ผู้หญิงกับการเมือง: เจียงชิง กับรอยด่างการปฏิวัติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นอกจากพระนางซูสีไทเฮาแล้ว  เจียงชิง หรือ ‘มาดามเหมา’ คือสตรีผู้ทรงอิทธิพลอีกนางหนึ่งของแผ่นดินจีนที่ปรากฏนามก้องโลก จากลูกสาวช่างไม้ในหมู่บ้านเล็กๆ เจียงชิงพาตัวเองสู่สถานะของผู้มีอำนาจเหนือประชาชนในแผ่นดินจีน ผ่านผู้ชายคนสุดท้ายในชีวิต เหมา เจ๋อตง ที่นำกองทัพประชาชนจีนเดินทัพทางไกล 2,500 ลี้

บทบาทและอำนาจของเธอในการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยมี “ผู้พิทักษ์แดง” หรือ “เรดการ์ด” เป็นเครื่องมือ ได้นำไปสู่โศกนาฏกรรมทำลายล้างเพื่อนร่วมแผ่นดินนับแสนชีวิต

วาทะกรรมในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามของเจียงชิง คือ การประกาศคำจำกัดความของ “คนดี” ว่าหมายถึง “ชาวนา กรรมกร และทหารประชาชนปฏิวัติ”  ภายใต้การขับเคลื่อนและการบงการของแก๊งสี่คนที่มีเธอเป็นผู้นำในนามการปฏิวัติวัฒนธรรม กลุ่มเรดการด์บุกคุกคามทำร้ายผู้คนไปทุกแห่งหน ทั้งร่างกายและจิตใจ ทิ้งรอยด่างไว้ในประวัติศาสตร์ขบวนการปฏิวัติประชาชนจีนตราบจนทุกวันนี้


 

ภูมิหลังชีวิต: ลูกสาวช่างไม้

เจียงชิงเกิดวันที่ 19 มีนาคม 1914 ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอจูเฉิง มณฑลซานตง  มีชื่อในวัยเด็กว่า หลี่ซู่เหมิง เป็นลูกสาวคนเดียวของช่างไม้ บิดาของเธอเปิดร้านรับทำตู้ไม้  มารดาเป็นภรรยารอง ภายหลังมารดาแยกทางกับบิดา และไปทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้าน แต่บางแหล่งข้อมูลระบุว่ามารดาของเธอไปเป็นโสเภณี

บิดาของเธอเสียชีวิตในปี 1926 ตอนนั้นเจียงชิงอายุ 12 ปี แม่พาเธอย้ายไปอยู่ที่เมืองเทียนจิน (Tianjin) เจียงชิงต้องทำงานเป็นแรงงานเด็กในโรงงานยาสูบที่เมืองนี้อยู่หลายเดือน สองปีต่อมา มารดาพาเธอย้ายไปตั้งรกรากที่เมืองจี่หนาน  (Jinan) เจียงชิงได้เข้าโรงเรียนฝึกการแสดงที่นี่ เธอมีพรสวรรค์ในด้านการแสดงเข้าตาครูใหญ่ และได้รับคัดเลือกให้ไปเข้าร่วมชมรมการแสดงและเพิ่มพูนทักษะศิลปการแสดงในนครปักกิ่ง

 

รักซ้อนซ่อนรัก และเส้นทางรัก สู่อำนาจเหนือแผ่นดิน

กลางปี 1931 เจียงชิงและมารดากลับมาอยู่ที่เมืองจี่หนาน เธอแต่งงานครั้งแรกที่นี่เมื่ออายุ 17 ปีกับ เผยหมิงหลุน  ลูกชายของนักธุรกิจที่มั่งคั่ง แต่หย่าขาดกันในเวลาไม่นานนัก

เดือนกรกฎาคม 1931 เจียงชิงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยชิงเต่า (Qingdao University) ในเมืองชิงเต่า เธอพบกับ หวีฉี่เวย นักศึกษา รุ่นพี่ที่แก่กว่าเธอสามปี เขาเป็นสมาชิกใต้ดินของกรมโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งสองตกหลุมรักกันและย้ายมาอยู่ด้วยกันในปี 1932

เจียงชิงเข้าร่วมกลุ่มวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเครือข่ายศิลปิน นักเขียน นักแสดง และได้แสดงละครเรื่อง ‘วางแส้ของท่านลง’ (Put Down Your Whip) เป็นเรื่องราวของสตรีที่หนีการยึดครองของญี่ปุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และมาแสดงละครเร่ตามท้องถนนเพื่อหาเลี้ยงชีวิต

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1933 เจียงชิงสาบานตัวรับใช้พรรคฯโดยมีคนรัก หวีฉี่เวยอยู่เคียงข้าง เธอได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกกลุ่มยุวชนของพรรคฯ  แต่หลังจากนั้นไม่นาน หวีฉี่เวยถูกจับกุมคุมขัง และครอบครัวของเขารังเกียจเดียดฉันท์เธอ  เจียงชิงต้องหนีกลับไปอยู่กับครอบครัวเธอเองที่เซี่ยงไฮ้  และกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนการแสดงในเมืองจี่หนาน

ต่อมาเธอได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายศิลปินของเธอให้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้  (Shanghai University)  เธอกลับเข้ากลุ่มแนวร่วมยุวชนพรรคฯ และเริ่มร่วมแสดงในคณะละครเร่สมัครเล่น

กันยายน 1934 เจียงชิงถูกจับที่เซี่ยงไฮ้  เนื่องจากทำกิจกรรมทางการเมือง และถูกคุมขังอยู่สามเดือน หลังจากนั้นเธอเดินทางไปนครปักกิ่ง กลับไปอยู่ร่วมกับหวีฉี่เวยที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกมาอีกครั้ง

มีนาคม 1935 เจียงชิงกลับมาเซี่ยงไฮ้  เริ่มทำงานเป็นนักแสดงอาชีพ ใช้ชื่อในการแสดงว่า ‘หลันผิง’ เมื่อเริ่มมีชื่อเสียงในการแสดงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เจียงชิงมีความสัมพันธ์กับนักแสดงและผู้กำกับชื่อ ถังน่า  ทั้งสองแต่งงานกันที่นครหางโจว ในเดือนมีนาคม 1936 แต่ต่อมาเขาพบว่าเธอยังมีความสัมพันธ์กับหวีฉี่เวย คนรักเก่าของเธอ เรื่องอื้อฉาวนี้ทำให้ถังน่าพยายามฆ่าตัวตายถึงสองครั้ง และท้ายสุดหย่าขาดกัน  หลังจากนั้นไม่นาน เจียงชิงเป็นข่าวว่ามีความสัมพันธ์กับจางหมิ่น ผู้กำกับภาพยนต์ที่เธอแสดง

กรกฎาคม 1937 หลังญี่ปุ่นยึดครองนครเซี่ยงไฮ้ และเข้าควบคุมอุตสาหกรรมภาพยนต์จีน เจียงชิงยุติอาชีพนักแสดงของเธอ และเดินทางไปเมืองซีอาน  เข้าร่วมการปฏิวัติ และทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น  เจียงชิงได้งานเป็นครูสอนศิลปการแสดงในสถาบันศิลปะหลู่ซวิ่น (The Lu Xun Academy of Arts) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1938 ที่เมืองเหยียนอาน

เจียงชิงกับเหมา เจ๋อตง พบกัน ที่เมืองเหยียนอาน  เธอเริ่มดึงดูดความสนใจของเหมาด้วยการปรบมือเสียงดังแสดงความชื่นชมในสิ่งที่เขาบรรยาย และได้ผล เหมาเชิญเธอไปที่ถ้ำที่เขาอยู่ เธอและเหมาเริ่มมีความสัมพันธ์กันหลังจากนั้นไม่นาน  ตอนนั้นเจียงชิงอายุ  24 ปี  เหมาอายุ 45 ปี และยังแต่งงานอยู่กินกับเฮ่อจื่อเจิน  ภรรยาคนที่สามที่ร่วมเดินทัพทางไกลกับเขา และมีลูกด้วยกันถึง 5 คน

ผู้ที่ค้นพบความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวของเจียงชิงกับเหมา คือโจวเอินไหล ผู้นำพรรคฯคนอื่นๆรู้สึกอัปยศอดสูกับความสัมพันธ์นี้  เหมาพยายามประนีประนอมกับพรรคฯ ซึ่งในที่สุดพรรคฯยินยอมให้เขาหย่าขาดจากเฮ่อจื่อเจิน  และแต่งงานกับเจียงชิงได้ บนเงื่อนไขว่าเธอต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่ปรากฎตัวเคียงข้างเหมาในที่สาธารณะเป็นเวลา 30 ปี

โดยความยินยอมของคณะกรรมการกลางพรรคฯ ทั้งสองจัดพิธีแต่งงานเล็กๆในวันที่ 28 พฤศจิกายน 1938 เจียงคลอดลูกสาว หลี่น่า ในปี 1940 เป็นลูกคนเดียวของทั้งสอง

หลังแต่งงาน ช่วงทศวรรษที่ 1940 เจียงทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัวของเหมา และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานแผนกภาพยนต์ ของกรมโฆษณาชวนเชื่อของพรรคฯ


 

ขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง

แม้จะถูกบังคับให้ต้องรับเงื่อนไขไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองและปรากฎกายคู่ประธานเหมาเป็นเวลา 30 ปี แต่หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 เจียงชิงได้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศ เธอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกรมโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นคณะกรรมการของอุตสาหกรรมภาพยนต์ของกระทรวงวัฒนธรรม

หลังที่ประธานเหมา เจ๋อตง ได้ริเริ่มและดำเนินนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ (Great Leap Forward) ระหว่างปี 1958–1961 ที่มุ่งหวังไปที่การสร้างให้จีนเป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เหมาโต้ตอบด้วยการสนับสนุนเจียงชิง ภรรยาให้จัดการกับปรปักษ์  ภายใต้อำนาจที่ประธานเหมามอบหมายผ่านงานด้านวัฒนธรรมที่เธอถนัด  เจียงชิงเริ่มปฏิรูปอุปรากรจีนยุคใหม่  ในปี 1963 นำไปสู่ข้อกำหนด 'การปฏิวัติการแสดง 8 รูปแบบ' ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งกำหนดให้การแสดงศิลปะรูปแบบอื่นๆต้องมีการขออนุญาตก่อน เธอเป็นผู้กำกับควบคุมบทสำหรับการแสดงอุปรากรจีนและปฏิวัติการแสดงบัตเล่ต์ เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของวัฒนธรรมจีน

ปี 1966 เจียงชิงได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการคณะกรรมการกลางปฏิวัติวัฒนธรรม และเริ่มมีสถานะเป็นบุคคลการเมืองคนสำคัญ  เจียงชิงได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการกลางของพรรคฯ  และเธอได้ก่อตั้งเครือข่ายการเมืองที่รู้จักกันในนาม แก๊งค์สี่คน ประกอบด้วย เจียงชิง, จางชุนเฉียว, เหยาเหวินหยวน และ หวังหงเหวิน

เป็นครั้งแรกที่เธอได้อำนาจทางการเมืองแท้จริงมาอยู่ในมือ เจียงชิงกลายเป็นผู้บงการในการปฏิวัติวัฒนธรรม และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสถาบันต่างๆของชาติ  แต่แม้ว่าเธอจะเป็นกรรมการพรรคฯ และแม้ว่าแก๊งค์สี่คนจะมีบทบาทสูงยิ่งในช่วงปี 1966-1976 เจียงชิงยังคงต้องปฏิบัติการอยู่หลังฉาก
 

การปฏิวัติวัฒนธรรม และผู้พิทักษ์แดง (เรดการ์ด)

ภายใต้ร่มเงาของสามี ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ระหว่างปี 1966-1976 เจียงชิงมีอำนาจมากจน นำไปสู่ความโกลาหลภายในพรรคฯและทั่วแผ่นดินจีน

ช่วงเดียวกันนี้ เหมาสนับสนุนนักศึกษาและเยาวชนคนหนุ่มสาวที่รวมกลุ่มกัน เรียกตัวเองว่า “ผู้พิทักษ์แดง” หรือ “เรดการ์ด” โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะหยุดยั้งอภิสิทธิ์ชนในจีนที่เป็น “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ”

เจียงชิงกับพรรคพวกในแก๊งสี่คน ได้ใช้ยุวชนผู้พิทักษ์แดงเหล่านี้เป็นเครื่องมือทำลายล้างบุคคลที่เป็นศัตรูทางการเมือง เธอปลุกปั่นกลุ่มเรดการ์ดให้ต่อต้านผู้นำอาวุโส และเจ้าหน้าที่รัฐบาล ปัญญาชน และถอนรากถอนโคน “สี่เก่า” อันได้แก่ จารีตเก่า วัฒนธรรมเก่า ธรรมเนียมเก่า และความคิดเก่า

ในนามของการปฏิวัติวัฒนธรรม เจียงชิงได้กำหนดลักษณะของ "คนดี"  นั่นคือ ‘ชาวนา, คนงาน, และทหารประชาชนปฏิวัติ’ ยุวชนเรดการ์ดได้รับอาญาสิทธิ์ในการเดินทางไปจัดการกับสี่เก่าทั่วประเทศ พวกเขาบุกทำลายหนังสือและงานศิลปะแบบเก่า รื้อค้นทำลายพิพิธภัณฑ์ เผาวัด และศาลเจ้า เปลี่ยนชื่อถนนทุกสายพร้อมติดรูปประธานเหมาและคำขวัญของเขา

จากการทำลายล้างวัฒนธรรมเก่า ขยายขอบเขตอย่างรวดเร็วไปสู่การทำลายล้างผู้คนทั้งร่างการและจิตใจ ปัญญาชน ชนชั้นกลาง ข้าราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากถูกขับไปใช้แรงงานหนักในไร่นา ไปทำงานก่อสร้าง ล้างส้วม ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น

รายงานทางการระบุว่าเรดการ์ดได้จับกุมคนจำนวน 22,000 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกสี่เก่า ที่เป็น "ปฏิปักษ์ปฏิวัติ"เรดการ์ดยังได้ปฏิบัติการถอนรากถอนโคนกลุ่มที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบบทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลิวส้าวฉี ที่ขึ้นมาแทนที่เหมา ภายหลังที่เหมาลงจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายก้าวกระโดดใหญ่

นอกจากนี้ เจียงชิงยังได้ใช้เรดการ์ดเป็นเครื่องมือในการกำจัดบุคคลที่เธอเกลียดชัง รวมทั้งโจว เอินไหล  ในการใช้เรดการ์ดชำระแค้นนี้ ลูกชายและลูกสาวบุญธรรมของโจวเอินไหลถูกยุวชนเรดการ์ดทรมานและฆาตกรรม

ต้นปี 1967 คณะกรรมการกลางพรรคฯมีมติที่จะกำจัดเรดการ์ดออกไปจากการปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยเหตุผลความมั่นคง กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้ปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มเรดการ์ดในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน), อานฮุย, หูหนาน, ฝูเจี้ยน และหูเป่ย สั่งให้นักเรียน นักศึกษา กลับเข้าห้องเรียน พวกยุวชนเรดการ์ดที่แข็งขืนถูกตีตราว่าเป็น "ปฏิปักษ์ปฏิวัติ"

ปีต่อมา กองทัพปลอดปล่อยประชาชนฯ ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มเรดการ์ดที่ยังไม่ยอมยุติบทบาท  การปราบปรามครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นที่ปักกิ่ง ต่อหน้าประธานเหมาที่น้ำตาคลอกล่าวกับยุวชนเรดการ์ดที่ยังแข็งขืน ขอให้พวกเขายุติบทบาท

ปลายชีวิต: คืนสู่ดิน กับตราบาปที่มิอาจกลบฝัง

เหมาและเจียงชิงแยกกันอยู่ในปี 1973 แต่ไม่มีการประกาศเพราะถือเป็นเรื่องส่วนตัว ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องนี้ ดังนั้น เจียงชิงจึงคงยังสามารถใช้ตำแหน่งมาดามเหมาของเธอทำให้คนหลงเชื่อ และพรรคฯไม่สามารถจัดการกับเธอได้ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเหมา

ตราบจนเหมา เจ๋อตุง ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1976

หลังจากนั้น เจียงชิงในฐานะกรรมการกลางพรรคฯ ยังเข้าประชุมผู้นำพรรคฯปลายปี 1976  และนั่นเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของเธอ เจียงชิงและสมาชิกแก๊งค์สี่คนถูกจับกุมหลังการประชุมครั้งนี้ ด้วยข้อกล่าวหาความผิดฐานเป็นผู้บงการให้เกิดทารุณกรรมทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม

เจียงชิงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำฉินเฉิง (Qincheng Prison) อยู่ห้าปี การพิพากษาคดีมีขึ้นในปี 1980 และถ่ายทอดไปทั่วประเทศ คำฟ้องร้องบรรยายว่าในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม มีประชาชนจีนจำนวนเจ็ดแสนกว่าคนถูกกระทำทารุณกรรม ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตสามแสนกว่าคน

คำฟ้องยังระบุว่าเจียงชิงเป็นผู้สั่งการอย่างเป็นระบบในการกระทำทารุณกรรมต่อประชาชน โดยเฉพาะต่อพวกศิลปิน เธอถูกกล่าวหาว่าจ้างคน 40 คนในนครเซี่ยงไฮ้  ทำตัวเป็นเรดการ์ด บุกไปค้นบ้านนักเขียน นักแสดง เพื่อทำลายหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเธอในช่วงชีวิตที่เป็นนักแสดงซึ่งเธอต้องการเก็บไว้เป็นความลับ เจียงชิงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และประกาศด้วยท่าทีแข็งกร้าวในศาลว่า

"ฉันเป็นสุนัขของประธานเหมา  ฉันกัดใครก็ตามที่เขาสั่งให้กัด" เธอยังได้ประกาศก้องในศาลว่า “ฉันอยู่กับประธานเหมามา 38 ปี ไม่มีใครรู้จักเขาดีเท่าฉัน”

อย่างไรก็ตาม ปี 1981 เธอถูกพิพากษาประหารชีวิต และในปี 1983 มีคำพิพากษาลดโทษลงมาเหลือจำคุกตลอดชีวิต ปี 1991 เธอได้รับการปล่อยตัวเพื่อมารักษาโรคมะเร็ง และเสียชีวิตในวันที่ 14 พฤษภาคม 1991 รวมอายุ 77 ปี

รัฐบาลประกาศว่าเจียงชิงทำอัตวินิบาตกรรม ด้วยการแขวนคอตัวเองในห้องน้ำที่โรงพยาบาล

ปิดตำนานมาดามเหมาที่โลกมิอาจลืม

 

หมายเหตุผู้เขียน: ขอบคุณ คุณสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ที่กรุณาอ่านชื่อและสถานที่ภาษาจีนและสะกดเป็นภาษาไทยให้
 

อ้างอิง: 
http://en.wikipedia.org/wiki/Mao_Zedong
http://www.spartacus.schoolnet.co.uk/CHINAjiang.htm
http://www.nytimes.com/1984/03/04/books/lust-revenge-and-revolution.html?pagewanted=1
http://content.time.com/time/specials/packages/article/0,28804,2029774_2029776_2031838,00.html
http://chineseposters.net/themes/jiangqing.phphttp://iconicphotos.wordpress.com/2012/08/06/madame-maos-trial/
http://en.wikipedia.org/wiki/Red_Guards_(China)
http://www.dvdtalk.com/reviews/27677/yang-ban-xi-the-8-model-works/

 

ที่มา: facebook Subhatra Bhumiprabhas

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท