กป.อพช. ออกแถลงการณ์ป้องกันความรุนแรงในวันเลือกตั้ง

1 ก.พ. 2557 - คณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ "ป้องกันความรุนแรงในวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
ป้องกันความรุนแรงในวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

ตามที่รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสินใจเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายดังที่ได้เกิดในวันเลือกตั้งล่วงหน้า 26 มกราคม ที่ผ่านมา  และลุกลามบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้าของประชาชน  เป็นเหตุให้กปปส.ประกาศในวันที่ 29 มกราคม ว่าจะไม่ขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กป.อพช. เห็นว่าท่าทีดังกล่าวของกปปส. เป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มของวิกฤติการเมืองครั้งนี้ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เหตุร้ายเมื่อวันที่ 26 มกราคม  ที่หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าบริเวณวัดศรีเอี่ยม บางนา ที่มีประชาชนทำร้ายประชาชนด้วยกัน สะท้อนว่าความขัดแย้งทางความคิดกำลังแปรเปลี่ยนเป็นอคติและการเกลียดชังแล้วในระดับหนึ่ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกขน (กป.อพช.) เห็นว่าสถานการณ์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จึงยังไม่เป็นที่วางใจ  และใคร่ขอเสนอความเห็นและข้อเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ดังนี้

1.กปปส.จะต้องตอกย้ำคำประกาศข้างต้น เพื่อเป็นการแสดงท่าทีที่หนักแน่นให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า การรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้งของกปปส. จะไม่ก่อให้เกิดการละเมิด “สิทธิเลือกตั้ง” ของผู้ที่ประสงค์จะไปใช้สิทธิ์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์

2. รัฐบาล/ศูนย์รักษาความสงบและหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบอื่นๆ  ตลอดจน กกต. รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง   ต้องวางแผนร่วมกันเพื่อป้องกันมิให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกัน ร่วมกันระงับและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุร้ายขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้ประชาชนทุกกลุ่ม

3. แกนนำกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ที่มีจุดยืนและความเห็นทางการเมืองต่างจากกปปส. จะต้องไม่ยั่วยุให้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองที่อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสีย

4. ในกรณีที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีความจริงใจในการดำเนินการสืบสวนสอบสวน และจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี  หลังจากที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในทุกกรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งๆที่ในบางกรณีมีพยานหลักฐานชัดเจน ซึ่งจะเป็นการเรียกเกียรติ ศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นของประชาชนในตำรวจที่สูญเสียไปกลับคืนมา

5. คนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการหยุดยั้งและขจัดความรุนแรงได้  โดยสนับสนุนการรณรงค์ให้ประชาชนทุกกลุ่มยึดมั่นใน “สันติวิธี” ร่วมกันประณามผู้ยั่วยุหรือก่อความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ยอมรับการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกใดๆ ที่จะขยายความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน

6. ด้วยการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ จะไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะต้องยืดเยื้อจนกระทั่งมีจำนวนผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงมีแนวโน้มที่การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่างๆที่เป็นคู่ขัดแย้งจะดำเนินต่อเนื่องไป และภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงจะยังคงอยู่ เราจึงเห็นว่าทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้ง โดยเฉพาะรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมต้องใช้กระบวนการเจรจาเป็นหนทางในการคลี่คลายวิกฤติการเมืองครั้งนี้ การเจรจามิใช่การถอยแต่คือการเดินหน้า ทุกฝ่ายต้องใช้การเจรจาเป็นจุดเริ่มต้นยุติความสูญเสียของประชาชน และใช้การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย

เราปรารถนาที่จะเห็นการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ปราศจากความรุนแรง หากความสำเร็จในการป้องกันความรุนแรงปรากฏเป็นจริงจะเปี่ยมความหมายยิ่ง เพราะทุกฝ่ายในสังคมไทยจะมีความหวังว่าวิกฤติความขัดแย้งครั้งนี้จะสามารถแก้ไขคลี่คลายได้โดยสันติวิธี  มีทางออกสำหรับประเทศชาติ  และทุกฝ่ายจะสามารถเดินหน้าปฏิรูปร่วมกัน

คณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท