วรเจตน์ ภาคีรัตน์: คำวินิจฉัยศาล รธน. จะไม่มีผลให้เลื่อนการเลือกตั้ง

คลิกฟังเสียงสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิพากษ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีล่าสุดที่แนะนำให้นายกรัฐมนตรีเจรจากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยเขาชี้ว่านี่เป็นอีกครั้งที่คำวินิจฉัยของศาลขาดความชัดเจนแน่นอน ไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ และเงื่อนไขข้อเท็จจริงแล้ว การปฏิบัติตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ภายในเงื่อนเวลาที่จะต้องมีการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. และการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 ก.พ.ที่จะถึงนี้

เขาเห็นว่าคำวินิจฉัยนี้เป็นเพียงการโยนเผือกร้อนใส่มือนายกรัฐมนตรีให้ต้องรับผิดชอบทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง โดยที่ไม่มีอำนาจใดๆ รองรับ

สำหรับคำแนะนำต่อนายกรัฐมนตรีคือ ควรรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการแล้วถามกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอคำแนะนำในทางปฏิบัติ และสำหรับกกต. คำวินิจฉัยอันไม่ชัดเจนนี้ไม่อาจเป็นเกราะกำบังให้กกต. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามพะราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนั่นหมายความว่า การดำเนินการเลือกตั้งจะต้องดำเนินต่อไปโดยไม่มีข้อแม้เป็นอย่างอื่น

ถาม: คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลอย่างไร
โดยผลของคำวินิจฉัยนี้สรุปได้เป็น 2 ประการ ประการแรกก็คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลื่อนการเลือกตั้งนั้นสามารถทำได้ ประการที่สองก็บอกว่าให้คณะรัฐมนตรีโดยนายกรัฐมนตรีไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อกำหนดการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป

ทีนี้ ประการแรก จริงๆ โดยภาพรวม ผมอธิบายก่อนเพราะตรงนี้สำคัญมากๆ คือโดยภาพรวมของคำวินิจฉัยมันเป็นคำวินิจฉัยที่จะไม่มีสภาพบังคับในทางกฎหมายนะครับ เนื่องจากว่าไม่ได้กำหนดคำบังคับเอาไว้ และก็มีลักษณะเป็นคำแนะนำมากกว่า ก็คือแนะนำให้ไปหารือกัน โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้ แต่ว่าในคำวินิจฉัยนั้นมันจะขาดความชัดเจนแน่นอนของคำวินิจฉัย คือคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลเมื่อพิพากษามาแล้วมันต้องมีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอในทางกฎหมายที่คู่ความในคดีนั้นสามารถจะนำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาได้ ซึ่งคำวินิจฉัยนี้มันไม่มีความชัดเจนอยู่ในหลายประการ

ประการแรกก็คือว่าที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างอิงฐานอำนาจจากรัฐธรรมนูญนะครับอันเป็นอำนาจที่นายกรัฐมนตรีจะใช้ในการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาที่จะกำหนดเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ ในคำวินิจฉัยนี้ไม่ได้บอกนะครับว่าอาศัยอำนาจจากฐานของรัฐธรรมนูญมาตราไหน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือว่า ถ้าไม่กำหนดแบบนี้ ผมก็คือถ้ามีความรับผิดในทางกฎหมายเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นคนรับผิดโดยลำพัง เพราะว่าถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้นอาจจะมีคนที่สมัครรับเลือกตั้งไปแล้วหรือคนอื่นๆ ฟ้องนายกรัฐมนตรีนะครับว่าดำเนินการทูลเกล้าฯ ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเลื่อนวันเลือกตั้งโดยไม่มีฐานอำนาจจากรัฐธรรมนูญ แล้วก็ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบอะไรเพราะว่าคนที่เป็นคนปฏิบัติคือนายกรัฐมนตรี อันนี้เป็นปัญหาประการแรกของคำวินิจฉัยนี้

ปัญหาประการที่ 2 ที่เกิดจากคำวินิจฉัยนี้แล้วอาจจะทำให้คำวินิจฉัยนี้มันไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำให้มีการหารือกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปัญหาก็คือว่ากระบวนการในการดำเนินการเลือกตั้งนั้นได้เกิดขึ้นไปแล้ว แล้วก็ในวันมะรืนนี้ก็จะมีการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า แล้วในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เหลือเวลาอีกประมาณ 9 วันเท่านั้น ก็จะเป็นวันออกเสียงลงคะแนนทั่วไป ประเด็นก็คือว่าในระหว่างการหารือนี้ ถ้าการหารือไม่ได้ข้อยุติ ผลก็คือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งก็มีหน้าที่ในการที่จะจัดการการเลือกตั้งต่อไป ถูกไหมครับ แปลว่าถ้าเกิดว่าหารือกันไม่ได้ข้อยุตินั้น กระบวนการในการเลือกตั้งก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะว่าบัดนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการการเลือกตั้งไปแล้ว มีการส่งหนังสือให้คนไปออกเสียงเลือกตั้งไปตามบ้านเรือนต่างๆ ว่ามีสิทธิเลือกตั้งอย่างไรไปแล้ว เพราะฉะนั้นในแง่นี้ คำแนะนำอันนี้สุดท้ายแล้วถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะไม่เกิดผลอะไรในทางกฎหมายขึ้นมา อันนี้คือปัญหาประการที่สอง

ปัญหาประการที่สาม ก็คือในคำวินิจฉัยนี้ไม่มีความชัดเจนว่า “เลื่อนการเลือกตั้ง” นั้นหมายความว่าอย่างไร ว่ามันไม่มีความแน่นอนว่า การเลื่อนการเลือกตั้ง นั้นหมายความว่า เลื่อนเฉพาะวันเลือกตั้งทั่วไป คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ออกไปเท่านั้น หรือว่าเลื่อนการเลือกตั้งล่วงหน้าคือวันที่ 26 มกราคมนี้ออกไปด้วย ซึ่งดูแล้วมันคงจะทำไม่ทันแล้ว เพราะว่ามันเหลือเวลาอีกแค่ 2 วัน

ปัญหาคือถ้ามีการเลื่อนออกไปแบบนี้หมายถึงการเลิกกระบวนการเลือกตั้งที่ทำมาทั้งหมด หมายความว่ายังไง หมายความว่า ยกเลิกการสมัครรับเลือกตั้งทั้งหลายทั้งปวงที่ทำกันมาทั้งหมด ยกเลิกการออกเสียงลงคะแนนที่ทำกันไปแล้วในต่างประเทศ แล้วก็จะต้องมีการเปิดให้มีการสมัครรับเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด หมายความว่าอย่างนี้หรือเปล่า อันนี้มันมีความไม่ชัดเจนนะครับจากคำวินิจฉัย แล้วถ้าเกิดว่าเป็นการยกเลิกหรือล้มเลิกกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดนั้นเนี่ยนะครับ มันจะอาศัยฐานอำนาจจากกฎหมายอะไรมากำหนด มันจะเป็นการเกินเลยไปกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งอันนี้มันไม่มีความชัดเจนและไม่มีความแน่นอนในคำวินิจฉัยนี้นะครับ

คำวินิจฉัยนี้จึงเป็นคำวินิจฉัยที่สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ยิ่งไปกว่านั้น มันได้มีการสมัครรับเลือกตั้งไปแล้วนะครับ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเขาได้จ่ายเงินค่าสมัครไปแล้ว ได้ดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งไปแล้ว ถ้าการเลื่อนการเลือกตั้งหมายความว่าเป็นการล้มเลิกกระบวนการการเลือกตั้งที่ทำมาทั้งหมด ถามว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบในบรรดาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ดำเนินการไป อันนี้ก็ไม่ปรากฏเหมือนกันในคำวินิจฉัย

เราจะเห็นได้ว่าโดยภาพรวมแล้วเนี่ยนะครับ คำวินิจฉัยนี้มันจะมีปัญหาที่จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนี้ได้ มิพักต้องพูดถึงว่า แท้ที่จริงแล้วคำวินิจฉัยนี้มันเป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น นี่คือปัญหาในภาพรวมของคำวินิจฉัยนี้ทั้งหมดครับ

ถาม: เมื่อเป็นแค่คำแนะนำ รัฐบาลจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ใช่ไหม

ก็คงเป็นอย่างนั้นนะครับ คือต่อให้มีการปฏิบัติตามมันต้องการความเห็นพ้องต้องกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วยไงครับ

ทีนี้ประเด็นมันอยู่ตรงนี้นะครับ ประเด็นก็คือว่าตอนนี้กระบวนการการเลือกตั้งมันดำเนินไปแล้ว แล้วถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้งมันไม่มีความชัดเจนว่าจะเลื่อนได้นานแค่ไหน นายกรัฐมนตรีสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากเลยจากการไปปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอันนี้ เพราะว่าถ้าเกิดเลื่อนการเลือกตั้ง ถามว่ามันเลื่อนเท่าไหร่ เลือนไป 1 วันก็เป็นการเลื่อนแล้วนะครับ เลือนไปวันนึง เลือนไปสามวัน เลื่อนไป 1 สัปดาห์ เลือนไป 1 เดือน เลื่อนไป 2 เดือน เลื่อนไป 3 เดือน เลือนไป 6 เดือน เลื่อนไป 1 ปี เลื่อนไป 2 ปี มันไม่มีการกำหนดอะไรเอาไว้เลยในคำวินิจฉัยอันนี้ มันไม่รู้จะเลื่อนอย่างไร มันไม่มีความแน่นอนเลย และที่สำคัญคือมันไม่ฐานอำนาจทางกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีจะใช้ได้ด้วยไงครับ

ปัญหาคือคำวินิจฉัยนี้มันเป็นการผลักภาระรับผิดชอบไปให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคนนำพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายด้วยตัวเองน่ะครับ ซึ่งผมคิดว่าถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมา ผมว่านายกรัฐมนตรีไม่สามารถจะรับผิดชอบในทางการเมืองและทางกฎหมายได้นะครับ อันนี้คือปัญหาไงครับว่าคือวินิจฉัยมาแล้วไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร นี่คือประเด็น มันเป็นแค่เรื่องคำแนะนำแล้วสุดท้าย เมื่อมันปฏิบัติไม่ได้เนี่ยนะครับกระบวนการเลือกตั้งก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยนี่ครับว่าให้เลือกตั้งวันไหน คือถ้าเกิดศาลรัฐธรรมนูญมั่นใจว่ามันมีฐานอำนาจจริงว่าตัวเองตัดสินคดีนี้ได้ ต้องกำหนดวันเลือกตั้งไปเลยสิครับว่าจะให้เลือกตั้งวันไหน ใช่ไหมครับ ซึ่งก็ไม่ได้กำหนดน่ะครับ เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญก็รู้ว่าไม่ได้มีฐานอำนาจอันนี้ สุดท้ายก็ต้องไปกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนไปกำหนด ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้อีกเพราะมันไม่มี อันนี้คือปัญหา จริงๆ โดยเนื้อแท้แล้วศาลไม่มีอำนาจแต่แรกที่จะรับคดีนี้ไว้พิจารณา ซึ่งเดี๋ยวผมจะได้พูดต่อไป

ในทางปฏิบัติผมจึงมีความเห็นว่าโดยผลของคำวินิจฉัยนี้จะไม่มีผลเลื่อนการเลือกตั้งออกไปครับ ตอนนี้กระบวนการในการดำเนินการเลือกตั้งมันเดินไปแล้วนะครับแล้วมันเหลือแค่ 9 วัน มันไม่สามารถเลื่อนอะไรออกไปได้ทันแล้ว มันทำไปหมดแล้ว และศาลก็ไม่ได้บอกให้เลิกกระบวนการเลือกตั้งที่ทำไปแล้วด้วย

การวินิจฉัยอันนี้มันจึงเป็นเพียงแค่การสร้างแรงกดดันทางการเมืองให้กับนายกรัฐมนตรีเท่านั้นน่ะครับ

ถาม: การปฏิบัติตามคำแนะนำของศาลจะสร้างปัญหาในนายกทั้งทางกฎหมายและทางการเมือง แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะสร้างปัญหาอะไรไหม

ผมคิดว่าถ้าจะปฏิบัติมันคือต้องหารือ แต่จะหารืออย่างไรศาลไม่ได้กำหนดนี่ครับว่าต้องไปหารือเมื่อไหร่ใช่ไหมครับ ผมถามว่าถ้าหารืออาทิตย์หน้า แล้ววันอาทิตย์นี้ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าไหมละครับ ก็ต้องจัดใช่ไหมครับ แล้วต่อให้มีการหารือกันจริงเนี่ย ถ้าตกลงกันไม่ได้ วันที่ 2 กุมภาก็ต้องมีการเลือกตั้งนะครับเพราะว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งมันมีผลใช้บังคับอยู่ แล้วการหารือเนี่ยมันจะไม่จบลงง่ายๆ หรอกครับเพราะว่ามันยังมีปัญหาความไม่แน่นอนเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยนี้

ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีจะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถ้าจะทำก็ทำได้นะครับแต่มันจะไม่ได้ข้อสรุป แล้วในระหว่างที่ไม่ได้ข้อสรุปนี้เนี่ย กระบวนการในการเลือกตั้งมันต้องเดินหน้าต่อไป

เพราะฉะนั้น ถ้าหารือแล้วไม่ได้ข้อสรุป วันที่ 26 ก็ต้องเลือกตั้งล่วงหน้า และวันที่ 2 กุมภาก็ต้องเลือกตั้งต่อไป หลังจากนั้นถ้ามันขาด มันอะไรไปก็เลือกตั้งเติมเข้ามา เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยมันมีค่าแค่เพียงเป็นคำแนะนำ แล้วก็ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำแนะนำอันนี้น่ะครับ

ถาม: ย้อนกลับมาเรื่องการรับคดีไว้พิจารณาโดยไม่มีอำนาจ

เรื่องของการรับคดีไว้พิจารณา เราจะเห็นว่าเรื่องนี้ในทางหลักวิชา มันไม่เข้าองค์ประกอบของการรับคดีไว้พิจารณา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ได้นะครับ

คือการจะรับเรื่องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 มันจะต้องมีองค์ประกอบเกิดขึ้นก็คือ มันเกิดความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มันมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ซึ่งความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่นั้นเป็นไปได้สองลักษณะ คือองค์กรสององค์กรขัดแย้งกัน ในด้านหนึ่งองค์กรหนึ่งอ้างว่าอำนาจเป็นของตัว อีกองค์กรหนึ่งอ้างว่าอำนาจอันเดียวกันนั้นเป็นของตัวเช่นเดียวกัน คือต่างฝ่ายต่างอ้างว่าอำนาจชนิดหนึ่งเป็นของตัว เช่น คณะรัฐมนตรีอ้างว่าอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งเป็นของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการการเลือกตั้งก็อ้างว่าอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง อย่างนี้เรียกว่าขัดแย้งกัน เป็นการขัดแย้งกันในทางบวก หรือทางปฏิฐาน

อีกกรณีหนึ่งก็คือองค์กรในรัฐธรรมนูญนั้นขัดแย้งกันในแง่ที่ว่า อ้างว่าอำนาจในทางรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของอีกองค์กรหนึ่ง เช่น คณะรัฐมนตรีอ้างอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งนั้นเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้งก็อ้างว่าอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งนั้นเป็นของคณะรัฐมนตรี อันนี้เป็นการขัดแย้งกันในทางลบหรือในทางปฏิเสธ

การขัดแย้งอย่างนี้มันจะเข้าองค์ประกอบของความขัดแย้งเรื่องอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 214 อันนี้เป็นองค์ประกอบข้อแรก
องค์ประกอบข้อที่ 2 ก็คือว่าการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่นั้นมันต้องเป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในทางรัฐธรรมนูญ ถ้าความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่นั้นเป็นความขัดแย้งในทางปกครองเป็นความขัดแย้งขององค์กรในทางปกครอง หรือใช้อำนาจในทางปกครอง หรือเป็นองค์กรที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ว่าการขัดแย้งกันกับองค์กรอื่นเป็นความขัดแย้งกันในทางปกครอง มันก็ไม่เข้ามาตรา 214 เช่นเดียวกัน ซึ่งในกรณีหลังนี้เราก็จะเห็นว่ามันไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเลย มันเป็นเพียงความเห็นเฉยๆ ว่าตกลงมันจะเลื่อนการเลือกตั้งได้หรือเลื่อนการเลือกตั้งไม่ได้กันแน่ ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งในความหมายของมาตรา 214

ทีนี้ในประการที่ 2 นี้ ก็คือว่าอำนาจที่กำหนดไว้นี่ไม่ได้เป็นอำนาจในระดับรัฐธรรมนูญนะครับ คือรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้เรื่องอำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้งเลยนะครับ มันก็เลยไม่มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจในทางรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นโดยลักษณะดังกล่าวนี้นะครับมันจึงไม่เข้ามาตรา 214 มันเป็นเพียงเรื่องความเห็นในทางกฎหมายเท่านั้นครับที่ กกต. เห็นอย่างหนึ่ง แต่ครม. เขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาเห็นอย่างไร แต่กกต. เขาเห็นไปฝ่ายเดียว คณะรัฐมนตรีเขาก็ถือว่าเขาออกพระราชกฤษฎีกาไปแล้ว หน้าที่เขาก็จบลงแล้วก็ไปเลือกตั้งกันเท่านั้นเอง ถ้าตีความว่าอะไรที่เห็นต่างกันในทางกฎหมายเป็นเรื่องที่สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะสามารถวินิจฉัยได้ทุกๆ เรื่อง แล้วก็จะสามารถสถาปนาอำนาจให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งก็ได้ พูดง่ายๆ ก็คือว่าศาลรัฐธรรมนูญนั้นสามารถเขียนรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแก่องค์กรใดก็ได้ผ่านการวินิจฉัยคดีตามมาตรา 214 ซึ่งก็ผิดหลักการในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอันนี้ มันไม่เข้ามาตรา 214 นะครับ

จริงๆ เรื่องที่บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนที่สุดครับเพราะว่าในคำวินิจฉัยฉบับนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้นั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราใดเลยในการรองรับคำวินิจฉัย ไม่มีเลยลองไปอ่านในแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดเลยที่จะรองรับว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงแต่ไปอ้างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2549 ก็คือกรณีที่มีการยุบสภาโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้วก็มีการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันที่ 2 เมษายน 2549 แล้วก็ต่อมาการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะด้วยเหตุของการจัดคูหาเลือกตั้งตอนนั้นที่มีปัญหาในทางกฎหมายค่อนข้างมากว่าคำวินิจฉัยนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะแล้วมันก็มีเหตุจำเป็นที่จะทำให้รัฐบาลต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นความจำเป็นตามเหตุผลของเรื่อง แต่คราวนั้นมันเกิดการเลือกตั้งขึ้นแล้ว แต่คราวนี้มันยังไม่เกิด การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขึ้นน่ะครับ เมื่อมันยังไม่เกิดขึ้น มันก็ยังไม่มีเหตุที่การเลือกตั้งเป็นโมฆะน่ะครับ มันยังไม่มีเหตุที่สามารถจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้

แล้วจริงๆ เนี่ยศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงเหตุจำเป็น เหตุสุดวิสัยอะไรต่างๆ เหล่านี้ ความจริงเนี่ย ถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในวันเลือกตั้ง กฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งในการเลื่อนการลงคะแนนออกไปได้อยู่แล้ว ตามมาตรา 78 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 บทบัญญัติในมาตรานี้รองรับกรณีที่เกิดเหตุจำเป็น เหตุสุดวิสัย เหตุฉุกเฉิน เกิดจลาจล เกิดภัยพิบัติขึ้นแล้วทำให้ประชาชนไม่สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ในหน่วยเลือกตั้งใดอย่างนี้เขาก็สามารถเลื่อนการออกเสียงออกไปได้ แต่ไม่ใช่ฐานอำนาจในการให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปทั้งประเทศ

ในทางกลับการ การที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดเอาไว้อย่างนั้น แปลว่าเขาเปิดช่องอยู่แล้วครับ และยิ่งแสดงความประสงค์ของระบบกฎหมายว่าต้องการให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่มีการกำหนดในพระราชกฤษฎีกา เขตไหนหน่วยไหนออกเสียงลงคะแนนไม่ได้ ก็เลื่อนออกไปเฉพาะหน่วยนั้นหรือเขตนั้น แล้วก็มาออกเสียงลงคะแนนในภายหลัง เพราะฉะนั้นจึงยิ่งเห็นได้ชัดว่ามันไม่มีฐานอำนาจในรัฐธรรมนูญกำหนดเลย

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยสร้างอำนาจขึ้นมาเองที่มันไม่มีในรัฐธรรมนูญน่ะครับ ซึ่งผิดหลักการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยครับ

ถาม: เท่ากับว่า ตอนนี้องค์กรที่เสนอเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งยังไม่มีใครพูดถึงกฎหมายที่จะให้อำนาจในการเลื่อนเลือกตั้งได้เลยไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่มีครับ คือถ้าเกิดเราไปถามดูว่ามันมีบทบัญญัติมาตราไหนกำหนดให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป ไม่มีนักกฎหมายคนไหนตอบได้แม้แต่คนเดียวครับ มีบางคนเขาตอบมาบอกว่าเลื่อนได้ตามมาตรา 78 นั่นน่ะมันเป็นการเลื่อนการลงคะแนนครับไม่ใช่เลื่อนวันเลือกตั้ง ลองไปถามเถอะ แล้วสุดท้ายพอตอบไม่ได้ก็จะอ้างอะไรเรื่อยเปื่อยไป เช่น อ้างว่าไปยึดติดอยู่กับกฎหมาย อย่าไปมองกฎหมายแบบตายตัวอะไรประมาณนี้ ซึ่งถ้าเกิดให้เหตุผลแบบนี้ ต่อไปก็ไม่ต้องปฏิบัติอะไรตามกฎหมายกัน ถ้าการปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องที่บัญญัติเอาไว้แล้วเป็นการล่วงหน้ากลับกลายเป็นการยึดกฎหมายตายตัวแล้ว ต่อไปในอนาคตถ้าจะไม่พอใจปฏิบัติตามกฎหมายก็จะอ้างแบบนี้ ทุกอย่างมันก็กลายเป็นไปตามอำเภอใจ หรือเป็นไปตามการชี้ของศาลรัฐธรรมนูญเสียหมด บ้านเมืองก็จะไม่มีหลักการอะไรที่จะยึดเอาไว้ได้ต่อไป ก็ทำตามความพอใจของคนที่เป็นนักกฎหมายที่ตีความบิดเบือนกฎหมายไปเรื่อยๆ เพื่อสนองตอบความต้องการทางการเมืองของตัวเองเท่านั้น

แต่ว่าหลักเกณฑ์ที่ผมพูดไปทั้งหมดมันเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้วในกฎหมาย ทุกคนรู้หลักเกณฑ์อันนี้เอาไว้แล้ว แล้วพอถึงคราวไม่ยอมปฏิบัติตามกัน

การเลื่อนการเลือกตั้งที่ผมบอกคือไม่รู้ว่าจะต้องเลื่อนไปนานเท่าไหร่ ยิ่งเลื่อนการเลือกตั้งออกไปรัฐบาลก็ยิ่งอยู่รักษาการนานออกไปอีก แล้วถามว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการล้มรัฐบาลในระหว่างที่รักษาการอยู่นี้

ผมเองได้เคยพูดเอาไว้ว่าจริงๆ แล้วฝ่ายที่ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้นเป็นเพราะระยะเวลาที่เหลืออยู่ยังไม่เพียงพอที่จะล้มคณะรัฐมนตรีรักษาการมากกว่า อันนี้ผมหมายถึงทั่วๆ ไป ทุกคนนะครับที่อยากให้เลื่อนการเลือกตั้ง แล้วก็อาจจะมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ให้สังคมเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นได้นำไปสู่ความรุนแรง ทั้งๆ ที่ลืมคิดไปว่าถ้าเกิดไม่เลือกตั้งแล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันจะไม่เกิดความรุนแรง เกิดความไม่พอใจของคนที่เขามีความชอบธรรมในการจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว มันยุติธรรมกับทุกฝ่ายดีอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นในความเห็นผม ผมเห็นว่าเรื่องนี้ก็เป็นคำแนะนำ แล้วก็คงต้องเดินหน้าไปเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์น่ะครับ แล้วมีปัญหาอะไรก็ค่อยๆ แก้ไขกันไปตามนั้น ดีกว่าจะไปเลื่อนการเลือกตั้งออกไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการเลื่อนนี้หมายความว่าอะไร ตกลงล้มเลิกกระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วเริ่มรับสมัครใหม่ หรือว่าเลื่อนแค่วันเลือกตั้งทั่วไปออกไป มันไม่มีความชัดเจนในคำวินิจฉัย

มีหลักในทางกฎหมายอยู่นะครับว่า คำสั่งของรัฐเนี่ยนะครับจะเป็นคำวินิจฉัยก็ดี คำพิพากษาของศาลก็ดี คำสั่งทางปกครองก็ดี มันต้องมีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอซึ่งคนซึ่งเป็นคู่ความในคดีหรือคนที่เป็นผู้รับคำสั่งจะสามารถปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองนั้น ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย หรือปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นได้ หลักในทางกฎหมายมหาชนมีอยู่ว่า คำพิพากษา คำวินิจฉัย คำสั่งทางปกครองใดก็ตามที่มีเนื้อความที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอนเพียงพอที่จะให้บุคคลนั้นปฏิบัติตามได้ คำวินิจฉัย คำพิพากษา และคำสั่งทางปกครองนั้นย่อมเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตกเป็นโมฆะ

ถาม: การเลื่อนการเลือกตั้ง กับการเลื่อนการลงคะแนน มีความหมายต่างกันอย่างไร

ต่างกันครับ คือการเลื่อนการเลือกตั้งในความหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องการคือการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปทั้งประเทศ ก็คือกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ซึ่งผมอธิบายไปแล้วว่าการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ คือเปลี่ยนจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ไปเป็นวันอื่น ในทางกฎหมายมันทำไม่ได้ ผมอธิบายขยายความแบบนี้นะครับว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น มันมีสองส่วนประกอบกัน สองส่วนที่ประกอบกันนี้มันเป็นเหรียญๆ หนึ่งที่ต้องมีสองด้าน และมันต้องมีสองด้านเสมอ มันขาดด้านใดด้านหนึ่งไปมันก็ไม่เป็นเหรียญ

เหรียญที่ผมพูดถึงหมายความว่าในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นจะต้องมีคำสั่งอยู่สองประการคือ หนึ่ง สั่งให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหมายความว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนจะสิ้นสุดลงพร้อมกับสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีนั้นจะสิ้นสุดลงพร้อมกันไปด้วยเพียงแต่คณะรัฐมนตรีนั้นจะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ อันนี้เป็นด้านแรกนะครับ

อีกด้านหนึ่งของเหรียญอันเดียวกันนั้นก็คือการต้องกำหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเอาไว้ทั่วราชอาณาจักรว่าเป็นวันไหน มันจะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้ และในทางกลับกันจะกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปโดยไม่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน สองอันนี้มันจะต้องอยู่คู่กันไป เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่าการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปนั้นทำไม่ได้เพราะวันเลือกตั้งมันถูกกำหนดเอาไว้คู่กับการยุบสภาผู้แทนราษฎร ถ้าจะเลื่อนมันเท่ากับต้องยกเลิกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ต้องให้คณะรัฐมนตรีนั้นฟื้นกลับมา ให้สภาผู้แทนราษฎรฟื้นกลับมา แล้วก็มายุบสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งมันทำไม่ได้นะครับในทางกฎหมายและในทางความเป็นจริง อันนี้คือความหมายของการที่บอกว่าทำไมจึงเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปหรือไปออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ถ้ายังไม่ได้เกิดการเลือกตั้งในวันนั้นขึ้น

สำหรับการเลื่อนการออกเสียงลงคะแนนนั้น มันจะไม่ได้เป็นเรื่องการเลื่อนวันเลือกตั้งและมันจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ การเลือนการออกเสียงลงคะแนนนั้นมันจะต้องมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในวันเลือกตั้งหรือวันก่อนการเลือกตั้งที่ใกล้ชิดกับวันเลือกตั้ง ทำให้เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถจัดให้มีการออกเสียงละคะแนนในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งได้ ถ้าไม่สามารถจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งใดก็จะต้องเลื่อนการออกเสียงลงคะแนนออกไปเฉพาะในหน่วยเลือกตั้งนั้นครับ นึกภาพออกไหมครับ

มันไม่ใช่การเลื่อนวันเลือกตั้งนะครับมันเป็นเพียงแต่ว่าในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งที่ไม่สามารถจะจัดให้มีการออกเสียงลงคะแนนได้ เช่น เกิดน้ำท่วมในหน่วยเลือกตั้งนั้นก็เลื่อนการออกเสียงละคะแนนไปเฉพาะในหน่วยเลือกตั้งนั้นเพราะประชาชนจะไม่สามารถมาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนได้ อันนี้มันคือการเลื่อนวันออกเสียงลงคะแนนออกไป แต่วันเลือกตั้งนั้นถูกกำหนดเอาไว้ตายตัวแล้ว เพียงแต่ว่าวันนั้นที่อื่นๆ เขาอาจจะออกเสียงลงคะแนนได้หมด แต่บางหน่วยบางเขตมันออกเสียงลงคะแนนไม่ได้ ก็เลื่อนไปเฉพาะหน่วยเลือกตั้งนั้นหรือเขตเลือกตั้งนั้น แต่ถ้าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ เช่นเกิดภัยพิบัติพร้อมกันทุกหน่วยเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้ง อันนี้มันต้องเลื่อนวันออกเสียงลงคะแนนออกไปพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งปกติมันจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เหตุการณ์มันอาจจะเกิดขึ้นเฉพาะบางหน่วยหรือบางเขตเท่านั้น การเลื่อนวันออกเสียงลงคะแนนออกไปไม่ใช่เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเพราะการเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปหมายความว่าไปกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ทั้งประเทศ แต่ถ้าเลื่อนวันออกเสียงลงคะแนนมันเป็นเฉพาะหน่วยหรือเฉพาะเขต ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ มาตรา 78 อนุญาตให้มีการเลื่อนการออกเสียงลงคะแนนออกไปได้ หรือกำหนดวันออกเสียงลงคะแนนใหม่ หรืออาจจะกำหนดวันออกเสียงลงคะแนนใหม่ได้แต่มันเฉพาะเขต เฉพาะหน่วยนะครับ มันไม่สามารถทำทั้งประเทศได้ครับ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำทั้งประเทศ

ถาม: ซึ่งนี่แหละที่เป็นข้อห่วงกังวลที่ว่าในหลายพื้นที่ในภาคใต้อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นในพื้นที่เหล่านี้สามารถเลื่อนการลงคะแนนได้ใช่ไหม

ถูกต้องครับ เลื่อนเฉพาะหน่วยเลือกตั้งหรือเขตเลือกตั้งที่มันเลือกตั้งไม่ได้ แต่จังหวัดใดหรือหน่วยเลือกตั้งใดที่สามารถออกเสียงเลือกตั้งได้เป็นปกติก็เลือกกันไปครับ อันไหนที่ทำไม่ได้ก็มาทำทีหลัง ให้สภาวะนั้นพ้นไปก่อนแล้วค่อยมาทำ

ถาม: คำถามสุดท้าย คำแนะนำสำหรับคุณยิ่งลักษณ์ว่าจะต้องไปปรึกษาหารือกับ กกต. ไหม หรือว่าควรจะบอกว่าไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาล

ผมคิดว่าในแง่ของนายกรัฐมนตรีนั้นคงต้องแถลงว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หนึ่ง คือยังไม่มีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการออกมา แต่อย่างเป็นทางการก็คงเป็นอย่างที่แถลงมานั่นแหละ แต่ว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งถ้ายังไม่มีคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการมันก็ยังไม่มีผลผูกพันอะไรกับคณะรัฐมนตรีหรือกับนายกรัฐมนตรี

เพราะฉะนั้นประการแรก จะต้องแถลงว่าต้องรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการก่อนแล้วอ่านคำวินิจฉัยว่ากำหนดเอาไว้ว่าอย่างไร ซึ่งถ้าคำวินิจฉัยเป็นอย่างที่อ่านวันนี้และจริงๆ ต้องเป็นอย่างที่อ่านวันนี้เพียงแต่ต้องมีการเขียนให้เข้าแบบฟอร์มของคำวินิจฉัย ก็ควรจะต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะทำอะไรหรือจะกำหนดอะไรได้บ้างเพราะคำวินิจฉัยนี้มันมีความไม่ชัดเจนแน่นอนซึ่งเมื่อจะรอความชัดเจนแน่นอน ระยะเวลามันจะพ้น 2 กุมภาพันธ์ไปแล้ว นั่นหมายความว่าการเลื่อนการเลือกตั้งมันไม่สามารถทำได้โดยสภาพของข้อเท็จจริงเองครับ

ผมว่าคุณยิ่งลักษณ์ก็ต้องออกมาในลักษณะแบบนี้แหละ เพราะว่าผมเป็นนายกรัฐมนตรีผมก็คงทำแบบนี้เหมือนกัน คือว่า หนึ่ง รอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ สอง เมื่อคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการออกมาแล้ว แล้วมันมีความไม่แน่นอนก็ควรต้องถามว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร เพราะว่าศาลเองก็ยอมรับว่าคนที่มีอำนาจนำพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ นั้นก็คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์ต้องเป็นคนรับผิดชอบในทางการเมืองและทางกฎหมาย แต่คุณยิ่งลักษณ์จะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไรซึ่งมันยังไม่มีฐานทางกฎหมายที่ให้อำนาจชัดเจน ก็คงต้องถามศาลรัฐธรรมนูญว่าฐานแห่งอำนาจทางกฎหมายที่จะกำหนดให้ตัวเองสามารถนำพระราชกฤษฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ใหม่นั้นมาจากตรงไหน เพราะตัวเองจะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบในทางการเมืองและในทางกฎหมาย ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างที่บอกว่ากว่าที่จะมีการตอบในประเด็นเหล่านี้มันจะเกิน 9 วันไปแล้ว ซึ่งมันจะเป็นวันหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปไปแล้วนั่นเอง

ผมจึงมองว่าในทางปฏิบัติในแง่นี้ระหว่างที่รอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการแล้วก็เคลียร์หรือการทำให้เกิดความชัดเจนในคำวินิจฉัยมันจะพ้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ไป นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติมันจะไม่ได้เกิดการเลื่อนวันเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งในวันนี้ พรุ่งนี้ และมะรืนนี้ ยังคงต้องผูกพันตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และมีหน้าที่ในการจัดการการเลือกตั้งต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นในวันมะรืนนี้ (26 ม.ค. 2557) แล้วก็การออกเสียงลงคะแนนในวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เพราะตราบที่ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกามาเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้น ก็มีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งต่อไป คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเกราะหรือเป็นเหตุในการไม่ปฏิบัติหน้าที่จัดการการเลือกตั้งได้ครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท