อวัตถุศึกษากับอธิป: คิมดอทคอมเปิดตัวพรรคใหม่ “Internet Party”

ประมวลข่าวสารด้านทรัพย์สินทางปัญญาสัปดาห์นี้ นำเสนอข่าวกูเกิ้ลบริษัทเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ Nest สร้างความกังวลกับผู้ห่วงใยเรื่องความเป็นส่วนตัว, Blackphone โทรศัพท์ต่อต้านการสอดส่อง NSA

Immaterial Property Research Center ตั้งขึ้นในวันที่ 18 มกราคม หรือ "วันเสรีภาพอินเทอร์เน็ต" เพื่อเป็นศูนย์ข่าว ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุ (หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปว่าทรัพย์สินทางปัญญา) ต่างๆ อย่างสัมพันธ์กับระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ และระบบการเมืองในโลก ทางศูนย์ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานของศูนย์ฯ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบทรัพย์สินที่ไม่เป็นวัตถุที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพในเชิงบวกไปจนถึงความเท่าเทียมกันของผู้คนในโลก
 
 

 

Google รุกคืบในการเป็นเจ้าแห่งข้อมูลส่วนตัวของผู้คนอีกก้าว ด้วยการซื้อบริษัทผลิตเครื่องควบคุมอุณหภูมิบ้านอัจฉริยะ Nest

สิ่งที่เรียกว่า Thermostat นั้นดูจะไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยนักที่ "เครื่องปรับอากาศ" หมายถึง Air Conditioner หรือเครื่องทำความเย็น

ในโลกตะวันตกสิ่งที่เรียกว่า Thermostat คือสิ่งที่ใช้ควบคุมอุณหภูมิในห้อง โดยพื้นฐานแล้วคือการควบคุมการเปิดปิดอุปกรณ์ทำความร้อนเพื่อให้ได้อุณหภูมิที่กำหนดไว้

Thermostat เกิดขึ้นและมีพัฒนาการมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ซึ่งก็ไม่แปลกนักในโลกที่การหนาวตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง และก็ไม่แปลกอีกที่มันจะเป็นสิ่งคู่ครัวเรือนของชนชั้นกลางในโลกตะวันตกมาอย่างช้านานแล้ว

Thermostat ร่วมสมัยก็ไม่ได้ต่างจากสิ่งอื่นๆ ที่เป็นระบบดิจิทัลหมดที่สามารถตั้งค่าอะไรต่างๆ ได้โดยละเอียด

นี่เป็นสิ่งที่ชาวไทยอาจไม่คุ้นเคยเพราะการปรับอุณหภูมิของ "แอร์" ไปเรื่อยๆ ในวันๆ หนึ่งไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับคนไทย

อย่างไรก็ดีในกรณีของ Thermostat การปรับอุณหภูมิลงเมื่อไม่มีคนอยู่เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยประหยัดพลังงาน และคนจำนวนมากมักจะลืม

แน่นอนนี่ทำให้ "เปลืองไฟ" มาก และโดยทั่วไปค่าไฟของ Thermostat ก็แทบจะเป็นครึ่งหนึ่งของค่าไฟในครัวเรือนเมืองหนาวทั้งหลาย (เทียบกันง่ายๆ ในบริบทไทยก็น่าจะราวๆ ค่าไฟอันเป็นผลจากการเปิดแอร์ทั้งไว้ทั้งวันทั้งคืน)

ดังนั้น Thermostat ที่สามารถ "ประหยัดไฟ" ได้โดยการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิได้อย่างอัตโนมัติจึงน่าสนใจมากสำหรับครัวเรือนตะวันตก

และอุปกรณ์ที่ว่าคือผลิตภัณฑ์หลักของ Nest

สิ่งที่ Nest ทำคือสร้าง Thermostat อัจฉริยะที่เรียนรู้ได้ว่าผู้ใช้จะนอนเวลาไหน จะออกจากบ้านเวลาไหน จะกลับเข้ามาบ้านเวลาไหน และทำการปรับอุณหภูมิเพิ่มลดให้ตามอัตโนมัติ นอกจากนั้นยังไม่พอ มันยังสื่อสารกับบรรดามือถือและแทบเล็ตได้ด้วย พูดง่ายๆ คือมันคือ Thermostat อัจฉรียะที่สั่งการผ่านอินเทอร์เน็ตได้ (และก็แน่นอนว่านี่คือส่วนหนึ่งของกระแส อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things ซึ่งคือกระแสการผลิตและบริโภคสินค้าจำนวนมากที่สามารถควบคุมได้ผ่านอินเทอร์เน็ต)

ดูตัวอย่างการทำงานของ Nest ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=L8TkhHgkBsg

Google เพิ่งซื้อ Nest ไปด้วยเงิน 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็กว่า 100,000 ล้านบาท (เป็นเงินแค่ไหน ลองคิดเล่นๆ ดูว่างบกระทรวงกลาโหมของไทยก่อนรัฐประหารปี พศ 2549 นั้นยังมีแค่ 80,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนหลังรัฐประหารขึ้นมาโดยเฉลี่ยๆ ราวๆ 160,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนบริษัท CP มีผลประกอบการเกือบ 200,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2555)

แน่นอนตัวเลขนี้สูงมาก และบรรดาผู้คนในโลกธุรกิจก็ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี ทางฝั่งผู้ห่วงใยความเป็นส่วนตัวก็เป็นห่วงอย่างยิ่งยวดว่านี่จะยิ่งทำให้ Google เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคนได้ในระดับครัวเรือน

ลองคิดดูว่าถ้ามีคนสักคนมี Gmail, ใช้โทรศัพท์ระบบ Android (ในเวอร์ชั่นที่ Google ไปพัฒนาต่อและพยายามผูกขาดการผลิตในหลายๆ โรงงานที่จีน), และใช้ Google Glass แค่นี้ทาง Google ก็ได้ข้อมูลไปมหาศาลแล้ว

และถ้ายิ่งติด Nest ที่บ้านอีก ก็คงจะยิ่งไปกันใหญ่

หากท่านนึกไม่ออกถึงภาวะสุ่มเสี่ยงของความเป็นส่วนตัวนี้ ตัวอย่างก็เช่น การที่เครือข่าย Google เข้าถึงข้อมูลของ Nest ก็หมายความว่าเครือข่ายจะรู้ว่าท่านอยู่บ้านและไม่อยู่บ้านเวลาใด ซึ่งสำหรับผู้ห่วงความเป็นส่วนตัว นี่เป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ ยิ่งผนวกกับข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่ Google เข้าถึงอีก ก็คงไม่มีอะไรที่จะไม่น่าห่วง

เพราะสุดท้ายถึงแม้ว่าทาง Nest และ Google จะบอกว่าจะไม่มีการก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวเหล่านั้นแน่ๆ อยู่แล้วในเงื่อนไขการใช้บริการ

แต่สุดท้ายเวลาบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายออกมาประกาศว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงนี่แหละที่สถานการณ์มันน่าเป็นห่วงที่สุด

และถ้าการเปิดเผยของ Edward Snowden ในปีที่แล้วมันสอนอะไรเราบ้าง เราก็คงจะไม่สามารถไว้ใจบรรดาบริษัทที่ถือข้อมูลเราอยู่จำนวนมหาศาลได้เลย เพราะพวกนี้สมยอมกับรัฐมาตลอด และถึงไม่สมยอม รัฐก็มีวิธีดึงข้อมูลมาได้ (แม้จะโวยวายกันอยู่ก็ตาม)

และถึงแม้ว่า Google จะต่อต้านการทำแบบนี้ของรัฐมาก แต่ Google เองก็ดูจะไม่ได้เคร่งครัดเรื่องการเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้นัก ดังจะเห็นได้จากที่ Google ก็เพิ่งโดนฟ้องฐานแสกนคำสำคัญในอีเมลล์ผู้ใช้ไป

และสุดท้ายสิ่งที่เราคาดหวังได้แน่นอนคือข้อมูลส่วนตัวของเราในมือบรรษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้น่าจะปลอดภัยแน่ๆ ถ้ามันไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และก็ไม่น่าจะปลอดภัยแน่ๆ ทันทีที่มันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

Source:

 

ศาลอเมริกันชี้ว่าการ "ก็อป" ทรงบารากุไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

นอกจากลิขสิทธิ์จะคุ้มครองหนังสือ ดนตรี หนัง และโปรแกรมแล้ว ลิขสิทธิ์ก็ยังคุ้มครองงานออกแบบต่างๆ ด้วย

บารากุ หรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Hookah เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการสูบพืชพันธ์แห้งมาตั้งแต่ตุรกีในศตวรรษที่ 17 มาแล้วอย่างน้อยๆ

Inhaler Inc. ผู้เป็นจำเลยของคดีนี้ออกแบบและผลิตบารากุขายในอเมริกามาตั้งแต่ปี 1997 และก็ได้นำบารากุที่ขายไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นประติมากรรมด้วย (ย้ำเตือนอีกรอบว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในปัจจุบันถือว่าเกิดขึ้นหลังสร้างงานอันมีลิขสิทธิ์ทันที ไม่ต้องรอไปจดทะเบียน แต่พวกบรรษัทต่างๆ มักจะนำไปจดทะเบียนเนื่องจากจะช่วยให้การดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้สะดวกขึ้น)

Starbuzz ซึ่งเป็นจำเลยเคยรับบารากุของ Inhaler Inc. มาขายและยกเลิกออร์เดอร์ไปในที่สุด ซึ่งหลังจากนั้น Starbuzz ก็สั่งบารากุมาจากโรงงานในจีนแทน ซึ่งทาง Inhaler Inc. ก็อ้างว่าทาง Starbuzz จงใจ "ลอก" ดีไซน์บารากุของทาง Inhaler Inc. และฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์กับทาง Starbuzz ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ฐานนำเข้าและขายงานออกแบบของ Inhaler Inc. อันละเมิดลิขสิทธิ์

คดีผ่านไปสองศาลแล้ว สองศาลเห็นตรงกันว่า Starbuzz ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะ "ทรง" ของบารากุที่ Inhaler Inc. อ้างว่ามีลิขสิทธิ์นั้นมีลักษณะที่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นในแง่ประโยชน์ใช้สอย ซึ่งมิติด้านประโยชน์ใช้สอยของงานที่แม้จะมีลิขสิทธิ์กำกับ ก็ไม่สามารถจะอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้

ดังนั้นเวลาจะกล่าวอ้างว่าสิ่งใดมีลิขสิทธิ์กำกับ สิ่งที่ต้องพิจารณาไปร่วมกันด้วยก็คือมิติใดของมันบ้างที่มีลิขสิทธิ์กำกับ เพราะอย่างบารากุนี้ก็คงจะอ้างไม่ได้ว่ารูปทรงของฐานใส่น้ำมีลิขสิทธิ์ เพราะรูปทรงดังกล่าวมันผูกโยงกับประโยชน์ใช้สอยโดยตรง แต่งานออกแบบในส่วนอื่นๆ ที่เป็นไปเพื่อความสวยงามไม่มีประโยชน์ใช้สอยใดๆก็อาจอ้างลิขสิทธิ์ได้เป็นต้น

ทั้งนี้นอกจากศาลจะตัดสินให้ Starbuzz ชนะคดีแล้ว ศาลยังสั่งให้ Inhaler Inc. จ่ายค่าทนายชดเชยให้ Starbuzz ซึ่งคิดเป็นเงินไทยสูงกว่า 3 ล้านบาทอีกด้วย

Source:

 

Kim Dotcom กับมาพร้อมกับเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ Internet Party

หลังจากหายหน้าหายตาไปจากหน้าสื่อไปนาน อดีตเจ้าของเว็บฝากไฟล์ชื่อดัง Megaupload อันโด่งดัง (ซึ่งโดนรัฐบาลสหรัฐรวบไปแล้ว) และผู้ก่อตั้งเว็บ MEGA อย่าง Kim Dotcom ก็กลับมาอีกครั้งพร้อมเปิดเผยชื่อพรรคการเมืองของเขานามว่า Internet Party เพื่อลงสมัครเลือกตั้งในนิวซีแลนด์

Dotcom บอกว่าพรรคการเมืองของเขามุ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของนิวซีแลนด์ให้พัฒนาอย่างที่รัฐบาลที่มีอยู่ไม่อาจทำได้ และแม้ว่าตัวเขาจะลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้เพราะเขามีสัญชาติเยอรมัน แต่เขาก็ทดแทนด้วยการตั้งตนเป็นหัวหน้าพรรคเรียบร้อยแล้ว

เขามีความมั่นใจสูงมากกว่าพรรคของเขาจะได้คะแนนเสียงเกิน 5% จากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกว่า 3 ล้านคนของนิวซีแลนด์ เนื่องจากว่าเขาเชื่อว่าเขาจะกระตุ้นเหล่า "พลังเงียบ" ไปจนถึงเด็กวุ่นรุ่นและบรรดาคนรุ่นใหม่ให้ลุกขึ้นมาเลือกเขา

Dotcom กำลังดำเนินการจดทะเบียนพรรคอยู่ (แต่ก็ไปจดโดเมนเนมของพรรคเรียบร้อยแล้ว) ซึ่งทำให้เขาได้รับการเตือนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าปาร์ตี้วันเกิดพร้อมเปิดอัลบั้มของเขาในวันที่ 20 มกราคม 2014 นี้ซึ่งมีแผนจะให้คนเข้าฟรี (และมีคนไปลงทะเบียนกว่า 20,000 คนแล้ว) น่าจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง ดังนั้นเขาจึงต้องยกเลิกงานนี้เสีย

ทั้งนี้ เขากล่าวว่าจะมีการเปิดเผยรายละเอียดของพรรคเพิ่มเติมในวันที่ 20 มกราคม 2014 แทน ซึ่งก็น่าจะนับเป็นวันครบรอบ 2 ปีที่เขาโดนจับในคดี Megaupload พอดี (Megaupload โดนปิดไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2012 ส่วน Kim Dotcom โดนบุกจับเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2012)

สุดท้าย ทางด้านคดีที่ทางสหรัฐพยายามจะให้มีการส่ง Kim Dotcom เป็นผู้ร้ายข้ามแดนก็ยังไม่ลุล่วง และล่าสุดก็สู้กันไปถึงระดับศาลสูงแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าการพิจารณาคดีแต่อย่างใด

Source:

 

Blackphone สมาร์ทโฟนต่อต้านการสอดส่อง

หลังจากการเปิดเผยการสอดส่องของทาง NSA โดย Edward Snowden และการแฉที่ตามมาอีกสารพัดที่เผยโครงข่ายการสอดส่องระดับโลกที่หลายรัฐบาลร่วมมือกัน คนในโลกตะวันตกก็ดูจะตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นส่วนตัวด้านการติดต่อสื่อสารมากขึ้น

พวกบริการและสินค้าด้านความเป็นส่วนตัวทั้งหลายก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโทรศัพท์มือถือก็เป็นหนึ่งในนั้น

ความหวาดกลัวด้านการดักฟังทางโทรศัพท์มือถือมีฐานมาจากความเชื่อที่ว่า NSA อาจดักฟังผ่านการดักข้อมูลที่วิ่งตามเสารับสัญญาณโทรศัพท์มือถือก็ได้ ซึ่งนี่เป็นกลไกที่คล้ายๆ การดักฟังโทรศัพท์บ้าน แต่ต่างกันคือ ถ้าเป็นมือถือ ผู้ดักฟังก็ต้องไปดักให้ถูกเสา เพราะการติดต่อสื่อสารในแต่ละพื้นที่ก็ใช้คนละเสา และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้การดังฟังโทรศัพท์มือถือทำได้ยาก เพราะมันไม่อยู่กับที่ สมดังชื่อทางการของมันว่า "โทรศัพท์เคลื่อนที่"

แต่ความระแวงก็ยังคงมีเพราะ NSA (หรือหน่วยงานความมั่นคงของชาติอื่น) ก็อาจฮั้วกับบริษัทที่ผลิตมือถือเพื่อสร้าง "ประตูหลัง" หรือพูดง่ายๆ ก็คือใส่เครื่องมือดักฟังมาในมือถือที่ผลิตจากโรงงานก็เป็นได้ และนี่ก็ไม่ใช่ความระแวงโดยไร้หลักฐาน เพราะ NSA ก็เอาเครื่องดักข้อมูลติดคอมพิวเตอร์จากโรงงานมาแล้วดังที่เป็นข่าวไม่นานมานี้

แน่นอนว่าก็มีผู้ที่ไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ แล้วซื้อโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนยี่ห้อปกติใช้ แต่ก็มีผู้ที่ใส่ใจและสูญเสียความเชื่อมั่นอย่างยิ่งยวดกับบรรดาผู้ผลิตเดิมๆ ซึ่งจำนวนไม่น้อยได้รับการแฉว่าร่วมมือกับทาง NSA ดังนั้นมันจึงเกิดตลาดมือถือที่มุ่งเน้นในการสร้างหลักประกันด้านความเป็นส่วนตัวขึ้น

Blackphone คือผลของความร่วมมือของบริษัทความเป็นส่วนตัวสัญชาติอเมริกันอย่าง Silent Circle กับบริษัทสมาร์ทโฟนสัญชาติสเปนอย่าง GeeksPhone

Blackphone เป็นสมาร์ทโฟนที่เอาระบบ Android มาปรับปรุงเพิ่มเพิ่มระดับการเข้ารหัสการส่งข้อความให้เจาะได้ยากขึ้น (เพราะในทางหลักการก็คงจะไม่มีรหัสอะไรที่จะเจาะไม่ได้ แต่การที่ต้องใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ถอดรหัสข้อความสั้นๆ ชิ้นเดียวในการส่องข้อมูลส่วนตัวด้วยเวลา 1 เดือน ในทางปฏิบัติมันก็น่าจะถือว่าสอดส่องไม่ได้ – นี่เป็นตัวอย่างที่สมมติขึ้นเท่านั้น) ดังนั้นในทางปฏิบัติมันจึงต่อต้านการสอดส่องผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งพูดง่ายๆ คือใช้แล้วก็ไม่ต้องสนใจว่าทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะฮั้วกับรัฐหรือไม่ เพราะฮั้วไป ถึงผู้ให้บริการให้ข้อมูลเรา มันก็ถูกก็เข้ารหัสไว้แล้ว รัฐเจาะไม่ได้อยู่ดี (เน้นว่าเป็นการพูดให้เข้าใจง่ายๆ นะครับ)

อย่างไรก็ดีปัญหาที่มีอีกประการคือ ถึงระบบจะมีการเข้ารหัสดังกล่าว หากมีการใส่ตัวดักข้อมูลในฮาร์ดแวร์ ไปจนถึงตัวต่อต้านและเปิดจุดอ่อนการเข้ารหัสในฮาร์ดแวร์ ความปลอดภัยก็ยังจะลดลงอยู่ดี

ดังนั้นนอกจากระบบปฏิบัติการณ์ที่ไว้ใจได้แล้ว ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ยังต้องไว้ใจได้ด้วย ซึ่งนี่เป็นเหตุผลให้ Blackphone ทำการผลิตในประเทศที่ใส่ใจด้านความปลอดภัยอย่างสวิตเซอร์แลนด์

ซึ่ง Blackphone จะต่อต้านการสอดส่องได้แค่ไหน อย่างไร ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ก็ได้มีโทรศัพท์มือถือที่เน้นความเป็นส่วนตัวเป็นจุดขายบ้างแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จนักเช่น Cryptophone ของเยอรมัน และ Quasar IV ซึ่งระดมทุนใน Kickstarter ล้มเหลวไป

Source: http://rt.com/news/security-encrypted-smartphone-nsa-667/

 

เทคโนโลยี 3D Printing จะทำให้ปริ๊นบ้านทั้งหลังได้ในวันเดียวเร็วๆ นี้

นักวิทยาศาสตร์จากแคลิฟอร์เนียชี้ว่าเทคโนโลยีปริ๊นบ้านทั้งหลังใกล้ความเป็นจริงแล้ว พร้อมแสดงวีดีโอสาธิตที่ http://youtu.be/31jkjsZPjtQ

มันเป็นไปได้เพราะการปริ๊นคอนกรีตเป็นไปได้แล้ว และการปริ๊นบ้านก็เพียงแต่ใช้เครื่องปริ๊นสูงเท่าบ้านสองชั้นเท่านั้นเอง กล่าวคือมันไม่ใช่ความแปลกใหม่ทางเทคโนโลยีเลย แต่มันเป็นการขยายขนาดของการปริ๊น 3 มิติให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้การปริ๊นบ้านทั้งหลังก็ไม่ได้หมายความว่ากระบวนการก่อสร้างแบบดั้งเดิมจะหมดสิ้นไป เพราะอย่างน้อยๆ การตอกเสาเข็ม เอารถบดมาทำให้พื้นเรียบ และการทำฐานชั้นแรกก็ยังต้องใช้วิธีดั้งเดิมอยู่ เพียงแต่หลังจากนั้นไปจนถึงหลังคาก็จะเข้าสู่กระบวนการปริ๊น 3 มิติ

แน่นอนว่าหลายๆ คนคงสงสัยว่าส่วนที่ลอยอย่างบริเวณหน้าต่าง และพื้นชั้นสองจะปริ๊นออกมายังไง ในคลิปสาธิตชี้ว่าส่วนพวกนี้จะใช้วัสดุที่ทำมาก่อนแล้ววางลงบงโครงที่ปริ๊นลงไปแล้วปริ๊นทับลงไปอีกที

ทั้งนี้ระบบการปริ๊นทั้งหมดนี้ก็ปริ๊นได้แค่ตัวบ้าน พวกระบบไฟฟ้าประปาต่างๆ ก็ยังปริ๊นออกมาไม่ได้ ต้องอาศัยช่างงานระบบมาติดตั้งตามเดิม ซึ่งในกระบวนการปริ๊นก็สามารถเว้นพื้นที่ในกำแพงเอาไว้เพื่อเดินท่อน้ำทิ้งและท่อน้ำดีได้ เป็นต้น

Source: http://rt.com/usa/3d-printed-concrete-house-727/

 

ชายอเมริกันสองคนกับการติดคุกเพราะกด Like และ Invite (ที่ตัวเองไม่ได้ส่ง)

Thaddeus Matthews (ในรูป) พิธีกรรายการวิทยุจากเทนเนสซีโดนจับกุมโทษฐานกด Like สเตตัสบน Facebook ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ Matthews โดนคำสั่งศาลห้ามเข้าใกล้ (ก่อนหน้านี้ผู้หญิงคนนี้เคยทำงานและมีความสัมพันธ์ทางเพศกับ Matthews มาก่อน) ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็ออกจากคุกมาได้ด้วยเงินประกันตัว 1,000 ดอลลาร์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Matthews ต้องมีเรื่องมีราวกับคดีจาก Facebook เพราะก่อนหน้านี้เขาก็โดนคดีหลังจากเขาโพสต์รูปผู้ชายผู้ใหญ่ร่วมเพศกับเด็กชายบน Facebook ของเขา ซึ่งแม้เขาจะอ้างว่าเขาทำไปเพื่อกระตุ้นให้มีการเอารูปชายผู้นั้นมาดำเนินคดีหลังจากหญิงนิรนามส่งรูปนี้มาให้เขาหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ดีไม่ว่าเขาจะมีเจตนาดีหรือไม่ การกระทำของเขาก็เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่ถ้าศาลตัดสินว่าผิดเขาก็อาจติดคุก 2-30 ปี

ก่อนหน้านี้ชายอีกคนจากแมสซาชูเสตต์ก็โดนตำรวจจับข้อหาส่ง Invite ทาง Google Plus ไปให้แฟนเก่าเขาที่ได้คำสั่งศาลห้ามเขาเข้าใกล้ ซึ่งตำรวจก็จับกุมเขาไปเข้าคุกได้ภายใน 90 นาทีหลังแฟนเขาแจ้งตำรวจ ตำรวจยืนยันว่าเขาละเมิดคำสั่งศาลจริงที่ส่ง Invite อย่างไรก็ดีหลังจากศาลไม่สามารถระบุได้ว่าเขาเป็นคนส่ง Invite จริงหรือไม่ ศาลก็ให้เขาประกันตัวออกไปด้วยเงินประกัน 500 ดอลลาร์

ทั้งนี้เขาก็ยืนยันเสียงแข็งว่าเขาไม่ได้ส่ง Invite และทนายของเขาก็ชี้ว่าเขาน่าจะพูดความจริง เพราะก็มีหลักฐานก่อนหน้านี้ว่าทาง Google ส่ง Invite ไปโดยที่เจ้าของบัญชีไม่อนุญาต ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง Google ก็ดูจะต้องมีส่วนรับผิดที่ต้องให้ชายผู้นี้ต้องตกระกำลำบาก แต่ทางทนายก็ยังไม่ได้รายงานแต่อย่างใดว่าชายผู้นี้มีแผนจะดำเนินคดีกับทาง Google

Source:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท