันก็มิได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของพี่น้องชาวนา จึงได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการจ่ายเงินให้กับชาวนา โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินกู้ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย พร้อมๆกับที่กระทรวงพาณิชย์ก็อยู่ระหว่างการเปิดประมูลเพื่อเร่งระบายข้าว เพื่อนำเงินมาส่งมอบให้พี่น้องชาวนาตามที่มีภาระผูกพัน 

รัฐบาลขอยืนยันว่า เรามีความเป็นห่วงพี่น้องชาวนาอย่างจริงใจ มิได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และดิฉันขอให้พี่น้องชาวนาโปรดเชื่อมั่นว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหา และเพื่อความเป็นสุขของพี่น้องชาวนา และความเป็นธรรมในสังคม

 
 
ป.ป.ช.นัดบุญทรงแก้ข้อกล่าวหาทุจริตจำนำข้าว 20 กพ.นี้
 
มติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 6 ก.พ.2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ได้มีการหารือถึงกรณีชาวนาจากจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท มายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว เพื่อขอให้เร่งรัดคดีกับผู้ที่กระทำความผิด เนื่องจากขณะนี้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว และยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะจ่ายเงินให้เมื่อใด เพราะชาวนาบางคนต้องไปกู้เงินมาใช้จ่ายในการปลูกข้าว และยังไม่มีเงินไปชำระหนี้ทำให้ต้องมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
 
คณะทำงานไต่สวนกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่มีนายศักดิ์ชัย เมทิณีพิศาลกุล ผอ.สำนักไต่สวนการทุจริตภาคการเมือง 1 เป็นฝ่ายเลขานุการได้ให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำจากชาวนาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของความเดือดร้อนที่ได้มาร้องเรียนดังกล่าว พร้อมกับได้ทำบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ คณะทำงานจะลงพื้นที่ จ.อ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาท เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้
 
นายวิชา กล่าวว่า หากคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่ได้อย่างไรแล้วทางคณะกรรมการป.ป.ช.จะได้นำมารวบรวมกับข้อมูลการไต่สวนในสำนวนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด ก่อนที่จะนำมาประมวลเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น
 
นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวกิตติมศักดิ์ได้มาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ในรายละเอียดที่เกี่ยวกับความเสียหายของการส่งออกข้าวอย่างร้ายแรงที่สุด โดยชี้ให้เห็นว่าความร้ายแรงทำให้การส่งออกข้าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญอย่างไรบ้าง ส่วนวิธีแก้ไขคือ ต้องยุติโครงการและดำเนินการปิดบัญชี ตรวจสอบ ระบายข้าวที่ค้างอยู่ให้หมด เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีเงินมาจ่ายให้กับชาวนาได้เลย
 
“นายกสมาคมฯ ท่านบอกเลยว่า กระบวนการเหล่านี้ที่มีการทุจริตเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ไม่มีเงินในการจ่ายเงินให้กับชาวนา เพราะถ้าไม่มีการทุจริตจะสามารถได้เงินมาเป็นเท่าตัวของจำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่ แต่เงินอีกเท่าหนึ่งนั้นไปอยู่ในกระเป๋าของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพราะฉะนั้น ถ้าเรียกคืนได้คือ เรียกเอาเงินเหล่านั้นกลับคืนมาจ่ายให้กับชาวนาได้เลย ท่านยืนยันอย่างนั้น” นายวิชา กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการป.ป.ช.จะใช้เวลานานเท่าไรให้การไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว นายวิชา กล่าวว่า ตามที่ชาวนาได้มาเร่งรัดคดีกับป.ป.ช. ทุกคนเห็นแล้วว่าชาวนาเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสขนาดนี้ ฉะนั้น เราต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของชาวนาด้วย
 
“แต่จะเห็นได้ว่า ตอนนี้เป็นหนังคนละม้วนกับเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ที่หมอวรงค์ได้มาร้องเรียนกับ ป.ป.ช. และได้ดำเนินการรับเรื่องไว้แสวงหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการป.ป.ช.ถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนัก สื่อมวลชนคงจำได้ว่ากลุ่มชาวนาจาก จ.พิษณุโลกอ้างว่า ป.ป.ช.อย่าทำคดีนี้เลย คนที่อ้างตัวว่าเป็นชาวนาหรือกลุ่มชาวนาได้มาข่มขู่เราว่าอย่าไต่สวนเป็นอันขาด ถ้ารับไต่สวนจะเล่นงานป.ป.ช.อย่างหนัก เพราะชาวนาได้ประโยชน์อย่างมหาศาล แล้ววันนี้เป็นอย่างไรสื่อมวลชนคงได้เห็นแล้ว ภาพเป็นคนละอย่างกันเลย วันก่อนบอกว่าชาวนาได้ประโยชน์ แต่วันนี้ชาวนาก็มาร้องกับป.ป.ช.เอง ซึ่งตรวจสอบแล้วเป็นชาวนาจริงๆ ไม่ใช่ชาวนาปลอมหรือชาวนาเทียม ชาวนาที่มาจากอ่างทอง สิงห์บุรี และชัยนาทเป็นชาวนาแท้จริง เดือดร้อน และทุกข์จริงๆ เพราะฉะนั้นขอบอกต่อไปถึงคนทุจริตคืนเงินทุจริตให้เขาบ้างเถิด เห็นแก่มนุษยธรรมเถอะ ไอ้ที่ไปเข้ากระเป๋าเอาออกมาเสียบ้าง” นายวิชา กล่าว
 
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการส่งหนังสือแจ้งคำสั่งตั้งคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งชุดเป็นองค์คณะไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายวิชา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือแจ้งไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับมาแต่อย่างใด ส่วนกรณีแจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรง เตริยาภิรมย์ สมัยดำรงตำแหน่งรมว.พาณิชย์ กับพวก 15 รายนั้น ได้นัดให้นายบุญทรงมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 20 ก.พ.57 ส่วนรายอื่นๆ จะนัดเวลาถัดไป
 
เมื่อถามว่า นายบุญทรงมีสิทธิ์ขอเลื่อนการเข้าขอชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้หรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า หากมีเหตุจำเป็นจะพิจารณาเป็นกรณีไป แต่นายบุญทรงได้ร้องมาตลอดว่าทางป.ป.ช.ไต่สวนโดยที่ไม่เห็นเรียกมาให้ถ้อยคำเลย ดังนั้น แสดงว่านายบุญทรงเต็มใจและกระตือรือร้นที่จะมาชี้แจง ซึ่ง ป.ป.ช.หวังเช่นนั้น เพราะเชื่อว่านายบุญทรงคงเตรียมข้อมูลไว้หมดแล้ว
 
 
นิวัฒน์ธำรงเผยรัฐบาลยินดีคืนข้าวให้ชาวนา
 
เนชั่นรายงานว่า เมื่อเวลา 15.50 น.วันที่ 6 ก.พ. 2557 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าว ว่า การจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวหรือหนี้สินที่รัฐบาลติดชาวนา ในฤดูกาลปี 56/57 ซึ่งเริ่มเมื่อเดือน ต.ค.56 - ก.พ. 57 มีจำนวน 10 ล้านตันเศษ ยอดเงินทั้งสิ้น 177,000 ล้านบาท และได้จ่ายไปแล้วประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อเดือน ต.ค. จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 22,800 ล้านบาท ซึ่งทาง ธ.ก.ส.ได้จ่ายครบถ้วนแล้ว ส่วนเดือน พ.ย. จำนวน 61,280 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว 37,685 ล้านบาท คิดเป็น 61.5% เหลือเพียงส่วนน้อย ส่วนเดือน ธ.ค.และ ม.ค. คือหนี้ที่ยังไม่ได้จ่าย ดังนั้นหนี้ที่ติดค้างจึงมีเพียง 1-2 เดือนไม่ใช่ 6 เดือน อย่างที่มีการกล่าวอ้าง

เมื่อถามว่า มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่กลุ่มชาวนามาปิดกระทรวงพาณิชย์ อย่างไร นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า วันนี้มีปลัดกระทรวง ตัวแทนกระทรวงร่วมเจรจา และยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสนใจ อยากช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนให้เร็วที่สุด โดยวันนี้ได้มีการลงบันทึกไว้ว่ามีการจำนำเท่าไหร่อย่างไร เพื่อเร่งรัดดำเนินการต่อไป ซึ่งชาวนาที่เดินทางมาบางส่วนเป็นเจ้าหนี้ที่มาจากรอบเดือน ก.ย. 2556 ซึ่งยอมรับว่ามีความล่าช้าทั้งจากผู้จำนำข้าวและข้าราชการด้วย

ส่วนที่ชาวนาบางส่วนเสนอให้รัฐบาลคืนข้าวแทนการจ่ายเงินนั้น นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า รัฐเปิดกว้าง ซึ่งเชื่อว่าชาวนาส่วนใหญ่ต้องการเงินค่าข้าว แต่บางคนจะขอข้าวคืนก็ยินดี เพราะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ชาวนาเลือกได้ ส่วนการเรียกร้องค่าเสียโอกาสก็จะต้องพิจารณาอีกทีครั้งหนึ่ง

 
 
'ผอ.ออมสิน' ปัดข่าวบอร์ดอนุมัติปล่อยกู้จำนำข้าว
 
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2557 นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ไม่ได้ประชุมคณะกรรมการธนาคาร หรือฝ่ายบริหาร เพื่อหาแนวทางการปล่อยกู้ให้รัฐบาล ไปจ่ายเงินชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว และยืนยันว่า ไม่ได้ถูกรัฐบาลบีบให้ปล่อยกู้ หรือถูกบีบจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
“การปล่อยสินเชื่อของธนาคาร จะต้องยึดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากไม่เป็นไปตามกฎหมายก็ไม่ปล่อยกู้ จะต้องไม่ทำให้ธนาคารเกิดความเสี่ยง กระทบเงินฝาก และจะต้องพูดคุยกับพนักงานให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ปฏิเสธการเข้าร่วมประมูลไปแล้ว เพราะพนักงานไม่สบายใจว่า การปล่อยกู้ให้รัฐบาลไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว จะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่”
 
นายวรวิทย์ กล่าวว่า การหาทางช่วยเหลือชาวนาที่ไม่ได้รับข้าว เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการนำใบประทวนมาวางค้ำประกัน เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ชาวนาโดยตรง ยังต้องศึกษาว่าสามารถทำได้หรือไม่ ส่วนการปล่อยกู้ตรงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถทำได้ เพราะแต่ละธนาคารก็มีโควตาการปล่อยกู้ให้กันอยู่แล้ว
 
นายลิขิต กลิ่นถนอม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน เปิดเผยไทยรัฐออนไลน์ว่า ได้หารือกับผู้อำนวยการธนาคารออมสินตลอดเวลา เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าว และเชื่อว่าทุกธนาคารพยามหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อน
 
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การนำใบประทวนมาค้ำประกันเพื่อปล่อยกู้ให้กับชาวนาโดยตรง ยังไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะชาวนาต้องเสียอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก ทั้งที่เป็นเงินของชาวนา จึงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง และที่สำคัญยังไม่มั่นใจว่าในกระบวนกฎหมายจะสามารถทำได้หรือไม่
 
ส่วนการปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. ต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าเป็นความเสี่ยงด้านการเงินหรือไม่ และความเสี่ยง ด้านสถานการณ์การเมือง ซึ่งยังแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย กังวลว่าอาจกระทบความมั่นใจของลูกค้าได้
 
ประธานสหภาพธนาคารออมสิน แนะนำว่า วิธีที่ดีสุด คือ กระทรวงพาณิชย์ควรขายข้าวเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ชาวนา เพราะเป็นวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมายและวัตถุประสงค์ ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการประกาศระบายข้าว เชื่อว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะใช้เงินของธนาคารออมสิน ทางสหภาพฯ ยืนยันจะยกระดับคัดค้านการปล่อยกู้ โดยให้พนักงานธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศแต่งชุดดำคัดค้าน หลังจากที่ได้คัดค้านระดับแรกด้วยการแต่งชุดดำ เรียกร้องที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ และหากรัฐบาลยังบีบให้ปล่อยกู้ก็จะยกระดับเป็นขัดขวาง คาดว่า กลุ่ม กปปส. จะเดินทางไปกดดันรัฐบาลเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท