Skip to main content
sharethis
 
6 ก.พ. 2557 กองบรรณาธิการ สำนักสื่อ Wartani เผยแพร่ข่าวชาวบ้านตันหยงเปาว์ร้องเรียนผู้นำศาสนา ทนายความ และ NGO ในพื้นที่ ระบุว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ม.ค.2557 เวลาประมาณ 15.00 น. ตัวแทนชาวบ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เดินทางมาร้องเรียนคณะกรรมอิสลาม ทนายความมุสลิม และตัวแทนนักประชาสังคมในพื้นที่ ณ หอประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลาม ประจำจังหวัดปัตตานี
 
 
สำนักงาน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
 
จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2557 เวลาประมาณ 23.00 น. มีกลุ่มคนที่ชาวบ้านระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสวมชุดดำ ใส่โม่งปิดหน้า เปิดตาสองดวง (บางส่วน) และไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน แต่มาด้วยรถกระบะประมาณ 8-9 คัน ทำการกราดยิงหมู่บ้านด้วยอาวุธสงครามโดยไม่ทราบสาเหตุ พร้อมทั้งควบคุมตัวนายมีดี อาแว อายุประมาณ 28 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ไป โดยภรรยาของเขาเชื่อว่า สามีถูกซ้อมทรมานในที่เกิดเหตุก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปสอบสวนและกักขัง
 
“หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่บอกว่า มีดีมีหมายจับติดตัว 2-3 คดี แต่พอพวกเราขอดูหมายของมีดี เขากลับไม่ให้เราดู” ภรรยามีดี กล่าว
 
การมาของตัวแทนชาวบ้านในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการอิสลาม ทนายความ รวมทั้งตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพื่อหาช่องทางการเรียกร้องความเป็นธรรมโดยสันติวิธี จากการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่
 
ทั้งนี้ ผู้มาร่วมต้อนรับและรับฟังปัญหาของชาวบ้านตันหยงเปาว์ ประกอบด้วย มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมุสลิม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา, เครือข่ายบัณฑิตอาสาปาตานี, วิทยาลัยประชาชน, สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี และสำนักสื่อ Wartani
 
 
เสื้อผ้าของ “นายมีดี อาแว” ที่ใส่ในวันเกิดเหตุ สังเกตเห็นรอยเท้าอยู่บนหลังเสื้อ และรอยเลือดแห้งข้างล่างของเสื้อ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ทำให้แม่และภรรยาของมีดีเชื่อว่า เขาถูกซ้อมทรมานก่อนที่จะพาไปขัง
 
“การที่เรามาในครั้งนี้ เพราะเราไม่เชื่อในแนวทางของรัฐว่าเขาจะให้ความเป็นธรรมแก่เราได้ เราจึงมาขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการอิสลาม ทนายความ และนักเคลื่อนไหวที่เป็นคนในพื้นที่เสียเอง เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนไปช่วยจับคนร้าย แต่เรามาขอคำปรึกษาหาช่องทางว่า มีช่องทางไหนบ้างที่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่พวกเราได้” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด โดยมุ่งมั่นว่า คนผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
 
“ทำไมการเข้ามาปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ต้องมีกราดยิงด้วย ถ้ากระสุนถูกชาวบ้านตายใครจะรับผิดชอบ นี่หรือการปฏิบัติของข้าราชการที่รับใช้ประชาชน” ตัวแทนชาวบ้านตั้งคำถาม
 
ชาวบ้านอีกคนหนึ่งเสริมขึ้นมาว่า “ใครที่ได้รับความเสียหายจากการกราดยิงของเจ้าหน้าที่ให้นำใบเสร็จมาแสดง แล้วจะจ่ายค่าเสียหายให้ เจ้าหน้าที่บอกพวกเราหลังจากที่เราไปแจ้งความ และเราเชื่อว่า หลังจากนี้ก็คงมีการเยียวยา แจกเงินให้ แต่พวกเราจะบอกว่า เราไม่ได้ต้องการเงิน เราไม่ต้องการวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น เราแค่ต้องการให้ความจริงปรากฏ ผู้ใดทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามที่เขาทำไป”
 
 
ขอบคุณภาพจาก : Muhammad Hadi Wijaya
ถ่ายเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 หลังเกิดเหตุกราดยิงหมู่บ้าน 1 วัน
 
 
ชาวบ้านคนเดิมเล่าต่อว่า ความจริงเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านแล้วหลายครั้ง ที่ผ่านมาชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ก็เป็นคนชรา เสียชีวิตเพราะตกใจ หัวใจวายตาย
 
“ปิดล้อมหมู่บ้านครั้งแรกมาเกือบพันคน ครั้งที่ 2 มาล้อมกันเป็นพันอีก แถมยังแสดงกิริยามารยาทไม่ดีอีก ถีบประตูบ้าง ร้องตะโกนโวยวายบ้าง อย่างนี้มันไม่ใช่รูปแบบของผู้มาดูแลเรา มาอย่างโจรชัดๆ ชาวบ้านที่เสียชีวิตในจำนวน 2 คนนั้น เสียชีวิตเพราะตกใจที่เจ้าหน้าที่ถีบประตูบ้านพัง ช็อก หัวใจวายตาย 2 ครั้งที่พูดถึงนั้นเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ส่วนเหตุการณ์เล็กๆ นั้นไม่ต้องพูดถึง มีอยู่ให้เห็นตลอดเวลา
 
มีเหตุการณ์ระเบิด เผาอาคาร ปะทะกันที่หมู่บ้านอื่น กลับมาล้อม มาค้นหมู่บ้านเราตลอด ทั้งๆ ที่ผ่านมาเหตุการณ์สร้างสถานการณ์เกิดในหมู่บ้านเราแค่ครั้งเดียวเอง สงสัยพวกเขาคงคิดว่าคนในหมู่บ้านตันหยงเปาว์ เป็นโจรทั้งหมู่บ้าน เขาถึงมากดดัน มาปิดล้อม มาขู่พวกเราเป็นประจำ หรือเป็นเพราะหมู่บ้านเรามีแต่คนมลายู” ชาวบ้านเล่าอย่างน้อยใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านๆ มา
 
ด้านนายอับดุลกอฮา อาแวปูเต๊ะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี (MAC) กล่าวแนะนำว่า ให้ชาวบ้านรวมตัวกัน อย่าแตกแยก ภาวะอย่างนี้ต้องสามัคคีกัน คนในพื้นที่ต้องกล้าพูดความจริงออกมา เพราะคนนอกพูดน้ำหนักมันจะไม่เท่ากับคนในพูด
 
 
เพื่อนบ้านของมีดีคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมกลัว เวลาเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมผมรู้สึกกลัวมากและคิดว่าคนอื่นๆ ก็คงมีความรู้สึกเหมือนผมเช่นกัน เจ้าหน้าที่มาครบอาวุธ แต่งกายเหมือนในหนังรบ ใส่โม่งปิดหน้า เห็นแค่ดวงตาสองดวง มาอย่างนี้แล้วจะให้เราไม่กลัวได้อย่างไร”
 
เขาตั้งคำถามด้วยว่า หากเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมในรูปแบบนี้อีกจะทำอย่างไรได้บ้าง และเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอะไร ทำไมจึงสามารถทำได้ทุกอย่าง
 
นายมูฮำหมัดอัสมิง ผู้ประสานงาน เครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี (SPAN) กล่าวว่า ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายของรัฐไทยจะใช้ไม่เหมือนกัน แม้ว่าตัวบทกฎหมายจะเป็นตัวเดียวกัน อย่างเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในปาตานีกับกรุงเทพฯ เป็นกฎหมายตัวเดียวกัน แต่พวกเขาใช้ไม่เหมือนกัน นี่คือจุดบกพร่องในการใช้กฎหมายของรัฐไทย ถึงเรียกว่า “กฎหมายไม่เป็นธรรม”
 
 
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net