Skip to main content
sharethis

 

19 ม.ค.2557 ที่มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) จัดสัมมนา “2 กุมภาเดินหน้าเลือกตั้ง ร่วมเป็นเจ้าของการปฏิรูป” ในช่วงที่สองของรายการ เป็นการพูดคุยประเด็นทางกฎหมาย โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติราษฎร์ ตอบคำถามหลายประเด็นดังนี้
 

เรื่องเลื่อนเลือกตั้ง มีอำนาจหรือไม่ เลื่อนแล้วส่งผลอย่างไร ?

ต้องตอบตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ประกาศไว้ล่วงหน้าแล้ว ทุกฝ่ายรับทราบอยู่แล้ว บังคับใช้กับทุกฝ่ายเสมอกัน หากไม่ยึดหลักนี้บ้านเมืองก็ไม่มีกฎเกณฑ์เป็นหลักยึด ที่สุดแล้วก็จะทำตามความพอใจของกลุ่มตนเอง

การเลือกตั้งทำได้เมื่อครบวาระหรือยุบสภา รัฐธรรมนูญ มาตรา 108 กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ จะยุบสภาเฉยๆ ไม่ได้ ต้องยุบเพื่อให้มีการเลือกผู้แทนราษฎรใหม่ วรรสองของมาตรานี้บัญญัติว่า การยุบสภาผู้แทนฯให้กระทำโดยการออก พ.ร.ฎ.และต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 45-60 วัน และเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

หมายความว่าจะยุบสภาโดยไม่กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปไม่ได้ เป็นเอกภาพทางกฎหมายที่แยกจากกันไม่ได้

มาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่

การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกําหนดวันเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน

มีเหตุความวุ่นวาย เลื่อนได้หรือไม่

วันเลือกตั้งยังมาไม่ถึง ฝ่ายใดให้เลิกการเลือกตั้งได้แสดงว่าให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.นี้ได้ ดังนั้นต้องยอมรับด้วยว่า พ.ร.ฎ.นี้ยกเลิกได้ทั้งฉบับ รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาก็ฟื้นคืนชีวิตกลับมาได้ด้วย หลังจากนั้นก็กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ยุบสภาใหม่ จะไปเอาส่วนเดียวของ พ.ร.ฎ.มาไม่ได้ เพราะมันมีสองส่วนที่แยกจากกันไม่ได้ คือ ยุบสภากับกำหนดวันเลือกตั้ง

ทำไมรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 45-60 วัน โดยไม่มีกฎหมายฉบับใดให้เลื่อนได้

มันมีเหตุผลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเช่นนั้นเพราะเมื่อยุบสภาแล้ว อำนาจของผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงพร้อม ครม.ทั้งคณะ แต่ ครม.ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีชุดใหม่ การกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน เพื่อให้ตำแหน่งรักษาการเป็นไปอย่างจำกัด แน่นอนพอสมควร การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ถ้าทำได้ ก็ต้องยอมให้ ครม.รักษาการอยู่ในตำแหน่งไปเรื่อยๆ เช่นกัน

ถึงวันนี้ในการเลื่อนทุกคนก็พูดไม่ตรงกันว่า ถ้าทำได้จริงจะเลื่อนไปกี่วัน กี่เดือน กี่ปี ในทางกฎหมายไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจในการเลื่อนการเลือกตั้ง การจะออก พ.ร.ฎ.ให้เลือกตั้งใหม่มีได้ ต้องมีเหตุทางกฎหมายที่รุนแรงจนทำลายเจตจำนงของประชาชนจนใช้ไม่ได้ มันยังไม่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นจึงยังไม่มีเงื่อนไขใดๆ ให้ทำแบบนั้นได้  ที่สำคัญ บัดนี้กระบวนการให้ออกเสียงลงคะแนนเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ก็กำลังรอใช้สิทธิ ถ้าเลื่อนแล้วที่เลือกไปแล้วจะทำอย่างไร

โดยเนื้อแท้ คนที่เสนอเรื่องการเลื่อนตั้งคือคนที่ทำลายกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมด ต้องการยกเลิกการเลือกตั้ง

ทำไมต้องให้มีการเลื่อนเลือกตั้ง ?

มันอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร เพราะสุดท้ายต้องเลือกตั้งอยู่ดี ครม.ยิ่งอยู่ในรักษาการได้นาน เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ต้องการให้เลื่อนนั้น ต้องการเวลาให้เพียงพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลรักษาการ เพราะที่เหลืออีก 14 วันไม่เพียงพอจะบดขยี้รัฐบาลรักษาการเพื่อให้เกิดรัฐบาลคนกลาง รัฐบาลคนดี

ข้อเสนอทางกฎหมายสำหรับคนอยากเลื่อนการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาพยายามค้นหากฎเกณฑ์ทางกฎหมายในการการเลื่อนแต่ยังไม่พบ จึงลองเขียนกฎหมายเสนอให้ว่า ในกรณีที่ไม่สามารถล้มล้าง ครม.รักษาการได้ทัน ให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปจนกว่าจะล้มล้าง ครม.รักษาการได้สำเร็จ และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ในระยะเวลาที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 100 ปีนับแต่วันที่ ครม.รักษาการถูกล้มล้าง

การล้มรัฐบาล มันทำได้โดยการให้ประชาชนไปออกเสียงในวันเลือกตั้ง เขาไม่เลือก คุณก็ขึ้นมาบริหารไม่ได้

เลื่อนเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์กลับตัวกลับใจมาลงเลือกตั้ง ?

เรื่องนี้ประชาธิปัตย์ตัดสินใจแล้ว เมื่อเขาตัดสินใจไม่ส่งบุคคลรับสมัครก็ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจนั้น จะมางอแงในภายหลังเมื่อทำท่าจะเกิดการเลือกตั้งจริงไม่ได้ อันนี้เอาเปรียบคนอื่นมากไปและไม่ถูกต้อง

การที่พรรคการเมืองไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ยุบพรรคหรือไม่ ?

การที่พรรคใดก็ตามไม่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกัน หรือ 8 ปีติดต่อกัน จะเป็นเหตุให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องยุบพรรค แต่เป็นการสิ้นสภาพไปโดยตัวมันเอง นายทะเบียนจะประกาศว่า พรรคนี้ไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งสองครั้งติดต่อกันแล้ว แม้สองครั้งนั้นจะไม่ถึง 8 ปีก็เป็นการสิ้นสภาพแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวข้องในตอนสุดท้าย คือ พรรคนั้นอาจไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าที่นายทะเบียนประกาศนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่อำนาจในการประกาศการสิ้นสภาพนั้นไม่ใช่อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

สาเหตุที่ต้องกำหนดการสิ้นสภาพพรรคการเมือง

มากจาการหลักการพื้นฐานของพรรคในระบอบประชาธิปไตยนั้นเอง พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของคนความคิดคล้ายกันแล้วต้องการลงสู่การแข่งขันทางการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจ หากไม่ลงเลือกตั้งกฎหมายก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีพรรคนั้น

ปัญหาสำคัญคือ เรามีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไปแล้ว เลือกโดยไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ลงรับสมัคร ถ้าเลื่อนวันที่ 2 ก.พ. ไป แล้วคนที่อยากเลือกปชป. แต่โนโหวตไปแล้วจะทำอย่างไร

อย่างไรการเลื่อนก็ทำไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปทำลายกระบวนการที่ทำมา ยกเลิกการรับสมัครทั้งหมด ยกเลิกการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งหมด ต้องเริ่มทุกอย่างใหม่หมด ดังนั้นถึงบอกว่าต้องเริ่มตั้งแต่ร่าง พ.ร.ฏ.ทั้งฉบับ

ผู้ลงรับสมัครไม่ได้ ทำให้ขาดผู้ลงสมัครใน 28 เขตนั้น ไม่ส่งผลใดๆ กับการเลือกตั้ง

ไม่มีผู้สมัครใน 28 เขต จะมีผลอย่างไร จะทำอย่างไร

จริงๆ กกต.จะต้องรับสมัครเพิ่มเติม แต่ถ้า กกต.ไม่ทำ เมื่อถึงวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ก็จะมี 28 เขตที่ไม่มีผู้แทน กกต.ก็ต้องประกาศรับสมัครใหม่เพื่อเติมที่ขาด เหมือนเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ในกฎหมายเลือกตั้งบัญญัติรองรับปัญหานี้ไว้ว่าเขตใดมีสมัครคนเดียว ผู้นั้นจะได้รับเลือกต่อเมื่อได้เสียงมากว่าร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมากกว่าบัตรที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน แต่หากไม่ได้ตามนั้น ให้ กกต.ประกาศรับสมัครผู้ลงสมัครใหม่ จัดการเลือกตั้งใหม่ หลักการนี้จะนำไปใช้กับ 28 เขตดังกล่าว

การตีความว่า 28 เขตทำลายการเลือกตั้งได้ จะเป็นการตีความที่ประหลาดมาก เพราะอีกหลายร้อยเขตเขามีผู้สมัครแล้ว จะไปทำลายเจตจำนงที่ต้องการเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่ไม่ได้

จะเปิดสภาได้หรือไม่

ตรงนี้อาจเป็นระบบเฉพาะของบ้านเราที่แปลกว่าที่อื่น

โดยหลักการทั่วไป การออกเสียงลงคะแนนของประชาชนมีผลเท่ากับแต่งตั้งผู้แทนของตน เรากำลังใช้อำนาจสูงสุดของเราไปทำการแต่งตั้งตัวบุคคลไปใช้อำนาจแทนเรา เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วก็ต้องประกาศผลคะแนน จากนั้นบุคคลนั้นก็เป้นผู้แทนฯ ไปอัตโนมัติ นี่เป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ แต่บ้านเราเราไม่ไว้ใจนักการเมือง อยากจะสกรีนคน หากจำกันได้ช่วง 10 กว่าปีก่อน กกต.คนหนึ่งบอกว่าจะไม่ยอมให้คนชั่วเหยียบบันไดสภา ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้ กกต.มีอำนาจเบรคอำนาจประชาชนได้ โดยต้องให้ กกต.รับรองผลก่อน มันก็เป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเปิดประชุมสภาออกไป บางกรณีอาจถูกเพิกถอน ถ้าหลายๆ เขตก็เปิดสภาไม่ได้

รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ถ้ากรณีใดทำให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของสมาชิกทั้งหมด ถือว่าเปิดสภาได้ (ไม่ต่ำกว่า 475 คน) กฎหมายเขียนต่อว่า ถ้าไม่ถึงต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ให้ครบภายใน 180 วัน พูดง่ายๆ ว่า มีเวลา 6 เดือนในการจัดการเลือกตั้งให้เปิดสภาได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้เขียนต่อว่า 6 เดือนแล้วยังไม่ได้จะทำอย่างไร เพราะคงไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ผมเองก็ยังไม่อยากคิดเรื่องนั้น เพราะมันต้องทำทีละสเต็ป แต่หากไม่ได้จริงๆ คงต้องใช้วิธีการตีความรัฐธรรมนูญตามประเพณีที่ผ่านมา ในที่สุดต้องยอมให้เปิดได้ เช่น อาจมีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งก็สามารถเปิดสภาได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสภาพการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหากปักธง 2 ก.พ.ได้ ถ้าได้สมาชิกได้หลายร้อยคนแล้ว ทีเหลือก็ค่อยๆ ตามเก็บจนถึงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

มาตรา 93 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า

ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงห้าร้อยคน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันและให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่

กกต.ควรทำอย่างไร

จริงๆ 28 เขตที่ผู้สมัครมาสมัครไม่ได้ กกต.สามารถออกประกาศขยายวันสมัครรับเลือกตั้ง และเปลี่ยนแปลงสถานที่รับเลือกตั้งได้ ทำที่เขตอื่นก็ได้ เช่น ที่กทม. เพราะกกต.สามารถออกประกาศอันจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง แต่กกต.ไม่ทำ อ้างว่าไม่มีกฎหมายรองรับทั้งที่จริงๆ แล้วมีอำนาจ แต่กกต.กลับไล่ผู้ลงสมัครไปฟ้องศาลฎีกา ซึ่งไม่ใช่กรณีนี้ เป็นกรณีที่สมัครได้แล้วไม่ได้เบอร์

อยากแลกเชอร์หลักกฎหมายมหาชนเบื้องต้นให้กกต.ด้วย  การที่ กกต.บอกว่าทำไม่ได้เพราะ “ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ” คือ ต้องเข้าใจว่าหลักการนี้มีขึ้นเพื่อประกันสิทธิราษฎร หากจะกระทำการใดที่อาจกระทบสิทธิของราษฎรอันนี้ต้องมีกฎหมายให้อำนาจโดยฐานต้องมาจากรัฐสภาเนื่องจากมีความชอบธรรมสูงสุดที่เชื่อมโยงมาถึงประชาชนเจ้าของอำนาจได้ ที่กำหนดแบบนี้เพื่อกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ จะใช้อำนาจกระทบสิทธิบุคคลต้องมีกฎหมายให้อำนาจ แต่เรื่องที่เกิดขึ้น การประกาศของ กกต. ไม่ได้ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพใครเลย ในทางกลับกันทำให้สิทธิของคนจะไปเลือกตั้งและคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้ใช้สิทธิโดยสมบูรณ์ ผลักดันให้สิทธินั้นเกิดโดยบริบูรณ์ มีกฎหมายรองรับให้ทำได้ด้วย ดังนั้น ยืนยันว่า กกต.ทำได้

คนออกเสียงต่างประเทศแล้วทำอย่างไร

คนในต่างประเทศก็สามารถเลือกปาร์ตี้ลิสต์ และส.ส.เขตได้ แต่อาจมีคนบางคนที่อยู่ใน 28 เขตนั้นด้วย ทำให้เลือกได้แต่ปาร์ตี้ลิสต์ กกต.อาจถามว่าตรงนี้จะทำอย่างไร ก็ไม่ยาก ก็ประกาศเวลาที่เหลืออยู่ให้เขาสมัครรับเลือกตั้ง และให้ผู้จะใช้สิทธิที่อยู่ในเขตนั้นตามมาออกเสียงเสีย เหลืออีกสองสัปดาห์ก็ยังทำได้ แต่ดูแนวโน้มเขาคงไม่ทำ ไม่เป็นไร เราก็เดินตาม 2 ก.พ. ถึงวันนั้นทั้งประเทศจะมองไปที่ 28 เขตนั้นด้วยสายตาสงสัยขุ่นมัวว่าทำไมยังไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้ แล้วก็ค่อยๆ เก็บไปให้ครบ

วันเลือกตั้งอาจมีการปิดคูหาเลือกตั้งก็ได้ ทำอย่างไร

กกต.มีอำนาจเยอะมาก สั่งขอความร่วมมือได้หมด ใครไม่ให้ความร่วมมือมีโทษด้วย ปลัดกลาโหมก็รับปากว่าจะเข้าไปช่วยดูแลหากกกต.สั่งให้ไปช่วย

สมมติ กกต. ลาออกทั้งหมด การเลือกตั้ง 2 ก.พ.จะเกิดไหม

อันนี้จะเป็นปัญหา นักกฎหมายหลายคนบอกกระบวนการเลือกตั้งจะหยุดชะงักหมด อยากให้ดูหลักคอมมอนเซนส์ธรรมดาก็ได้ว่าเป็นไปได้ไหมถ้าคนจำนวนหนึ่งลาออกทั้งประเทศจะทำอะไรไม่ได้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 232 บัญญัติว่า กกต. มีวาระ 7 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว กกต.ซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากกต.ชุดใหญ่จะรับหน้าที่

มาตรา 234 บอกว่า กรณีกกต.พ้นตำแหน่งตามวาระทั้งคณะ ให้สรรหาภายใน 90 วัน ถ้าเป็นกรณีอื่น ให้ดำเนินการภายใน 60 วันและให้ผู้ได้รับการสรรหาทำหน้าที่เท่าเวลาที่เหลืออยู่

นี่เท่ากับให้มีการรักษาการ กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ต่อ ลาออกไม่ได้ เป็นหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ถ้าลาออกบางคนก็ต้องสรรหาคนเข้ามาแทนที่ และอยู่ได้ในเวลาที่เหลืออยู่ สองกรณีนี้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้การทำงานของ กกต.ทำได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หากกกต.ลาออกพร้อมกัน ตรงนี้รัฐธรรมนูญไม่เขียน จะตีความรัฐธรรมนูญอย่างไร บางคนว่าต้องสรรหาใหม่ ก่อน ทำให้กระบวนการหยุดชะงัก แต่ผมตีความว่า ต้องอนุโลมว่าเหมือนกับการพ้นตำแหน่งพร้อมกันทั้งชุด แล้วให้ 5 คนนี้อยู่ในตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าชุดใหม่จะมา ถ้าไม่ทำคุณก็ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ถ้าพูดแบบนี้ก็เห็นหนทาง การตีความกฎหมายแบบนี้ การตีความกฎหมายของเราไม่ได้เล่นแร่แปรธาตุตามใจ แต่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเพื่อทำให้สิทธิของประชาชนเกิดขึ้นได้จริง สองมาตรานี้มีเจตนามให้การทำงานของ กกต.ต่อเนื่องไปได้

ประเด็นความยากคือ การลาออกทีละคน เพราะกกต.ประกอบด้วยกรรมการ 5 คน กฎหมายเขียนว่าต้องไม่ต่ำว่า 3 คน ถ้าคนที่ 3 ลาออก สำหรับผมแล้วก็ต้องตีความว่า คนที่ 3 ที่ลาออกต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไป

การที่จะเกิดสุญญากาศอย่างแท้จริงก็คือ กกต.เสียชีวิตหมดทั้ง 5 คน

ถ้าดูภารกิจกกต.ตอนนี้ จะสำคัญหลังการเลือกตั้ง เพราะเมื่อรับสมัครแล้วการดำเนินงานเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ กกต. ผอ.เขตเลือกตั้ง ฯลฯ

นักกฎหมายบอกถ้าวันเลือกตั้งเกิดน้ำท่วมเลื่อนเลือกตั้งได้ นิติราษฎร์อย่าเคร่งครัดนัก น้ำท่วมคือการเลื่อนการลงคะแนน ไม่ใช่การเลื่อนเลือกตั้ง ว่ากันเป็นเขตๆ ไป อำนาจการสั่งเลื่อนอยู่ที่ ผอ.เขตเลือกตั้งพิจารณา ถ้าจะเลื่อนการลงคะแนนทั้งประเทศ ก็คือ น้ำท่วมทั้งประเทศ แล้วนัดใหม่อีก 3 วัน 5 วัน

กฎหมายมีทางออก ทางไปของมัน

ตอนนี้ฝ่ายต้องการการเลือกตั้งเป็นฝ่ายตั้งรับ ฝ่ายขวางการเลือกตั้งทำให้เกิด ความอปกติ ขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายต้องการเลือกตั้งไม่ต้องท้อแท้ต้องสู้ไป แก้ปัญหากันไป สิ่งสำคัญคือ ฝ่ายที่ไม่ต้องการการเลือกตั้งอย่ายั่วโทสะประชาชนมากเกินไป ประชาชนก็ต้องมีความอดทนอดกลั้น เพราะเป้าหมายการเลือกตั้งคือสันติ ให้ประชาชนได้แสดงความต้องการของตน จะมีความงดงามอะไรเท่ากับเจ้าของอำนาจออกไปใช้อำนาจของตนเอง เราประณามหยาบเหยียดกับกระบวนการนี้มากไป ทั้งที่มันยังใช้ได้

การจงใจลาออกเพื่อไม่ให้เลือกตั้งเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เการเลือกตั้งเกิดขึ้นต้องตีความว่ามีเจตนาอย่างไร มีความผิดหรือไม่ ส่วนเสียงที่เลือกตั้งไปแล้วก็ต้องเก็บไว้โดยรัฐบาลรักษาการ จนกว่าจะมีการสรรหา กกต.ใหม่ เพราะไม่มีรัฐบาลไหนที่ชอบธรรมมากกว่านี้แล้ว

หาก กกต. เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเลื่อนได้หรือไม่ โดยอ้าง ม. 214 ว่าด้วยอำนาจสององค์กรใช้อำนาจขัดแย้งกัน มองอย่างไร

มาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า ในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่ต่างๆ ยกเว้นศาล ตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป สามารถเสนอเรื่องขึ้นมาที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย ซึ่งมาตรา 214 จะสามารถใช้ได้เมื่อเกิดกรณี เช่น สององค์กรต่างอ้างว่าอำนาจนี้เป็นของตน อย่างนี้เรียกว่า negative conflict of competence ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้

ส่วนในกรณีนี้ไม่เข้าองค์ประกอบ เพราะ กกต.ก็ยอมรับว่าไม่ได้มีอำนาจในการเลื่อนเลือกตั้ง มีเพียงอำนาจเสนอแนะเท่านั้น แต่นี่พูดถึงในบริบทที่การตีความกฎหมายในประเทศนี้มันคาดเดาไม่ได้ อย่างเรื่องอำนาจในการพิจาณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรมีแต่ก็ยังมี คงต้องดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อ

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมนิติราษฎร์ตีความไม่ยืดหยุ่นเลยอย่างที่กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมเคยตั้งคำถาม ต้องตอบว่านี่เป็นฐานทางกฎหมายที่เป็นเรื่องเบื้องต้น พวกที่เสนอให้เลื่อนเลือกตั้งเสียอีกที่ไม่เคารพหลักการของกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 50 กลไกของระบบการเลือกตั้งก็ถูกแก้เองโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แล้วก็มาแพ้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทุกคนต่างอยู่ภายใต้กติกานี้เหมือนกัน ถ้าไม่เอากติกานี้ บอกว่าควรยืดหยุ่น คำถามคือควรใช้หลักเกณฑ์อะไร หลักอะไรที่ควรยึดและเห็นร่วมกันได้ คนที่เสนอว่าให้เลื่อนก็พูดไม่ตรงกันด้วยซ้ำ อันนี้ไม่แฟร์ เป็นลักษณะของการตีความที่เบิดเบี้ยวไป สังคมจะอยู่ไม่ได้ เราจำเป็นต้องมีกฎหมายเป็นรากฐานและเป็นหลักเกณฑ์ เป็นสิ่งที่ประกาศไปล่วงหน้าแล้ว

การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไม่ใช่ข้อเสนออะไรใหม่ แต่เป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วทุกประการ ขณะข้อเสนอ กปปส.นั้นประหลาดมากเลย ถามว่าในสภาวการณ์แบบนี้มีคนตรงกลางระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกปปส.ด้วยหรือ กลุ่มที่เสนอตรงกลาง คือเลื่อนเลือกตั้งแล้วปฏิรูป แต่ข้อเสนอนี้ไม่เป็นกลาง เรื่องนี้เป็นเรื่องถูกหรือผิด 2 ก.พ.เป็นเรื่องที่อยู่บนหลักการ เป็นเรื่องที่ถูก เรื่องอื่นนอกจากนี้ผิด

วิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด คือการเลือกตั้ง กลุ่มกปปส.ที่บอกว่าคนไม่ต้องการเลือกตั้ง สามารถดูได้เลยว่า คนที่ไม่ออกเสียงเลือกตั้งมีเท่าไร พิสูจน์ไปเลยว่าคนที่ไม่อยากใช้สิทธิมีเท่าไร คนอยากเลือกตั้งมีเท่าไหร่ ไม่ใช่ห้ามคนอื่นไม่ให้ไปเลือกตั้ง นี่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น

2 ก.พ.ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งเพื่อสส. เท่านั้น แต่มันยังแฝงนัยยะในแง่ที่ว่าเป็นการเลือกตั้งระหว่างระบอบสองระบอบ คือประชาธิไตยที่มีการเลือกตั้งอันเป็นเงื่อนไขมาตรฐานขั้นต่ำกับอีกระบอบคือที่ไม่เอาการเลือกตั้ง เป็นการวัดคะแนนเรื่องนี้

ทำไมต้องยืนยันว่า 2 ก.พ.มีความสำคัญ

มีหลายคนอ้างว่าการเลื่อนการเลือกตั้งเป็นเรื่องความจำเป็นเพราะหลังเลือกตั้งอาจจะมีความรุนแรงหรือการรัฐประหาร แต่การประเมินตรงนี้อาจแตกต่างกัน ถ้าไม่เลือกตั้ง ฝ่ายที่ต้องการเลือกตั้งจะมีปฏิกิริยาอย่างไร สอง การเลือกตั้งจะเป็นต้นทางของความชอบธรรมที่วัดได้ในทางวิทยาศาสตร์ที่สุดที่จะทำให้เกิดการปฏิรูประเทศต่อไป ไม่เชื่อว่ารัฐบาลที่ขึ้นมาจะแข็งแกร่งโดยไม่ต้องปฏิรูป เพราะมีกระแสสังคมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูป การเลื่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ออกไป เป็นเรื่องของการต้องการชิงธงเรื่องการปฏิรูปไปในทางที่อีกฝ่ายต้องการ คนจำนวนมากที่ต้องการปฏิรูปศาล ทหาร องค์กรอิสระ สถาบันฯ องคมนตรี จะเป็นหมันไป เพราะหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป มีรัฐบาลคนกลาง จะเป็นรัฐบาลที่ชิงธงเรื่องการปฏิรูปซึ่งจะไม่ตอบสนองความต้องการส่วนมากของประะเทศนี้ และไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสการเกิดความรุนแรงเลย และวาระการปฏิรูปจะไม่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย

ไม่คิดว่าจะมีทางออกอย่างอื่น อย่างการมีรัฐบาลคนกลาง ถ้าตั้งได้ก็จะบริหารไม่ได้ ส่วนเรื่องการรัฐประหาร คิดว่าจะทำหรือไม่ทำเป็นเรื่องของทหารต้องรับผิดชอบต่อผลสะเทือนที่จะตามมา ฝ่ายประชาธิปไตยมีหน้าที่ปกป้องหลักการขั้นพื้นฐาน อาจมีคนบอกว่าไม่ต้องการทำตามหลักการนี้ เพราะรัฐบาลพยายามผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นำมาซึ่งการชุมนมุมคัดค้าน นิติราษฏฎรเองก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ รัฐบาลเองก็ไม่ได้พูดจาอย่างตรงไปตรงมาว่ามีข้อเสนอจากใครให้ทำเรื่องนี้หรือไม่ หากมีต้องพูดมาตรงๆ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีการยุบสภาไปแล้ว ความชอบธรรมของฝ่ายคัดค้านจบลงเมื่อมีการยุบสภา เพราะเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน ฝ่ายค้านต้องทำตัวให้มีคุณภาพ และต้องแก้ปัญหากันไปตามระบบแบบนี้ นี่เป็นการรักษาหลักการทางประชาธิปไตยเอาไว้ หากว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ ก็ให้มันเกิดขึ้นและให้ได้รู้ว่าอ้างเหตุอะไร และถึงจะโมฆะ ท้ายที่สุดก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อยู่ดี ต้องเชื่อมันในระบบและก็ค่อยๆ แก้ปัญหานี้ไป

การที่องค์กรอิสระเองไม่จัดการปัญหาเรื่องการป่วนเลือกตั้งก็แย่แล้ว ถ้ายอมเลื่อนการเลือกตั้ง นี่คือการทำลายหลักกฎหมายอย่างถึงราก รวมถึงคุณค่าของประชาธิปไตยด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net