Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในขณะที่คนไทยในส่วนของภาคอื่นของประเทศกำลังต่อสู้กันเพื่อนามธรรมกับคำว่า "ประชาธิปไตย" คนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้กำลังต่อสู้กับการที่จะได้มีชีวิตรอดปลอดภัยกันแบบวันต่อวัน

วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้ล่วงลับได้กล่าวไว้ว่า “Healthy citizens are the greatest asset any country can have.” นั่นคือ ประชาชนที่ถือว่าสุขภาพสุขสมบูรณ์ดีถือเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่ประเทศนั้นพึงจะมี แต่เมื่อหันมามองปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน จำนวนประชาชนผู้เคราะห์ร้ายที่เสียชีวิตในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้แตะที่เกือบ 6,000 ศพ บาดเจ็บกว่าหนึ่งหมื่นราย หากอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษท่านนี้รู้คงเบะปากพร้อมส่ายหน้าอย่างอิดหนาระอาใจให้กับความไร้ซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเขตพื้นที่ปลายด้ามขวานของรัฐบาลไทยทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

เนื่องเพราะขณะนี้การเมืองไทยไม่นิ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดนับวันจึงมีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ในขณะที่ทางฝ่าย กปปส. นำโดยลุงกำนันกำลังปราศรัยอย่างเผ็ดร้อน รวมพลมวลมหาประชาชนต่อต้านระบอบทักษิณ กับทางฝ่ายรัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์ที่ไม่มีทีท่าว่าจะเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องใดๆ นั้น มีฝ่ายใดบ้างที่ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่หลายฝ่ายเห็นว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใส่ชุดดำ กับรถที่นั่งกันมาประมาณ 8 คัน กราดยิงหมู่บ้านก่อนที่จะไล่ล่าจับกุมคนในหมู่บ้านไปหนึ่งคน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดปัตตานีเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา

หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่มีการขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่รัฐที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 5 ราย และล่าสุด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าสลดใจให้กับผู้คนที่ได้รับข่าวคือ การที่เด็กน้อยสามรายถูกยิงตายคาบ้านพักที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใด

ท่านกำนันสุเทพ กับท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์  สองฝ่ายที่ห้ำหั่นใส่กันต่างอ้างกันว่าสู้เพื่อประชาชน ไฉนเลยจึงแทบจะไม่เคยเอ่ยถึงคนที่ถูกฆ่าตายรายวันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากฝากเรียนถามคุณสุเทพ เทือกสุบรรณว่าขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงภายใต้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น ท่านมีผลงานอะไรบ้างในการที่จะพยายามดับปัญหาไฟใต้ นอกเหนือไปจากการที่แค่ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างต่อเนื่องทุกสามเดือน 

หรือทางฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยเอง ที่พยายามจัดให้มีการตั้งโต๊ะเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายบีอาร์เอ็นก็เกรงว่าจะล้มไม่เป็นท่า เพราะไม่มีความต่อเนื่องและขาดความจริงใจที่จะสานต่อการเจรจาให้ถึงที่สุด จนถึงตอนนี้ ทั้งสองฝ่ายควรที่จะยอมรับได้แล้วว่าที่ผ่านมานั้น เพียงแค่อ้างใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดเป็นเครื่องมือในการสาดโคลนใส่กันและกัน เพียงเพื่อยกหางให้กับฝ่ายของตัวเอง และเพียงแต่คอยที่จะหาทางเพิ่มคะแนนเสียงให้กับฝ่ายของตัวเอง เพราะโดยแท้จริงแล้ว จากผลงานการบริหารจากทั้งทางฝ่ายอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ไม่มีฝ่ายใดมีความสุจริตใจที่จะแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เลยแม้แต่น้อย

ไม่อยากจะกล่าวหา แต่จำต้องแสดงความคิดเห็นออกมาว่า รัฐบาลไทยวางบทบาทตนเองที่นับได้ว่าสองมาตรฐานอย่างชัดเจน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างสุดโต่งคือที่จังหวัดพะเยา กรณีที่มีมือดีขึงป้ายผ้าว่า ขอแยกประเทศเพราะประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม บนสะพานลอยถนนสายหลักกรุงเทพฯ - พะเยา - เชียงราย ตำรวจภูธรเมืองพะเยาเพียงแค่ทำการปลดป้ายลง ลองนึกกลับกันดูว่า หากมีป้ายดังกล่าวติดหราบนสะพานลอยกลางถนนสายหลักใจกลางเมืองจังหวัดปัตตานี โดยคนที่ขึงป้ายผ้าผืนดังกล่าวเป็นชาวบ้านมลายูมุสลิมสักคนหนึ่งในพื้นที่ ท่านว่าจะเป็นอย่างไร?

หรือกรณีปิดศาลากลางจังหวัดปัตตานีโดยกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงปะทะกันของฝ่ายใด แต่ทำไมการชุมนุมอย่างสงบของชาวบ้านมลายูมุสลิมหน้าศาลากลางจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 2518 จึงนำไปสู่การตามไล่ล่าสั่งเก็บผู้ชุมนุมปราศรัยบนเวที หรือกระทั่งกรณีการชุมนุมอย่างสงบหน้าที่ทำการอำเภอตากใบเมื่อปี 2547 ถึงนำมาสู่ความหวั่นวิตกของเจ้าหน้าที่รัฐไทยจนนำไปสู่การกวาดล้างผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตถึง 85 ศพ? การที่ประชาชนมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดจับกลุ่มร่วมชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสงบในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมานั้น แตกต่างจากการประท้วงเรียกร้องทางการเมืองกับกลุ่มผุ้ชุมนุม กปปส.ตรงไหน? ทำไมถึงมีการจัดการที่ต่างกันจากทางฝ่ายรัฐ? ทำไมถึงมีชะนักติดหลังกับความคิดที่ว่า ชนมลายูมุสลิมจะอยากแบ่งแยกดินแดนอยู่ท่าเดียว?

ประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งของบทความนี้ มีความประสงค์ที่จะอยากส่งเสียงตะโกนเรียกร้องให้คนทั่วไปในประเทศไทยหันมาให้ความสนใจกับความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดบ้าง  อยากจะสวนกระแสสังคมโดยตั้งคำถามว่า “คนไทยที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่าง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในช่วงเวลานี้ ที่กำลังสะบัดธงชาติไทยพลิ้วไสวไปมากลางถนนในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ตอนบน จะมีสักกี่คนกันเชียวที่ให้ความสนใจกับเหตุการณ์การฆ่ากันตายรายวันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้?”

มีการรวมพลออกมาชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ไม่มีใครสนใจที่จะอยากออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินให้กับประชาชนพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ต้องทนกับมันมานับตั้งแต่ปี 2548

คนเสื้อแดงเจ็บแค้นกับการถูกปราบปรามจนมีคนตายจากการชุมนุมปี 2553 จำนวน 91 ศพ แต่ไม่มีใครสนใจกับการที่คนทางสามจังหวัดชายแดนใต้ตายเกือบ 6,000 ศพ

ในหลายหลายครั้งผู้เขียนได้ลองนั่งสังเกตการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นจากข่าวกระแสหลัก และจากการแชร์ข่าวต่างๆ ที่ผ่านตาในช่วงนี้ จนตั้งข้อสังเกตได้ว่า คนในพื้นที่เขตสามจังหวัดกับคนทั่วไปของประเทศไทยมวลรวมอย่างไรก็ยากที่จะปรับความรู้สึก “ร่วม” ไปในทิศทางเดียวกันได้ ยามที่ทางฟากกรุงเทพฯ ประสบเหตุกับการปาระเบิด อย่างเช่นกรณีที่ถนนบรรทัดทอง คนในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยจะมีความรู้สึกเป็นส่วนร่วมสูงมาก แต่พอมีเหตุการณ์ระเบิด ฆ่ากัน ยิงกันตายในเขตสามจังหวัดชายแดนใต้ คนในพื้นที่จากส่วนอื่นของประเทศไทยดูเสมือนว่าจะไม่ได้มีส่วนร่วมรับรู้กับความเป็นความตายของคนในแถบพื้นที่ใต้สุดของประเทศเท่าไหร่

เช่นนี้แล้วจะไม่ให้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้รู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสองได้อย่างไร

ประกอบกับขณะนี้มีวาทกรรมว่าด้วยเรื่องการรักชาติหรือไม่รักชาติ กล่าวหาสาดทอใส่กันประหนึ่งว่า ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์สมัยสงครามเย็น ซึ่งแต่ละคนก็มีความเข้าใจกับคำว่า “ชาติ” ต่างกันไปหลากหลายรูปแบบ จากเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น จากการเปรียบเทียบประเด็นต่างๆ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ภายใต้บริบทของคำว่า “ชาติ” ที่นักเลงคีย์บอร์ดในสังคมออนไลน์ และผู้ปราศรัยบนเวทีทางการเมืองของทั้งสองฝ่ายขณะนี้ กำลังใช้กล่าวหาด่าทอกันอย่างเมามันใส่กันและกัน อยากถามว่าคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ชาติ” ด้วยหรือไม่

ความหมายของสีบนผืนผ้าธงชาติไทยที่ให้ความสำคัญกับ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ บางครั้งให้อดคิดไม่ได้ว่า    “ประชาชน” และโดยเฉพาะ “ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้” อยู่ตรงจุดไหนของผืนผ้าลายทางน้ำเงิน ขาว แดงผืนนี้ 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ปัจจุบัน ดวงยิหวา อุตรสินธุ์  เป็น นศ ปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์จาก ANU ออสเตรเลีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net