Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางวิกฤตการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของ กปปส. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังต้องเผชิญวิกฤตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ปัญหาที่ประชาชนตัวดำๆ ตาดำๆ ที่เรียกว่า “ชาวนา” เผชิญกันถ้วนหน้า ทั้งได้เงินล่าช้า โดนหักค่าความชื้น ดอกเบี้ยธนาคารขึ้น หนี้นอกระบบที่ต้องกู้ออกมาลงทุนก่อนที่รัฐบาลจะจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา

“หนี้ดอกร้อยละ 3 บาท เราได้เงินช้ามา 6 เดือนแล้ว เราต้องกู้ร้านปุ๋ยร้านยา 6 เดือน ยังไม่ได้เงินเลย ขายข้าวได้ 350,000 เอาไปใช้หนี้เขาก็หมดแล้ว ไม่เหลืออะไรแล้ว ยังมีหนี้ ธกส.อีก 50,000 พอเราหว่านรอบใหม่เราก็ต้องไปกู้เขามาอีก พอต้องไปกู้มาอีก ปลูกได้ ไม่มีเงินไปใช้หนี้เขา เขาก็ไม่ให้กู้แล้ว ลูกก็ต้องเรียน นี่ฉันเอามอเตอร์ไซค์ เอารถไถ บิ๊กอัพเก่าๆ อะไรเข้าไฟแนนซ์ได้เข้าหมด ได้ 5,000 ก็เอา เขาจะยึดก็ปล่อยเขายึดไปเอาเงินมาก่อนแต่ยังไงก็ต้องจ่ายค่าติดตามเขาอีก อยากจะผูกคอตายไปเหมือนกันแต่คิดถึงลูก” นาง ปรัศฌิตา ตุ้มพงศ์ ชาวนาจากอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกได้ให้สัมภาษณ์หลังจากผิดหวังในการเข้าไปทวงเงินค่าข้าวที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา

“เราไป เรารู้ว่ามันไม่ได้เงินหรอก แต่เราไปเพราะเราอยากให้เขารู้ว่าเราเดือดร้อนนะ อยากให้เขาได้เห็น” ชาวนาจากพิษณุโลกล่าว

ดูเหมือนขบวนการเรียกร้องบนท้องถนนของชาวนาเทียบความยิ่งใหญ่ของมวลมหาประชาชนของคุณสุเทพไม่ได้ ดังนั้น ปัญหาของชาวนาจึงกลายเป็นประเด็นรองๆ ในการนำเสนอของสื่อมวลชน และยังเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสนใจน้อยกว่า พูดกันจริงๆ คือถ้าไฟไม่จี้ตูดก็ยังไม่แก้ไข ต้องรอให้ชาวนาออกมาประท้วงกันบนท้องถนนเสียก่อนถึงมีมาตรการดำเนินการอะไรออกมา แต่ก็ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้วเนื่องจากการประกาศยุบสภาทำให้การเบิกจ่ายเงินค่าข้าวของชาวนาต้องผ่านการรับรองจาก กกต.เสียก่อน และ เมื่อ กกต. กับรัฐบาลไปกันคนละทาง ชาวนาย่อมต้องรอคอยไปอีกโดยไม่รู้กำหนด เพราะจากที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้ว่าชาวนาจะได้รับเงินที่ค้างจ่ายไว้จำนวน 100,000 ล้านบาท ในวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมานั้นก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากธนาคารที่จะเข้ามาประมูลสินเชื่อกับ ธกส.เกรงข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลรักษาการ อีกทั้งรัฐบาลเองก็ยังไม่สามารถระบายข้าวออกสู่ตลาดได้ทันอีกด้วย  

จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าว “ชาวนาพิษณุโลกถูกบีบ สลายการชุมนุม” จากกรณีที่ภรรยาของแกนนำชาวนา นายชาตรี อำพล ถูกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งชาวบ้านส่วนหนึ่งที่นายอำพลกล่าวว่าเป็น “เสื้อแดง” ในชุมชนข่มขู่ให้สลายการชุมนุม ชาวนาหลายคนรวมถึงปรัศฌิตาให้คำตอบตรงกันถึงการยุติการชุมนุมว่า “ผู้นำเรามันอ่อนเกินไป เราไม่มีแกนนำแข็งๆ เลย ใครก็รักก็ห่วงครอบครัว เขาเอากำนันผู้ใหญ่เสื้อแดงมาขู่ว่าจะมีอันเป็นไปขนาดนั้น เขาบอกให้ถอยเราก็ถอยกัน ไม่มีใครนำ ไม่รู้จะไปยังไงแล้ว”  

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นประเด็น “เสื้อแดงรังแกชาวนา” ขึ้นมาแตะสื่อกระแสหลักและยกระดับขึ้นไปเป็นพลังสนับสนุนการประท้วงขับไล่รัฐบาลในที่สุด

“เรามาเรียกร้องสิทธิของเรา ไม่เกี่ยวกับการเมืองสีไหนทั้งสิ้น เราเป็นชาวนา ท่านจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง นกหวีด ถ้าท่านเป็นชาวนา ยังไม่ได้เงินค่าข้าว มาร่วมกับเราตรงนี้ เราจะเรียกร้องเอาสิทธิของเรา เอาเงินของเรา”

นี่คือคำปราศรัยที่เราจะได้ยินอยู่เสมอในเวทีการชุมนุมของชาวนาจังหวัดพิษณุโลกทั้งจากนายชาตรี และ ผู้ปราศรัยคนอื่นๆ แต่ตอนนี้ ชาวนากับการเมือง คงไม่อาจถูกแยกอกจากกันได้

 นายชาตรี อ่ำพูล แกนนำชาวนาจังหวัดพิษณุโลก

ชาวนาที่พิษณุโลกเริ่มต้นการชุมนุมปิดถนนในวันที่ 27 มกราคม 2557 จนกระทั่งยุติการชุมนุมที่แยกอินโดจีนในวันที่ 29 มกราคม 2557 ในระหว่างที่มีการชุมนุมเรียกร้องเงินในโครงการจำนำข้าวนั้นมีความพยายามของฝ่ายการเมืองหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งข้าว ส่งอาหาร ขนมต่างๆ ผ่านตัวแทน มีชนชั้นกลางที่สนับสนุน กปปส.เข้ามาบริจาคผ้าห่ม บริจาคอาหารการกิน รวมทั้งการเข้ามาพยายามพูดคุยชักชวนให้ชาวนาไปรวมตัวกับ กปปส.ที่กรุงเทพ

นางสุรี (ขอสงวนนามสกุล) ผู้สนับสนุนแนวทางของ กปปส.เจ้าของร้านขายสังฆทานในตัวเมืองจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่นำอาหารเครื่องใช้มาบริจาคให้กับชาวนาที่มาชุมนุมได้เปิดเผยถึงสาเหตุของการชักชวนชาวนาเข้าร่วมกับ กปปส.ว่า “เราเห็นเขาลำบาก มันชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาลำบากเพราะรัฐบาลนี้  เรารู้กันอยู่แล้วว่ามาเรียกร้องตรงนี้ไม่มีทางได้อะไร สู้ชวนเขาไปร่วมกับขบวนใหญ่ที่กรุงเทพดีกว่า หรือไม่ก็ไปรวมกับชาวนาที่อื่นๆ”

เมื่อถามต่อว่าไม่กลัวว่าชาวนาจะถูกมองว่ามีส่วนกับการเมืองหรือไม่นั้น นางสุรีตอบว่า “ไม่กลัวเพราะยังไงมันก็เรื่องการเมืองอยู่แล้ว เราต้องช่วยเขา หน้าที่ของเราคือการกำจัดคอรัปชั่น เราจะปล่อยให้ชาวนาถูกโกงไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ชาวนาจังหวัดพิษณุโลกปฏิเสธการเข้าร่วมขบวนการเมืองมาโดยตลอด เพราะไม่อยากให้การเมืองระดับชาติมาทำให้พวกเขาถูกแบ่งแยก พวกเขายืนยันในความเป็นชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐร่วมกัน ผ่านการปราศรัย การถือป้ายที่ยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้ของพวกเขาไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง
 


ถามว่าชาวนาคิดว่าการออกมาชุมนุมของพวกเขาไม่เกี่ยวกับการเมืองจริงๆ หรือ เปล่าเลย พวกเขารู้ดีว่ามันเกี่ยวข้องกับการเมือง ดังที่นายวิเชียร นางบวช แกนนำอีกคนหนึ่งของม็อบชาวนาได้ปราศรัยไว้ในวันที่ 28 มกราคม ว่า “จะบอกว่าให้เราเลิกพูดเรื่องการเมืองไม่ได้หรอก เพราะที่เราต้องมานั่งตากแดดอยู่กลางถนนแบบนี้ก็เพราะการเมือง เรากากบาทเลือกนักการเมืองเลือกผู้แทนเข้าไป ตอนหาเสียงเขาก็รับปากดิบดีว่าจะเป็นปากเป็นเสียงให้เรา แต่ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน ผู้แทนไม่มีเราจึงต้องออกมา นโยบายที่เรากาเข้าไปมันไม่ดี เราต้องออกมา เรารู้ว่ามันเกี่ยวกับการเมือง แต่ตอนนี้เราขอสิทธิที่เราควรจะได้ก่อน เราอยากได้เงินเราคืน เรามาทวงหนี้จากรัฐบาล”

ไม่ใช่ไม่รู้ แต่แยกแยะออก และเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงการเมือง “การเมือง” จึงวิ่งเข้าหา นายวิเชียรเล่าว่ามีนักการเมืองหลายคนพยายามติดต่อขอเข้ามาร่วมด้วย หรือชักชวนให้เคลื่อนขบวนไปปิดกรุงเทพร่วมกับ กปปส.มีการเสนอรถทัวร์ รถบัส เพื่ออำนวยความสะดวก แต่นายวิเชียรได้ปฏิเสธและปิดทางการเมืองเหล่านั้น

“นี่เป็นเรื่องของชาวนา การเมืองอย่าเพิ่งมายุ่ง ถ้าเราทนไม่ไหว เดี๋ยวเราไปเอง” วิเชียรกล่าว  “ผมโทรไปบอกหมอวรงค์เองว่าตอนนี้ท่านอย่าเพิ่งเข้ามายุ่ง ขอให้เป็นชาวนาล้วนๆ ก่อน ท่านเป็นขวัญใจพวกเราแต่เราขอสู้กันเองก่อน”

 

นายวิเชียร นางบวช ขณะปราศรัย วันที่ 28 มกราคม 2557

ปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวของจังหวัดพิษณุโลกนั้นอาจจะดูเหมือนเป็นปัญหาเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ โครงการรับจำนำข้าวนั้นมีจุดอ่อนในส่วนของการปฏิบัติจริง เพราะเปิดช่องว่างให้มีการใช้อิทธิพลของการเมืองท้องถิ่นเข้ามาจัดการล็อบบี้โรงสี ปิดพื้นที่ในการรับซื้อต่างๆ การเมืองเจ้าของพื้นที่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคข้าราชการที่เป็นศัตรูกับ ‘ระบอบทักษิณ’ ย่อมไม่ปรารถนาให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จไปได้อย่างง่ายดาย และหากสามารถดึงเอาความทุกข์ของชาวนามาเป็นจุดดำในเชิงนโยบายของพรรคเพื่อไทย ย่อมเป็นการเพิ่มน้ำหนักของการโจมตีรัฐบาลได้อีกมาก

นางสาวรวีวรรณ (ของสวนนามสกุล) เจ้าหน้าที่ธุรการในโกดังเก็บข้าวแห่งหนึ่งของอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกให้ข้อมูลว่า “อตก.เขาจะมีโกดังที่เข้ากับ อตก.เขาก็จะเอาข้าวมาเก็บที่เรา เราไม่ได้รับซื้อจากชาวนาโดยตรง ที่เก็บข้าวมันไม่พอแล้วตอนนี้ คือเมื่อก่อนก็เก็บกัน แต่ตอนนี้มีโกดังที่ต้องสร้างใหม่เยอะเพราะต้องเก็บข้าวเยอะขึ้น เหมือนมันประมูลขายกันไม่ทัน ที่เขามีข่าวว่าโกดังเอาข้าวไปทิ้ง จริงๆ ถ้ารู้จักเฮียจริงจะรู้ว่าแกงกมาก ที่ต้องเอาไปทิ้งเพราะมันเกิดเปลวไฟในโกดังเพราะต้องใช้ยาอบมอด ต้องเอากองที่มีปัญหาไปไว้ข้างหลัง ซึ่งมันก็เป็นที่ของเขา ทีนี้ผู้ใหญ่บ้านก็มาแล้วก็มีคนเอาข่าวนี้ไปโจมตีรัฐบาลใหญ่โตกันหมด มันได้ช่องพอดี ที่จริงฝ่ายค้านไม่มีสิทธิ์เข้านะ ต้องมีหนังสือมา จะเข้ามาง่ายๆ ไม่ได้ โกดังเป็นเหยื่อตลอดเวลาที่เขาเอาการเมืองมาเกี่ยวตลอด บางทีชาวนาก็ไม่รู้เวลาเอาข้าวไปขายโรงสี โรงสีให้แค่ตั๋วมา ไม่มีใบประทวน ชาวนาก็ไม่รู้โดนโกงกันก็มี อย่างโรงสีที่พรหมพิรามก็ปิดตัวไป เขาไม่ได้เข้ากับโครงการ แต่ชาวนาก็เอาไปขายกันถ้าได้ตังค์ดีเขาก็ไป บอกว่าจะจ่ายตอนนี้ยังไม่จ่ายเลย แต่ข้าวมันก็ถูกระบายออกไปเรื่อยๆ ไม่ได้เก็บค้างนานจนเน่าแบบที่เป็นข่าวอะไร  ใครจะอยากให้โกดังตัวเองเสียชื่อใช่ไหมล่ะ”  

ทางด้านนายวิเชียร นางบวช อดีตกำนันบ้านในอำเภอพรหมพิรามให้ข้อมูลว่า “มันจะมีหลายเจ้าที่เป็นคนของพวกรัฐบาลมาขนข้าวไป มาโกงข้าวไป หมอวรงค์เขาก็ไปตรวจไปวัดเสี่ยงตายไปโรงสี ท่าข้าว มันเป็นคนของรัฐบาล เป็นพวกกัน ก็ผูกขาดการขายข้าว ซื้อข้าวอยู่กันแค่นั้น เขาว่าได้เงินเยอะกว่าก็จริง แต่เราไม่ได้หรอกโรงสีได้  บางทีเราเอาไปขายให้เราได้ 30 เกวียน แต่โรงสีตีราคาให้แค่ 20 เกวียน อีก 10 เกวียนเขาขอซื้อใบประทวนเราใบละ 2,000 เขาก็เอาใบประทวนเราไปขึ้นเงินกับรัฐบาลเต็มจำนวน เราก็เอาเงินสองพันมาเพราะไม่มีทางเลือกต้องใช้เงิน บางคนเขาพอมีเงินเขาก็ไม่ขาย แต่คนไม่มีก็ต้องขาย 10 เกวียนเราได้ 20,000 เขาได้แสนห้า เราก็ต้องยอม”

ราวกับปัญหาของชาวนายังเป็นปัญหาพื้นฐานของฝ่ายการเมือง ทั้งการเข้าแทรกแซงสร้างอิทธิพล หรือแม้แต่การครองใจชาวนา ดังนั้นชาวนาก็เหมือนกับตัวประกัน เมื่อออกมาชุมนุมประท้วงภายใต้รัฐบาลเพื่อไทยที่ได้รับการสนับสนุนโดยคนเสื้อแดง จึงถูกเหมารวมว่าเป็น “ชาวนาปลอม” เป็นพวก กปปส.

การออกมากล่าวหาชาวนาของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ว่า “มีบางส่วนทำตัวเป็นชาวนา และไปยุยง ตัวเองเป็นชาวนาปลอม แล้วไปยุยงชาวนา เพื่อที่จะให้มาเพิ่มเติมกับขบวนที่ขับไล่รัฐบาล”  เป็นความเจ็บช้ำที่ชาวนาจังหวัดพิษณุโลกพูดคุยกันในที่ชุมนุมมากพอๆ กับเรื่องความทุกข์ยากจากการไม่ได้รับเงินในโครงการจำนำข้าว ทั้งๆ ที่พวกเขาพยายามกดประเด็นความขัดแย้งการเมืองต่างๆ ไว้แล้วชูประเด็นร่วมที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำมาเรียกร้องต่อรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

“พวกเรายังเป็นม็อบที่น่ารักของท่านผู้ว่าเหมือนเดิมค่ะ เรายังให้รถวิ่งได้ เราขอแค่พื้นที่ตรงนี้ เรารู้ว่าทุกท่านมีธุระมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ท้องถนน แต่เราจำเป็นจริงๆ ท่านกรุณาใช้ทางเลี่ยงนะคะ”

เสียงประกาศให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้เข้าใจ ใช้ทางเลี่ยง และการจราจรไม่เป็นอัมพาตในช่วงที่พวกเขาชุมนุมบนถนน (27-29 ม.ค.) คำถามก็คือ จะปิดถนนไปเพื่ออะไร ไม่มีใครเดือดร้อน ย่อมไม่มีใครออกมาเจรจาด้วย แต่นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นความพยายามของชาวนา ความพยายามที่จะใช้สันติวิธี การชุมนุมโดยสงบ ไม่สร้างความเดือดร้อน พวกเอ็นจีโอ นักกิจกรรมคงกุมขมับกับการเคลื่อนไหวนี้ไปตามๆ กัน แต่คำตอบของพวกเขาคือ

“เรามาอยู่ที่นี่เพื่อเรียกร้องสิทธิของเราคืน เรียกร้องเงินคืน เรารอให้เลือกตั้งจบก่อนไม่ไหวเราไม่มีเงินกันแล้ว ดอกเบี้ยหนี้งอกทุกวันๆ เราต้องมา เราขอข้าวคืน เอาไปขายให้ได้เงิน 9,000 บาทก่อน แล้วรัฐบาลค่อยจ่ายส่วนต่างให้เราทีหลังก็ได้ เรายอมรอได้ แต่ตอนนี้เราขอเงินสด 9,000 บาทก่อนได้หรือไม่” อุสนี ขุนทอง หนึ่งในแกนนำได้ประกาศข้อเรียกร้องของชาวนา                                                                                                                          

เอกสารข้อเรียกร้องของชาวนา

นี่คือข้อเสนอบ้านๆ ที่ถอยสุดซอยของชาวบ้าน แต่ทุกอย่างก็ยังเงียบ……

ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาเจรจา เว้นแต่ตำรวจและสันติบาล

จนเมื่อภรรยาของนายชาตรีถูกกลุ่มผู้นำชุมชนและคนที่เขาเชื่อว่าเป็นเสื้อแดงมาข่มขู่ เรื่องนี้จึงเข้าไปอยู่ในสื่อกระแสหลักในระยะเวลาสั้นๆ และมันได้ถูกนำเสนอให้เป็นเรื่อง “เสื้อแดงรังแกชาวนา” จากคลิปการให้สัมภาษณ์ของนายชาตรี ที่กล่าวว่าเสื้อแดงเข้าไปข่มขู่ภรรยาตน ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 และพาดหัวข่าว ‘แกนนำม็อบชาวนารับ ถูกบีบยอมเลิกชุมนุม’ หรือ ‘แฉแดงขู่-ขรก.บีบซ้ำ!ทำชาวนาพิษณุโลกจำใจสลายตัว’  จนนำมาซึ่งการยอมยุติการชุมนุมในวันที่ 29 มกราคม 2557 และได้มีการรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 31 มกราคม 2557 ที่บริเวณจวนผู้ว่า ซึ่งนำโดย หมอวรงค์ และเข้าไปร่วมกับ กปปส.ในที่สุด

“วันที่ 31 พอไม่รู้เรื่องกัน หมอวรงค์(นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม)เขาก็บอกให้ไปที่ศาลากลาง ไปตามบ้านผู้ว่าฯ กัน แต่ไม่เจอ พออีกวันเขาก็นัดพาเข้ากรุงเทพเลยขึ้นเวที ออกบูลสกายเลย ไปเรียกร้องสิทธิ์ เราก็ไม่ได้อยากให้มันเป็นการเมืองตั้งแต่แรกอยากให้มันเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน แต่เมื่อ 31 แล้วไม่ได้จริง เขาก็พาเราเข้ากรุงเทพ นัดกันไปตั้งแต่ บางกระทุ่มไปถึงนครสวรรค์โน่นเลย” วิเชียรกล่าว

เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงไม่พึ่ง ส.ส.ในเขตของตนนั้นแทนที่จะเป็น ส.ส.ในเขตอำเภอเมืองอย่างนายแพทย์วรงค์ นายวิเชียรกล่าวว่า “เขาเป็นคนของรัฐบาล เราไปบอกเขา ไปพึ่งเขาไม่ได้หรอก เขาห้ามเราคัดค้าน ห้ามเราประท้วง”

 

นายวิเชียร นางบวช

การข่มขู่ การระดมผู้นำชุมชนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะหาเสื้อแดงในจังหวัดพิษณุโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำนวน ส.ส.ในจังหวัดพิษณุโลก 5 เขต มี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเพียง 2 เขต และนอกจากนั้นเป็น ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้รับเลือกติดต่อมาหลายสมัยตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา  คำถามที่ตามมาก็คือ ใครคุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเสื้อแดงเป็น ใคร เป็นเสื้อแดงจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแผนการดึงชาวนาเข้าร่วมม็อบ กปปส.ของส่วนราชการและนักการเมืองท้องถิ่น  แต่ข้อเท็จจริงคือในเขตพื้นที่ของแกนนำอย่างนายชาตรีและนายวิเชียรนั้นเป็นเขตพื้นที่อำเภอพรหมพิราม ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่เข้าไปทำการข่มขู่ภรรยาของนายชาตรีจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และต้องการรักษาเสถียรภาของรัฐบาลไว้

ส่วนโครงการจำนำข้าวนี้ควรยุติหรือไม่นั้น ก็มีเสียงจากชาวนาที่ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โดยนายบรรเจิด  ไสยคม ชาวนาอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกได้แสดงความสนับสนุนโครงการจำนำข้าว่า “ราคาจำนำดีกว่า อย่างราคาประกันพี่ได้ราคาหกพัน ได้ประกันพันแปด ตีได้เจ็ดพันกว่าบาท อันนี้ตีได้หมื่นหนึ่งพันกว่าๆ แต่มันมีรอนานงวดนี้งวดเดียว งวดอื่นมันก็ไม่นาน รัฐบาลเขาคงหมุนไม่ทันละมั้ง บางทีโรงสีรับข้าวไปแล้วไม่ออกใบประทวนให้ ที่บางระกำก็มีคนออกมาเรียกร้อง แต่พี่ไม่มีเวลา ถึงมีเวลาก็ไม่ไป ไปทำไมเหนื่อยเปล่าๆ เลือกจำนำดีกว่า มันได้เยอะกว่า มันช้ารอบนี้รอบเดียว ประกันได้เงินไวแต่ไม่ได้เป็นก้อนนะ ได้ไม่เยอะด้วย ให้เป็นเกวียน เกวียนละพันแปดถึงสองพัน ถ้าราคาจำนำเราได้เป็นแสนนะ คนที่เขาชอบโครงการประกันคือเขาจะเอาใบที่ไม่ได้ทำนาไปแจ้งว่าปลูกข้าว แล้วก็ได้เงินแบบนี้ไง คนทำนาจริงไม่ได้หรอก แต่เจ้าของนาได้ เขาจะขอ ถ้าไม่ให้ เขาก็ไม่ให้เช่านา ชาวนาจริงๆไม่ได้หรอก”

 

นายบรรเจิด ไสยคม

ด้านนายวิเชียร นางบวช หนึ่งในแกนนำนั้นได้อธิบายถึงความเสียหายของโครงการจำนำข้าวต่อชาวนาว่า “โครงการนี้เหมือนเปียแชร์ รัฐบาลเปียไปเรื่อยชาวนายังไม่ได้เปียก็รอ รอไม่ได้เราก็อึดอัด เราก็ไป เขาให้ธกส.จ่ายเงิน ธกส.ก็เงินหมด รัฐบาลก็ไม่มีเงิน เกษตรกรก็พลอยตายไปด้วย เรามาเสียความรู้สึกตรงที่เงินของเรายังอยู่ เราขายข้าวให้รัฐบาล ทำไมเราจะต้องมากู้มาเสียดอกเบี้ยด้วย มีใบประทวนสองแสนกู้ได้สองหมื่น เงินเราเองเราต้องไปกู้เงินที่เราจะได้กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ด เงินหมื่นห้าเจอหักความชื้นหักสิ่งเจือปน เหลือไม่เกินหมื่นพัน แถมยังได้เงินช้าอีก เขาก็เอาเงินไปสร้างโกดัง เพราะมันระบายข้าวไม่ทัน ตลอดทางนี่มีสร้างใหม่ 4-5 โกดัง มันไม่ได้ระบายออกไปต่างประเทศจริงๆ รัฐบาลนี้หาตลาดไม่เก่ง”

 

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องนำไปทบทวนเพื่อหาข้อยุติในโครงการจำนำพืชผลทางการเกษตร ทั้งผลดีและผลเสีย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการหาวิธีการนำเงินค่าจำนำข้าวมาจ่ายให้กับชาวนา

ชาวนาเพียง 300 คนที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นเพียงส่วนน้อยของชาวนาทั้งประเทศ ยังมีชาวนาที่เลือกจะไม่ประท้วง อดทนลำบากเพื่อรักษาจุดร่วมของระบอบประชาธิปไตย อดทนกับนโยบายที่ผิดพลาดเพราะอยากให้พรรคเพื่อไทยได้บริหารงานต่อดังที่นายบรรเจิดให้เหตุผลของการไม่เข้าร่วมการชุมนุมว่า

“มันเหมือนบาคนเขาก็ไม่ชอบนะ เขาบอกว่ามันนาน เขาก็ออกไปต่อต้านกัน มันอยู่ที่ว่าเขาชอบพรรคไหนมากกว่า เราเป็นชาวนารัฐบาลเขาให้อะไรมาเราก็ต้องปรับตัวรับสภาพ ใครๆ ก็เลือกจากพรรคการเมืองนั่นแหละ แต่เราก็ต้องอดทน บางคนไม่ทนเขาก็ขายนอก(โครงการ) เกวียนละหกพันเขาก็ขายเพราะเขาไม่ชอบรัฐบาล จะมาว่ารัฐบาลทำให้เป็นหนี้ มันก็ไม่ใช่ เราไม่กู้ก็ได้ ดอกเบี้ยเราจากธกส.ก็มีเราก็ได้เพิ่มแต่ต้องรอ ส่วนเงินใช้ภายนอกเราก็ไปยืมโรงสีเอา เราก็ลำบากแหละแต่เรอได้เพื่อให้ระบบมันเดินไป อย่างพี่ได้ค่าข้าว 3 แสน ยืมโรงสีแสนนึงเขาก็ให้ เราก็เอามาใช้ก่อน แต่ก็ได้เป็นบางโรงสีนะ ดอกเบี้ยไม่เสีย ได้เงินคืนมาเราก็เอาเงินไปคืนเขา เราไม่มีหนี้นอกระบบ เราก็เลยไม่ต้องไปเรียกร้อง เงินไม่พอก็เอาของไปจำนำบ้าง อดทนรอเอา ถ้าเราไป(ประท้วง)แบบนี้ ระบบมันจะเดินหน้าได้ยังไง เขาให้เลือกตั้งก็ไปเลือก เราจะได้เห็นนโยบายใหม่ ”

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของชาวนาที่อดทนต่อนโยบายเหล่านี้ ส.ส.หรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ควรจะยกย่องจิตใจของผู้คนเหล่านี้ เคารพพวกเขาเหล่านี้ หรือความจริงแล้วควรไป"กราบตีน"พวกเขางามๆ ที่เขาอดทนเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยโดยมองข้ามความเดือดร้อนส่วนตัว แต่อย่างไรเสีย ชาวนาก็ยังเป็นชาวนาอยู่วันยังค่ำ  ไม่เป็นอะไรให้ใครมองเห็น พยายามแล้วพยายามอีก จะเป็นอะไรให้ใครมองเห็นก็ต่อเมื่อเขาต้องการประโยชน์เท่านั้น และยังถูกผลักให้เป็นอื่นได้ง่ายๆ เพียงเพราะออกมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของตัวเอง

 

การชุมนุมในวันที่ 28 มกราคม 2557

 

 

อ้างอิงบางส่วนจาก

หมอวรงค์พาชาวนาเข้ากทม.ร่วม กปปส.http://www.posttoday.com

ธิดา-ชาวนาปลอม   http://www.youtube.com/watch?v=rI5vpnRSRhw

ชาวนาถูกบีบ สลายการชุมนุม   http://www.nationchannel.com/main/content/politics/378393410/

http://www.manager.co.th/local/viewnews.aspx?NewsID=9570000010860

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=y9IenfWa0Z8

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net