Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
หลังจากที่แกนนำในการก่อการสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย และผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้องจะถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 แต่แกนนำรุ่นที่สองของสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ไม่ได้ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค พวกเขาได้ช่วยกันหาสมาชิกด้วยความมุ่งมั่นแม้จะถูกกีดกันจากทั้งผู้บริหารและหัวหน้างานอย่างหนักหน่วงก็ตาม จนพวกเขาสามารถหาสมาชิกได้ห้าร้อยกว่าคน จึงได้จัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2557 หลังจากที่สหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ได้จัดประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก และได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานฯ จำนวน 19 คน ในขณะเดียวกันก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างจำนวน 7 คน  ในวันต่อมาคือวันที่ 20 มกราคม 2557 สหภาพแรงงานฯ นำโดยประธานสหภาพแรงงานฯ และกรรมการลูกจ้าง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อแจ้งให้ทราบว่ามีใครเป็นคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานฯ และดำรงตำแหน่งใดบ้างในองค์กรสหภาพแรงงานฯ โดยยื่นต่อผู้จัดการฝ่ายบุคคล และรองกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ แต่บริษัทฯ กลับเพิกเฉยและได้กล่าวกลับประธานสหภาพแรงงานฯ ว่า “ละทิ้งหน้าที่มาหรือเปล่า” ทั้งที่ทุกคนมาในเวลาพักเบรคของตนเองซึ่งแสดงถึงทัศนคติที่ไม่ดีต่อสหภาพแรงงานฯ ของฝ่ายบริหารที่คอยจ้องแต่จะลงโทษและจับผิดพนักงานตลอด
 
และในขณะเดียวกันก็ได้ยื่นหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบการให้กับนายจ้างทราบพร้อมทั้งแต่งตั้งให้คณะกรรมการลูกจ้างที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นทำหน้าที่คณะกรรมการสวัสดิการจำนวน 7 คน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 เนื่องจากคณะกรรมการสวัสดิการชุดเก่าได้ลาออกทั้งคณะเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในระบบทวิภาคีที่ดีต่อกัน
 
ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม 2557 ได้มีผู้บริหารระดับสูงจากญี่ปุ่นได้เดินทางมาที่บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อที่จะดูไลน์การผลิตใหม่ ซึ่งบริษัทฯ มีแผนงานที่จะผลิตรถรุ่นใหม่ในเร็วนี้ และสหภาพแรงงานฯ ได้พยายามที่จะทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากบริษัทฯ ต่อผู้บริหารระดับสูง แต่ก็ได้รับการกีดกันจากทีมบริหารทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ที่บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จนทำให้ประธานสหภาพแรงงานฯ ไม่สามารถยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บริหารระดับสูงได้
 
และในวันเดียวกันผู้จัดการฝ่ายบุคคล ได้นำหนังสือซึ่งออกในนามบริษัทฯ โดยผู้มีอำนาจลงนามคือกรรมการผู้จัดการ โดยเนื้อหาในหนังสือนั้นระบุอย่างชัดเจนว่า “บริษัท ซูซูกิมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” ไม่ยอมรับการมีสหภาพแรงงานภายในสถานประกอบการ โดยอ้าง มาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ 2518 โดยกฎหมายบัญญัติว่า “มาตรา 92 ให้นายทะเบียนประกาศการจดทะเบียนสหภาพแรงงานในราชกิจจานุเบกษา”
 
 
จากพฤติการณ์ต่างๆ ที่บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กระทำต่อพนักงานและสหภาพแรงงานฯ นั้นเป็นการขัดต่อหลักการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยให้คำประกาศไว้กับ OECD ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งจะต้องยึดหลักแนวปฏิบัติที่เคารพกฎและจรรยาบรรณแรงงานสากล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งกำหนดไว้คือ “ภายในกรอบของการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบ แรงงานสัมพันธ์ และวิธีการจ้างงาน บรรษัทข้ามชาติควรจะต้องปฏิบัติ โดยมีสาระสำคัญคือ
 
  1. จะต้องเคารพสิทธิของคนงานในการมีตัวแทนสหภาพแรงงาน รวมทั้งตัวแทนในรูปแบบอื่น และเคารพสิทธิในการเข้าร่วมเจรจาต่อรองอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาต่อรองระหว่างบุคคลหรือระหว่างสมาคมนายจ้าง โดยมีจุดประสงค์ที่จะบรรลุข้อตกลงในเรื่องสภาพการจ้างฯ
  2. อำนวยความสะดวกให้แก่ตัวแทนของคนงานเพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการทำข้อตกลงสภาพการจ้างฯ
  3. ให้ข้อมูลข่าวสารแก่คนงานและตัวแทนของคนงาน เพื่อทำให้พวกเขาได้รับรู้ถึงผลดำเนินการของบริษัทที่แท้จริงและมีความเที่ยงธรรม ทั้งข้อมูลบริษัทในเครือ หรือของข้อมูลของทั้งบริษัทในกรณีที่เหมาะสม
  4. ในบริบทของการเจรจาต่อรองอย่างแท้จริงตัวแทนคนงานที่เกี่ยวกับสภาพการหรือว่าในระหว่างที่คนงานกำลังใช้สิทธิการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน บรรษัทจะไม่ข่มขู่คุกคามว่าจะโยกย้ายส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหน่วยการผลิตฯ หรือไม่โยกย้ายคนงานจากกิจการหนึ่งกิจการใดของบริษัทข้ามชาติไปทำงานในกิจการอื่นใดในเครือฯ เพื่อใช้อิทธิพลที่ไม่เป็นธรรมต่อการเจรจาต่อรอง หรือไม่สร้างอุปสรรคขัดขวางการใช้สิทธิของคนงานในการรวมตัวจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน
  5. ให้ตัวแทนที่มีอำนาจของคนงานทำการเจรจาต่อรองร่วมหรือการเจรจาต่อรองในประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายลูกจ้างกับฝ่ายบริหาร รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายปรึกษาหารือกันในเรื่องอื่นใดที่มีความสำคัญ โดยตัวแทนของฝ่ายบริหารที่ได้รับมอบหมายและมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ ฯลฯ
 
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทฯ พยายามฉกฉวยโอกาส สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นที่มีสุญญากาศทางการเมืองที่กลไกของรัฐไม่ทำงาน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากการก่อตั้งสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรองร่วม จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนหน่วยงานของรัฐก็พบกับปัญหา ไปที่กระทรวงแรงงานก็ไม่พบเจ้าหน้าที่ที่จะรับเรื่อง ในระดับจังหวัดเคยไปยื่นร้องเรียนกับผู้ว่าจังหวัดระยองซึ่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทุกคนก็ยังมีความเชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม แต่ท้ายที่สุด ณ วันนี้ศูนย์ราชการจังหวัดระยองก็ถูกปิดเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมือง แล้ววันนี้แรงงานไทยที่พบกับปัญหาเหล่านี้จะต้องร้องขอความเป็นธรรมจากใคร ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบให้กับคนงานที่ถูกรังแกและเอาเปรียบจากทุนข้ามชาติ
 
วันนี้จึงขอเรียกร้องให้บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เคารพในสิทธิของแรงงานไทย และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานแยกให้ออกระหว่างปัญหาการเมืองและปัญหาของแรงงาน เพราะท้ายที่สุดแล้วอย่างที่ผมเคยได้บอกไว้ใน “การเมืองคือเรื่องของเรา” ใครจะมาเป็นนำทางการเมืองก็แล้วแต่ สุดท้ายชนชั้นกรรมกรอย่างเราก็ยังคงต้องต่อสู้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net