Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ 4 ของบทความชุด ‘ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์โดยอธิป จิตตฤกษ์’ ย้อนดูคุณความดีของหนังสือเถื่อนในอังกฤษกลางศตวรรษที่ 16 ว่ามีคุณูปการต่อวงการหนังสืออย่างไร

ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 ทางสมาคมช่างผลิตหนังสือแห่งลอนดอน (Stationer Company) ได้สิทธิในการผูกขาดการพิมพ์ทั่วเกาะอังกฤษ และทางสมาคมก็ใช้สิทธินี้อย่างเต็มที่ในการซื้อต้นฉบับจากบรรดานักเขียน มาพิมพ์หนังสือขาย นักเขียนในยุคนั้นไม่มีสิทธิเหนือการสำเนางานของตนอะไรทั้งนั้น พวกเขามีสิทธิ์เพียงแค่ในการเอาต้นฉบับไปขายให้พวกพ่อค้าหนังสือมาพิมพ์เท่านั้น และพวกพ่อค้าหนังสือก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องจ่ายเงินให้พวกนักเขียนเพิ่มเติมอีกหลังจากซื้อต้นฉบับ ดังนั้นโดยทั่วไปมันจึงเป็นการซื้อขาด [1]

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจะตลกจากมุมทุกวันนี้ก็คือ “ไพเรซี่” หรือการพิมพ์หนังสือเถื่อนในยุคนี้กลับเป็นแรงกดดันสำคัญให้บรรดาพ่อค้าหนังสือจ่ายเงินให้กับพวกนักเขียนเพิ่มจากที่ซื้อขาดต้นฉบับไปแล้วในยุคที่ยังไม่มี “ลิขสิทธิ์”

แม้ว่าสก็อตแลนด์จะ “รวมประเทศ” กับอังกฤษในปี 1603 แต่ระบบกฎหมายของทั้งสองประเทศก็ไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันเท่าไร และเอาจริงๆ อำนาจรัฐจากอังกฤษในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ได้มีผลบังคับใช้ในสก็อตแลนด์เท่าใดนัก ความไร้น้ำยาของอำนาจรัฐของอังกฤษก็รวมถึงความไร้น้ำยาของอำนาจผูกขาดของบรรดาสมาคมช่างผลิตหนังสือแห่งลอนดอนด้วย นี่ทำให้กรุงเอดินเบอระกลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิต “หนังสือเถื่อน” หรือหนังสือที่พิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาต (จากทางสมาคมฯ) ในทางตอนเหนือของอังกฤษ และนี่ยังไม่ต้องพูดถึงกรุงดับลินแห่งไอร์แลนด์ที่ก็เป็นศูนย์กลางผลิตหนังสือเถื่อนเช่นกันในสายตาอังกฤษทั้งๆ ที่อังกฤษไม่มีอำนาจทางกฎหมายในไอร์แลนด์ (จนกระทั่งไอร์แลนด์ถูกอังกฤษผนวกเข้าไปเป็นสหราชอาณาจักรในปี 1800)

การผลิตหนังสือเถื่อนจากแดนอันห่างไกลจากลอนดอนเป็นแรงกดดันสำคัญให้บรรดาพ่อค้าหนังสือไม่สามารถพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาซ้ำเดิมได้ กล่าวคือทุกครั้งที่จะมีการพิมพ์หนังสือเล่มเดิมใหม่จะต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเนื้อหาตลอด ดังนั้นหนังสือเล่มหนึ่งๆ จึงไม่มีเนื้อหาที่หยุดนิ่งและมันก็ต้อง “อัปเดต” เป็น “เวอร์ชั่น” ใหม่ตลอดถ้าจะพูดในภาษาปัจจุบัน และคนที่จะ “อัปเดต” เนื้อหาของหนังสือได้ดีที่สุดก็ไม่ใช่ใครนอกจากผู้ที่เขียนมันขึ้นมา [2]

การที่หนังสือเล่มหนึ่งต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อสู้กับ “ของก็อป” อย่างหนังสือเถื่อน ทำให้การค้าขายต้นฉบับไม่ได้สิ้นสุดในครั้งเดียว เพราะอย่างน้อยๆ เมื่อมีการ “พิมพ์ครั้งที่สอง” นักเขียนก็จะได้ค่าแก้ต้นฉบับอัปเดตงานเพิ่มด้วย ซึ่งหากไม่มีหนังสือเถื่อน แรงจูงใจของพ่อค้าหนังสือลอนดอนในการจ่ายเงินให้นักเขียนเพิ่มก็จะไม่มี ดังนั้นการที่หนังสือโดน “ไพเรต” ในยุคนี้มันกลับเป็นหลักประกันว่านักเขียนจะได้เงินเพิ่มจากพ่อค้าหนังสือที่ซื้อต้นฉบับของเขาขาดไปแล้ว

ซึ่งสิ่งที่ต้องเข้าใจไปพร้อมกันก็คือหนังสือที่จะโดน “ไพเรต” ก็ต้องเป็นหนังสือที่ขายดีมากๆ เท่านั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่พ่อค้าหนังสือในเอดินเบอระและดับลินจะพิมพ์หนังสือเถื่อนออกมาถ้ายอดขายที่เป็นไปได้ของมันจะมีเพียงไม่กี่สิบเล่ม [3] ถ้ายอดขายมันมีเพียงเท่านั้น การรับหนังสือจากลอนดอนมาขายในฐานะพ่อค้าคนกลางก็ดูจะสร้างผลกำไรได้มากกว่าผลิตแบบเถื่อนเองขายในตลาดท้องถิ่น ดังนั้นงานที่ขายไม่ค่อยออกจึงไม่ต้องกลัวจะโดน “ไพเรต” และงานที่โดน “ไพเรต” ก็เป็นสัญญาณว่างานขายดี และนักเขียนอาจได้ค่าแก้ต้นฉบับเพื่อพิมพ์ใหม่เร็วๆ นี้

จะเห็นว่าโดยทั่วๆ ไปพวกนักเขียนก็ไม่ได้มีเหตุผลเกลียดพวกพ่อค้าหนังสือเถื่อน อันที่จริงพวกพ่อค้าหนังสือเถื่อนก็เป็นแค่พ่อค้าหนังสือที่ไม่ได้มีสิทธิ์ผูกขาดการพิมพ์หนังสือตามอำนาจของราชาและราชีนีอังกฤษเท่านั้น พวกนี้ก็เหมือนพ่อค้าทั่วๆ ไปที่ยินดีจะผลิตอะไรมาขายก็ได้ถ้ามันจะนำกำไรมาให้ ดังนั้นก็จะเห็นว่าพวกนี้ก็ไม่ได้จ้องแต่จะพิมพ์หนังสือเถื่อนแต่เพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ หนังสือที่ไม่เถื่อนถ้าพิมพ์แล้วขายได้พ่อค้าเหล่านี้ก็พิมพ์

โดยทั่วไปพวกนักเขียนน่าจะยินดีจะ “ขาย” ต้นฉบับให้กับพวกพ่อค้าหนังสือลอนดอนไม่ใช่เพราะพวกพ่อค้าหนังสือพวกนี้มีอำนาจพิมพ์อย่างถูกกฎหมาย แต่เพราะพวกนี้มีปัญญาจะจ่ายเงินให้พวกเขามากกว่าพวกพ่อค้าหนังสือเถื่อน ซึ่งเหตุผลหลักก็คือลอนดอนเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าเอดินเบอระและดับลินเยอะ จึงทำให้พ่อค้าหนังสือลอนดอนมีศักยภาพในการขายหนังสือได้มากกว่า และมีปัญญาจ่ายให้นักเขียนมากกว่า อย่างไรก็ดีถ้าพวกนักเขียนมีความต้องการจะตีพิมพ์อะไรที่ล่อแหลมและไม่ต้องการจะถูก “เซ็นเซอร์” โดยพวกพ่อค้าหนังสือของสมาคมช่างพิมพ์ที่เป็นหูเป็นตาให้กษัตริย์แล้ว พวกเขาก็ไม่ได้รังเกียจการพิมพ์หนังสือกับพวกพ่อค้าหนังสือเถื่อนจากสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์ซึ่งก็ไม่ได้ฉ้อฉลอะไรกับพวกเขา และจ่ายเงินค่าต้นฉบับให้เหมือนกัน

อันที่จริงแล้วการมองว่าการผลิตหนังสือนอกลอนดอนเป็นการผลิตหนังสือเถื่อนไปหมดดูจะเป็นการสะท้อนความคิดว่าใครต่อใครก็ต้องยอมรับอำนาจผูกขาดพระราชทานไปหมด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอำนาจนี้ไม่ได้มีขอบเขตไปไกลกว่าอังกฤษตอนล่างด้วยซ้ำ  และนี่ดูจะเป็นเรื่องปกติของการค้าหนังสือในเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปที่ตั้งแต่ “จังหวัดชายแดน” ยัน “ประเทศเพื่อนบ้าน” ล้วนเป็นที่มาของหนังสือเถื่อนในความหมายของหนังสือที่พิมพ์มาโดยไม่สนใจอำนาจผูกขาดจากส่วนกลาง ซึ่งนี่ก็ไม่แปลกอะไรเพราะอำนาจการผูกขาดที่ว่านี้ก็ผูกอยู่กับกษัตริย์ในประเทศหนึ่งๆ เท่านั้น ผู้อยู่ใต้อำนาจกษัตริย์องค์อื่นก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องยอมรับอำนาจของกษัตริย์ที่ไม่ใช่เจ้าเหนือหัวของตน พ่อค้าหนังสือไอร์แลนด์ก็ไม่มีหน้าที่อะไรจะต้องยอมรับอำนาจกษัตริย์อังกฤษ พ่อค้าหนังสือสวิสเซอร์แลนด์ก็ไม่มีหน้าที่อะไรจะต้องยอมรับอำนาจกษัตริย์ฝรั่งเศส พ่อค้าหนังสือออสเตรียก็ไม่มีหน้าที่อะไรจะต้องยอมรับอำนาจกษัตริย์ปรัสเซีย เป็นต้น

อย่างไรก็ดีแม้อำนาจผูกขาดพระราชทานเหล่านี้จะมีขอบเขตทำการไม่ได้ไกลมาก แต่อาณาบริเวณทำการของมันที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือเมืองหลวง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นตลาดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ  ในกรณีของอังกฤษ ลอนดอนดูจะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุโรปไปเรียบร้อยแล้วในศตวรรษที่ 17 เพราะมีประชากรราวๆ 500,000 คน [4] นี่เป็นประชากรพอๆ กับปารีสช่วงปฏิวัติอีก 100 กว่าปีต่อมาด้วยซ้ำ [5] ซึ่งในตอนนั้นลอนดอนก็มีประชากรเพิ่มมาเกือบทะลุ 1 ล้านคนแล้ว (ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยอีกว่าลอนดอนคือเมืองแรกในยุโรป หรือกระทั่งเมืองแรกในโลกที่มีประชากรถึง 1 ล้านคน)

ดังนั้นตราบใดที่พวกพ่อค้าหนังสืออังกฤษยึดฐานที่มั่นในลอนดอนไว้ได้ อำนาจในการผูกขาดก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอยู่ และอันที่จริงก็ดังที่ได้กล่าวไว้ถึงธรรมชาติของโรงพิมพ์ในลอนดอนมาแล้วก่อนหน้านี้ โรงพิมพ์กับร้านหนังสือเป็นสิ่งเดียวกันอยู่ในที่เดียวกัน ดังนั้นในบรรดาสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตหนังสือนั้นก็จึงเป็นพ่อค้าหนังสือปลีกด้วย เพราะพวกนี้แทบจะผูกขาดการขายหนังสือในลอนดอน และก็ยากยิ่งที่หนังสือเถื่อนจะเล็ดรอดเข้ามาในสารบบการค้าหนังสือลอนดอนที่ผูกขาดโดยพวกนี้ที่มีทั้งการควบคุมและตรวจสอบกันเอง [6]

หนังสือเถื่อนไม่ได้ทำลายอำนาจการผูกขาดของพวกนี้ สิ่งที่ทำให้อำนาจการผูกขาดของสมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนเสื่อมถอยลงก็คือการเสื่อมถอยจากที่มาของอำนาจผูกขาดซึ่งก็คือการเสื่อมถอยของอำนาจของกษัตริย์นั่นเอง อำนาจกษัตริย์เสื่อมถอยลง อำนาจการผูกขาดของพวกนี้ก็เสื่อมถอยลงจนในท้ายที่สุดก็หมดสิ้นไป และความเข้าใจการเสื่อมถอยของอำนาจของทางสมาคมช่างผลิตหนังสือนี่ดูจะผูกพันกับการปฏิวัติทางการเมืองครั้งสำคัญของอังกฤษ 2 ครั้งในศตวรรษที่ 17 และนี่ก็จะเป็นเนื้อหาของบทต่อไป

 

อ้างอิง:

  • ระบบจ่ายค่าต้นฉบับทีเดียวจบไม่แบ่งเปอร์เซ็นตามยอดพิมพ์แต่ละครั้งแบบนี้ก็ยังอยู่มาตลอดศตวรรษที่ 18 ซึ่งมีกฎหมายลิขสิทธิ์แล้วด้วยซ้ำ ดู James Raven, “The Book Trades” in Books and Their Readers in Eighteenth-Century England: New Essays, Isabel Rivers (ed.), (London: Continuum, 2001), pp. 20-21
  • ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องเข้าใจไปพร้อมกันก็คือ หนังสือเถื่อนเองก็ไม่ได้พิมพ์ซ้ำกันทื่อๆ การย่อ ตัดตอน ไปจนถึงเพิ่มคำอธิบายต่างๆ ก็มีเป็นปกติ เพราะคนทำหนังสือเถื่อนก็ไม่ได้ก้มหน้าก้มตาจะพิมพ์ซ้ำให้เหมือนเดิม แต่เป้าหมายอุดมคติคือการทำให้หนังสือดีขึ้นไปกว่าต้นฉบับ ในแง่นี้การทำหนังสือเถื่อนจึงไม่ใช่แค่การพิมพ์ซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เป็นการปรับแก้เนื้อหาให้ดีขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดู Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), p. 49
  • ในยุคนั้นยอดพิมพ์หนังสือโดยเฉลี่ยน่าจะไม่ถึงหลักพันเล่ม เพราะขนาดในศตวรรษที่ 18 ที่การค้าหนังสือเฟื่องฟูกว่า ยอดพิมพ์หนังสือโดยเฉลี่ยก็เพียงแค่ 750 เล่มเท่านั้น ดู James Raven, ibid, p. 22
  • ตัวเลขนี้มาจากราวๆ ปี 1675 ดูที่ http://www.oldbaileyonline.org/static/London-life17th.jsp
  • ลอนดอนกับปารีสเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปมาตลอดช่วงสมัยใหม่ตอนต้นในระดับที่เมืองอื่นๆ สู้ไม่ได้เลย ในช่วงราวๆ ปลายศตวรรษที่ 18 ลอนดอนมีประชากรเกือบ 1,000,000 คน ส่วนที่ปารีสมีกว่า 500,000 คน เมืองที่ใหญ่รองลงมาน่าจะเป็นเนเปิลที่ปี 1800 มีประชากรราวๆ 350,000 คน ซึ่งก็แทบจะเป็นเพียง 1 ในสามของประชากรลอนดอน นอกจากนี้เมืองใหญ่ๆ รองลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ก็มีประชากรราวๆ 200,000-250,000 คน เวียนนาและอัมสเตอร์ดัมมีประชากรประมาณนี้ ทางด้านเบอร์ลินมีประชากรแค่ราวๆ 170,000 คนเท่านั้น ดู Barry S. Brook, "Piracy and Panacea in the Dissemination of Music in the Late Eighteenth Century", Proceedings of the Royal Musical Association, Vol. 102 (1975 - 1976), p. 15 note 4
  • การผลิตหนังสือออกมาขายของพวกนี้อยู่ภายใต้ “มารยาททางการค้า” ที่แต่ละเจ้าจะพิมพ์หนังสือไม่ซ้ำกันและก็จะมีหนังสือเล่มโตที่ตั้งอยู่ที่ “ฐานทัพ” ของทางสมาคมช่างพิมพ์หนังสือที่เอาไว้ลงทะเบียนว่าใครจะพิมพ์หนังสือเล่มใด การพิมพ์ซ้ำกันเกิดขึ้นบ้าง หากพ่อค้าหนังสือในสมาคมมีปัญหาว่าพ่อค้าคนอื่นพิมพ์หนังสือซ้ำกับเขา (ในทางปฏิบัติอาจเป็นหนังสือเนื้อหาคล้ายกันมากก็ได้) ก็จะต้องส่งเรื่องให้ผู้อาวุโสของสมาคมสองคนพิจารณาเนื้อหาของหนังสือที่มีปัญหาทั้งสองเล่มว่าเหมือนกันจริงหรือไม่ก่อนที่จะส่งรายงานการสอบสวนให้ศาล ซึ่งผู้มีความผิดก็จะโดนศาลสั่งปรับเล็กน้อย ไม่ใช่ค่าปรับที่จะทำธุรกิจล้มละลายแบบค่าปรับการละเมิดลิขสิทธิ์สมัยนี้ ที่น่าสนใจคือกระบวนการพิจารณาคดีในสมาคมถือว่าเป็นความลับมาก ผู้ใดแพร่งพรายมีโทษถึงการยกเลิกสมาชิกภาพซึ่งก็หมายถึงถูกยกเลิกสิทธิในการพิมพ์และขายหนังสือ ดู Adrian Johns, ibid, pp. 25-26

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net