Skip to main content
sharethis

มติเป็นเอกฉันท์ 8 เสียงว่า สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ในการเลื่อนเลือกตั้งนั้น ตุลาการมีมติด้วยคะแนน 7 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี และ กกต. โดยประธาน กกต.ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการหารือ เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่

24 ม.ค. 2557 - มติชนออนไลน์รายงานเมื่อเวลา 16:58:38 น. ว่าองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีการประชุมพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจระหว่างองค์กร ในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หลังจากที่ทาง กกต.มองว่า การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา ที่จะมีขึ้น ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ มีอุปสรรคและปัญหาหลายประการ ซึ่งการประชุมพิจารณาขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ที่ประชุมจะมีการอภิปรายและแถลงความเห็นด้วยวาจา ก่อนจะลงมติในคำวินิจฉัย โดยผลการประชุมจะมีการเผยแพร่ให้ทราบต่อไป โดยในวันนี้มีสื่อมวลชนรอติดตามข่าวเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ หลังการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ 8 เสียงว่า สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ในการเลื่อนเลือกตั้งนั้น ตุลาการมีมติด้วยคะแนน 7 ต่อ 1 เสียง เห็นว่า ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรี และ กกต. โดยประธาน กกต.ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการหารือ เพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่

ผู้สมัครสส.ภท.แถลงเรียกร้องรัฐเลื่อนเลือกตั้ง ลั่นขอยุติรณรงค์หาเสียง ‘อนุทิน’ปัดเล่นสองหน้า

ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติวินิจฉัยนั้น ข่าวสดรายงานว่าเมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 24 ม.ค. ที่ห้องกรกมล โรงแรมเดอะสุโกศล กลุ่มผู้สมัครส.ส.พรรคภูมิใจไทย ประกอบด้วย นายโสภณ ซารัมย์ ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ผู้สมัครส.ส.นครราชสีมา นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ผู้สมัครส.ส.ขอนแก่น นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้สมัครส.ส.มหาสารคาม นายมนต์ไชย ชาติวัฒนศิริ ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ นางฟาลิดา สุไลมาน ผู้สมัครส.ส.สุรินทร์ นายเกียรติ เหลืองขจรวิทย์ ผู้สมัครส.ส.ลพบุรี นายกิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ ผู้สมัครส.ส.สุรินทร์ นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ผู้สมัครส.ส.สุรินทร์ นายปัญญา ศรีปัญญา ผู้สมัครส.ส.ขอนแก่น และนายรังสิกร ทิมาตฤกะ ผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องขอให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง

โดยนายโสภณ กล่าวว่า ตามที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.นี้ เป็นการยุบสภาท่ามกลางปัญหาวิกฤตความขัดแย้งอย่างรุนแรง ของประชาชนในชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเคยแสดงจุดยืนทางการเมืองมาแล้ว 3 ข้อ คือ 1.เมื่อมีการยุบสภาพรรคก็ต้องส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย 2.พรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งบนสถานการณ์วิกฤตความขัดแย้งอย่างรุนแรง และ3.พรรคเห็นว่าควรสร้างกติกาให้ทุกฝ่ายยอมรับการเลือกตั้ง

ปรากฎว่าวันนี้ความขัดแย้งกลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุการณ์ต่างๆ จะส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการขัดขวางการเลือกตั้ง การหากรรมการดำเนินการไม่ได้ หาสถานที่ลงคะแนนไม่ได้ การร้องเรียนให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือการได้ส.ส.ไม่ครบจำนวนไม่สามารถเปิดสภาได้ แม้แต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ให้ความเห็นต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าการใช่งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เกิดประโยชน์ และกกต.พยายามติดต่อรัฐบาลให้เลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนเป็นเหตุให้กกต.ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญกรณีการเลื่อนการเลือกตั้ง

อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การที่รัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรค และขัดขวางการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นผู้สมัครส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย จึงขอออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าบ้านเมืองจะเข้าสู่สภาวะปกติ แล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง และเพื่อเป็นการแสดงเจตนา และความจริงใจต่อการเรียกร้องครั้งนี้ พวกเราจึงขอยุติการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

“เราไม่ได้ขัดขวางการเลือกตั้งแน่นอน เพียงแต่วันนี้เรามาเรียกร้องให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน ให้รัฐบาลทำกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับแล้วให้บ้านเมืองสงบสุข เราจึงเรียกร้องให้นักการเมืองถอยคนละก้าว เข้าสู่อำนาจช้าหน่อยเท่านั้น ถ้านักการเมืองถอยประเทศสงบ ประชาชนกลับบ้าน มีการเลือกตั้งก็จบ” นายโสภณ กล่าว  

เมื่อถามว่าหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยรับทราบแล้วหรือไม่ นายโสภณ กล่าวว่า ในภาวะแบบนี้เราได้แจ้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยแล้ว ซึ่งพรรคไม่จำกัดสิทธิ์สมาชิกในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง วันนี้เราเพียงแสดงจุดยืนว่าถ้ายังเดินหน้าต่อจะเสียเปล่า ทั้งในส่วนของงบประมาณ และการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการเลือกตั้งครั้งนี้ที่จะหาส.ส.ได้ครบ หรือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้  

ขณะที่ นายบุญจง กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าเดินต่อ จะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ แม้แต่กกต.ยังออกมาบอกว่าควรเลื่อนการเลื่อนตั้งออกไป โดยมีเหตุผลหลายประการอย่างที่ทราบกัน ดังนั้นวิกฤติบ้านเมืองที่เกิดขึ้นเราจึงเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ควรเลื่อนออกไปก่อน ในภาวะที่ประเทศประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเลือกตั้งได้อย่างไร ในพื้นที่ที่ประกาศถูกจำกัดสิทธิ์ห้ามชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม นายโสภณ ซารัมย์ และส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้ง ว่า ได้มีการมาแจ้งตนแล้ว ซึ่งตนก็ไม่ได้ซีเรียสนำมาเป็นประเด็น และเห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวของแต่ละคน ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของปัญหาในพื้นที่ต่อการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามจุดยืนของพรรคจะเป็นอย่างไรขอให้ดูหัวหน้าพรรคและนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ในฐานะผอ.เลือกตั้งของพรรคเป็นหลัก ที่กำลังมุ่งมั่นนำพรรคไปสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. และนำเสนอนโยบายที่ทำได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตามกรอบที่กฎหมายกำหนดจนกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

“ส่วนที้มีการมองว่าพรรคภูมิใจไทยเล่น 2 หน้า เข้าข้างทั้งฝ่ายรัฐบาลและกปปส.นั้น ไม่เป็นความจริง พรรคเราเล่นหน้าเดียว คือ หน้าของพรรคภูมิใจไทย อยู่ฝ่ายประชาชนและชาติบ้านเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าว

นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวยืนยันว่า การแสดงออกของผู้สมัครนำโดยนายโสภณ ไม่มีความขัดแย้งใดๆ กับพรรค เพราะเป็นการแสดงออกในฐานะผู้สมัครที่ประสบปัญหาในการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ รวมถึงปัญหาความวุ่นวายต่างๆ อาทิ ชาวบ้านไม่ได้เงินจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นอุปสรรคหาเสียงทั้งสิ้น จึงได้ออกมาแสดงความคิดเห็นดังกล่าว และกรณีที่ไปแถลงที่อื่นเพราะไม่ต้องการให้กระทบกับพรรค ขณะที่จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยก็ยังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. เช่นเดิม อย่างเช่นในพื้นที่ภาคใต้แม้จะไม่สามารถจัดการสมัครเลือกตั้ง 28 เขต แต่พรรคภูมิใจไทยก็หาเสียงเพื่อหาเสียงคะแนนบัญชีรายชื่อต่อไป

เลขาฯ กกต.เผยสำนักงาน กกต.20 จังหวัดถูกปิดล้อม

ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติวินิจฉัยนั้นเนชั่นทันข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2557 เวลา 09.10 น. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่กกต.ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยใน 2 ประเด็นคือ 1.หากมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่ได้หรือไม่ 2.อำนาจในการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจขององค์กรใด ระหว่างผู้ร้องคือกกต.กับครม. โดยนายกรัฐมนตรีว่า ในวันนี้คงต้องรอว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ทาง กกต.คงไม่อาจก้าวล่วงได้ กกต.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ฎ.จนกว่าจะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลง

นายภุชงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุม กกต.ในวันนี้เป็นการเตรียมการหาแนวทางหลายอย่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. กรณีที่อาจจะมีปัญหาการปิดล้อมสถานที่กลางในการลงคะแนน ก็จะมีการซักซ้อมกับเจ้าหน้าที่ว่าควรดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ กกต.ได้ให้นโยบายกับสำนักงาน กกต.เพื่อแจ้งแก่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กต.จว.)ทั่วประเทศ รวมถึง กทม. ว่า หากมีการปิดล้อมปิดล้อม เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปสถานที่ลงคะแนนได้หรือประชาชนไม่สามารถเดินทางไปลงคะแนนในวันที่ 26 ม.ค.ได้จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้จะหารือในประเด็นข้อกฎหมายว่า หากประชาชนไปเลือกตั้งไม่ได้จะเสียสิทธิ์หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร

"สำหรับสถานที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด 153 แห่งทั่วประเทศ ในวันที่ 26 ม.ค.หาได้แล้วแต่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)ซึ่งหาได้แล้วจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ในวันดังกล่าว ส่วน กปน.ที่จะทำหน้าที่ในวันที่ 2 ก.พ.นั้นตอนนี้เรายังไม่คิดไปถึงตรงนี้ ขอดูเฉพาะวันที่ 26 ม.ค.ก่อน หากแก้ไขปัญหาในวันที่ 26 ม.ค.ได้ในวันที่ 2 ก.พ.คงมีแนวทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ 15 จังหวัดภาคใต้มีการปิดศาลากลางหมดแล้ว กต.จว.ก็ถูกปิดมาหลายวันแล้ว และวันนี้ได้รับรายงานว่า กต.จว.ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศรวมถูกปิดไปแล้ว 20 จังหวัด ซึ่งเราก็ได้พยายามหาสถานที่ทำงานเพราะ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเดินไปทุกวัน จะหยุดก็ไม่ได้"นายภุชงค์ กล่าว

จารุพงศ์เผยรบ.พร้อมรับผลศาล รธน.ปมเลื่อน ลต.

24 ม.ค. 2557 - ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติวินิจฉัยนั้นสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่านายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า นายกรัฐมนตรี ได้ปรึกษาหารือรัฐมนตรีหลายคนบ้างแล้ว ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นของรัฐบาล หรือ กกต. ทั้งนี้ ไม่ว่าผลของศาลจะออกมาในทิศทางใด รัฐบาลก็พร้อมน้อมรับ และต้องดำเนินการตาม แต่ยืนยันไม่หวั่นไหว หากศาลจะตัดสินให้เป็นอำนาจ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐบาลจะยังเดินหน้าทำงานเพื่อบ้านเมืองต่อ แต่ยอมรับว่า หากต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปจะกระทบและสร้างความเสียหายให้กับผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย เพราะได้เตรียมพร้อมเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ ตนจะนั่งเป็นประธาน นัดประชุมพรรคเพื่อไทย เพื่อประเมินผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนเตรียมดำเนินการอย่างไรต่อไป


พท.แถลง 9 ข้อ แย้ง กกต.ร้องศาล รธน. ปม 'เลื่อนเลือกตั้ง'

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมามติชนออนไลน์รายงานว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. นายพนัส ทัศนียานนท์ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. แถลงถึง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายโภคินกล่าวว่า กกต.ไม่มีอำนาจร้องศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย ด้วยเหตุผล

1.รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้องค์กรใดมีอำนาจเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งกรณีมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการตราพระราชกฤษฎีกา

2.เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง ที่การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น ยังไม่เกิดขึ้น กลับจะไปทูลเกล้าฯให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไป

3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ม.78 บัญญัติให้เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะกำหนดวันลงคะแนนใหม่ได้ ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ซึ่งหมายถึงเฉพาะหน่วยเลือกตั้งที่มีปัญหา ไม่ใช่การเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศตามรัฐธรรมนูญ ม.108

4.กกต. ไม่มีสิทธิเสนอเรื่องเลื่อนการเลือกตั้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญ ม.214 บัญญัติให้ทำได้เฉพาะกรณีที่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา ครม. หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น กรณีที่เป็นปัญหานี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับ กกต. เพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจดังได้กล่าวมาแล้วไม่ใช่อำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ

5.ประเด็นเรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง เป็นความคิดเห็นของ กกต. ที่มีอำนาจจัดการการเลือกตั้ง แต่ต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่าต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557 จึงมิใช่ประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

6.ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำสั่งที่ 23/2553 เมื่อ 30 มิ.ย.53 วินิจฉัยไว้แล้วว่า จะต้องเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ถ้าเป็นเพียงความเห็นที่ต่างกันเกี่ยวกับการใช้และการตีความกฎหมาย ย่อมไม่ใช่ความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่าง 2 องค์กร

7.ดูเหมือนเป็นขบวนการร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งการกระทำที่ผิดกฎหมายและองค์กรต่างๆ ที่จะไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 ซึ่งฝ่ายที่ไม่ให้เกิดการเลือกตั้งต้องรับผิดชอบต่อผลทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น

8.เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า มีบุคคลหลายกลุ่มยืนคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการกับนายสุเทพ และกลุ่ม กปปส. และแนวร่วม ว่ามีการกระทำอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั่นคือ ล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องไปหลายคำร้องโดยไม่ไต่สวน ทั้งๆ ที่เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลกว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

9.ถ้ามีการเลื่อนการเลือกตั้ง ใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งในส่วนของ กกต. เช่น ค่าพิมพ์บัตร ค่าเตรียมการต่างๆ และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายของพรรคและผู้สมัครที่ใช้จ่ายไปแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net